Curator 101 : พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ผู้หลงใหลในศิลปะร่วมสมัย
- แม้เมืองไทยจะรู้จักอาชีพ ภัณฑารักษ์ หรือ คิวเรเตอร์ (Curator) มากขึ้น แต่สำหรับเส้นทางบนอาชีพภัณฑารักษ์ในประเทศไทยก็ยังถูกทำให้ดูลึกลับ เป็นที่รู้กันเฉพาะกลุ่มคน
- พอใจ อัครธนกุล คือ ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ที่เรียนจบด้านบริหารศิลปะและภัณฑารักษ์โดยตรง ปัจจุบันทำงานตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ เทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ตเบียนนาเล่ (BAB 2020)
แม้เมืองไทยจะรู้จักอาชีพ ภัณฑารักษ์ หรือ คิวเรเตอร์ (Curator) มากขึ้นทั้งภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์และภัณฑารักษ์ในอาร์ตแกลเลอรี แต่เอาเข้าจริงสำหรับเส้นทางบนอาชีพภัณฑารักษ์ในประเทศไทยก็ยังถูกทำให้ดูลึกลับ เป็นที่รู้กันเฉพาะกลุ่มคน ต้องเป็นคนที่สนใจศิลปะจริงๆ จึงจะรู้ว่าเส้นทางในอาชีพนี้ควรจะเริ่มและเดินอย่างไร เราแทบจะไม่รู้เลยว่าในบรรดามหาวิทยาลัยในประเทศไทยต้องเรียนสาขาไหนจึงจะจบไปเป็นภัณฑารักษ์ โดยเฉพาะภัณฑารักษ์สายศิลปะร่วมสมัยนั้นเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอาร์ตแกลเลอรีที่มีเพียงน้อยนิดในเมืองไทยจะเพียงพอต่อการรองรับอาชีพนี้
Sarakadee Lite ชวนพูดคุยกับ พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ที่เรียนจบด้านบริหารศิลปะและภัณฑารักษ์โดยตรงพร้อมย้อนถึงช่วงเวลาของการเดินทางในสายอาชีพ ภัณฑารักษ์ ที่เข้าไปคลุกวงในอยู่กับงานศิลปะร่วมสมัย เส้นทางนี้มีอะไรให้ค้นหาและภัณฑารักษ์ต้องทำอะไรบ้าง
รักศิลปะ แต่ไม่ได้รักที่จะเป็นศิลปิน
“เราชอบประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นคนชอบดูงานศิลปะ มากกว่าจะเป็นศิลปินสร้างงานเอง”
หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยการเรียนรู้โลกศิลปะด้วยการทดลองทำงานหลากหลายประสบการณ์ที่เกี่ยวกับศิลปะทำให้พอใจรู้ตัวว่า เธอรักที่จะเสพมากกว่าเป็นคนสร้างงาน เธอจึงสนใจบทบาทหน้าที่ ‘ภัณฑารักษ์งานศิลปะ’ และเริ่มต้นทำงานช่วงสั้นๆในตำแหน่งผู้ประสานหอศิลป์และผู้ช่วยภัณฑารักษ์งานนิทรรศการแห่งหอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok University Gallery หรือ BUG)ที่นั่นเธอได้ลองทำทุกอย่าง ทำให้เริ่มเข้าใจงาน ภัณฑารักษ์ และอยากศึกษาต่อให้ลึกซึ้งมากขึ้น
พอใจตัดสินใจไปศึกษาต่อ‘ภัณฑารักษ์เฉพาะทาง’ในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาหรือปริญญาโทเฉพาะด้านภัณฑารักษ์งานศิลปะและพิพิธภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี้ (MA, Visual Arts Administration, Non-profit andCuratorial Concentration, New York University) ซึ่งแบ่งเป็น 2 สายหลักๆ คือ หนึ่ง สายจัดการศิลปะที่เน้นแสวงหาผลกำไร เน้นความรู้ทักษะด้านบริหารจัดการแกลเลอรี ร้านประมูลงานศิลปะ และการหาทุนต่างๆและ สอง สายไม่เน้นแสวงหาผลกำไร ซึ่งตรงกับความสนใจของพอใจมากในแง่เนื้อหา
“เราสนใจโปรแกรมนี้เพราะหลักสูตรมันกว้าง เลือกเรียนหลักสูตรการจัดการในกลุ่มงานที่ไม่แสวงผลกำไร และเน้นเจาะจงด้านภัณฑารักษ์ ซึ่งก็จะได้ลงเรียนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเยอะๆ แต่หลักสูตรที่เรียนมันคือการจัดการศิลปะ การตลาด กฎหมาย บัญชีและการหาทุนอยู่ด้วย ซึ่งมันจำเป็นต้องมี แม้เราจะทำงานสายศิลปะที่ไม่เน้นแสวงผลกำไรก็ตาม”
ภัณฑารักษ์ ศาสตร์ที่ไม่มีขอบเขต
หลังจบเฉพาะทาง ภัณฑารักษ์ มาแล้วพอใจใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อที่นิวยอร์ก หนึ่งในเมืองใหญ่ของโลกศิลปะร่วมสมัย การได้ฝึกงานเห็นระบบงานในแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยอย่างพิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์ กุกเกนไฮม์ และ Sculpture Center และการได้ร่วมงานกับกลุ่มองค์กรสนับสนุนภัณฑารักษ์อิสระอย่าง ICI (Independent Curators International) ทำงานค้นคว้าข้อมูลและประสานงานข้อมูลจัดทำหนังสือที่เรียกว่า sourcebook สำหรับการแสดงศิลปะที่นิวยอร์กของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ศิลปินร่วมสมัยและผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์ควบคู่ไปกับการทำงานในแกลเลอรีศิลปะขนาดเล็กย่านเชลซี เวสต์วิลเลจ ทำให้เธอได้สัมผัสแวดวงศิลปะร่วมสมัยที่คึกคักในนิวยอร์กแต่มีผลต่อการเดินทางของเธอ
“ภัณฑารักษ์เป็นศาสตร์ที่บอกได้ยากว่าขอบเขตงานมันอยู่ตรงไหน”
พอใจอธิบายถึงงานภัณฑารักษ์ยุคปัจจุบันซึ่งต้องใช้ทักษะที่มากกว่าศิลปะ โดยเฉพาะบทบาทของการเป็นภัณฑารักษ์อิสระ ในเมืองไทยที่ไม่ได้ขึ้นกับแกลเลอรีหรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด ภัณฑารักษ์อิสระในเมืองไทยต้องทำงานแบบ ‘บริการครบจบที่คนคนเดียว’ ให้ได้หมายถึง นอกจากจะต้องพัฒนางานนิทรรศการควบคู่ไปกับศิลปินแล้วก็ยังต้องเป็นทั้งคนหาทุน ทำเนื้อหา เป็นนักเจรจา บวกกับการดูแลงานออกแบบ งานประชาสัมพันธ์ และงานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ควบคู่ไปด้วย
“สิ่งที่สำคัญกับคิวเรเตอร์อย่างหนึ่งคือ
การทำงานกับศิลปิน และต้องเป็นนักเจรจาในหลายด้าน เจรจากับผู้ร่วมงานในหลายแขนง
และต้องมีความเข้าใจในศิลปินและงานศิลปะซึ่งอันนี้ก็ต้องลงลึกไปถึงประวัติศาสตร์ศิลป์
และศาสตร์อื่นๆ
ความเกี่ยวข้องของศิลปะกับบริบทรอบด้านถึงแม้ว่ามันจะมีดีเทลเล็กๆและภาษาของมันโดยเฉพาะ
ที่บางทีทำให้ความรู้ด้านการจัดการเฉยๆอาจจะไม่สามารถ apply (ประยุกต์)
ได้อย่างสิ้นเชิง มันก็ยังมีเรื่องของศาสตร์อื่นๆด้วย
บางทีก็มีเรื่องของการหาทุนเป็นอีกทักษะที่ต้องเพิ่มมา ก็แล้วแต่งาน
“ตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะแม้เราจะทำงานในสายศิลปะที่ไม่เน้นการแสวงหาผลกำไร
เราก็ยังต้องพึ่งตลาด โดยเฉพาะวงการศิลปะไทยเราไม่ได้อยู่ในระบบนิเวศด้านศิลปะที่ครบถ้วนนัก
เราอยากเห็นวันที่ระบบนิเวศมันครบเต็มกว่านี้ เช่น เดี๋ยวนี้เราจะเห็นคอลเล็กเตอร์คนสะสมงานศิลปะรุ่นใหม่ๆ
ที่มาสนใจงานศิลปะมากขึ้น ความสำคัญของการตลาดจะช่วยดึงคนเหล่านี้ให้อยู่ในวงการศิลปะ
สนับสนุนศิลปะต่อไป”
นอกจากทักษะและความเข้าใจเหล่านี้แล้ว ภัณฑารักษ์ 101 ฉบับพอใจยังต้องเรียนรู้ระบบวิธีของงานศิลปะด้วยโรงเรียนของประสบการณ์ อย่างเรื่อง ระบบการขนส่งขนย้ายงานศิลปะ การจัดการคอลเล็กชัน ระบบแกลเลอรีต่างๆ ที่ต่างกันออกไป ซึ่งพอใจย้ำว่า ‘เป็นเรื่องเฉพาะทางที่ต้องลงมือปฏิบัติจริง’โดยเฉพาะในงานศิลปะร่วมสมัยที่เคลื่อนไหวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย วิธีการสร้างงานศิลปะร่วมสมัยจึงขยายรูปแบบขอบเขตการสร้างงานไปมากขึ้น และภารกิจของภัณฑารักษ์ก็เช่นกัน
“ภัณฑารักษ์ยุคใหม่ อาจไม่จำกัดเฉพาะคนที่เรียนจบด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเท่านั้นจริงอยู่ที่มันจำเป็นต้องมีความรู้ด้านศิลปะอยู่แล้ว แต่พอใจเห็นว่าคนที่เขาจบทางด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา หรือด้านรัฐศาสตร์ เขาก็จะมีมุมมอง(ต่อการจัดงานศิลปะ)ที่กว้างขึ้น ได้มุมมองใหม่ๆมากขึ้นค่ะ มีรุ่นใหม่หลายคนที่เรียนมาทางสายปรัชญาหรือทฤษฎีการเมืองศิลปะร่วมสมัยมีเนื้อหาที่ลงลึกและหลากหลาย
“ศิลปินรุ่นใหม่บางคนเขาเหมือนเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่าศิลปินก็มีบางชิ้นงานเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาสังคม ซึ่งคนที่ไม่ได้จบศิลปะโดยตรง ก็อาจจะมีความเข้าใจและมุมมองต่องานเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องมีใบปริญญาภัณฑารักษ์ก็ได้ และคนดูก็อาจจะต้องการแปลความที่มากกว่าแค่ศิลปะต้องการการเชื่อมโยงศิลปะกับชีวิตหลายๆมุมโดยเฉพาะในยุคนี้”
ภัณฑารักษ์ = ผู้พัฒนางานร่วมกับศิลปิน
ปัจจุบันพอใจทำงานตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ เทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ตเบียนนาเล่ (BAB 2020) ซึ่งเธอกล่าวว่าเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนประสบการณ์ด้านภัณฑารักษ์ ‘อย่างมหาศาล’โดยเฉพาะโอกาสในการเรียนรู้จากภัณฑารักษ์รุ่นใหญ่อย่าง ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ และได้เห็นวิธีการทำงานของศิลปินหลายๆ คน
อีกหนึ่งการเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านศิลปะของพอใจคือ การรวมตัวกับเพื่อนๆ สายศิลปะตั้งกลุ่ม เจริญคอนเทมโพรารี (Charoen Contemporaries) กลุ่มภัณฑารักษ์อิสระรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 จัดกิจกรรมด้านศิลปะและเคยมีผลงานนิทรรศการศิลปะ Post Scripts ที่อาคารไปรษณียาคาร เชิงสะพานพุทธ และนิทรรศการ Louie!: Attitude Against Failureที่ Cartel Artspace
“เจริญคอนเทมโพรารี คือกลุ่มนักปฏิบัติการศิลปะ (art worker) ภัณฑารักษ์ (curator) และศิลปิน (artist) การตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา มีหลักในการทำงานของกลุ่มเป็นแบบแนวราบ ไม่มีลำดับขั้นตำแหน่งในองค์กรแบบแนวตั้ง คือเราพยายามจะให้การทำงาน(ของกลุ่มเจริญคอนเทมโพรารี)เป็นแบบเพื่อนๆมารวมตัวกันทำโปรเจกต์นิทรรศการแรกที่ทำคือตรงพื้นที่ของไปรษณียาคารที่เชิงสะพานพุทธฯเพื่อนๆ มาตะลุมบอนทำงาน
“ เช่น ช่วยหาทุน ในกลุ่มมีศิลปินก็เอางานมาแสดง โปรเจกต์ก็ขยายใหญ่ขึ้น บางคนเขาเป็นนักการศึกษา (educator) เขาก็ไปติดต่อกับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้มาร่วมงาน บางคนเป็นสายหนัง(ภาพยนตร์)เขาก็จัดฉายหนัง เป็นงาน curated ภาพยนตร์ในพื้นที่ เป็นการค่อยๆต่อยอดกันไป ในทางปฏิบัติอาจจะวุ่นวายนิดหนึ่งเพราะเป็นงานแนวราบ ทุกคนเท่ากัน แต่มันมีฟรีสปิริต(เปิดกว้าง) เกิดการสร้างสรรค์งานแบบทุกคนมีส่วนร่วม อย่างมีคนชวนกลุ่มบางกอกสวิงแดนซ์ (Bangkok Swing Dance) มาจัดงานหน้าตึก มีคนมาแสดงงานฉายโปรเจกเตอร์บนตึกตอนกลางคืน อะไรแบบนั้น มันมีความบริสุทธิ์ของการสร้างสรรค์อยู่ตรงนั้น”
นอกจากความมุ่งมั่นในการเดินทางสาย ภัณฑารักษ์ มาร่วม 8 ปี อีกสิ่งที่น่าสนใจคือกระบวนการทำงานภัณฑารักษ์ของพอใจที่ไม่ใช่เพียงหยิบจับชิ้นงานของศิลปินมาแสดง แต่กระบวนการทำงานของพอใจคือการพัฒนางานศิลปะชิ้นนั้นๆ ไปพร้อมกับศิลปิน
“พอใจสนใจงานแบบนี้มากคือ ค่อยๆ ดีเวลลอปงาน ค่อยๆ รีเสิร์ช และคิดงานไปพร้อมกันกับศิลปิน แล้วมีงานสุดท้ายออกมาเป็นตัวงานที่เราได้ร่วมพัฒนากับเขาจริงๆ พอใจอาจจะยังไม่ค่อยมีประสบการณ์มาก เราก็อยากทำงานแบบค่อยๆพัฒนางานกับศิลปินไป ซึ่งนี่คือจุดที่เราชอบมากในอาชีพภัณฑารักษ์”