ธรรมชาติและโลกนิทาน ของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ The Tale of Peter Rabbit
- เบียทริกซ์ พอตเตอร์ (Beatrix Potter) เป็นนักเขียนหญิงและนักวาดภาพนิทานเด็กชาวอังกฤษ ผู้ให้กำเนิดตัวละคร ปีเตอร์ แรบบิท (Peter Rabbit) ในนิทานคลาสสิกของเด็กๆ ทั่วโลกเรื่อง The Tale of Peter Rabbit
- The Tale of Peter Rabbit มีจุดเริ่มจากภาพวาดในกระดาษจดหมายที่เบียทริกซ์เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2436 และได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์เป็นนิทานในอีก 9 ปีต่อมา
- ห้องเรียนธรรมชาติและพื้นฐานด้านการศึกษาในยุควิคตอเรียนมีผลอย่างมากต่อความคิดและงานวาดภาพของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ ผู้ซึ่งใช้ครอบครัวกระต่ายและเหล่าสรรพสัตว์มาเป็นตัวเอกในนิทาน
เบียทริกซ์ พอตเตอร์ (Beatrix Potter) เป็นนักเขียนหญิงและนักวาดภาพนิทานเด็กชาวอังกฤษ ผู้ให้กำเนิดตัวละคร ปีเตอร์ แรบบิท (Peter Rabbit) ในนิทานคลาสสิกเรื่อง The Tale of Peter Rabbit ซึ่งมีจุดเริ่มจากภาพวาดในกระดาษจดหมายที่เธอเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2436 และได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์ในอีก 9 ปีต่อมา ส่วนปัจจุบันคาแรกเตอร์กระต่าย Peter Rabbit ได้แตกไลน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย รวมทั้งนำไปสร้างเป็นการ์ตูน และหนังสือเรื่องใหม่ที่ยังคงเน้นโลกของสรรพสัตว์
ปีเตอร์ แรบบิทและเรื่องราวครอบครัวของเขาไม่ได้เป็นเพียงนิทานที่ครองใจเด็กทั่วโลกมากว่า 100 ปี แต่นี่คือมรดกชิ้นสำคัญทีเกิดขึ้นจากการวางรากฐานการศึกษาให้แก่เด็กๆ ในสมัยวิคตอเรียน ทั้งยังเป็นต้นแบบของนิทานสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 ที่ใช้โลกของสรรพสัตว์ ลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละชนิดมาแทนสังคมมนุษย์
เด็กหญิงในห้องเรียนธรรมชาติ
เบียทริกซ์ พอตเตอร์ เกิดในชนชั้นผู้ดีของอังกฤษ ในยุคสมัยนั้นตรงกับยุควิคตอเรียน ครอบครัวผู้ดีมีอันจะกินมักจะส่งเด็กชายไปเรียนโรงเรียนประจำ ส่วนเด็กผู้หญิงก็จ้างครูมาสอนที่บ้าน เด็กหญิงเบียทริกซ์ พอตเตอร์ก็เช่นกัน นอกจากเธอจะมีครูมาสอนวิชาการและวิชาวาดรูปให้ถึงบ้านแล้ว การที่ครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของที่ดินติดเนินเขาในเขต Lake District ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษซึ่งอยู่ติดกับชายแดนประเทศสก็อตแลนด์ ทำให้เขต Lake District กลายเป็นทั้งบ้านพักตากอากาศในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ของเด็กหญิงเบียทริกซ์
ที่ Lake District เด็กหญิงเบียทริกซ์ไม่มีเพื่อนเล่นวัยเดียวกัน เธอมีแค่สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าตัวน้อยๆ ในธรรมชาติเป็นเพื่อนเล่น และแล้วเบียทริกซ์เริ่มเลี้ยงกระต่ายตัวแรกตอนเธออายุ 10 ขวบ เธอตั้งชื่อว่า เบนจามิน เบาน์เซอร์ (Benjamin Bouncer) เมื่อเบนจามินลาโลกไป เธอก็มีกระต่ายตัวที่สอง และเรียกกระต่ายของเธอว่า ปีเตอร์ ไพเพอร์ (Peter Piper)
เจ้าปีเตอร์ ไพเพอร์ เป็นกระต่ายป่าพันธุ์หูยาวที่อยู่ตามชนบทอังกฤษ ซึ่งต่อมาเจ้าปีเตอร์ตัวนี้ก็ได้กลายมาต้นแบบ ตัวละคร ปีเตอร์ กระต่ายน้อยแสนซนในนิทานสุดอมตะ “The Tale of Peter Rabbit”
การไม่ได้เข้าโรงเรียนและอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ บวกกับการได้รับอิสระจากพ่อแม่ให้เดินลัดเลาะไปตามสายน้ำลำธาร และสถานที่รอบๆ บ้านทั้งที่ Lake District และ บ้านของคุณปู่คุณย่าที่ แคมฟิลด์ เพลซ (Camfield Place) แคว้นเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) ทำให้เบียทริกซ์ชอบที่จะสังเกตธรรมชาติรอบตัว และเมื่อเธอได้มาคลุกคลีกับกระต่าย เธอก็เริ่มสังเกตและจดจำอริยาบถของกระต่าย พร้อมสเก็ตช์ภาพลายเส้นเลียนแบบการเคลื่อนไหวของมัน
นิสัยชอบวาดภาพลายเส้นด้วยดินสอของเบียทริกซ์นี่เอง ส่งผลให้เธอได้วาดภาพประกอบนิทานที่เธอแต่งเองในเวลาต่อมา โดยเบียทริกซ์ได้นำภาพสัตว์ต่างๆที่เธอวาดไว้ มาสร้างเป็นตัวละคร แต่งเป็นเรื่องสอนใจสนุกๆ ไว้อ่านเล่น ในแนวคล้ายๆ กับนิทานอีสป ที่เด็กในอังกฤษและยุโรปสมัยนั้นได้ยินได้ฟังกันมา
เบียทริกซ์ กับตำแหน่งนักวิจัย “เห็ด” และ “รา”
อีกหนึ่งสิ่งที่เบียทริกซ์เรียนรู้จากห้องเรียนในธรรมชาติและฝึกฝนด้วยตนเองจนกลายเป็น ผู้เชี่ยวชาญ ก็คือเรื่อง “เห็ด” และ “รา” แต่ด้วยความเป็นผู้หญิงและไม่ได้เข้าโรงเรียนเรียนด้านนี้โดยเฉพาะ ทำให้ความรู้เรื่องเห็ด รา ที่เธอค้นพบไม่ได้รับการยอมรับ แม้จะมีญาติผู้ใหญ่อย่าง เซอร์เฮนรี่ เอนฟิลด์ รอสโก นักเคมีที่เป็นคุณลุงของเธอช่วยส่งเสริม หรือแม้คุณลุงจะพยายามฝากเธอเข้าเรียนในสถาบันอุทยานพฤกษศาสตร์หลวงที่กรุงลอนดอน แต่สุดท้ายเธอก็ไม่ได้เรียน และไม่มีใครสนใจเธอ เหตุเพียงเพราะเธอเป็น ผู้หญิง และผู้หญิงยุคนั้นก็ไม่ออกไปเรียนในโรงเรียนกันหรอก
จากการเฝ้าสังเกตและวาดภาพลายเส้นเห็ดต่างๆ ที่เธอเห็นในป่า พร้อมทั้งใส่ใจศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเห็ดราอย่างจริงจัง เบียทริกซ์เป็นผู้ตั้งสมมุติฐานว่า “ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลระหว่างรากับสาหร่าย”
ตอนช่วงอายุ 30 เบียทริกซ์เริ่มมีงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดรา แต่งานวิจัยของเธอก็ถูกเมินจากสมาคม Linnean Society of London ที่สนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น จนเวลาผ่านไปกว่า 100 ปี เมื่อปี ค.ศ.1997 ทางสมาคมจึงได้ประกาศขออภัยในความผิดพลาด และยอมรับ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ ในฐานะนักราวิทยา (Mycologist and scientific artist) ปัจจุบันต้นฉบับภาพเห็ดราหลายร้อยภาพ ของเบียทริกซ์ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นภาพวาดลายเส้นลงสีน้ำอย่างละเอียดสวยงามเหมือนจริงราวภาพถ่าย ถูกเก็บรักษาไว้ใน Armitt Library and Museum เมืองแอมเบิลไซด์ (Ambleside) เขต Lake District
วิคตอเรียน ยุคแห่งความเฟื่องฟูของนิทานและจินตนาการ
ความคิดความอ่านของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ เป็นผลโดยตรงของการหล่อหลอมด้านการศึกษาของยุคสมัยวิคตอเรียน ของสหราชอาณาจักร (ค.ศ. 1837-1901) ซึ่งเป็นยุคสมัยสมเด็จพระราชินาถวิคตอเรียครองบัลลังก์จักรวรรดิอังกฤษ และมีเมืองขึ้น อาณานิคมทุกทวีปทั่วโลก ทั้งยังเป็นยุคเฟื่องฟูของศิลปวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของอังกฤษที่เป็นผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
สมัยวิคตอเรียน ถือได้ว่าเป็นยุคแรกของสังคมอังกฤษที่เริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาและช่วงชีวิตวัยเด็ก อันเป็นอิทธิพลจากการขึ้นครองราชย์ของเจ้าหญิงวิคตอเรียตั้งแต่อายุน้อย และการที่พระองค์ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาถึง ถึง 9 พระองค์ กับพระสวามีสุดที่รัก “เจ้าชายอัลเบิร์ต”
ยุควิคตอเรียนถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของการสร้างจินตนาการเพื่อความบันเทิงของเด็กๆ โดยราวปี ค.ศ.1880 หรือ14 ปี หลังจากเบียทริกซ์เกิด สังคมอังกฤษมีค่านิยมและกฏหมายที่ต้องส่งเด็กชายไปโรงเรียน โดยมี “โรงเรียนประจำ” สำหรับผู้มีอันจะกินเปิดสอนเด็กแบบต้องกินนอนอยู่โรงเรียน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบโรงเรียนประจำ (Boarding School) นอกจากนี้ยังมี “โรงเรียนวัด” หรือ โรงเรียนตามโบสถ์ของศาสนาคริสต์ (Church School) ที่เปิดสอนความรู้ให้กับเด็กทั่วไป และเมื่ออังกฤษแผ่ขยายการปกครองไปค่อนโลก บวกกับผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้สามารถผลิตสิ่งพิมพ์ได้จำนวนมาก นิทานของอังกฤษจึงได้กลายเป็นนิทานของสากลไปด้วย
นอกจากนี้นิทานเด็กในยุควิคตอเรียนยังได้กลายเป็นต้นแบบนิทานในยุคสมัยใหม่ศตวรรษที่ 20 คือมีทั้งการสอดแทรกคติคำสอนต่างๆ ไว้ในนิทาน และนิยมที่ใช้ตัวละครเอกเป็นสัตว์ อย่าง Black Beauty, Treasure Island และนิทานสอนใจบวกกับการผจญภัยในโลกจินตนาการสุดพิสดารอย่าง Alice’s Adventures in Wonderland เรื่องราวของสาวน้อยอลิซ เขียนโดย ลิวอิส แครอล ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1865 เป็นเวลา 8 เดือนก่อนเบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ ลืมตาดูโลก
ทำไม “The Tale of Peter Rabbit” จึงครองใจเด็กทั่วโลก
The Tale of Peter Rabbitครองใจเด็กทั่วโลกด้วยความเรียบง่ายของเนื้อเรื่อง ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน เป็นเพียงการเล่าเรื่องราวสั้นๆ ของกระต่ายน้อยชื่อ ปีเตอร์ หรือ Peter Rabbit และครอบครัวของเขาที่แสนวุ่นวาย ซุกซน และชอบแอบไปกินแครอทในสวนของนายแมคเกรกเกอร์ (Mr. McGregor) ผู้ได้ฉายาว่า “ลุงแม็กใจร้าย” เพราะเกือบจะจับPeter Rabbitไปทำเป็นขนมพายซะแล้ว
ความเป็นสากลของตัวละครครอบครัวกระต่ายน้อยปีเตอร์ เป็นเสมือนภาพจำลองของเด็กๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ตัวละคร Peter Rabbit เป็นตัวแทนเด็กน้อยซุกซน ที่มีแม่คอยพร่ำบ่นไม่ต่างจากชีวิตเด็กๆ ทั่วไปบนโลกนี้ที่มีความเบื่อหน่ายยามแม่บ่น และนั่นจึงทำให้เด็กทั่วโลกที่แม้จะต่างภาษาสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างสนุกสนาน บวกกับภาพประกอบสีน้ำสวยงาม ผลงานการวาดภาพประกอบโดยเบียทริกซ์ พ็อตเตอร์
แต่ก่อนที่ต้นฉบับ The Tale of Peter Rabbit จะได้ตีพิมพ์ เบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอยู่นาน แถมถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ถึง 6 แห่ง จนต้องมาพิมพ์เองและเผยแพร่เองไปก่อน หลังจากนั้นหนึ่งปีจึงมีนายทุนใจกล้านำมาพิมพ์เพิ่มเป็นหลักหมื่นเล่ม
การเดินทางของ นิาน “The Tale of Peter Rabbit” เริ่มต้นจาก เบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ ในวัยสาว เธอชอบเขียนเรื่องและภาพประกอบสีน้ำ โดยเรื่องราวของกระต่ายปีเตอร์ ถูกส่งเป็นเรื่องสั้นๆ ทางจดหมายไปให้เด็กชาย 5 ขวบ ลูกของครูพี่เลี้ยงเก่าแก่ของเธอในปี ค.ศ. 1893 และครูพี่เลี้ยงซึ่งเห็นแววของลูกศิษย์มาแต่เล็กแต่น้อย ก็เขียนจดหมายกลับมาเพื่อกระตุ้นให้เบียทริกซ์เขียนนิทานจบจบเรื่องสมบูรณ์เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ สำหรับสถานที่ที่เธอใช้เขียน The Tale of Peter Rabbit ก็คือ Camfield Place บ้านที่เธอรักมากเพราะเป็นที่ที่มีความทรงจำในวัยเด็กและหว่างเธอและธรรมชาติอันแสนงดงาม
เบียทริกซ์ พ็อตเตอร์ใช้ภาพวาดต้นฉบับเดิมของเธอจากจดหมายที่มีสัตว์ต่างๆ และเขียนเพิ่มเติมจนได้นิทานสอนใจว่าด้วยครอบครัวกระต่ายน้อย จากนั้นก็ส่งงานไปเสนอสำนักพิมพ์ถึง 6 แห่ง แต่กลับถูกปฏิเสธทั้งหมดด้วยเหตุว่า “ภาพประกอบไม่ดึงดูดพอ”
ในปี ค.ศ. 1901 จักรพรรดินีวิคตอเรียเสด็จสวรรคต สิ้นสุดยุควิคตอเรียน แต่สำหรับ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ นี่กลับเป็นปีที่เริ่มต้นสู่อาชีพนักเล่านิทานอย่างจริงจัง เมื่อเธอเอาภาพประกอบที่ถูกตำหนินั้นมาแก้ไข ลงสีน้ำและวาดเพิ่มเติมให้ดึงดูด พร้อมตั้งชื่อเรื่องว่า “The Tale of Peter Rabbits” และจัดพิมพ์เอง 250 เล่ม ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับจากเด็กๆ กลุ่มเป้าหมายดีเกินคาด
หนึ่งปีผ่านไป สำนักพิมพ์ Frederick Wane & Co ขอเข้ามาเป็นนายทุนผู้จัดพิมพ์และทำการจัดจำหน่าย โดยฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกมีจำนวนมากถึง 28,000 เล่ม และครอบครัวกระต่ายก็ขายหมดเกลี้ยงภายในปีเดียวกัน
โรงเรียนธรรมชาติของเบียทริกซ์
“โชคดีเหลือเกินที่ฉันไม่เคยถูกส่งเข้าโรงเรียน ไม่อย่างนั้นฉันคงถูกโรงเรียนขัดเอาธรรมชาติและความสร้างสรรค์ออกหมดจนไม่เหลืออะไรเลย”
เบียร์ทริกซ์เคยกล่าวไว้ และเราก็ได้เห็นว่าเธอเก็บเกี่ยวความสวยงามของธรรมชาติมาใส่ไว้ในนิทานของเธอผ่านสรรพสัตว์น้อยใหญ่ที่เธอวาด และธรรมชาติก็ไม่ได้อยู่กับเบียทริกซ์แค่ในวัยเด็กเท่านั้น ชีวิตรักอันน่าเศร้าของเธอเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เธอหมกตัวอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติ
เบียทริกซ์ แหกค่านิยมของตระกูลผู้ดี ด้วยการหมั้นหมายกับ นอร์แมน วอร์น เจ้าของสำนักพิมพ์ Frederick Wane & Co ซึ่งถือว่าอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่าเธอ ในสังคมอังกฤษสมัยนั้นถือว่าวอร์นเป็นแค่ “นักธุรกิจ” ไม่ใช่ “สุภาพบุรุษ” ชาติตระกูลดีมีมรดกตกทอดแต่อย่างใด
แต่เรื่องก็ยังไม่น่าเศร้าเท่าเหตุการณ์ต่อมา เมื่อวอร์นเสียชีวิตด้วยโรคโลหิตจาง ก่อนที่ทั้งคู่จะได้แต่งงานกัน ความเสียใจนั้นทำให้เบียทริกซ์ยิ่งฝังตัวกับธรรมชาติ และใช้เวลากว่า 20 ปีหลังจากนั้นสร้างนิทานเด็กพร้อมวาดภาพประกอบสีสันสวยงามกว่า 20 เรื่อง เธอใช้ตัวละครเอกเป็นสัตว์อย่าง “กระรอกน้อยนัตคิน” (The Tale of Sqirrel Nutkin) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1903 “แม่เป็ดเจอไมมา” (The Tale of Jemima Pudle-Duck Nutkin) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1908
ผลตอบแทนจากค่าลิขสิทธิ์เรื่องและตัวละคร ที่ถูกเอาไปทำของเล่นเด็กหรือตัวตุ๊กตา ทำให้สาวโสดหม้ายขันหมากอย่างเธอ เลี้ยงดูตัวเองได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1905 เพียง 3 ปีหลังจาก The Tale of Peter Rabbit กลายเป็นนิทานที่ใครๆ ก็ต้องอ่าน และติดอันดับขายดีตลอดกาล เบียทริกซ์ก็ตัดสินใจลงทุนซื้อบ้านและที่ดินในฟาร์มที่ชื่อ ฮิลล์ ทอป ฟาร์ม (Hill Top Farm) และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น
เบียทริกซ์ในวัย 47 ปี ในฐานะนักเขียนและสาวโสดเขียนนิทานและเลี้ยงแกะในฟาร์มแบบปล่อยที่ฮิลล์ ทอป ฟาร์ม และในปีนั้นเองเธอได้แต่งงานกับวิลเลียม ฮิลลิส (William Heelis) นักกฏหมายในท้องถิ่น โดยเหตุผลของความรักครั้งนี้คือการเป็นคู่คิดและเข้าใจวิถีชีวิตอิงธรรมชาติเหมือนกัน
Lake District ดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยความฝันและจินตนาการ
Lake District บ้านพักตากอากาศในช่วงฤดูร้อนของครอบครัวพอตเตอร์ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อเบียทริกซ์ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่เธอมักจะมาวิ่งเล่นที่กลางโรงเรียนธรรมชาติที่นี่ โดยหลังจากที่เธอมีเงินจากการขายลิขสิทธิ์นิทาน เบียทริกซ์ก็ได้กว้านซื้อทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่รอบบ้าน และมีเจตนาให้ธรรมชาติเป็นครูกับชนรุ่นหลัง เช่นเดียวกับที่เธอเติบโตมา
แนวคิดซื้อที่ดินมาอนุรักษ์เป็นพื้นที่เรียนรู้กับธรรมชาตินี้ เป็นเรื่องแปลกใหม่ในสมัยวิคตอเรียน ซึ่งจักรวรรดิอังกฤษและชาวโลกกำลังพุ่งสุดตัวไปกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครื่องจักรกับสังคมอุตสาหกรรมที่มาแทนที่กสิกรรมดั้งเดิม
เบียทริกซ์เสียชีวิตโดยไม่มีทายาทในวัย 77 ปี และเธอได้เขียนพินัยกรรมอุทิศที่ดินทั้งหมดของเธอใน Lake District ให้อยู่ในความดูแลของ องค์กรพิทักษ์ที่ดินและเขตประวัติศาสตร์ของชาติแห่งอังกฤษ (National Trust) โดยบรรยากาศของ Lake District นั้นเป็นทุ่งหญ้าสลับกับเนินเขา
ปัจจุบันทั้งตัวบ้าน ทุ่ง และธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ไว้ตามเจตจำนงของเจ้าของเดิมทุกประการ ส่วนปัจจุบันได้เปิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์และเปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม นอกจากธรรมชาติสวยงามแล้วที่นี่ยังมีการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิมด้วยวิธีธรรมชาติอย่างที่เบียร์ทริกซ์เคยทำ นั่นคือการปล่อยฝูงแกะหากินเองในเขตทุ่งหญ้าและไม่มีคอกกักขังพวกมันไว้
ที่ Lake District เป็นภาพการใช้ชีวิตของเบียร์ทริกซ์ แต่สำหรับต้นฉบับภาพวาดประกอบ งานเขียน ทั้งนิทานและภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ของเธอถูกเก็บไว้ใน Beatrix Potter Gallery สถานที่แสดงงานถาวรที่เปลี่ยนตึกเก่าสมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นสำนักงานกฏหมายเดิมของสามีเธอให้เป็นแกลเลอรี ท่ามกลางบรรยากาศชนบทอังกฤษ และอยู่ในความดูแลของ National Trust เช่นกัน
ปัจจุบัน Beatrix Potter Gallery เปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าเยี่ยมชมผลงานต้นฉบับและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เธอใช้สร้างสรรค์ผลงาน และอีกส่วนหนึ่งจัดแสดงที่ Hill Top Farm บ้านสวนสไตล์อิงลิชคอตเทจที่เบียทริกซ์ ใช้ชีวิตสร้างงานจนลมหายใจสุดท้าย และเป็นต้นกำเนิดนิทานคลาสสิกของโลก…The Tale of Peter Rabbit
อ้างอิง