ตามพจมานไป บางปู ดูนัยรัฐนิยมจอมพล ป. ที่ซ่อนอยู่ใน บ้านทรายทอง
- จุดกำเนิดของบางปูเริ่มต้นปีพ.ศ.2482 ตามคำสั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ต้องการปรับปรุงคุณภาพของพลเมืองไทยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- นัยต่าง ๆ ที่ปรากฏในบ้านทรายทองค่อนข้างมีน้ำหนักชวนให้คิดเหลือเกินว่าก. สุรางคนางค์ อาจนำลักษณะและผลงานของจอมพล ป. พิบูลสงครามมาร่วมสร้างสรรค์เป็นตัวละครและองค์ประกอบของเรื่อง
หากจะพูดถึงนวนิยายพาฝันสุดคลาสสิกของไทย ต้องมีชื่อของ บ้านทรายทอง ที่มาพร้อมกับภาพของ พจมาน หญิงสาวถักเปียถือชะลอมยืนมองบ้านหลังใหญ่ แต่ท่ามกลางปมความรักฉบับนวนิยายรักต่างชนชั้น วรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ยังมีประเด็นทางสังคมแฝงอยู่ เรียกได้ว่าให้ความหวานซึ้งในจินตนาการเป็นเพียงน้ำตาลที่เคลือบอยู่ภายนอกเท่านั้น และหนึ่งในสิ่งที่เคลือบอยู่คือความสงสัยใน รัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ซ่อนอยู่ในบ้านทรายทอง
ทำไมพจมานถึงไปบางปู?
บ้านทรายทอง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับวรรณกรรมร่วมสมัยในทศวรรษก่อน 2500 ด้วยกัน อย่างเรื่อง ปริศนา จะเห็นสิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกใช้ฉากสถานตากอากาศต่างกัน ในปริศนาผู้แต่งใช้ฉากทะเลหัวหิน สอดรับกับฐานะของตัวละครที่แม้จะไม่ได้อู้ฟู่นักแต่ก็ยังถือเป็นผู้ดีมีอันจะกิน ซึ่งการใช้หัวหินเป็นฉากสถานตากอากาศยังสามารถพบได้ในวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน เช่น เรื่องสั้น “น้ำใจของนารา” แต่งโดยส่ง เทพาสิต ซึ่งได้เนรมิตภาพจำของหัวหินให้สวยงามไม่ต่างจากเมืองนีซ เมืองคานส์ และมอนติคาร์โล
สำหรับ บ้านทรายทอง ก. สุรางคนางค์ กลับเลือกที่จะให้พจมานเดินทางไป บางปู กับ ครูบุญล้อม ครูสอนดนตรี ซึ่งหากพิจารณาตามเนื้อเรื่องแล้วก็จะเห็นว่าสมเหตุสมผลอยู่พอสมควร เพราะตัวละครที่พจมานร่วมเดินทางไปด้วยก็ชื่นชอบในดนตรี ส่วนบางปูก็มีทั้งลีลาศและการเล่นดนตรี อีกทั้งการไปท่องเที่ยวในฉากนี้ยังเป็นการไปแบบไม่ค้างคืน การเลือกใช้ บางปู จึงเหมาะสมกว่าการไปหัวหินซึ่งต้องเดินทางนานกว่า
จุดกำเนิดของ บางปู เริ่มต้นปี พ.ศ.2482 ย้อนไปที่คำสั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยในวิทยานิพนธ์ของ ก้องสกล กวินรวีกุล ได้กล่าวถึงเหตุแห่งการสร้างบางปูไว้ว่าเป็นเพราะ จอมพล ป. พยายามจะปรับปรุงคุณภาพของพลเมืองไทยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยมีข้อแนะนำให้คนไทยพักผ่อน แต่สถานที่พักผ่อนหย่อนใจยุคนั้นกลับมีน้อยเต็มที จอมพล ป.จึงมีคำสั่งสร้างสถานตากอากาศทางทะเลขึ้นที่ บางปู ในปลายเดือนธันวาคม
จอมพล ป. ยังได้พูดถึงการสร้าง บางปู ว่า เป็นการสร้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมสาธารณสุข และรัฐบาลไทยที่ต้องการเห็นชาวไทยมีร่างกายสมบูรณ์และมีกำลังใจดีตามไปด้วย สถานตากอากาศนี้จึงนับเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พี่น้องชาวไทยได้มีโอกาสมาพักผ่อน หลังจากทำงานมาเหน็ดเหนื่อย เพื่อจะได้ฟื้นกำลังกายและกำลังใจให้ดีขึ้น สอดคล้องกับประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 11 ที่ว่าด้วยกิจประจำวันของคนไทย ความว่า
“ควรใช้เวลาในวันหยุดงานให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตใจ เช่น ประกอบกิจกรรมในทางศาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือพักผ่อน เป็นต้น”
การที่ ก. สุรางคนางค์ เลือกใช้บางปูเป็นฉากหนึ่งในนวนิยายของตนเอง ส่วนหนึ่งอาจแสดงให้เห็นว่า บางปู ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงก่อน พ.ศ. 2490 ใกล้เคียงกับช่วงเวลาในการประพันธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ ทว่าไม่เพียงแต่บางปูเท่านั้นที่เกี่ยวเนื่องกับจอมพล ป. ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าตลอดเรื่องบ้านทรายทองได้แทรกนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป. อยู่ไม่น้อยเลย
บ้านทรายทองและการสร้างชาติในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เมื่อรัฐบาลของจอมพล ป. สถาปนาสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้น ก. สุรางคนางค์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของสำนักวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณีถึง 2 สาขา ได้แก่ สาขาทางความประพฤติและจรรยามารยาท และสาขาเนติธรรม อีกทั้งรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามยังได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ ก. สุรางคนางค์ เพื่อเป็นบำเหน็จที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณประโยชน์แก่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
นักวิจารณ์วรรณกรรม จรูญพร ปรปักษ์ประลัย เคยเขียนถึงความศรัทธาของ ก. สุรางคนางค์ที่มีต่อจอมพล ป. ไว้ในบทวิจารณ์ “บ้านทรายทอง ความจริงแห่งทราย ความหมายแห่งทอง” ว่า ครั้งหนึ่ง ก. สุรางคนางค์เคยสละแหวนแต่งงานเพื่อบริจาคในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2483 ตามประกาศของรัฐบาล ซึ่งต้องการนำเงินรายได้จากการประมูลทรัพย์สินที่ประชาชนมอบให้ไปสมทบทุนในการเรียกร้องดินแดนคืนจากประเทศฝรั่งเศส
บทวิจารณ์นี้ได้แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของ ก. สุรางคนางค์ในการตอบรับแนวคิดของรัฐบาลของจอมพล ป. อย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นไปได้หรือไม่ที่ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ในเนื้อหาของ บ้านทรายทอง ปรากฏประเด็นทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับยุคสมัยสร้างชาติและการประกาศรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป. แม้หลายเรื่องจะไม่ได้ถูกนำเสนออย่างโจ่งแจ้งก็ตาม เช่น การกล่าวถึง พรรณราย ว่าเป็นผู้ที่ไม่นิยมกินหมาก ผนวกกับการจัดวางให้ตัวละครที่เป็นคนรับใช้มีอุปกรณ์กินหมากอยู่ในห้อง ซึ่งแม้ตัวบทจะไม่ได้มีการเหยียดหยามหรือเปรียบเทียบให้เห็นเด่นชัด แต่การเลือกให้เจ้านายอย่างหม่อมพรรณรายไม่กินหมากก็แสดงให้เห็นว่าตัวละครที่มีชนชั้นสูงกว่าเลือกที่จะไม่กินหมากเป็นตัวแทนของความมีอารยะตามที่รัฐกล่าวอ้าง นอกจากนี้ในนวนิยายยังมักกล่าวถึงการหัดรำวงและลีลาศให้เป็นเพื่อออกงานสังคมและการเข้าสมาคม ซึ่งค่านิยมของรำวงก็เกิดจากคำสั่งของจอมพล ป. เช่นกัน
หากสังเกตประเด็นการเล่นดนตรีภายในเรื่องจะเห็นว่าในวรรณกรรมเรื่อง บ้านทรายทอง ไม่ปรากฏเนื้อหาตอนใดที่ตัวละครเล่นดนตรีไทยเลยสักครั้ง โดยเครื่องดนตรีที่ปรากฏกลับเป็น เปียโน ซึ่งพจมานเป็นตัวละครหนึ่งที่เล่นเครื่องดนตรีนี้อยู่บ่อยครั้ง แม้แต่ในฉากที่พจมานเล่นเพลงแขกสาหร่ายคลอด้วยเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ก็ยังใช้เปียโนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ
ถึงแม้ว่าในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามจะไม่มีประกาศหรือคำสั่งห้ามอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเล่นดนตรีไทย แต่ก็มีหลักฐานและข้อสนับสนุนหลายประการซึ่งแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าจอมพล ป. ผลักดันและส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยก้าวเข้าสู่ความมีอารยะ ด้วยการรับอิทธิพลหลากหลายด้านจากตะวันตกเข้ามา ซึ่งหมายรวมถึงการบรรเลงดนตรีด้วย ดังที่ ณรงค์ เขียนทองกุล ได้แสดงทัศนะต่อการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมในปี พ.ศ. 2486 ไว้ใน วารสารมนุษยศาสตร์ ว่า
“ในการบรรเลงผู้บรรเลงต้องแต่งกายตามรัฐนิยม และห้ามวางเครื่องดนตรีและนั่งบรรเลงดนตรีกับพื้น พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จึงมีผลกระทบต่อวงดนตรีไทยอย่างมาก ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการไม่สนับสนุนวงดนตรีไทยอย่างชัดเจน และส่งผลให้ไม่มีผู้นำดนตรีไทยไปแสดงตามงาน และแม้แต่สถานีวิทยุของกรมโฆษณาก็ไม่เปิดเพลงไทยเลย”
จริงหรือที่จอมพล ป. คือ ชายกลาง แห่งบ้านทรายทอง
สิ่งที่น่าสนใจประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเกี่ยวกับ บ้านทรายทอง คือ การสร้างตัวละครเอกของเรื่อง ชายกลาง โดยนำเสนอให้เป็นภาพแทนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
จรูญพร ปรปักษ์ประลัย เคยเขียนบทวิจารณ์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ก. สุรางคนางค์กับรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมกล่าวถึงบุคลิกลักษณะของชายกลางที่ปกครองคนในบ้านทรายทองด้วยอำนาจแบบเผด็จการ โดยเชื่อมโยงกับความชื่นชอบในตัวผู้นำอย่างจอมพล ป. พิบูลสงครามที่อาจส่งอิทธิพลให้ ก. สุรางคนางค์ เนรมิตให้ตัวละครที่เป็นพระเอกของเรื่องมีลักษณะตามแบบฉบับของผู้นำที่มีอำนาจสูงสุด เป็นผู้ดูแลและตัดสินใจทุกอย่างได้เด็ดขาด และมักเก็บซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงไว้ภายในเสมอ สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ในเนื้อหาตอนหนึ่งของบ้านทรายทองได้บรรยายถึงตอนที่ชายกลางต้องเดินทางไปราชการที่ต่างประเทศในครั้งที่ 2 โดยได้ให้รายละเอียดไว้ว่าเดินทางไปที่ไซ่ง่อนซึ่งแม้ในนวนิยายจะไม่ได้ระบุช่วงเวลาในเรื่องให้ผู้อ่านทราบอย่างชัดเจน แต่เมื่อนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมาเชื่อมโยงก็จะพบว่ามีความสอดคล้องกับบทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่มีส่วนร่วมในการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทอินโดจีน (การเจรจาไกล่เกลี่ยเกิดขึ้นในอ่าวเมืองไซ่ง่อน) ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสให้ยุติลงในปี พ.ศ. 2484 และเป็นเหตุให้จอมพล ป. พิบูลสงครามซึ่งมียศเป็นพลตรีหลวงพิบูลสงครามในขณะนั้นได้เลื่อนขั้นเป็นจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ โดยไม่ต้องผ่านยศพันโทและพันเอก อีกทั้งยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดด้วย
นอกจากการเชื่อมโยงเหตุการณ์แล้วการสร้างคาแรกเตอร์โดยรวมของตัวละครชายกลางเอง มีบทบาทในการอุปถัมภ์ทั้งคนชรา เด็ก สตรี และคนพิการภายในบ้านทรายทอง ทั้งยังมีบทบรรยายส่วนหนึ่งที่พจมานพูดว่า “คุณพ่อที่รักของลูกได้พร่ำอบรมบ่มนิสสัยลูกเสมอว่า เราจะต้องโอบอ้อมอารีและช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่เด็กๆ ที่มีอายุอ่อนกว่า คนพิการง่อยเปลี้ยเสียขา คนชราตามืดไม่แลเห็นหูติ่ง”
บทบาทเหล่านี้ของชายกลางต่างสอดรับกับประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 12 ซึ่งว่าด้วยการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพ ซึ่งงานสังคมสงเคราะห์และการออกนโยบายในการช่วยเหลือคนในกลุ่มเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างชื่อของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วย
นัยต่าง ๆ ที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องบ้านทรายทองจึงค่อนข้างมีน้ำหนักชวนให้คิดเหลือเกินว่าก. สุรางคนางค์ อาจนำลักษณะและผลงานของจอมพล ป. พิบูลสงครามมาร่วมสร้างสรรค์เป็นตัวละครในเรื่องได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังดึงวัฒนธรรมในยุคสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงครามมาสอดแทรกไว้ในเนื้อหาได้อย่างกลมกลืนด้วย
อย่างไรก็ตามไม่ว่าทุกสิ่งที่ปรากฏออกมาผ่านวรรณกรรมจะเป็นความตั้งใจหรือเจตนาของผู้แต่งในการสนับสนุนนโยบายเชิงวัฒนธรรมดังกล่าวหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดการถอดรหัสของตัวบทใน บ้านทรายทอง ครั้งนี้ ก็ได้แสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมสุดคลาสสิกอย่างบ้านทรายทองที่ใคร ๆ ต่างกล่าวขานกันว่าเต็มไปด้วยเรื่องรักน้ำเน่าสมคำร่ำลือ แต่เมื่อลองอ่านเนื้อหาในวรรณกรรมอย่างใกล้ชิดและพินิจให้ดีก็อาจพบสิ่งต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ตามหน้ากระดาษและในระหว่างบรรทัดของตัวอักษรซึ่งเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ตัวน้อย ๆ ที่รอคอยการค้นพบนัยทางตัวบทที่แฝงเร้นอยู่ภายในก็เป็นได้
Fact File
- ก.สุรางคนางค์ (นามปากกา). (2494). บ้านทรายทอง (พิมพ์ครั้งที่ 5). พระนคร: เจริญธรรม.
อ้างอิง
- ก้องสกล กวินรวีกุล. (2517). การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487. (วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต).มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา, สาขามานุษยวิทยา.
- จรูญพร ปรปักษ์ประลัย. บ้านทรายทอง: ความจริงแห่งทรายความหมายแห่งทอง. ใน สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ (บรรณาธิการ), ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนะวิจารณ์ต่อนวนิยายยุคแรก. หน้า267-280. กรุงเทพฯ: กิจไพศาลการพิมพ์และซัพพลายส์ จำกัด, 2548.
- ชาญวิทย์เกษตรศิริ, ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, วิกัลย์พงศ์พนิตานนท์ (บรรณาธิการ). (2544). จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่(พิมพ์ครั้งที่ 2). ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ณรงค์เขียนทองกุล. (2544). การห้ามบรรเลงดนตรีในประวัติดนตรีไทย.วารสารมนุษยศาสตร์. (9), 110-118.
- http://old-book.ru.ac.th/e-book/h/HI320/hi320-5.pdf
- https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:141355
- http://www.blind.or.th/centre/about_show/1