เปิดภาพถ่าย ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ยุคบุกเบิกอวกาศ โดยยาน Voyager
Pic Talks

เปิดภาพถ่าย ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ยุคบุกเบิกอวกาศ โดยยาน Voyager

Focus
  • ยานอวกาศ Voyager1 และ 2 สามารถค้นพบความลับมากมายของสุริยะโดยเฉพาะดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน พร้อมด้วยดวงจันทร์อีก 48 ดวง และวงแหวนของดาวเสาร์
  • Voyager1 และ 2 ถ่ายภาพระบบสุริยะกลับมาได้อีก 6 หมื่นกว่าภาพซึ่งเป็นชุดภาพที่ปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุริยะที่เคยมีมาเลยก็ว่าได้

ย้อนไปในยุคทองของการสำรวจอวกาศซึ่งตรงกับ ค.ศ.1979-1989 เป็นช่วงเวลาที่ทางนาซ่าได้ส่ง ยานอวกาศ Voyager 1 และ Voyager2 ขึ้นไปสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ แม้ก่อนหน้านั้นจะมียานอวกาศลำอื่นเคยเดินทางไปสำรวจมาแล้ว แต่ Voyager กลับสามารถค้นพบความลับมากมายของระบบสุริยะโดยเฉพาะ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน พร้อมด้วยดวงจันทร์อีก 48 ดวง และวงแหวนของดาวเสาร์ อีกทั้งยังถ่ายภาพกลับมาได้อีก 6 หมื่นกว่าภาพ ซึ่งเป็นชุดภาพที่ปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุริยะที่เคยมีมาเลยก็ว่าได้

การเดินทางเพื่อเปลี่ยนประวัติศาสตร์ระบบสุริยะ

Voyager1 เดินทางถึงดาวพฤหัสบดีในเดือนมีนาคม ค.ศ.1979 ก่อนหน้า Voyagerถึง 4 เดือน และสามารถเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีได้มากที่สุดในระยะทาง 348,890 กิโลเมตร ถ่ายภาพได้จำนวน 17,477 ภาพ ทั้งยังเห็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ 4 ดวงของดาวพฤหัสบดีที่ค้นพบโดยกาลิเลโอ คือ Io, Ganymede, Callisto และ Europa

ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี
ดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์
Voyager1 ค้นพบภูเขาไฟหลายลูกที่กำลังคุกกรุ่นบนดวงจันทร์ Io
ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี
จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี ที่เรียกว่า the great red spot

ผลงานชิ้นโบแดงของ Voyager1 คือการค้นพบจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี ที่เรียกว่า the great red spot ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก เกิดจากพายุหมุนหลายสิบลูกในบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี อีกทั้งยังได้พบวงแหวนบางๆ ของดาวพฤหัสบดีอีกด้วย

และที่ทำให้วงการดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นมากๆ คือการที่ Voyager1 ค้นพบภูเขาไฟหลายลูกที่กำลังคุกกรุ่นบนดวงจันทร์ Io ซึ่งได้เปลี่ยนชุดความเชื่อเดิมที่ว่าดวงจันทร์ Io มีอายุเก่าแก่และมีหลุมอุกกาบาตคล้ายดวงจันทร์ของโลก ไม่เพียงเท่านั้น Voyager1 ยังทำให้เราได้เห็นพื้นผิว สภาพทางธรณีของดวงจันทร์ที่เหลืออีก 3 ดวง เริ่มจาก Ganymede ทีพื้นผิวเป็นหลุมบ่อ ขรุขระ ส่วน Callisto มีหลุมอุกกาบาตเก่าแก่ และ Europa มีสันเนินเตี้ยๆ ที่ตัดกันยุ่งเหยิงไปหมด และทิ้งท้ายด้วยการพบดวงจันทร์ใหม่อีก 3 ดวงของดาวพฤหัสบดี คือ Metris, Adrastea และ Thebe

ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี
การค้นพบวงแหวนบางๆ ของดาวพฤหัสบดี
ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี
ไททัน (Titan) ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์

ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน Voyager เดินทางต่อไปยังดาวเสาร์ และอีก 20 เดือนต่อมาก็ไปถึงไททัน (Titan) ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของระบบสุริยะรองจาก ดวงจันทร์ Ganymede ของดาวพฤหัสบดี การไปถึงไททันของ Voyager ได้ทำลายข้อสันนิษฐานเดิมของนักวิทยาศาสตร์อีกครั้ง จากเดิมที่เคยสันนิษฐานว่าไททันอาจมีบรรยากาศและมีทะเลก๊าซมีเทนบริเวณพื้นผิว แต่ Voyager1 กลับพบเมฆหมอกสีส้มซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถมองทะลุเห็นพื้นผิวได้ แต่อย่างน้อยคลื่นวิทยุที่สะท้อนจาก Voyager1 ก็สามารถบอกได้ว่าพื้นผิวของไททันเป็นหิน ซึ่งนี่เป็นเหตุที่ทำให้ NASA ต้องส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจไททันอีกครั้งในเวลาต่อมา

Voyager
เมฆของดาวเสาร์

สำหรับความลับของดาวเสาร์ที่ Voyager 1 ค้นพบคือ วงแหวนของดาวเสาร์มีหลายสิบวงด้วยกัน และโครงสร้างภายในของวงแหวนก็ประกอบไปด้วยวงแหวนย่อยๆ อีกหลายพันวง ทั้งยังพบดวงจันทร์ใหม่ของดาวเสาร์ถึง 3 ดวง ก่อนจะจบภาระกิจในเดือนธันวาคม ค.ศ.1980 และมุ่งหน้าไปยังขอบสุริยะต่อไป

Voyager
ดาวเสาร์ที่เหมือนพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ถ่ายโดย Voyager2

แฝดผู้น้อง Voyager2

สำหรับ Voyager2 เดินทางเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีมากที่สุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1979 ระยะทาง 721,670 กิโลเมตร และได้บันทึกภาพไว้จำนวน 17,050 ภาพ ซึ่งเห็นวงแหวนของดาวพฤหัสบดีชัดเจนมาก รวมทั้งพื้นผิวของ Callisto ที่เชื่อว่าน่าจะเก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะ จากนั้น Voyager2 ได้เดินทางต่อไปยังดาวเสาร์ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน และสามารถถ่ายภาพดาวเสาร์ได้ทั้งหมด 11,001ภาพ

Voyager
ดวงจันทร์ Enceladus ภาพระยะใกล้ (บน) และระยะไกล (ล่าง)
Voyager

ภาพสำคัญที่ Voyager2 ถ่ายได้บนเดาวเสาร์คือ การค้นพบจุดสีขาวรูปไข่ (white ovals) ในบรรยากาศ คล้ายกับที่เกิดขึ้นบนดาวพฤหัสบดี รวมทั้งเห็นชัดว่าวงแหวนของดาวเสาร์มีหลากสี  ภาพพื้นผิวที่มีอายุไม่มากนักของดวงจันทร์ Enceladus ภาพดวงจันทร์ Phoebe ซึ่งน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ดาวเสาร์จับเข้ามาเป็นบริวาร และการค้นพบดวงจันทร์ใหม่ถึง  7 ดวงด้วยกัน

Voyager
วงแหน B-ring และ C-ring ของดาวเสาร์ แสดงให้เห็นชั้นวงแหวนย่อยๆ

จบจากภาระกิจสำรวจดาวเสาร์ Voyager2 ก็ได้ใช้แรงเหวี่ยงของดาวเสาร์มุ่งน่าไปสำรวจดาวยูเรนัส ดาวเคราะห์ดวงที่ 7 และเดินทางไปยังขอบระบบสุริยะต่อเช่นเดียวกับ Voyager1 ในวันขึ้นปีใหม่ ค.ศ.1990

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ธันวาคม 2545

ภาพ : https://voyager.jpl.nasa.gov/