รอยไหมแห่งอาณาจักรจามปา ที่ซ่อนอยู่ใจกลางสยาม ณ บ้านครัว
Arts & Culture

รอยไหมแห่งอาณาจักรจามปา ที่ซ่อนอยู่ใจกลางสยาม ณ บ้านครัว

Focus
  • บ้านครัว ชื่อนี้คือชุมชนมุสลิมเชื้อสายจามที่อพยพมาจากอาณาจักรจามปา และได้เข้าร่วมรบในสมัยสงครามเก้าทัพในนาม กองอาสาจาม จนได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 เพื่อตั้งครัวเรือนบริเวณป่าไผ่ทุ่งพญาไท
  • ชาวมุสลิมจามขึ้นชื่อและมีความสามารถในการทอผ้าไหม โดยเดิมทีทอใช้กันภายในครัวเรือนเป็นหลัก และต่อมาก็ได้ทอลวดลายพิเศษเพื่อถวายแก่ราชสำนักสยาม
  • เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ผู้ที่ต่อมากลายเป็นคนบุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน บ้านครัว และให้ชุมชนบ้านครัวเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมของแบรนด์

สยาม และย่านปทุมวันยังมี Hidden Place ซ่อนอยู่อีกมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือชุมชน ผ้าไหม บ้านครัว ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ผ้าไหม จิม ทอมป์สัน ส่วนปัจจุบันที่ยังเหลือโรงทอผ้าไหมอยู่หนึ่งโรง และโรงย้อมสีเส้นไหมริมคลองแสนแสบอีกหนึ่งแห่ง กลายเป็นแหล่งทำ ผ้าไหม แห่งเดียวในใจกลางกรุงเทพฯ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่

บ้านครัว
เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน ทำงานร่วมกับชมุชนบ้านครัว

บ้านครัว ชื่อนี้คือชุมชนมุสลิมเชื้อสายจามที่อพยพมาจากอาณาจักรจามปา (แต่เดิมตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศเวียดนามและกัมพูชา) และได้เข้าร่วมรบในสมัยสงครามเก้าทัพในนาม กองอาสาจาม จนได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 เพื่อตั้งครัวเรือนบริเวณป่าไผ่ทุ่งพญาไท (ปทุมวัน-ราชเทวี) ริมคลองแสนแสบ

ชาวมุสลิมจามขึ้นชื่อและมีความสามารถในการทอผ้าไหม โดยเดิมทีทอใช้กันภายในครัวเรือนเป็นหลัก และต่อมาก็ได้ทอลวดลายพิเศษเพื่อถวายแก่ราชสำนักสยาม จุดเปลี่ยนของชุมชน บ้านครัว และวงการผ้าไหมไทยเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ผู้ที่ต่อมากลายเป็นคนบุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยให้โด่งดังไปทั่วโลกภายใต้แบรนด์ จิม ทอมป์สัน จนได้รับฉายาว่า “ราชาผ้าไหมไทย” เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนบ้านครัว และให้ชุมชนบ้านครัวเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมของแบรนด์

บ้านครัว

นายห้างจิมของชาวบ้านครัว ได้เพิ่มเทคนิคการย้อมไหมด้วยสีเคมีให้มีเฉดสีสดใสและหลากหลายมากขึ้นจากสีธรรมชาติ จากนั้นจึงตีตรานำไหมไทยเข้าสู่ตลาดสิ่งทอระดับโลก จิม ทอมป์สันยังสร้างบ้านเรือนไทยฝั่งตรงข้ามกับชุมชนเพื่อสะดวกต่อการทำงานและปัจจุบันกลายมาเป็น พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน

แต่เมื่อ จิม ทอมป์สัน หายสาบสูญอย่างลึกลับที่ประเทศมาเลเซียเมื่อ พ.ศ.2510 พร้อมกับทางแบรนด์ จิม ทอมป์สัน ก็ได้จัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยโดยได้ขยายฐานการผลิตไปที่จังหวัดนครราชสีมา การทอผ้าในชุมชนบ้านครัวที่เคยทำกันแทบทุกครัวเรือนก็เริ่มกลายเป็นเพียงภาพจำในอดีต

ปัจจุบันเหลือโรงทอเพียงแห่งเดียวคือบ้านของ นิพนธ์ มนูทัศน์ ที่ยังสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าของแขกจามและถือเป็นจุดตั้งต้นของ ผ้าไหม จิม ทอมป์สัน ส่วนโรงย้อมเส้นไหมเพียงหนึ่งเดียวเป็นของ มนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา หรือ ลุงอู๊ด ซึ่งไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากจาม แต่ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกหัดย้อมเส้นไหมในชุมชนบ้านครัวตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี

บ้านครัว

โรงทอของนิพนธ์ ยังคงเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมอยู่ตลอด ป้ายสีแดงที่แขวนเหนือประตูทางเข้าว่า Welcome to Old Jim Thompson Factory (Since 1947) บ่งบอกประวัติศาสตร์ของชุมชนและความภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่นิพนธ์ในวัย 72 ปี พยายามสืบทอดและต่อยอดไม่ให้สูญหาย

ภายในบ้านยังมีกี่ทอมือ 6 หลัง และมีช่างทอ 3 คน ที่สร้างสรรค์ผ้าไหมผืนงามลวดลายเอกลักษณ์ของชุมชนเช่น ลายเกล็ดเต่า ลายสายฝน ลายหางกระรอก และลายลูกฟูก จนได้รับเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ตรานกยูงพระราชทาน และ OTOP 5 ดาวของเขตราชเทวี

ผ้าไหม
ผ้าไหม

“สมัยที่ทำผ้าไหมให้คุณจิม ที่บ้านมีกี่ทอผ้าถึง 50 หลังเรียกว่าเป็นแหล่งใหญ่ของการผลิตให้จิม ทอมป์สัน ออร์เดอร์เยอะมากๆ กว่าจะหมดออร์เดอร์ที่ค้างสต็อกก็ร่วม 10 ปีหลังจากที่คุณจิมหายตัวไป บ้านเราเป็นบ้านสุดท้ายในชุมชนที่ส่งผ้าให้แบรนด์จิม ทอมป์สัน” นิพนธ์  กล่าว

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของนิพนธ์คือการสร้างสรรค์ผ้าไหมเหลืองสิรินธรที่ใช้ไหมรังเหลืองโดยไม่ผ่านการฟอกและย้อมสี แค่แช่น้ำด่างตามแบบโบราณ ทำให้ได้ไหมที่แข็งแรงและเมื่อทอเส้นไหมไม่แตกออกและมีความโปร่ง

ผ้าไหม

ในส่วนของโรงย้อมเส้นไหมนั้นปัจจุบันก็มีกำลังการผลิตที่ลดลง ถ้าวันไหนโชคดีก็อาจจะได้เห็นขบวนการย้อม และการตากไหม ซึ่งยังทำอยู่ใต้ถุนบ้าน เห็นแล้วก็ให้นึกถึงอดีตของชุมชน บ้านครัว ที่มีการตากเส้นไหมตลอดริมคลองแสนแสบ และยังไม่ทันจะข้ามฝั่งคลองก็จะได้ยินเสียงกี่ทอผ้าดังกระทบกันก้องไปทั่วชุมชน

Fact File

  • ผู้สนใจสามารถเข้าชมการทอผ้าไหมแบบดั้งเดิมของชุมชนบ้านครัวที่บ้านของนิพนธ์ มนูทัศน์ ได้ในวันจันทร์-เสาร์ เวลา 8.00-17.00 น.
  • นัดหมายล่วงหน้าหากต้องการให้นิพนธ์นำชม โทร. 08-1243-9089

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม