พระเจ้าตายแล้ว และศีลธรรมอันไร้ขอบเขตของมนุษย์ฉบับ “ฟรีดริช นีตซ์เช”
Faces

พระเจ้าตายแล้ว และศีลธรรมอันไร้ขอบเขตของมนุษย์ฉบับ “ฟรีดริช นีตซ์เช”

Focus
  • ฟรีดริช นีตซ์เช เกิดเมื่อวันที่15 ตุลาคม ค.ศ. 1844 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1900
  • ฟรีดริช นีตซ์เช เป็นเจ้าของวลีอมตะที่แหวกขนบความเชื่อของสังคม “God is dead” ทั้งยังเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดให้แก่นักคิด นักปรัชญารุ่นหลังมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในความคิดแบบ อัตถิภาวนิยม (existentialism)

“God is dead” “พระเจ้าตายแล้ว”  คำนี้คือคำอันลือลั่นจาก Thus Spoke Zarathustra (ซาราธุสตราตรัสไว้ดังนี้, สำนักพิมพ์เคล็ดไทย) ผลงานวรรณกรรมปรัชญาโดย ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู่โด่งดังในศตวรรษที่ 19 มากกว่านั้นเขายังเป็นแรงขับเคลื่อนทางปัญญาและส่งต่ออิทธิพลทางด้านความคิดให้แก่นักคิด นักปรัชญารุ่นหลังมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความคิดแบบอัตถิภาวนิยม (existentialism) ที่มุ่งเน้นการค้นหา และตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตจำนงเสรี การมีอยู่ของชีวิต และการก้าวพ้นไปจากความเชื่อ ศีลธรรม อำนาจครอบงำแบบเดิม และนั่นทำให้คำว่า “พระเจ้าตายแล้ว” ในวรรณกรรมของเขาเป็นคำที่เสมือนการประกาศอำนาจของมนุษย์ผู้มีเสรีภาพเหนือการครอบงำทั้งปวง

ฟรีดริช นีตซ์เช

จากมรณกรรมของพระเจ้าที่นำไปสู่การหลุดพ้น
ไม่ใช่ว่าการปลดแอกทางความคิดจะเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด นีตซ์เช ได้ปลดแอกทางความคิดสำคัญจากการสัมผัสกับการศึกษาและตั้งคำถาม ในปี ค.ศ. 1864 เขาได้เรียนวิชาเทววิทยา (Theology) และภาษาศาสตร์ (Philology) ซึ่งในเวลานั้นเขายังคงเชื่อในพระเจ้า จนกระทั่ง ค.ศ. 1865 นีตซ์เช ในวัย 20 ปีได้เขียนจดหมายถึงน้องสาวเมื่อตนหมดศรัทธาในอำนาจพระเจ้าโดยมีประโยควรรคทองที่จดจำมาถึงวันนี้ว่า

“วิถีของมนุษย์คือ หากท่านปรารถนาจะต่อสู้เพื่อสันติในจิตวิญญาณแลความพึงพอใจ จงเชื่อ แต่หากปรารถนาจะอุทิศตนเพื่อความถูกต้อง จงสอบสวน”

นีตซ์เชชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการคิด การหลุดออกจากการสร้างความสงบ พอใจ การหยุดนิ่งทางความคิด ที่มีรากฐานจากความเชื่อ สู่การค้นหาความจริงในแบบอื่นๆ ที่ไม่ยึดติดชุดความคิดไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ ด้วยวิธีการสอบสวน การค้นหาความจริง

สอดคล้องกับอีกชุดความคิดของเขาเรื่อง มุมมองนิยม (Perspectivism) ชวนมนุษย์ละออกจากความจริงสากล ละจากความจริงที่คนส่วนใหญ่เชื่อและเข้าใจว่าเป็นความจริงแท้ ไปสู่การมองความจริงในแง่ที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากเงื่อนไขและเหตุปัจจัยต่างๆ รวมถึงการพินิจมองความจริงนั้นในหลายมุม เพื่อหาผลลัพธ์ที่เชื่อมต่อกันในการประกอบสร้างความจริงนั้นๆ นีตซ์เชเชื่อเสมอว่า การสร้างความจริงนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลไม่ใช่ความจริงที่สิงสู่กับสิ่งนั้น (Objective Truth)

นีตซ์เช ถือได้ว่าเป็นนักปรัชญาไม่กี่คนในยุคนั้นที่กล้าลุกออกมาประกาศว่า พระเจ้าตายแล้ว ในงานเขียนชิ้นสำคัญของเขาอย่าง Thus Spoke Zarathustra ได้ขยายความถึงการที่มนุษย์แขวนความคิดไว้กับความยิ่งใหญ่ หรือความศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั่วไปนับถือ โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมาพร้อมกับความเชื่อ และการปฏิบัติตาม นีตซ์เชจึงเสนอว่าความเชื่อหรือการปฏิบัติตามที่ส่งผลให้สิ่งๆ หนึ่งกลายเป็นความยิ่งใหญ่นั้นได้ครอบสังคมไว้ไม่ใช่เพียงเรื่องค่านิยม หรือศรัทธา แต่เป็นการสร้างเจตจำนงโดยรวมที่จะควบคุมการมองเห็นถึงค่านิยมในสิ่งนั้น เหตุนี้สำหรับนีตซ์เช เจตจำนงจึงมีความสำคัญในการเข้าใจสิ่งต่างๆ

ฟรีดริช นีตซ์เช

อภิมนุษย์ แบบฉบับนีตซ์เช

งานเขียนของ นีตซ์เช ย้ำเสมอถึงการมองในมิติต่างๆ ของความจริง การหลุดออกจากคติความเชื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้มนุษย์มีเจตจำนงเสรี และหลุดพ้นออกมาจากคติความเชื่อต่างๆ ที่ประกอบสร้างมา นีตซ์เชเรียกมนุษย์ที่สำเร็จจากการละตนออกจากระเบียบคิดต่างๆ เหล่านั้นว่า Übermensch หรือ อภิมนุษย์

อภิมนุษย์ ในความหมายของนีตซ์เช คำนี้ไม่ใช่มนุษย์วิเศษมีอิทธิฤทธิ์แต่อย่างใด ทว่าอภิมนุษย์หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้ย่ำตามกรอบศีลธรรมแบบดั้งเดิมที่ถูกสร้าง ไม่ได้อยู่ภายในทัศนะความดีเลว และอยู่เหนือวิธีคิดของกรอบแบบดั้งเดิมจนสามารถเกิดการตระหนักรู้ได้ด้วยตนเอง

และแน่นอนว่าหากมนุษย์สามารถพ้นเขตอำนาจศักดิ์สิทธิ์ อำนาจพระเจ้า พร้อมกับสามารถเอ่ยถึงมรณกรรมของพระเจ้าได้เมื่อนั้นมนุษย์ก็จะเป็นมนุษย์ที่ควบคุมเจตจำนงของตนเองและมีเสรีภาพในความคิดของตนเองได้ นี่แหละคือมนุษย์ตามแบบฉบับของ ฟรีดริช นีตซ์เช

อ้างอิง

  • https://iep.utm.edu/nietzsch/
  • ซาราธุสตราตรัสไว้ดังนี้. ฟรีดริช วิลเฮล์ม นีตซ์เช . อัคนี มูลเมฆ แปล.สำนักพิมพ์เคล็ดไทย. 2562
  • นีทเฉอ ผู้บุกเบิกแนวคิดหลังนวยุค ด้วยวิถีสู่อภิมนุษย์และซึ้งสุนทรีย์. ฟริดริค นิตเช่. กีรติ บุญเจือ แปล. สำนักพิมพ์TEXT. 2555

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน