Hope Factory บทกวีและสวนดอกไม้แห่งความหวังของ วิน โรแมนติกร้าย
- Hope Factory นิทรรศการที่ว่าด้วยความหวัง โดยโรแมนติกร้ายที่จะมานำเสนอบทกวีสีชมพูผ่านงานปักบนสะดึง 10 ชิ้น ที่ได้รับการปักโดย Jeep Craft
- นิทรรศการครั้งนี้ วินได้ชักชวนเพื่อนศิลปินอย่าง มัดหมี่-พิมดาว มาร่วมทำหนังสั้นทดลอง Starlight Shortfilm บอกเล่าความหวังที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความรัก
- พีเค-พัสกร คืออีกหนึ่งศิลปินในงานที่จะมาร่วมนำเสนอความหวังของผู้คนผ่านภาพถ่ายสีขาว-ดำ ด้วยมุมมองที่ว่าความหวังคือการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
ตอนนี้ที่ซอยเจริญกรุง 32 บริเวณชั้น 2 ของร้าน Fotoclub BKK กำลังมีสวนดอกไม้แห่งความหวังผลิบานอยู่ ดอกไม้และบทกวีซึ่งได้รับการปักและปลูกโดย วิน-นิมมาน วรวุฒิ ศิลปิน นักเขียนและกวี เจ้าของเพจ โรแมนติกร้าย ซึ่งการพบเจอกับช่วงเวลาของปีที่หนักหน่วง สิ้นหวัง วินได้ชวนเพื่อนพ้องที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มาร่วมประกอบสร้างโรงงานแห่งความหวัง ให้ผู้คนได้เข้าไปชาร์จพลังในชื่อนิทรรศการ Hope Factory
เมื่อถามถึงที่มา วินเล่าให้เราฟังว่า Hope Factory เกิดจากการที่เขาได้รู้จักกับ มัดหมี่-พิมดาว พานิชสมัย และ พีเค-พัสกร วรรณศิริกุล แล้วพบว่ามีจุดร่วมที่คล้ายกัน บวกกับปีนี้เป็นปีที่รู้สึกถึงความสิ้นหวังและผู้คนต้องการกำลังใจ ทั้งสามคนจึงรวมตัวกันเพื่อตีความความหวังออกมาใน 3 มุมมอง ที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นสื่อ 3 รูปแบบ
เปลี่ยนบทกวีเป็นงานปัก
“เราคิดว่าอีกนัยหนึ่ง ศิลปินคือคนที่ทำหน้าที่ผลิตความหวัง เราเลยเรียกนิทรรศการนี้ว่า Hope Factory มันเกิดขึ้นเร็วมากเลย จริง ๆ เราแค่อยากสนุก มันเป็นจังหวะชีวิตด้วยที่เรารู้จักกัน 3 คน เราแฮงก์เอาต์กับพี่เจต (สุรเจต โภคมั่งมี) เจ้าของ FotoClub BKK ด้วย แล้วบังเอิญที่เขามีสเปซตรงนี้อยู่ ซึ่งน่าสนใจตรงที่ห้องนี้มีความเป็นสามเหลี่ยม ซึ่งเราก็มี 3 คนพอดี เรารู้สึกว่ามันเป็นความบังเอิญที่เหมาะ พอสิ่งที่ถูกต้องมาอยู่ด้วยกันในเวลาที่ถูกต้อง เลยทำให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้นมา” วินเล่าถึงที่มาที่ไปของ Hope Factory
ภายในห้องสามเหลี่ยมที่วินกล่าวถึง มุมหนึ่งคุณจะพบ Heart Crafted Poetry บทกวีสีชมพูที่มักมอบพลังงานบวกให้แก่หญิงสาว ถูกปักอย่างตั้งใจอยู่บนสะดึง 10 ชิ้น ซึ่งมีสตูดิโอ จีบคราฟท์ (Jeep Craft) มาช่วยดูแลในส่วนของรูปแบบการปัก
“เราหลงใหลในงานปักมานานแล้ว เวลาไปชอปปิงแล้วเห็นเสื้อผ้าที่มีงานปักก็จะรู้สึกใจเต้น แต่เรื่องงานฝีมือเราแย่มาก เราเลยคิดว่าเราอยากให้บทกวีมารวมกับงานปักดูว่าจะเป็นอย่างไร เราชอบอะไรที่มีดีเทลเยอะ ๆ รู้สึกว่างานคราฟต์มีความใส่ใจ มีรายละเอียด ซึ่งคล้ายกับการเขียนกวีเหมือนกัน เพราะในอีกแง่ การเขียนกวีก็คือการคราฟต์คำ”
วินเล่าเพิ่มเติมถึงแรงบันดาลใจในงานปักซึ่งเป็นงานที่เขาไม่ถนัดนักอย่างงานเขียนบทกวีแต่ก็เป็นงานที่ทำให้เขารู้สึกใจเต้นได้เสมอ
“ก่อนหน้านี้เราไม่รู้จักคนที่ทำงานปักเลย เราชวนเปรี้ยวมาแจมเพราะเราเป็นแฟนคลับของกันและกันอยู่แล้ว เขาตาม โรแมนติกร้าย แล้วแชร์จากเพจเราบ่อย จนเราเข้าไปดูว่าคนนี้เป็นใคร ทำอะไรอยู่ เรารู้จักจากงานของกันและกัน มันเป็น Destiny ประมาณหนึ่งแหละ เลยได้มาจอยกัน อีกอย่างบทกวีมันไม่จำเป็นต้องอยู่บนหน้ากระดาษ มันสามารถกระโดดออกมาอยู่บนผ้าได้ อยู่ในชีวิตของทุกคนได้ ด้วยความที่ไม่ได้เข้าถึงอยาก การอยู่บนงานปักเลยเป็นเหมือนการรวมพลัง ขยายสิ่งนี้ออกมาให้ชัดขึ้น”
แปลงร่างความรู้สึกเป็นดอกไม้
“ร่วมงานกับวิน เราสนุกนะ พอเราคุยคอนเซ็ปต์กันชัดเจน การแปลงร่างออกมาเป็นงานปัก เป็นดอกไม้มันเลยง่ายขึ้น เราใช้วัสดุหลายอย่างมาก เอามาดัดแปลงให้สื่อออกมาได้มากที่สุด ถ้าลองดูใกล้ ๆ จะมีหลายมิติมาก เราต้องออกแบบดีไซน์และทดลองกันค่อนข้างเยอะ อย่างพวกเทคนิคการจัดวาง การดูโทนสีทุกอย่าง เราต้องเลือกให้ดูเป็นวินให้มากที่สุด” เปรี้ยว-ธนาภรณ์ ศรีสุข เจ้าของสตูดิโอ Jeep Craft บอกเล่าถึงการดีไซน์งานปัก โดยมี เมย์-วรดา เอลสโตว์ เป็นอีกหนึ่งแรงที่อยู่เบื้องหลังงานปักทั้งหมดในงาน (เมย์ คือหนึ่งสาวที่อยู่ในมิวสิกวิดีโอเพลง Little Wendy – Win Nimman)
สำหรับวิน เขาบอกว่าเหตุผลที่เปรียบกวีกับดอกไม้เพราะเขารู้สึกว่าความหวังมีฤดูกาลของมัน และแต่ละคนมีฤดูกาลที่ไม่เหมือนกัน บางคนความหวังอาจจะผลิบานในฤดูใบไม้ร่วงก็ได้ แต่ละคนมีคุณค่าในแบบของตัวเอง มีฤดูกาลของตัวเอง
“เรารู้สึกว่าบทกวีแต่ละบทมันคล้ายกับคาแรกเตอร์ผู้หญิงแต่ละแบบ คอนเซ็ปต์จะคล้าย ๆ กับนิทรรศการ Miss Candy Heart แต่ว่าครั้งนี้คอนเซ็ปต์อาจจะกว้างกว่า เราชอบดอกไม้อยู่แล้ว ซึ่งเรารู้สึกว่าดอกไม้แสดงถึงพลังของความเป็นเฟมินีนได้ดี งานนี้อาจจะไม่ได้พูดเป็นชื่อมิสตรง ๆ เหมือนครั้งที่แล้วแต่ว่าถ้าดูดี ๆ จะเห็นคาแรกเตอร์ของผู้หญิงซ่อนอยู่เช่น ดอกกุหลาบสีทิฟฟานีเราอินสไปร์จากเรื่อง Breakfast at Tiffany’s อยู่คู่กับบทกวี บางวันเธอรู้สึกเศร้า เหมือนทั้งโลกว่างเปล่า แต่บางวันเธอรู้สึกมีความสุข จนอยากกอดและซื้อดอกไม้ให้ทุกคน มันเหมือนชีวิตจริงในปีนี้ ที่บางวันเราก็รู้สึกมีความหวัง และบางวันเราก็สิ้นหวังมาก แต่เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้”
วินเล่าถึงดอกไม้บนงานปัก ซึ่งเขาตั้งต้นออกแบบเองทั้งหมดจากจินตนาการ โดยที่แต่ละดอกมาจากแรงบันดาลใจที่หลากหลาย และอยากให้ผู้ชมได้เข้ามาเห็นดีเทลแบบใกล้ ๆ
วิธีตามหาความหวังแบบโรแมนติกร้าย
เมื่อเชื่อมโยงความหวังกับบทกวีเราจึงอดไม่ได้ที่จะถามถึงความหวังในความหมายของ โรแมนติกร้าย
“ความหวังสำหรับเรามันกว้างนะ บางวันอาจจะเป็นแค่ Greentea Lemonnade หนึ่งแก้ว ที่แค่ดื่มเราก็สดชื่นแล้ว แต่บางวันเราก็รู้สึกว่าความหวังมันไกลตัวมาก แค่จะลุกจากเตียงนอนยังลุกไม่ได้เลย แต่สำหรับเรา วิธีที่ง่ายที่สุดอาจจะเป็นการเดินทาง ส่วนการเขียนกวีเป็นหนึ่งในการบำบัดหรือตามหาความหวัง ใช่คำนี้เลย จริง ๆ เราว่าอาร์ตทุกประเภทเป็นการบำบัดและฮีลจิตใจตัวเอง แล้วพอเราเริ่มฮีลตัวเองได้ เราก็จะอยากส่งพลังนี้ออกไปหาคนอื่นด้วย”
และเมื่อถามวินต่อว่า เขาเคยรู้สึกว่าโรแมนติกร้ายเป็นการตีกรอบให้ต้องมีความหวังตลอดเวลาหรือเปล่าวินตอบอย่างไม่ปิดบังว่ามีโมเมนต์นั้นเช่นกัน
“มีโมเมนต์นั้นเหมือนกัน บางทีก็กลายเป็นความกดดันเหมือนกัน แต่สุดท้ายเราคิดว่าถ้าบทกวีเป็นสิ่งที่เรารักจริง ๆ เราจะกลับมาหามัน เช่นเคยว่าทุกอย่างมันมีซีซันของมันเอง อาจจะมีซีซันที่เราไม่อยากเขียน ก็ไม่เป็นไร เราจะพักไปทำอย่างอื่นไปแต่งเพลง ไปบ้าบอ ไปกินไอศกรีมที่ไหนก็ได้ แต่พอถึงซีซันหนึ่ง เราจะกลับมาที่เดิม มีความหวังในช่วงเวลาหนึ่งมันยากด้วย แต่มันก็ง่ายด้วย แล้วแต่วันนะ”
บทกวี สีชมพู และการมองโลกแบบพาสเทล
จริงอยู่ว่าบทกวีแบบฉบับโรแมนติกร้ายมักมาพร้อมความหวัง ยิ่งเป็นโลกที่เต็มไปด้วยสีชมพูด้วยแล้ว คำถามที่ตามมาที่เราอยากถามวินมานานคือ นี่เป็นการมองโลกที่หวาน เป็นการมองโลกสีพาสเทลเกินไปหรือไม่ ซึ่งวินได้ตอบในข้อนี้ว่า
“สำหรับเรามันไม่มีคำว่า Positive เกินไป เราว่ายิ่งสีพาสเทลมาอยู่กับสีดำ มันยิ่งมีพลังมากขึ้น เรายิ่งเห็นมันชัดมากขึ้น เหมือนเวลาเราเผชิญกับความดาร์กหรือถูกเอเนอจี้สีดำล้อมไว้อยู่ แต่ตัวเรายังเป็นสีชมพูได้ เราเปล่งแสงสีชมพูสู้กับมัน เราเป็นคนสู้กับความดาร์กของโลกนี้ด้วยความมุ้งมิ้ง เราไม่ได้ให้โลกเปลี่ยนเรา แต่เราจะอยู่ของเราแบบนี้แหละ สู้กับมันไปด้วยพลังสีชมพู”
และสำหรับพลังของความหวังสีชมพูที่มาอยู่ในนิทรรศการนี้นั้น วินตอบสั้นๆ แต่ชัดเจนในความหมายว่า คือ พลังแห่งการมีชีวิตอยู่
“จากที่คุยกัน จริง ๆ เรามองว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดมันคือเหตุผลที่เรายังมีชีวิตอยู่ และการก้าวผ่านความเศร้า อันนี้เป็นจุดร่วมของความหวังอย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ ความเศร้ามันมีความเป็นสากลอยู่ มันจู่โจมเราได้ทุกเมื่อ”
นอกจากบทกวีที่ให้ความหวังต่อการมีชีวิต อีกด้านหนึ่งของห้องนิทรรศการ Starlight Shortfilm หนังสั้นทดลองโดยมัดหมี่ ฉายอยู่ที่มุมหนึ่ง เพื่อบอกเล่าความหวังอันมีจุดเริ่มมาจากความรัก
“ส่วนตัวเราอยากทำกวีอยู่แล้ว เพราะเราชอบงานกวี อยากทำเกี่ยวกับความหวังโดยที่จริง ๆ ความหวังมันตีความได้หลายแง่ แต่เราเลือกเรื่องความรัก เพราะจริง ๆ ความหวังมันเริ่มได้จากตัวเองหนังสั้นเราจะเกี่ยวกับเรื่อง Self Love เรามองว่าก่อนที่เราจะวิ่งตามหาความรักจากคนอื่น เราต้องเริ่มจากการรักตัวเองให้ได้ก่อน เราเล่าเรื่องนี้ผ่านการเต้นที่เป็น Contemporary Dance ซึ่งเราเองก็ไม่เคยเต้นมาก่อน เป็นอะไรที่ใหม่มาก เราใช้กวีสื่อสารผ่านมูฟเมนต์ด้วย คือจริง ๆ ตัวเราเป็นคนไฮเปอร์มาก พอมาทำตรงนี้จังหวะมันช้า Emotional ก็ช้า ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายเรา” มัดหมี่เล่าถึง Starlight หนังสั้นทดลองที่เธอทั้งเขียนบท กำกับและแสดงเอง โดยมี เค้ก-ธัชชา โกศลประภา จาก Studio Zoom ช่วยออกแบบมูฟเมนต์ให้อีกแรง
พีเค-พัสกร วรรณศิริกุล ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันจากรายการ The Face Men Thailand คือศิลปินอีกคนของ Hope Factory ที่นอกจากจะมาร่วมแสดงในหนังสั้นของมัดหมี่ด้วยแล้ว เราจะได้เห็นอีกมุมหนึ่งของเขากับการอยู่หลังกล้อง ที่โซน Capture the Hope นำเสนอความหวังผ่านภาพถ่ายสีขาว-ดำ ซึ่งจะถูกเติมลงบนผนังทุก ๆ วันเสาร์จากกิจกรรม Live Portrait Photography คู่กับกิจกรรม Live Poetry ของวินที่จะจัดขึ้นทุกวันเสาร์เช่นกัน เป็นการ Capture ความหวังของผู้คนออกมาเป็นภาพถ่ายและบทกวี ซึ่งหากใครมีเวลาเราอยากให้ลองไปค้นหาความหวังผ่านบทสนทนากับพวกเขาดู
“เวลาเราพูดคุยและเขียนกวีให้คนทุกคน เราจะเห็นบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในนั้น เราจะเห็นความหวัง ความน่ารักที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเขาอาจจะไม่รู้ว่ามีสิ่งนั้นอยู่ในตัวเขา” วินกล่าวถึงเหตุผลที่อยากทำ Live Poetry ซึ่งเป็นเหตุผลข้อเดียวกับสิ่งที่เขาอยากให้ผู้ชมได้รับเมื่อได้มาเยือน Hope Factory
“อยากให้ลองมาค้นหาตัวตนของตัวเองผ่านกวีสีชมพูเหล่านี้ แล้วคุณอาจจะเห็นความน่ารักและเสน่ห์ในตัว ที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ จริง ๆ ความน่ารักในตัวก็เป็นความหวังแล้ว เป็นความน่ารักของโลกใบนี้ โลกอาจจะไม่น่าอยู่ แต่เราคือความน่ารัก (หัวเราะ)”
“อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากบอกคือไม่ว่าเราจะหยิบจับอะไร มันจะมีความเป็นเฟมินิสต์อยู่ในนั้นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพราะนี่คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ อยากให้โลกนี้เท่าเทียม เราอยากเป็นอีกเสียงที่ทำให้เสียงของผู้หญิงดังขึ้น เพราะถ้ามองโครงสร้างสังคม ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบและถูกกดทับจากอำนาจนิยมเยอะกว่า สุดท้ายมันเลยขมวดกลับมาที่ว่าความหวังของเราซึ่งก็คือเรื่องนี้ อย่างน้อยเราขอเป็นหนึ่งในความหวังนั้น ขอเป็นกระบอกเสียง ขอใช้พลังที่มีซึ่งก็คือบทกวีและเพลงช่วยทำให้เสียงของผู้หญิงดังขึ้น”
Fact File
- นิทรรศการ Hope Factory จัดแสดงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 – 10 มกราคม พ.ศ. 2564 สถานที่ ชั้น 2 Fotoclub BKK ซอยเจริญกรุง 32 เวลา 11.00 – 20.00 น. (เข้าชมฟรี)
- กิจกรรม Live Poetry โดย วิน นิมมาน และ Live Portrait Photography โดย พีเค พัสกร จัดขึ้นทุกวันเสาร์
- รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : Fotoclub BKK
- ติดตาม โรแมนติกร้าย ได้ทาง Facebook, Instagram และ Twitter : romanticraipoet