20 ปี In the Mood for Love หนังคนเหงาที่ยากที่สุดของ หว่องกาไว
- ในบรรดาหนังทั้งหมดของผู้กำกับ หว่องกาไว เขายอมรับเลยว่า ภาพยนตร์In the Mood for Love คือหนังที่เขา “ทำยากที่สุดในชีวิต” หนังใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 15 เดือน
- In the Mood for Loveได้รับเลือกเข้าชิงรางวัล Palm D’or รางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หนังไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ ถือเป็นสไตล์เฉพาะตัวของ หว่องกาไว
เหงา ผูกพัน สับสน ซับซ้อน ประกอบเสียงดนตรีที่บอกห้วงอารมณ์ทุกความรู้สึกได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องมีบทสนทนา หรือเนื้อร้องเข้ามาประกอบฉากให้มากความ เหล่านี้ทำให้ In the Mood for Love เป็นหนึ่งในภาพยนตร์คลาสสิกของผู้กำกับ หว่องกาไว ที่ยังคงอยู่ในใจของแฟนหนังโรแมนติกเหงาเศร้าสไตล์หว่อง
ในวาระครบรอบ 20 ปี In the Mood for Love มงคลซีนีม่าจึงนำหนังในตำนานเรื่องนี้กลับมาฉายในไทยอีกครั้ง เป็นฉบับบูรณะใหม่แบบดิจิทัล 4K เล่าเรื่องราวของ คุณนายชาน (จางมั่นอวี้) กับ คุณเชา (เหลียงเฉาเหว่ย) ซึ่งย้ายมาอยู่ในห้องเช่าติดกันในวันเดียวกันอย่างพอดิบพอดี ทั้ง 2 แต่งงานแล้วก็จริง แต่ชีวิตคู่ของแต่ละฝ่ายกำลังจืดจาง เดินมาถึงทางตัน และเมื่อคนเหงามาอยู่ใกล้คนเหงา ยิ่งคุณนายชานได้เจอคุณเชาบ่อยเข้า ความรู้สึกผูกพันก็ยิ่งลึกซึ้ง และพัฒนากลายเป็นความสัมพันธ์ต้องห้ามที่ยากจะห้ามใจ
หว่องกาไวเคยกล่าวไว้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังที่ “ทำยากที่สุดในชีวิต” หนังใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 15 เดือน แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ ซึ่งถือเป็นสไตล์เฉพาะตัวของหนังหว่องกาไว โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 6 ระหว่าง ผู้กำกับ หว่องกาไว และ ผู้กำกับภาพ คริสโตเฟอร์ ดอยส์ โดยมี ปิงบินลี เป็นผู้กำกับภาพร่วม
ฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในฮ่องกงปี 1962 เป็นปีที่ หว่องกาไว ในชีวิตจริงอายุเพียงแค่ 5 ขวบเท่านั้น แต่เขากลับถ่ายทอดมันออกมาได้ละเอียดทุกองค์ประกอบ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้โลเคชั่นหลักในประเทศไทยบริเวณย่านบางรัก และเจริญกรุง
การสื่อสารอารมณ์ทุกอารมณ์ของหนังได้อย่างชัดเจนโดยใช้ภาพ และเสียงเป็นหลักทำให้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกเข้าชิงรางวัล Palm D’or รางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แต่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนหนังเข้าฉายในคานส์ หว่องกาไว ก็ยังตัดต่อหนังเรื่องนี้ไม่เสร็จ และผลปรากฏว่า เหลียงเฉาเหว่ย ขาประจำอีกคนในหนังของ หว่องกาไวได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ถือเป็นนักแสดงเอเชียคนที่ 2 ถัดจาก จีหยู่ (Ge You) ที่ได้รางวัลเดียวกันนี้จากหนังเรื่อง To Live (1994) และเป็นนักแสดงฮ่องกงคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
นอกจากเพลงIn the Mood for Love ที่เป็นเพลงบรรเลงจะโด่งดังพร้อมๆ กับหนังแล้ว เรื่องนี้ยังทำให้ชุดกี่เพ้ากลับมาอยู่ในประแสแฟชั่นอีกครั้ง เพราะทุกครั้งที่จางม่านอวี้ปรากฏกาย เธอจะสวมเสื้อผ้าที่ไม่ซ้ำกันเลยสักชุด หากนับรวมฉากที่ถูกตัดออก จำนวนชุดกี่เพ้าที่เธอใส่ถือว่ามากกว่า 40 ชุดเลยทีเดียว และชุดกี่เพ้าของเธอยังเป็นเหมือนนาฬิกาคอยเดินเรื่องให้คนดูรู้ว่าวันเวลาได้เคลื่อนเปลี่ยนไปแล้ว
ร่วมรำลึกความโรแมนติกเหงาฉบับหว่องกาไวได้ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ที่โรงภาพยนตร์ HOUSE SAMYAN, MAJOR CINEPLEX และ SF