Solar Land ล่า ท้า แสง : แสงอาทิตย์ พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้จริงหรือ ?
- Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต นิทรรศการที่บอกเล่าถึงพลังงานสะอาด อย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์กว่า 30 ชิ้นทั่วโลก
- ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงคือ SOLAR MONOPOLY: Interactive Life-Size Monopoly Game ที่หยิบเอาวิธีการเล่นเกมเศรษฐีมาใช้ให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับตัวนิทรรศการผ่านเทคโนโลยี
ช่วงนี้หลากหลายนิทรรศการได้มีการหยิบเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดแสดงกันเยอะทีเดียว นิทรรศการ Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต คือหนึ่งในนั้น ซึ่งกิมมิกสนุก ๆ ที่น่าสนใจคือเขาหยิบเอารูปแบบของเกมเศรษฐี บอร์ดเกมสุดคลาสสิกมาใช้ในการจัดแสดง นั่นคือการให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) กับตัวนิทรรศการประหนึ่งว่าเรากำลังเล่นเกมเศรษฐีขนาดเท่าคนจริง ที่เขาตั้งชื่อว่า SOLAR MONOPOLY: Interactive Life-Size Monopoly Game ซึ่งผู้ชมแต่ละคนจะได้สนุกกับการจำลองตัวเองเป็นตัวละครที่เดินไปตามแต้มของลูกเต๋าที่เราทอดได้
แต่ก่อนจะไปสนุกกัน ต้องขอเกริ่นก่อนว่า Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต ที่ว่านี้เขาบอกเล่าเกี่ยวกับอะไร ? ประเด็นสำคัญของนิทรรศการนี้คือการขยายขอบเขตความเข้าใจของผู้ชมเกี่ยวกับ พลังงานแสงอาทิตย์ ให้มากขึ้น ผ่านการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 30 ชิ้นจากทั่วโลก เพื่อให้เห็นว่า พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ และสามารถนำมาสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงง่าย ใช้ประโยชน์ได้จริง กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน ไม่เพียงแต่เป็นแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่บนหลังคาตามที่คุ้นชินตากันเท่านั้น
เราขอยกตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจในงานมาเล่าสู่กันฟังสักนิด อย่างแรกคือ Little Sun โคมไฟพกพาจากพลังงานโซลาร์ ผลงานของ โอลาเฟอร์ เอเลียสสัน (Olafur Eliasson) ศิลปินชาวไอซ์แลนด์-เดนมาร์ก ที่มีจุดเริ่มต้นจากความคิดที่ต้องการแบ่งปันแสงสว่างให้แก่พื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงในประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แสงสว่างในพื้นที่ขาดแคลนแล้ว โคมไฟดอกทานตะวันสีเหลืองสดใสนี้ยังมีส่วนช่วยด้านการศึกษาให้เด็ก ๆ ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ให้สามารถอ่านหนังสือในยามค่ำคืนได้ ด้านการใช้งานก็ไม่ยุ่งยากเพียงแค่ชาร์จด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 5 ชั่วโมง ก็สามารถใช้งานได้ยาว ๆ ถึง 4-50 ชั่วโมงเลยทีเดียว
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจเป็นผลงานของดีไซเนอร์ชาวไทย ที่มีชื่อว่า Foresee หมวกนิรภัยที่ฝังเทคโนโลยี Dye-Sensitized Solar Cell (DSSC) เอาไว้เพื่อทำหน้าที่ดูดซับพลังงานแสงให้เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า สำหรับใช้งานฟังก์ชันพิเศษที่ออกแบบให้กลุ่มไรเดอร์สามารถขับขี่บนท้องถนนได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
“เราอยากทำงานที่คนจับต้องได้ พกพาได้ แทรกซึมไปกับคน อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของเรา ทีนี้เราก็เลยระดมทีมกันว่าปัญหาเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ใครจะสามารถใช้ประโยชน์จากปัญหานี้ได้มากที่สุด วันหนึ่งเราไปยืนกลางสะพานลอยกันแล้วมองออกไป ก็ทำให้รู้สึกว่ากลุ่มไรเดอร์หรือกลุ่มพี่วิน จริง ๆ แล้วเขาอยู่กลางแจ้งตลอด เลยคิดว่าคนกลุ่มนี้แหละที่จะได้ใช้งานมากที่สุด” ฟ้าคราม บัวใส หนึ่งในทีมดีไซน์ Foresee บอกกับเรา
ฟังก์ชันที่เพิ่มเข้ามาในหมวกนิรภัย Foresee เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน อย่างแรกคือเซนเซอร์แจ้งเตือนเมื่อมีรถมาทางด้านหลัง ซึ่งเซนเซอร์จะสามารถตรวจจับได้มากที่สุดในระยะ 5 เมตร โดยระบบจะแจ้งเตือนผ่านแสง LED ด้านหน้าของหมวก ที่ยิ่งใกล้การแสดงผลก็จะยิ่งกะพริบถี่ขึ้น ฟังก์ชันต่อมาคือไฟเลี้ยว ที่จะแสดงผลบนหมวกตามการเอียงของมอเตอร์ไซค์ ซึ่งช่วยให้รถด้านหลังสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายไปจนถึงการติดบลูทูทเข้าไปที่หมวกเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในเรื่องของการติดต่อสื่อสารขณะขับขี่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องถอดบลูทูทออกมาชาร์จไฟ
“ราคาขายที่คิดกันไว้แบบไม่ได้บวกกำไรมาก เรากดเพดานลงมาแล้วน่าจะอยู่ที่ประมาน 6,000-9,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นแมสโปรดักชัน เราก็ต้องไปเช็กกันอีกที เราคิดว่าถ้าหมวกใบนี้พัฒนาไปจนสุดทาง แล้วมันช่วยชีวิตคนได้จริง ๆ มันก็จะดีกับหลาย ๆ ฝ่าย แต่ถ้าจะทำออกมาขายจริง ๆ เราก็ยังต้องพัฒนาในเรื่องของระบบ การป้องกันคลื่นแทรกเข้าไปในหมวกและเรื่องต่าง ๆ อีกเยอะเหมือนกัน” ฟ้าครามกล่าวเมื่อเราถามถึงความเป็นไปได้ของการนำมาใช้งานจริง
ขยับมาที่อีกหนึ่งผลงาน ในเมื่ออุบัติเหตุไม่ได้มีแค่บนท้องถนน SolarPOH จึงเกิดขึ้น จากไอเดียของ ศศินันท์ คิรินทร์รัตนะ, กัญญาณัฐ คมวิชายั่งยืน และบัญชา สระทอง ในการเพิ่มแสงสว่างและความสวยงามให้แก่โป๊ะเรือ ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บริเวณรอบโป๊ะเพื่อกักเก็บ พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับนำมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าในการส่องสว่าง โดยทีมดีไซน์มุ่งหวังให้ท่าเรือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กริมน้ำที่สวยงามกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้แก่การสัญจรภายในท่าเรือในตอนกลางคืน เพิ่มความน่าสนใจให้กับการเดินทางโดยเรือให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสัญจรต่อไป
โดยตอนนี้ไฟส่องสว่างจากระบบโซลาร์เซลล์ได้มีการใช้งานแล้วหนึ่งแห่งที่ท่าเรือสี่พระยา ซึ่งมาพร้อมระบบป้องกันความปลอดภัยด้วยเซนเซอร์กันน้ำซึมแบบเดียวกับเรือเดินสมุทรนอกจากนั้นทางทีมยังเพิ่มเซนเซอร์ตรวจนับคนเพื่อป้องกันความหนาแน่นของผู้โดยสารบริเวณโป๊ะที่มากเกินกำหนด เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านความปลอดภัยระหว่างการรอเรือให้แก่ผู้โดยสารอีกด้วย
นอกจาก 3 ผลงานที่กล่าวไปแล้ว ภายในนิทรรศการยังมีผลงานอีกมากที่น่าสนใจ และทำให้เห็นความเป็นไปได้ของการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาด ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่เราสามารถไปลองใช้นวัตกรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์บางชิ้น เช่น โคมไฟ Little Sun บริเวณ Rooftop Garden ชั้น 5 ได้
ส่วนบริเวณนิทรรศการชั้น 1 มาพร้อมกับความสนุกของนิทรรศการ Interactive ที่เราจะถูกจำลองให้อยู่ในดินแดนโซลาร์ ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้ว เราจะเป็นผู้ถูกเลือกว่าเป็น “ผู้ล่าแสง” แบบใดจากทั้งหมด 4 ประเภท
เรา – ล่าแสงเพื่อลดค่าใช้จ่ายจากพลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน
รอด – ล่าแสงเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการเข้าถึงพลังงานสะอาดในพื้นที่ห่างไกล
โลก – ล่าแสงเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กำไร – ล่าแสงเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในพลังงานจากแสงอาทิตย์
เมื่อเราแตะเซนเซอร์บริเวณทางเข้าเพื่อสุ่มคาแรกเตอร์นักล่าแสงแล้ว ระบบจะแสดง QR Code เพื่อให้เราสแกน ซึ่งระบบจะพาเราเดินไปตามจุดต่าง ๆ ที่จัดแสดงผลงานนวัตกรรม ตามแต้มของลูกเต๋าที่เราทอดได้จากโทรศัพท์มือถือ เสมือนเราเป็นตัวละครในเกมเศรษฐีแบบ Monopoly Game โดยที่แต่ละจุดจะมีเซนเซอร์ให้เราสแกนเก็บคะแนนและไอเทมพิเศษ บวกกับเกร็ดความรู้ที่สอดแทรกไประหว่างการเล่นด้วย
เมื่อเราเดินไปตามเส้นทางจนถึงจุดสุดท้ายของเกม ระบบจะแสดงคะแนนทั้งหมดที่เราเก็บสะสมได้และพาเข้าสู่ห้องสุดท้าย Solartopia & Sunlight Graffiti ที่เราสามารถนำไอเทมที่เก็บสะสมได้ไปวางตามจุดต่าง ๆ ของเมือง Solartopia ซึ่งแสดงอยู่บนจอขนาดใหญ่ เสมือนการจำลองให้เราเห็นภาพความเป็นไปได้ของเมืองแห่งพลังงานสะอาดที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต
ก่อนกลับยังมีโซน Sunlight Graffiti ที่เราสามารถร่วมสนุกโดยการวาดจินตนาการเกี่ยวกับแสงอาทิตย์ด้วยโคมไฟ Little Sun ซึ่งสามารถปรินต์ภาพออกมาเป็นของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านได้ด้วย
ว่างแล้วก็อย่าลืมคว้าสมาร์ตโฟนคู่ใจแล้วไปลุยล่าแสงในโซลาร์แลนด์กัน ทั้งสนุกและได้ความรู้เกี่ยวกับ พลังงานแสงอาทิตย์ ไปพร้อมกันเลยทีเดียว
Fact File
- นิทรรศการ Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต จัดแสดงแล้ววันนี้ – 27 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ห้องแกลเลอรี ชั้น 1 อาคารส่วนหลังและ Rooftop Garden ชั้น 5 TCDC กรุงเทพฯ อาคารไปรษณีย์กลาง (ปิดวันจันทร์) เข้าชมฟรี
- รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : Creative Economy Agency หรือเว็บไซต์ www.cea.or.th