ธรรมะใต้ต้นพลัม และการเดินทางกลับบ้านของ ท่านติช นัท ฮันห์
Faces

ธรรมะใต้ต้นพลัม และการเดินทางกลับบ้านของ ท่านติช นัท ฮันห์

Focus
  • ท่านติช นัท ฮันห์ คือภิกษุชาวเวียดนามที่เป็นที่รู้จักในฐานะพระอาจารย์เซนผู้สอนการฝึกสมาธิภาวนา ทั้งยังเป็นกวี นักเขียน นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม ในประเทศฝรั่งเศส
  • ผลจากสงครามเวียดนามทำให้ท่านติช นัท ฮันห์ ทำงานด้านสันติภาพทั้งในประเทศเวียดนามเองและต่างประเทศ และถูกสั่งห้ามกลับเข้าประเทศเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา
  • พ.ศ. 2561 หลังการลี้ภัยในต่างประเทศมาอย่างยาวนาน ท่านติช นัท ฮันห์ ก็ได้กลับประเทศเวียดนาม พำนักอยู่ที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ และมรณะภาพในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565 สิริรวมอายุ 95 ปี

“I have arrived I am home ฉันได้กลับมาบ้านแล้ว ฉันถึงบ้านแล้ว” นี่คือประโยคคำสอนที่ลูกศิษย์รวมทั้งผู้ที่ศึกษาธรรมะในศตวรรษที่ 21ของ ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) คุ้นเคยกันดี เพราะคำนี้คือหนึ่งในหัวใจของการภาวนาซึ่งกินความหมายถึง การน้อมนำใจกลับมาสู่ปัจจุบันขณะ

ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าวัด หรือห่มชุดขาวนั่งวิปัสสนา แม้แต่ขณะติดไฟแดง นั่งทำงาน เดินอยู่ในซูปเปอร์มาร์เก็ต ร้องเพลง ทำอาหาร ล้างจาน เขียนบทกวี วาดภาพ ก็สามารถเจริญสติภาวนาและกลับมาสู่บ้านที่แท้จริงได้ เพราะสำหรับ ท่านติช นัท ฮันห์หรือที่เด็กๆ เรียกว่า หลวงปู่ หรือ ไถ่ ของบรรดาลูกศิษย์ การภาวนาและธรรมะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันได้นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวตะวันตก รวมทั้งคนรุ่นใหม่ และคนที่อาจจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธจึงสนใจเข้ามาศึกษาธรรมะใต้ต้นพลัมฉบับท่านติช นัท ฮันห์ กันมากขึ้น

เมล็ดพันธุ์แห่งสันติกลางไฟสงคราม

ท่านติช นัท ฮันห์ คือภิกษุชาวเวียดนามที่เป็นที่รู้จักในฐานะพระอาจารย์เซนผู้สอนการฝึกสมาธิภาวนา ทั้งยังเป็นกวี นักเขียน นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยนามเดิมของท่านคือ  เหงวียน ซวน เป๋า (Nguyen Xuan Bao) เกิดที่จังหวัดกวงสี ตอนกลางของเวียดนาม เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2469 จากนั้นบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว (Tu Hieu) เมืองเว้ ซึ่งตรงกับยุคที่เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้กำลังเข้าสู่สงครามและความขัดแย้ง ทว่าสำหรับท่านติช นัท ฮันห์ ท่านมักกล่าวอยู่เสมอว่า

“เราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกว่าเราเป็นฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้ เป็นพุทธหรือเป็นคริสต์ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ความเจ็บปวดล้วนเป็นหนึ่งเดียวเสมอ” 

พ.ศ. 2505 หลวงปู่ได้เดินทางไปศึกษาวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระหว่างนั้นความขัดแย้งระหว่างเวียตนามเหนือและเวียดนามใต้เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม (Ngo Dinh Diem) บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกับตนเอง ก่อให้เกิดขบวนการชาวพุทธออกมาต่อต้าน จนกระทั่งมีพระภิกษุรูปหนึ่งจุดไฟเผาตัวเอง 

สงครามทำให้ท่านตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนามและก่อตั้ง คณะเทียบหิน (The Sanga of Interbeing) และโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม (the School of Youth for Social Services หรือ SYSS) เพื่อนำพุทธศาสนามาช่วยเหลือสังคมโดยยึดหลักสันติวิธี รวมทั้งก่อตั้งสำนักพิมพ์และเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาออกเผยแพร่ แน่นอนว่าไม่นานรัฐบาลก็ส่งทหารเข้ามากวาดล้าง อีกทั้งมหาเถระสมาคมเองก็มองว่าองค์กรของท่านเป็นพวกนอกรีต สวนทางกับนานาชาติที่ต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King , Jr) ได้เสนอชื่อท่านติช นัท ฮันห์ เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 

หลวงปู่ไม่ได้ทำงานด้านสันติภาพเฉพาะในประเทศ ท่านเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อกล่าวถึงความเจ็บปวดจากสงครามเวียดนาม รวมทั้งเดินหน้าเจรจาเพื่อการหยุดยิง และพยายามอีกหลายวิถีทางเพื่อสันติภาพของเวียดนาม สุดท้ายการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพของท่านก็ทำให้ท่านถูกสั่งห้ามกลับเข้าประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจะมีการรวมประเทศท่านก็ยังไม่สามารถกลับบ้านได้

ท่านติช นัท ฮันห์
หมู่บ้านพลัม

ธรรมะใต้ต้นพลัม

ในช่วงทศวรรษที่ 60 ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ลี้ภัยสงครามจากเวียดนามไปอยู่ในประเทศตะวันตก และได้ทำงานสันติภาพต่อต้านสงครามเวียดนาม กระทั่ง พ.ศ. 2518 ท่านได้ตั้งชุมชน Sweet Potato ขึ้นใกล้กรุงปารีส การใช้ชื่อ มันเทศ ก็เพื่อรำลึกถึงชาวเวียดนาม เพราะมันเทศเป็นอาหารที่ชาวเวียดนามต้องกินในเวลาที่แร้นแค้นที่สุด จากนั้นได้ย้ายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ในเมืองบอร์โดซ์ และสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ชื่อ หมู่บ้านพลัม (Plum Village) โดยตั้งชื่อตามต้นพลัมที่ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณนั้น

ท่านติช นัท ฮันห์
ปลายพู่กันของท่านติช นัท ฮันห์

หมู่บ้านพลัมเป็นชุมชนแบบอย่างการปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัท 4 ที่เน้นการเจริญสติภาวนาในชีวิตประจำวัน ตระหนักรู้ในทุกขณะลมหายใจเข้าและออก โดยในแต่ละปีมีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาฝึกปฏิบัติที่หมู่บ้านพลัมนับพลันคน นอกจากนี้ยังมีการขยายสังฆะหรือชุมชนหมู่บ้านพลัมออกไปยังประเทศต่าง ๆ คือ อเมริกา เยอรมนี เวียดนาม รวมทั้งไทย และมีการถ่ายทอดธรรมะฉบับใต้ต้นพลัมสู่หนังสือ ภาพเขียนปลายพู่กัน และช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

ท่านติช นัท ฮันห์
บรรยากาศการภาวนาที่หมู่บ้านพลัม
ท่านติช นัท ฮันห์

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของธรรมะใต้ต้นพลัม คือการไม่ได้เน้นย้ำว่าเรากำลังศึกษาศาสนาพุทธ หรือเน้นให้ต้องท่องจำคำบาลี สันสกฤต ที่หมู่บ้านพลัม เราจะได้เห็นภาพของภิกษุ ภิกษุณีร้องเพลง ทำอาหาร ทำสวน ภาวนา รวมทั้งวาดภาพ และแต่งบทกวี โดยหลวงปู่ได้ถอดหัวใจของการปฏิบัติเจริญสติภาวนามาอยู่ในทุกจังหวะ ทุกลมหายใจ ทุกขณะของชีวิตประจำวันอย่างไม่แบ่งแยก และท่านก็มักกล่าวเสมอว่า ท่านไม่ได้สอนอะไรนอกจาก “การหายใจ

 “การมีชีวิตอยู่คือความมหัศจรรย์ และเมื่อเธอหายใจอย่างมีสติ เธอสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของการมีชีวิตอยู่”

ท่านติช นัท ฮันห์

หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศมาเป็นเวลานาน พ.ศ. 2561 หลวงปู่ก็ได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่เวียดนาม และพำนักอยู่ที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ที่ซึ่งเด็กชายคนหนึ่งได้ตัดสินใจมาบวชเป็นสามเณรและฝึกปฏิบัติภาวนาจนอุปสมบทในเวลาต่อมา ถือเป็นการเดินทางกลับบ้านที่แท้จริงอีกครั้งหลังการเดินทางเพื่อสันติภาพมายาวนาน และเมื่อ เมื่อเวลา 0.00 นาฬิกา ของวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565 ทางหมู่บ้านพลัมได้ประกาศการมรณะภาพของหลวงปู่ซึ่งได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม สิริรวมอายุ 95 ปี … I have arrived, I am home

อ้างอิง

ภาพ

  • ฝ่ายภาพนิตยสาร สารคดี
  • Plum Village

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์