Andy Warhol : Pop Art นิทรรศการรวมความพอปอาร์ตสุดจี๊ดของ แอนดี้ วอร์ฮอล
Arts & Culture

Andy Warhol : Pop Art นิทรรศการรวมความพอปอาร์ตสุดจี๊ดของ แอนดี้ วอร์ฮอล

Focus
  • นิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก จัดแสดงผลงานของแอนดี้ วอร์ฮอล (ค.ศ. 1928 – ค.ศ.1987)ราชาพอปอาร์ตแห่งศตวรรษที่ 20 ที่มีผลงานไอโคนิกอย่างภาพกระป๋องซุปแคมป์เบลล์และภาพพอร์ตเทรตของมาริลิน มอนโร และเหมา เจ๋อตุง
  • ผลงานที่นำมาจัดแสดงจำนวน 128 ชิ้น เป็นคอลเล็กชันส่วนตัวของจันฟรังโก โรซินี (Gianfranco Rosini) นักสะสมผลงานศิลปะชาวอิตาลี โดยแบ่งเป็น 4 ธีมหลักคือภาพพอร์ตเทรตของแอนดี้วอร์ฮอล, ภาพพอร์ตเทรตของเหล่าเซเลบริตี้, ปกนิตยสารและอัลบั้มเพลง, ผลงานซิลก์สกรีนและประติมากรรม

ปลุกวงการศิลปะให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังหยุดชะงักเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กับนิทรรศการ Andy Warhol : Pop Art ของราชางานพอปอาร์ตสุดจี๊ดชาวอเมริกัน แอนดี้ วอร์ฮอล (ค.ศ. 1928 – ค.ศ.1987) ซึ่งภาพชุดกระป๋องซุปแคมป์เบลล์ (Campbell’s Soup) 32 รสชาติที่จัดวางเรียงกันอย่างภาพโฆษณาของเขาสั่นสะเทือนวงการศิลปะทันที่ที่จัดแสดงครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1962 จนเกิดประเด็นถกเถียงถึงเส้นแบ่งระหว่างศิลปะบริสุทธิ์กับศิลปะเชิงพาณิชย์

Andy Warhol

หลังจากต้องเลื่อนจากกำหนดเดิมที่วางไว้ในเดือนพฤษภาคมเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในที่สุดทางริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก สามารถนำผลงานจำนวน 128 ชิ้นจากคอลเล็กชันส่วนตัวของ จันฟรังโก โรซินี (Gianfranco Rosini) นักสะสมผลงานศิลปะชาวอิตาลีมาให้แฟนชาวไทยของวอร์ฮอลได้ชื่นชมกันอย่างเต็มอิ่มที่ RCB Galleria แต่วันที่ 12 สิงหาคม-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

Andy Warhol

เอาใจสายพอปอาร์ตด้วยการจัดแสดงผลงานไอโคนิกของ วอร์ฮอล ผู้นิยมเอาข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะแบบพอป ๆเพื่อสะท้อนถึงสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยมในยุคอุตสาหกรรมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องซุปแคมป์เบลล์พร้อมลายเซ็นในกล่องใสจัดวางเรียงกันเหมือนที่เห็นในซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงภาพพอร์ตเทรตของศิลปินเองในลุคผมสีฟางข้าวและแว่นกรอบใสอันเป็นเอกลักษณ์ และภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนรูปพอร์ตเทรตของคนดัง อาทิมาริลิน มอนโร,เอลวิส เพรสลีย์, เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ และอดีตประธานาธิบดีจีน เหมา เจ๋อตุง ด้วยเฉดสีจัดจ้านหรือในลักษณะกลับค่าของสี (Negative) ให้ความรู้สึกแปลกตา

Andy Warhol

ผนังของห้องจัดแสดงขนาด 900 ตารางเมตร ทาสีสันสดใสหลากเฉดไล่เรียงตั้งแต่สีเขียว ชมพู ม่วง เหลือง ฟ้า ส้ม และยังจัดแสดงภาพปกนิตยสารและปกอัลบั้มเพลงที่วอร์ฮอลออกแบบ เช่น ภาพปกนิตยสาร Interview ที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1969 และปกอัลบั้มของวง The Velvet Underground ที่เขารับหน้าที่โปรดิวเซอร์ และโซนสุดท้ายที่ล้อมด้วยผนังสีส้มนีออนนำเสนอผลงานภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนและงานประติมากรรม เช่น กล่องไม้พิมพ์ซิลก์สกรีนเลียนแบบลังของสบู่แผ่นยี่ห้อบริลโลและกล่องกระดาษเลียนแบบบรรจุภัณฑ์ของซุปมะเขือเทศเคมเบลล์

Andy Warhol

นอกจากจะเป็นศิลปินหัวก้าวหน้าของคริสต์ศตวรรษที่ 20แล้ว วอร์ฮอลยังพ่วงตำแหน่งแฟชั่นไอคอน ช่างภาพ ผู้กำกับภาพยนตร์อินดี้นอกกระแส นักเขียน เจ้าของนิตยสาร และนักสะสมศิลปะ เขาเป็นศิลปินคนแรกๆที่นำเทคนิคซิลก์สกรีนซึ่งเป็นผลผลิตของยุคอุตสาหกรรมมาใช้ในงานศิลปะอย่างเต็มรูปแบบและหยิบจับสินค้ายอดนิยมของชาวอเมริกันในขณะนั้น เช่น โคคา โคล่า, ซุปแคมป์เบลล์ และสบู่บริลโลรวมไปถึงรูปพอร์ตเทรตของเซเลบริตีทั้งหลายมาจัดวางแบบซ้ำๆ ดั่งสินค้าที่ผลิตในโรงงานจึงเข้าถึงผู้คนง่ายและสร้างภาพจำที่เป็นเอกลักษณ์ในผลงานและสร้างตัวตนในโลกศิลปะของเขาด้วย

Andy Warhol

จันฟรังโก โรซินี เจ้าของ Rosini GutmanArt Gallery และเจ้าของผลงานของวอร์ฮอล กว่า 200 ชิ้นที่เขาใช้เวลารวบรวมกว่า 50 ปีมีโอกาสได้พบกับวอร์ฮอลครั้งแรกพร้อมกับ ไลซา มินเนลลิ นักร้อง/นักแสดงชาวอเมริกัน เมื่อปี ค.ศ.1985 ขณะที่ตัวเขาเองยังเป็นวัยรุ่นในนิทรรศการส่วนตัวที่ เคานท์เตส จูเลียนา โรมานี อดามี โดนะ เดลเล โรเซ (Countess Giuliana Romani Adam iDonàdelle Rose) จัดขึ้นที่บ้านพักของเธอในกรุงโรม

การพบกันครั้งนั้นทำให้วอร์ฮอลเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่โรซินีซื้อผลงานด้วยเงินของเขาเองเมื่อเขาเปิดแกลเลอรีเกี่ยวกับงานภาพพิมพ์ในวัยเพียง 13 ปี งานแรกในคอลเล็กชันคือชุด “Ladies and Gentlemen” เป็นภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน 10 ภาพถ่ายทอดภาพของแดร็กควีนและคนข้ามเพศจากไนต์คลับกรีนวิชวิลเลจ งานชุดนี้ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

ภาพชุด Ladies and Gentlemen

“ผมเห็นงานชุดนี้ครั้งแรกในนิทรรศการที่จัดที่บ้านพักเคานท์เตส จูเลียนา โรมานี อดามี โดนะ เดลเล โรเซ ที่ผมได้พบวอร์ฮอลครั้งแรกและมีโอกาสได้คุยกับเขา ต่อมาผมจึงซื้องานชุดนี้เพราะเป็นงานภาพพิมพ์ที่ผมสามารถซื้อได้ด้วยเงินของผมเองเพราะราคาถูกกว่างานชุด Drag Queens และนี่ก็เป็นงานที่เยี่ยมยอดด้วย” โรซินี ให้สัมภาษณ์ผ่านทางอีเมลเนื่องจากไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานที่กรุงเทพฯได้

โรซินีเสริมว่า วอร์ฮอลสร้างสรรค์ผลงานชุด “Ladies and Gentlemen” ในช่วงที่ ดิโน เปดริอาลิ (Dino Pedriali) หนึ่งในศิลปินชื่อดังในด้านภาพถ่ายที่ยังคงมีชีวิตอยู่ทำงานกับเขาในฐานะผู้ช่วย และเขายังมีคอลเล็กชันภาพถ่ายจากปี ค.ศ. 1975 จำนวน 28 ชิ้นที่คัดเลือกโดยเปดริอาลิเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางที่อิตาลีของวอร์ฮอล

ภาพพอร์ตเทรตของไลซา มินเนลลิ

โรซินีเติบโตมาในครอบครัวที่มั่งคั่งและเป็นอาร์ตดีลเลอร์ทำให้เขามีโอกาสติดตามพ่อและแม่ไปยังสตูดิโอของศิลปินต่างๆ ตั้งแต่อายุ5 ขวบจนซึมซับความหลงใหลในศิลปะ นอกจากงานชุด “Ladies and Gentlemen” เขายังได้ซื้อภาพซิลก์สกรีนรูปพอร์ตเทรตของไลซา มินเนลลิผู้ที่เขาได้เจอครั้งแรกพร้อมกับวอร์ฮอลโดยโรซินีกล่าวถึงงานชิ้นนี้ว่า

“ผมคิดว่าเป็น ‘ชิ้นงานมาสเตอร์พีซอย่างแท้จริง’ ในบรรดาผลงานการสร้างสรรค์ของ แอนดี้ วอร์ฮอล คือผลงานชุดภาพเหมือนที่อุทิศให้กับ ไลซา มินเนลลิ”

ภาพชุด Wild Raspberries

นักสะสมศิลปะตัวยงชาวอิตาลีเสริมว่าในงานนิทรรศการนี้ เขาอยากนำเสนอเส้นทางศิลปินของวอร์ฮอลเริ่มตั้งแต่ผลงานในยุคแรกๆที่เรียกว่า Pre Pop เช่น งานที่ชื่อว่า Gold Book และ Wild Raspberries ที่สร้างสรรค์ในปีค.ศ.1959 ด้วยเทคนิค Blotted Line

“งานชุด Wild Raspberries ที่เป็นภาพประกอบหนังสือทำอาหารและนำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นชุดที่สมบูรณ์ชุดหนึ่ง การนำเสนอจึงอยากให้เห็นตั้งแต่งานที่เขาทำเป็นภาพประกอบหนังสือ ไล่เรียงมาถึงการใช้สิ่งของต่างๆในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยเทคนิคการพิมพ์จนเกิดเป็นภาพแบบใหม่ รวมไปถึงบทบาทของแอนดี้ในการบุกเบิกรายการในช่องเคเบิลทีวี (ชื่อ Andy Warhol TV) เป็นโปรดิวเซอร์ในวงการเพลงและเป็นคนทำหนังหัวก้าวหน้า จนมาถึงจบที่ภาพ ‘Madonna di Raffaello’ซึ่งใช้เป็นภาพในการ์ดเชิญส่วนตัวในพิธีรำลึกการจากไปของแอนดี้ วอร์ฮอล” โรซินีซึ่งมาเที่ยวที่ประเทศไทยมากกว่า 10 ครั้ง อธิบายถึงรูปแบบการนำเสนอในนิทรรศการ

แอนดี้ วอร์ฮอล
ภาพถ่าย แอนดี้ วอร์ฮอล กับ โจเซฟ บอยส์

แอนดี้ วอร์ฮอล เกิดที่เมืองฟอเรสต์ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกาในครอบครัวที่อพยพมาจากประเทศสโลวาเกียซึ่งในตอนนั้นคือส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่ล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และมาตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1912 เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านวิจิตรศิลป์ที่ Carnegie Institute of Technology และทำงานโฆษณาและงานออกแบบให้กับหลายแบรนด์ เช่น นิตยสาร Glamour, บริษัทผลิตรองเท้าI. Miller, บริษัทเครื่องประดับ Tiffany & Co. และห้างสรรพสินค้า St. Mark’s Place

แอนดี้ วอร์ฮอล

ภาพกระป๋องซุปแคมป์เบลล์ที่เขาเริ่มสร้างสรรค์ในปีค.ศ.1960 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวอร์ฮอล และเป็นภาพที่เขาทำขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายแบบ ทั้งที่เป็นกระป๋องเดี่ยว และการนำภาพกระป๋องมาพิมพ์เรียงกันเป็นแถวนับร้อยใบเลียนแบบการจัดวางบนชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต นี่เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตชาวอเมริกันที่ผูกพันอยู่กับอาหารสำเร็จรูปและสอดคล้องกับพฤติกรรมของศิลปินเองที่เขามักกินซุปกระป๋องแทบทุกวันมานานกว่า 20 ปี

ผลงานของเขาจึงสะท้อนสภาวะสังคมของอเมริกาในช่วงการแข่งขันทางการค้าผ่านการโฆษณาทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสิ่งพิมพ์ที่กำลังรุ่งเรืองในขณะนั้น รวมไปถึงเพลงร็อกเพลงพอป และภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่สร้างกระแสพอปคัลเจอร์ไปทั่วโลก

แอนดี้ วอร์ฮอล
ภาพปกนิตยสาร Interview

วอร์ฮอลยังฝากผลงานศิลปะไว้อีกหลายประเภท เขาก่อตั้งนิตยสารบันเทิงชื่อ Interview ในปี ค.ศ.1969 ที่นำเสนอบทสัมภาษณ์กับเหล่าเซเลบริตีและซูเปอร์สตาร์แบบไม่มีการขัดเกลาและตัดต่อ และในนิทรรศการนี้ผู้ชมจะได้เห็นภาพปกนิตยสาร Interview ที่เขาออกแบบเช่นหน้าปกรูปมาดอนนา, มิกแจ็กเกอร์, ทอม ครูซ, ริชาร์ด เกียร์ และซิลเวสเตอร์ สตอลโลน รวมไปถึงผลงานออกแบบปกนิตยสารอื่น เช่น ปกนิตยสาร Time รูปไมเคิล แจ็คสัน และปกนิตยสาร Playboy ฉบับครบรอบปี ค.ศ. 1986

แอนดี้ วอร์ฮอล
ปกอัลบั้มแรกของวง The Velvet Underground

นอกจากนี้ในระหว่างปี ค.ศ.1969-1987 วอร์ฮอลยังออกแบบปกอัลบั้มแผ่นเสียงกว่า 60 ปก เช่นปกอัลบั้มแรกของวง The Velvet Underground เป็นรูปกล้วยสีเหลืองบนพื้นสีขาวและปกอัลบั้ม Sticky Fingers ของ The Rolling Stones ที่ออกแบบโดยเครก บรันและวอร์ฮอลเป็นผู้ถ่ายภาพ

เขายังได้ร่วมกับเพื่อนสร้างภาพยนตร์ใต้ดินอยู่หลายเรื่อง อาทิ Sleep ความยาว 6 ชั่วโมง เรื่อง Empire ซึ่งฉายภาพนิ่งของตึกเอ็มไพร์สเตต (Empire State Building) ความยาว 8 ชั่วโมง และThe Chelsea Girl เป็นฉากชีวิตในโรงแรมเชลซีในนิวยอร์ก ในปีค.ศ.1963 เพียงปีเดียวเขาได้สร้างภาพยนตร์ไว้มากกว่า 75 เรื่อง

แอนดี้ วอร์ฮอล
Two Dollars (Declaration of Independence) signed by Andy Warhol

ในการทำงานของเขาวอร์ฮอลพูดเสมอว่า ศิลปินไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานเองทั้งหมด แต่ศิลปินจะเป็นผู้กำหนดความคิดและรูปแบบ ดังนั้นห้องทำงานของเขาจึงมีลักษณะเป็นโรงงานแทนที่จะเป็นห้องทำงานส่วนตัว เขาก่อตั้งสตูดิโอชื่อ The Factory ใน ค.ศ.1962 โดยรวบรวมกลุ่มคนไฟแรงเป็นผู้ช่วยในการผลิตงาน และระหว่าง ค.ศ. 1962-1964 เขาสามารถผลิตงานสร้างสรรค์ได้มากกว่า 2,000 ชิ้น เรียกว่าเป็นการปฏิวัติการทำงานศิลปะเลยก็ว่าได้

แอนดี้ วอร์ฮอล

แต่ภายใต้งานที่สะท้อนระบบทุนนิยม โรซินีเห็นว่าวอร์ฮอลแอบซ่อนความเป็น “ปรมาจารย์แห่งลัทธิเซน” เอาไว้

“แอนดี้มีพรสวรรค์ในการแสดงความเห็นด้วยแนวคิดที่เรียบง่ายเพื่อสื่อสารข้อโต้แย้งที่ลึกซึ้ง ยิ่งไปกว่านั้นวิธีการพูดของเขาสามารถจูงใจผู้คนได้จนราวกับเขาสามารถสะกดจิตให้ผู้คนคล้อยตามเขาผ่านน้ำเสียงทุ้มต่ำน่าฟัง ประกอบกับคำพูดและเรื่องราวอันน่าสนใจที่แอนดี้ชอบเล่าให้คนที่เขาคิดว่าพร้อมที่จะฟังเรื่องราวทางโลกหรือจิตวิญญาณขั้นสูง

“ถึงแม้ผมจะไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับเขามากนัก แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเขาอย่างมากมาจาก ‘Interview’ ซึ่งผมเชื่อว่าการตั้งคำถามและให้คำตอบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง”

แอนดี้ วอร์ฮอล

วอร์ฮอลเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนในการผ่าตัดที่โรงพยาบาลในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 ในวัย 59 ปี หลังจากประสบความสำเร็จในการสั่นสะเทือนวงการเกี่ยวกับประเด็นคุณค่าศิลปะและเส้นแบ่งระหว่างศิลปะชั้นสูงกับพาณิชย์ศิลป์

Fact File

  • นิทรรศการจัดแสดงที่ RCB Galleria ชั้น 2 River City Bangkok ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
  • บัตรราคา 400 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และ 300 บาทสำหรับเด็ก นักเรียน นิสิต/นักศึกษาและผู้สูงอายุ
  • ซื้อบัตรได้ที่ https://www.ticketmelon.com/rivercitybangkok/andywarhol หรือที่ RCB Gallery Shop ชั้น 1
  • รายละเอียดเพิ่มเติม: โทร. 0-2237-0077-8 หรือคลิก www.rivercitybangkok.com

อ้างอิง

นิตยสาร สารคดี ฉบับ พฤษภาคม 2546


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม