ถอดความหมาย TCDC สงขลา แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของงานสร้างสรรค์
- Songkhla (Oldtown) Creative District : สงขลาสร้างสรรค์ ดูแลให้แลดี จัดแสดงแบบและโมเดลจำลองของผู้ชนะการออกแบบ รวมทั้งผลงานของผู้เข้าร่วมการประกวดแบบ TCDC สงขลาทั้งหมด 25 ผลงาน ระหว่างวันที่ 10 – 27 กันยายน 2563
- ผู้ชนะการออกแบบคือ ควอเทร์ อาคิเทค ซึ่งได้ชูแนวความคิดหลักคือ Save the wall ที่โดดเด่นด้วยการใช้อิฐดินเผาสีน้ำตาล กลมกลืนไปกับประวัติศาสตร์ของกำแพงเมือง
ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการเปิดตัว TCDC สงขลา ซึ่งจะมาแน่ ๆ พร้อมให้บริการใน พ.ศ. 2565 โดยล่าสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) : CEA ได้จัดงานเปิดตัวโครงการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา ภายใต้ชื่องาน “Songkhla (Oldtown) Creative District : สงขลาสร้างสรรค์ ดูแลให้แลดี” ระหว่างวันที่ 10 – 27 กันยายน 2563 พร้อมจัดแสดงแบบและโมเดลจำลองของผู้ชนะการออกแบบ รวมทั้งผลงานของผู้เข้าร่วมการประกวดแบบ TCDC สงขลาทั้งหมด 25 ผลงาน ณ สถานีดับเพลิง ถนนสายบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อบอกเล่าถึงแนวคิด รูปแบบ และรายละเอียดของตัวอาคารที่จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในย่านเมืองเก่า
TCDC สงขลาจะมีทั้งส่วนบริการทั้งห้องสมุดด้านความคิดสร้างสรรค์แบบครบวงจร Co-working space พื้นที่จัดแสดงผลงาน นิทรรศการ และกิจกรรมสร้างสรรค์ เรียกว่าเป็นศูนย์กลางการทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประจำภาคใต้เลยก็ว่าได้
สำหรับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา หรือ TCDC สงขลา ถือเป็นการเปิดสาขาแห่งที่ 3 นับจากเชียงใหม่และขอนแก่น ซึ่งเป็นการขยายสาขาครบทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยผู้ชนะในการออกแบบ ได้แก่ ควอเทร์ อาคิเทค ซึ่งได้ชูแนวความคิดหลักคือ Save the wall ย้อนรากฐานของสงขลาผ่านกำแพงเมืองเก่าที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรม
Save the wall จะพาย้อนกลับสู่ฐานรากของเมืองสงขลาผ่านผังกำแพงและประตูเมืองโดยรอบทั้งหมด 10 ประตู ที่เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงพ.ศ. 2379-2385 ต่อมาในปี พ.ศ.2437-2448 ได้มีการรื้อกำแพงเมืองตามการขยายตัวของเมืองยุคใหม่ และมีการนำอิฐบางส่วนมาถมเพื่อสร้างถนน กระทั่งใน พ.ศ.2560 ได้มีการขุดค้นแนวกำแพงเมืองฝั่งตะวันตก และพบว่ามีการใช้ดินเผาเป็นส่วนประกอบ จากที่เคยสันนิษฐานว่าใช้เพียงหินอย่างเดียว ซึ่งนั่นทำให้โครงสร้างหลักของ TCDC สงขลา โดดเด่นด้วยการใช้อิฐดินเผาสีน้ำตาล กลมกลืนไปกับประวัติศาสตร์ของกำแพงเมือง
อีกเหตุผลที่ทาง ควอเทร์ อาคิเทค เลือกหยิบแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์อิฐดินเผาเกาะยอที่ปรากฏบนกำแพงเมือง ก็เพราะถือว่านี่เป็นตัวแทนด้านภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของชาวสงขลาในอดีต โดยอิฐดินเผาจะถูกนำมาใช้ออกแบบทั้ง 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนฐาน ส่วนใต้ถุน และส่วนห้องสมุด ที่เน้นความโปร่ง เบา นอกจากนี้บริเวณชั้นดาดฟ้ายังได้ใส่ลูกเล่นของแผ่นอิฐปูหลังคา สามารถเปิดและขึ้นไปสัมผัสทิวทัศน์ของเมืองเก่าได้แบบ 360 องศา
ด้านวัสดุหลักที่ทางทีมออกแบบเลือกใช้คือ กระเบื้องดินเผาของท่านางหอม ให้สีส้มโอรส มีลวดลายเฉพาะที่เกิดจากกรรมวิธีการเผา รวมทั้งยังคงใช้ในการใช้ก่อสร้างจนซ่อมบูรณะอาคาร บ้านเรือน วัด และวังในหลายช่วงทศวรรษของกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเหลือเพียงผู้ผลิตรายเดียวบริเวณท่านางหอมที่ยังคงรักษาขั้นตอนการผลิตและภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมไว้ โดยยังคงใช้ดินจากราบลุ่มทะเลสาบสงขลาซึ่งมีคุณสมบัติเป็นดินเหนียวน้ำเค็มเนื้อละเอียดเป็นส่วนประกอบหลัก
และเพื่อให้ตัวอาคารกลมกลืนไปกับชุมชนเมืองเก่ารอบข้าง ทางผู้ออกแบบจึงตัดสลับกระเบื้องดินเผาด้วยกระจกเปลือย ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ตกแต่งอาคารแล้วยังสร้างบรรยากาศขั้วตรงข้ามจากผิวสัมผัสที่แวววาวตัดกับความดิบดั้งเดิมของกระเบื้องดินเผา และดึงแสงธรรมชาติให้เข้ามาภายในอาคาร พร้อมแล้วที่จะเป็นแลนด์มาร์กที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ
Fact File