ถ้าการเมืองดี เราคงไม่ต้องตั้งคำถามว่า “เด็กพิการเรียนไหนดี”
- เด็กพิการเรียนไหนดี มหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาสำหรับนักเรียนผู้พิการ
- ในไทยมีผู้พิการประมาณ 2 ล้านคน มีเพียง 1,533,159 คน เท่านั้นที่มีโอกาสทางการศึกษา แต่ที่น่าเศร้ากว่าคือมีเพียง 21,220 คน ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
ทราบหรือไม่ว่าผู้พิการในไทยมีประมาณ 2 ล้านคน และมีเพียง 1,533,159 คน เท่านั้นที่มีโอกาสทางการศึกษา แต่ที่น่าเศร้ากว่าคือมีเพียง 21,220 คน ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และนั่นก็เป็นที่มาของการจัดงานมหกรรมแนะแนวการศึกษา เด็กพิการเรียนไหนดี ’64 ตอน ปั้นฝันเป็นตัว โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดขึ้นที่ ทรู ไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563
เด็กพิการเรียนไหนดี เป็นมหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาสำหรับนักเรียนผู้พิการ ซึ่งชวนเด็กพิการกว่า 300 คนจากทั่วประเทศเข้ามาค้นหาจุดหมายปลายทางต่อไปด้านการศึกษา พร้อมทั้งวางแผนเลือกสาขาวิชาต่างๆ หรือมองหาสถาบันที่รองรับสำหรับผู้พิการ รวมถึงการเพิ่มพลังใจจากการรับฟังรุ่นพี่นักศึกษาผู้พิการที่มาบอกเล่าประสบการณ์การเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
“กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีทุนการศึกษาสนับสนุนคนพิการในการศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีและพยายามขับเคลื่อนให้สิทธิ์เข้าถึงการเรียนฟรีของคนพิการให้เพิ่มมากขึ้น ปรับสภาพแวดล้อมให้นักศึกษาพิการเข้าเรียนได้และจะขยายความร่วมมือทำข้อตกลงให้มีมหาวิทยาลัยภาคเอกชนได้รับทุนสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาพิการได้มากขึ้น”
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้
“โจทย์ใหญ่ที่ สสส. ตั้งใจทำคือ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กที่พิการเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้กับเด็กทุกคน โดยสร้างพื้นที่ชุมชนออนไลน์ผ่านเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี” และกลุ่มเฟซบุ๊ก “เด็กพิการอยากเรียนมหา’ลัย” และปีที่ผ่านมามีเด็กพิการสนใจศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีร้อยละ 76 ที่เหลือสนใจวิชาสายอาชีพ ปวช.-ปวส. มากขึ้น”
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ให้เห็นถึงโจทย์หลักของการทำงาน
ทั้งนี้จากสถิติรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทยประจำปี 2563 โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า คนพิการในประเทศไทยที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษา 1,533,159 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด อยู่ที่ 1,249,795 คน
รองลงมาได้แก่ ระดับชั้นมัธยมศึกษา 169,606 คน ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 35,085 คน ไม่ระบุการศึกษา 24,402 คน และอุดมศึกษาหรือปริญญาตรีเพียง 21,220 คน ซึ่งจากสถิติดังกล่าวชี้ชัดว่าผู้พิการส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ สาเหตุส่วนใหญ่ที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุคือ มาจากปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว สภาพร่างกายที่อาจจะทำให้ผู้ดูแลมองว่าไม่เอื้อต่อการเรียน รวมถึงสถานะทางการเงินที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา
“แอลรู้สึกดีใจที่มีงานนี้เกิดขึ้นให้กับรุ่นน้องคนพิการ เพราะมองว่างานที่ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่คนพิการจริงๆ นั้นมีน้อยมาก และจะทำให้น้องๆ คนพิการได้รับความรู้จากงานนี้ไปเพิ่มมากขึ้นจริงๆ”
แอล – ธนัญชกร สันติพรธดา ผู้พิการทางการมองเห็น (ตาบอดสนิท) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์สาขาสังคมศึกษา เล่าถึงความจำเป็นของการจัดงานแนะแนวการศึกษาเพื่อนักเรียนผู้พิการ
แอล เป็นนักเรียนผู้พิการที่ใช้ความสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในระบบกลาง (Admission) ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันกับเด็กไม่พิการ และในงานเด็กพิการเรียนไหนดีครั้งนี้ น้องแอลได้เป็นหนึ่งในรุ่นพี่ที่เข้ามาขับเคลื่อนงานผ่านกิจกรรมต่างๆ เพราะมุ่งหวังอยากให้รุ่นน้องคนพิการได้รับความรู้เรื่องการสอบเข้าและการเรียนต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการ