หัวโขนชั้นครู : นิทรรศการรวมที่สุดหัวโขนไทยหาชมยากกว่า 93 ชิ้น
- นิทรรศการ หัวโขนชั้นครู จัดโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเผยแพร่คุณค่าของหัวโขน งานศิลปะไทยที่รวมงานช่างทั้ง 10 หมู่เข้าไว้ด้วยกัน
- ในนิทรรศการ หัวโขนชั้นครู จัดแสดงหัวโขนกว่า 93 ชิ้น ย้อนประวัติศาสตร์ความเก่าแก่ไปได้ถึงหัวโขนที่คิดรูปแบบขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้ โขน ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สำหรับคนไทยนั้น โขน ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแสดง แต่ยังรวมงานช่างไทยทุกสาขาเข้าไว้ด้วยกัน และหากต้องการรู้จัก โขน ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แนะนำให้ชม นิทรรศการ หัวโขนชั้นครู จัดแสดงหัวโขนกว่า 93 ชิ้น ย้อนประวัติศาสตร์ความเก่าแก่ไปได้ถึงหัวโขนในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 บางชิ้นเป็นต้นแบบที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และบางชิ้นอย่าง “หัวโขนกำมะลอ” ก็เป็นหัวโขนที่หาช่างทำได้ยากเต็มทีในยุคปัจจุบัน จัดแสดง ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 ธันวาคม 2563
ความพิเศษของนิทรรศการ หัวโขนชั้นครู นั้นไม่ใช่เพียงความสวยงามของงานช่างไทยทั้ง 10 หมู่ที่ประกอบเข้าเป็นหัวโขนหนึ่งหัว แต่นิทรรศการครั้งนี้ยังทำให้ผู้ชมได้เห็นพัฒนาการของหัวโขนที่มีมาแต่ต้นรัชกาลที่หนึ่งซึ่งไม่ได้มีแต่ตัวเอกอย่างพระลักษ์ พระราม ยักษ์ หนุมาน พลทหารวานร แต่ยังมีรายละเอียดของตัวละครต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในสปอตไลต์ของการแสดง เช่น โขนชมพูหมีที่รัชกาลที่ 6 ทรงดัดแปลงเปลี่ยนจากพญาวานรชมพูพานเป็นพญาหมี ชมพูหมี
ศีรษะเงาะ ตัวละครสำคัญในเรื่องสังข์ทอง ศีรษะเงาะนั้นช่างโบราณยอมรับว่าเป็นศีรษะที่ปั้นยากมากๆ เพราะมีพื้นเดิมเป็นมนุษย์ ในนิทรรศการจะได้ชมศีรษะเงาะแบบโบราณที่ฟันทำจากโป๊ะตะเกียงลานคล้ายฟันของคนจริง รวมทั้งมีศีรษะเงาะที่นำมาจากละครหลวงที่หน้าจะเล็กเพราะผู้เล่นเป็นเด็กผู้หญิงอายุราว 9-13 ปี รวมทั้งมีเงาะหน้าทองซึ่งเป็นฉากที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
หรือย่างศีรษะพระอินทร์กำมะลอ โดย ครูวิษณุ ผดุงศิลป์ ก็เป็นศีรษะกำมะลอที่สร้างได้เหมือนของจริงมากๆ นอกจากนี้ยังมีหัวพระประดับยอดปลายเลียนแบบพระมหาวิเชียรมณีซึ่งคิดค้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนเศียรพระพิฆเนศที่ใส่สีตามวันก็สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 และยังมีเศียรพระพิฆเนศแบบใหม่ที่ใช้โครงสร้างโลหะก็มีให้เห็น
นอกจากผลงานช่างโขนชั้นครูอย่าง ชิต แก้วดวงใหญ่ แล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจคือหัวโขนที่ตกทอดจากคณะละครต่างๆ เช่น คณะละครย่าหมัน หรือ มัลลี คงประภัศร์ โขนหลวงในสมัยรัชกาลที่ 7 ย่าหมันเป็นนักแสดงโขนที่มักจะสวมบทตัวยักษ์ และในนิทรรศการก็มีภาพของย่าหมันกับหัวโขนมูลพลัม พร้อมหัวโขนอื่นๆ ที่สร้างขึ้นสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะให้ได้ชม หรืออย่างหัวโขนยักษ์ของ คณะละครยายพิน จังหวัดอ่างทอง ก็มีความแปลกตรงที่ใช้แสดงเฉพาะเรื่องพระอภัยมณี และเรียกศีรษะยักษ์กุมารนี้ว่า “พี่สินสมุทร”
อีกหัวโขนที่หลายคนคุ้นชินคือ พ่อแก่ หรือ หัวโขนพระฤาษี ซึ่งในนิทรรศการมีทั้งพระฤาษีแบบวังหลวงที่ใบหน้าอวบอิ่ม กับพระฤาษีของคณะละครที่มีแก้มตอบซึ่งเหตุผลเพราะคณะโขนละครต่างก็มีความเชื่อว่าถ้าพ่อแก่ใบหน้าอวบอ้วนแสดว่าอยู่อย่างสุขสบายการงานก็อาจจะมีไม่มาก จึงนิยมสร้างเฉพาะของหลวงหรือคณะละครที่มีผู้อุปถัมภ์อยู่แล้ว เรียกได้ว่านอกจากการศึกษาเชิงช่างศิลป์ของไทยแล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังเล่าเรื่องโขนได้หลากหลายมิติ และสนุกมากๆ