ย้อนไทม์ไลน์ 13 ตุลาคม 2559 สิ้นสุดรัชสมัย รัชกาลที่ 9
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ขณะสิริพระชนมพรรษา ปีที่ 89 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ครองราชบัลลังก์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือ 70 ปี 126 วัน
13 ตุลาคม 2559 เป็นวันเศร้าโศกที่สุดในศตวรรษของปวงชนชาวไทย ทันทีที่สำนักพระราชวังประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต
13 ตุลาคม 2559 เวลา 18.45 น.
สำนักพระราชวังออกประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ รักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลง ให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาทีเสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษา ปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี
13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 19.00 น.
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ระบุถึงภารกิจสำคัญต่อจากนี้คือการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการ สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยรัฐบาลจะแจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระรัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาลไว้แล้ว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 21.00 น.
ประธานสภาฯ แจ้งต่อที่ประชุมว่า สนช. จะดำเนิน การตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ปี 2557มาตรา 2 วรรค 2 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23 วรรค 1 ต่อไป และ สนช. จะไม่มีการประชุมวาระปรกติจนกว่าจะมีการดำเนินการตามกฎมณเฑียรบาลเสร็จสิ้น
29 พฤศจิกายนr พ.ศ.2559
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการประชุมเพื่อรับทราบการแต่งตั้งพระรัชทายาท และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทําหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้นําความกราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 2 วรรค 2 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23 วรรค 1
4 พฤษภาคม พ.ศ.2562
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ตามโบราณราชประเพณีอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562
ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ไทย
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ขณะสิริพระชนมพรรษา ปีที่ 89 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
- ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือ 70 ปี 126 วัน
- ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 มี พิธีฉลองครองราชย์ถึง 2 ครั้ง ได้แก่ พระราชพิธีกาญจนาภิเษกเฉลิมฉลองเนื่องในวาระทรงครองราชย์ครบ 50 ปี และทรงดำรงสถานะพระมหาษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดเท่าที่มีปรากฎในประวัติศาสตร์ไทย นานกว่า รัชกาลที่ 5 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539
- ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชยาวที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประวัติศาสตร์โลก อันดับ 1 คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (14 พฤษภาคม ค.ศ.1643 -1 กันยายน ค.ศ. 1715 รวมระยะเวลา 72 ปี 110 วัน)
- เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 9 ของไทย พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกในปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชินีนารถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงครองราชย์ 70 ปี นับจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1952 และทรงสวรรคตในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.2022
อ้างอิง
- นิตยสาร สารคดี ฉบับ ตุลาคม 2559 และ ตุลาคม 2560
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/102/1.PDF