ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ วันปีใหม่ และธรรมเนียมส่งความสุขแบบฉบับชาวสยาม
- ชาติตะวันตกเริ่มมีการพิมพ์ขายบัตรอวยพรวันคริสต์มาสและ วันขึ้นปีใหม่ ครั้งแรกในโลก ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกลายต้นแบบ ส.ค.ส.บัตรอวยพรส่งความสุขปีใหม่ในยุคต่อมา
- สำหรับประเทศไทย ส.ค.ส. ปรากฎหลักฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่เพิ่งมีการพิมพ์ขายให้ประชาชนได้ใช้เขียนอวยพรถึงกันในสมัยรัชกาลที่ 5
วันปีใหม่ นับเป็นวันที่น่าสนใจในทางประวัติศาสตร์อยู่มาก เพราะนอกจากจะเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ผสมผสานระหว่างโลกตะวันตกและวิถีของสยามในขณะนั้นแล้ว การเริ่มต้นจัดงานปีใหม่ การเปลี่ยน วันปีใหม่ ยังมีนัยทางการเมืองซ่อนอยู่ โดยเฉพาะในแง่ของการผูกมิตรกับชาติฝรั่ง การเร่งพัฒนาสยามให้ทันสมัยเป็นอารยประเทศ เพื่อให้รอดจากยุคสมัยล่าอาณานิคม
บัตรอวยพรปีใหม่และคริสต์มาสครั้งแรกของโลก
ย้อนไปกลางศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรงกับช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาของไทย ชาวตะวันตกเริ่มมีธรรมเนียมการส่งบัตรอวยพรถึงกันเรียกว่า “บัตรเยี่ยม” (Visiting Card) เป็นบัตรขนาดเท่าไพ่ พิมพ์ลายสวยงาม มีทั้งรูปวาดธรรมชาติ รูปอาคารโบราณต่าง ๆ ด้านหลังของบัตรเว้นที่ว่างไว้ให้ผู้ส่งได้เขียนข้อความเยี่ยมเยียนกัน โดยบัตรเยี่ยมนี้ถูกใช้ในหลาย ๆ โอกาสรวมถึงช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองของคริสตศาสนิกชน และฉลอง วันขึ้นปีใหม่ ในคราเดียวกัน โดยบัตรเยี่ยมยุคแรกนั้นมีข้อความเป็นกวี หรือถ้อยคำโรแมนติก ต่อมาใน พ.ศ.2386 ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย ชาติตะวันตกเริ่มมีการพิมพ์ขายบัตรอวยพรวันคริสต์มาสและ วันขึ้นปีใหม่ ครั้งแรกในโลก ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกลายต้นแบบ ส.ค.ส.บัตรอวยพรส่งความสุขในยุคต่อมา ซึ่งถ้าย้อนไปดูหลักฐานที่บันทึกจะพบว่า บัตรอวยพรวันคริสต์มาสนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเยอรมันนีมาก่อนชาวอังกฤษ แต่เพิ่งจะมาเผยแพร่แก่ประชาชนใน พ.ศ.2386
ส.ค.ส. ฉบับแรกในสยาม
ส.ค.ส. หรือบัตรอวยพร “ส่งความสุข” มีปรากฎหลักฐานในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตรงกับปี พ.ศ.2409 ซึ่งแม้ในขณะนั้นวันปีใหม่ของสยามยังคงเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติ แต่เมื่อสยามเปิดประตูต้อนรับความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมากขึ้น บวกกับมีชาวต่างชาติอาศัยและทำงานอยู่ในสยามมากขึ้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระราชสาส์นอวยพรแก่บุคคลต่างชาติ ในวาระที่พวกเขาเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส และ วันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคริสต์ศักราชใหม่ ตามปฏิทินสากล คือ ทุกวันที่ 1 มกราคม กลายเป็นที่มาของ ส.ค.ส. ฉบับแรกในเมืองไทย
พระราชสาส์นอวยพรปีใหม่ หรือ ส.ค.ส. ฉบับพระราชนิพนธ์ ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานแก่ “หลวงวิสูตรสาครดิฐ” หรือ “กัปตันจอห์น บุช” สมัยที่จอห์น บุช ดำรงตำแหน่งเจ้าท่ากรุงเทพฯ โดย ส.ค.ส. ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 นี้เป็นลักษณะของจดหมาย หรือ พระราชสาส์นอวยพรปีใหม่ไม่ได้เป็นบัตรอวยพรที่มีลวดลายวิจิตร พร้อมกันนั้นทรงลงพระปรมาภิไธยและลายเซ็นพระนาม “S.P.P.M Mongkut”
ลักษณะของ ส.ค.ส. ฉบับนี้เป็นกระดาษสมุดฝรั่งสีครีมขนาด 18 X 23 เซนติเมตร พับครึ่ง พระราชสาสน์อวยพรมีความยาว 4 หน้า ข้อความในพระราชสาส์นอวยพรนี้เป็นลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษ นับได้ว่า ส.ค.ส. ฉบับพระราชนิพนธ์นี้เป็น ส.ค.ส ฉบับเก่าแก่ที่สุดที่พบหลักฐานในแผ่นดินไทย และยังเป็นจดหมายเหตุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ส.ค.ส.ฉบับพิมพ์เพื่อให้ประชาชนได้ซื้อหา
แต่โบราณมาไทยถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย (เดือนหนึ่ง) ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นปีขึ้นต้นปีนักษัตรใหม่ ซึ่งสร้างความสับสนให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในไทย ครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงปรับเปลี่ยนทรงกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็น วันขึ้นปีใหม่ ของสยาม เพื่อไม่ให้ชาวต่างประเทศสับสน เริ่มประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2432 (ร.ศ.108)
ใน พ.ศ.2428-2429 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 มีการพบหลักฐานว่าสยาม เริ่มมี ส.ค.ส.ฉบับพิมพ์เพื่อการค้า ตีพิมพ์โดย ห้างเคียมฮัวเฮง วางจำหน่ายให้ประชาชนซื้อหาเป็นบัตรอวยพรตามธรรมเนียมตะวันตก ลักษณะเป็นนามบัตรขนาด 11 X 16.5 เซนติเมตร เป็นบัตรกระดาษหน้าหนึ่ง พิมพ์ภาพสถานที่สำคัญทั้งวัด วัง รวมทั้งภาพชีวิตชาวสยามสมัย รัชกาลที่ 5 ตัวอย่างลวดลายที่เป็นที่นิยม ได้แก่ วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์ รวมทั้ง “วังกลางทุ่ง” หรือ วังวินด์เซอร์ สถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร องค์แรกแห่งสยามประเทศที่เขตปทุมวัน ภาพชีวิตชาวสยามคนตำข้าวด้วยสากอยู่ในเฟรมเดียวกับควายสองตัวย่ำนวดข้าว ส่วนอีกด้านหนึ่งของบัตรอวยพรเหล่านี้ มีข้อความเป็นบทกวีภาษาอังกฤษ
เริ่มใช้คำว่า “ส.ค.ส.” ครั้งแรก
สมัยรัชกาลที่ 6 ได้เริ่มมีการเรียกบัตรอวยพรปีใหม่ว่า “การ์ดปีใหม่” และมีโคลงอวยพร (พบหลักฐานในหนังสือพิมพ์ที่ออกในปี พ.ศ.2453) ส่วนคำว่า ส.ค.ส. ที่นิยมใช้แทนคำว่า “ส่งความสุข” พบหลักฐานครั้งแรกในบัตรพระนาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีลายพระหัตถ์เขียนด้วยหมึกสีดำว่า “ส.ค.ส. พ.ศ.2471” แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าใครใช้เป็นคนแรก
ธรรมเนียมการฉลองของชาวสยาม
สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่ ของสยามอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ พ.ศ.2484 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในแรกเริ่มเพื่อให้ประชาชนสนใจร่วมฉลองงานปีใหม่ และถือวันนี้เป็นวันฉลองประจำปี มีการทำบุญตักบาตร และทางราชการได้ทำเหรียญที่ระลึกห้าเหลี่ยมรูปพานรัฐธรรมนูญอยู่บนงูขด พร้อมข้อความ “งานปีใหม่ 2484”
พ.ศ.2486 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ข้าราชการและประชาชนทักทายกันด้วยคำว่า “สวัสดี” และเมื่อถึง วันขึ้นปีใหม่ จึงมีคำว่า “สวัสดีปีใหม่” และต่อมามีเพลง “สวัสดีปีใหม่” สำหรับการเฉลิมฉลองในยุคนี้ด้วย
พ.ศ. 2510 เริ่มมี ส.ค.ส แบบ 3 มิติ เริ่มเข้ามาขายในไทย ลักษณะเป็นบัตรอวยพรเป็นแผ่นพับเป็นกระดาษซ้อนหลายชั้น บางอันมีวาดรูปดอกกุหลาบแล้วเจาะช่องบางเมื่อคลี่บัตรแผ่นพับออกจะได้รูปดอกไม้กระดาษเป็นชั้น ๆ และในความทรงจำของเด็ก ๆ ยุค 90 ส.ค.ส.โรยกากเพชร คือ ความฮอตฮิตที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน
สำหรับใครที่สนใจชมบัตรอวยพรของไทยในยุคสมัยต่าง ๆ เช่น บัตรอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2464 ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติมีการจัดเก็บไว้เป็นเอกสารจดหมายเหตุชุดหอพระสมุดวชิรญาณ หมวดเบ็ดเตล็ด สามารถแวะไปชมกันได้
อ้างอิง
- นิตยสาร สารคดี ธันวาคม 2546 (บทความพิเศษ วันขึ้นปีใหม่ ไทย บัตรอวยพร ส.ค.ส. โดย ส. พลายน้อย)