17 ปี ริมขอบฟ้า ร้านหนังสือที่ขอเล่าเรื่องราวประเทศไทย
Brand Story

17 ปี ริมขอบฟ้า ร้านหนังสือที่ขอเล่าเรื่องราวประเทศไทย

Focus
  • ร้านหนังสือริมขอบฟ้า เปิดตัวในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 โดยใช้พื้นที่ของศูนย์ข้อมูล ที่ทำการของเมืองโบราณแต่เดิม ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
  • Discover Thailand รู้เรื่องเมืองไทย คือคอนเซ็ปต์ตั้งต้นของร้านหนังสือสแตนด์อโลนริมขอบฟ้า ซึ่งครบทั้งหมวดหนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะไทย มานุษยวิทยา งานวิจัย หนังสืองานศพ หนังสือหายาก หนังสือสำนักพิมพ์เล็กๆ ไปจนหนังสือพิมพ์พิเศษของหน่วยงานต่างๆ
  • หนังสือที่แพงที่สุดของร้าน คือหนังสืองานศพ ฉบับแรกของไทย พิมพ์โดยโรงพิมพ์หลวง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราคา 1 แสนบาท

Discover Thailandรู้เรื่องเมืองไทย คือคอนเซ็ปต์ตั้งต้นของร้านหนังสือสแตนด์อโลน ริมขอบฟ้า ที่ตั้งอยู่ใจกลางถนนประวัติศาสตร์ราชดำเนิน ติดกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมานานถึง 17 ปี (เปิดตัว 22 กรกฎาคม 2546)

ไม่ว่าจะหนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะไทย มานุษยวิทยา งานวิจัย หนังสืองานศพ หนังสือหายาก กวีนิพนธ์ หนังสือสำนักพิมพ์เล็กๆ ไปจนหนังสือของหน่วยงานต่างๆ ที่หาจากร้านหนังสือทั่วไปไม่ได้ล้วนถูกส่งต่อมาที่ ริมขอบฟ้า …ที่ซึ่งฟ้าบรรจบดิน เส้นที่ไม่มีอยู่จริง แต่มองเห็นได้

ริมขอบฟ้า

“อาคารหลังนี้เดิมเป็นศูนย์ข้อมูล เป็นสถานที่จัดเตรียมงาน เตรียมเอกสารต่างๆ เป็นที่ประชุมของอาจารย์ผู้ใหญ่ เช่น อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์มานิต วัลลิโภดม น.ณ ปากน้ำ อาจารย์พิชัย วาศนาส่ง และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคน เพื่อที่จะเตรียมงานสร้างเมืองโบราณ ในตอนนั้น คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณก็ส่งหนังสือเกี่ยวกับงานจิตรกรรม หนังสือประวัติศาสตร์มาที่นี่ เรียกว่าที่นี่กลายเป็นเหมือนห้องสมุดย่อมๆ เลยก็ว่าได้ หนังสือภาพถ่าย หนังสือประวัติศาสตร์ ศิลปะไทย หลักฐานเอกสารต่างๆ ก็สะสมอยู่ที่นี่ โดยระหว่างทำงานสร้างเมืองโบราณ พื้นที่ตรงนี้ก็เปิดให้คคลทั่วไปเข้ามาค้นคว้าหาข้อมูล ถ่ายสำเนาเอกสารไปใช้ด้วยโดยเฉพาะนักศึกษา เพราะหนังสือบางเล่มเป็นหนังสือหายากที่ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น”

ริมขอบฟ้า
จำนงค์ ศรีนวล ผู้บริหารร้าน ริมขอบฟ้า

จำนงค์ ศรีนวล ผู้บริหารร้าน ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มของการทำร้านหนังสือที่ชัดเจนในหมวดศิลปะ ประวัติศาสตร์ สังคม ของเมืองไทย โดยหลังจากที่เปิดเมืองโบราณแล้วที่นี่ก็เปลี่ยนหน้าที่จากศูนย์ข้อมูลมาเป็นสถานที่ขายบัตรให้บริการทัวร์เมืองโบราณ

“เมืองสมุทรปราการเมื่อก่อนยังไม่สะดวก ยังไม่มีรถไฟฟ้าตรงถึงเมืองโบราณเหมือนปัจจุบัน เราก็เลยใช้ที่นี่เป็นสถานที่ขายบัตร จัดรถพาลูกค้าที่ซื้อทัวร์ไปส่ง จัดวันเดย์ทริปมีผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พาเที่ยวเมืองโบราณ โดยเริ่มจากตรงนี้ ยุคต่อมาคือการเปิด วารสารเมืองโบราณ และที่นี่ก็กลายเป็นที่ทำงานของกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณด้วย จนเมื่อทีมงานวารสารเมืองโบราณมีคนเยอะขึ้นย้ายไปออฟฟิศใหม่ ที่นี่จึงปรับเป็นร้านหนังสือ อันที่จริงในตอนที่กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณทำงานอยู่ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ก็เปิดเป็นร้านหนังสืออยู่แล้ว เป็นหนังสือเฉพาะในวงการจริงๆ กระทั่ง พ.ศ.2546 จึงตั้งเป็นร้านหนังสือเต็มรูปแบบโดยเปิดร้านในวันที่ 22 กรกฎาคม”

ริมขอบฟ้า
เล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณ

ด้านชื่อ ริมขอบฟ้า มาจากปรัชญาการใช้ชีวิตของ เล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณและเป็นผู้หนึ่งที่ศึกษางานด้านปรัชญา เช่น ชื่อของร้านริมขอบฟ้ามาจากปรัชญาในครอบครัวที่ว่า ริมขอบฟ้า ที่ซึ่งฟ้าบรรจบดิน เส้นที่ไม่มีอยู่จริง แต่มองเห็นได้หมายถึง การให้มองออกไปไกลๆ มองไปที่ริมขอบฟ้า ที่ซึ่งมีความฝันและจินตนาการของมนุษย์ เปรียบเหมือนกับการเรียนรู้ที่ไม่ได้มองแค่หนังสือในมือที่กำลังอ่านอยู่เท่านั้น

ริมขอบฟ้า

จุดแข็งของร้านหนังสือริมขอบฟ้า ที่ทำให้มีแฟนประจำและทำให้ร้านหนังสือขนาดย่อมสามารถยืนหยัดมาได้ถึง 17 ปีท่ามการร้านหนังสือสแตนด์อโลนรุ่นเดียวกันที่ค่อยๆ โบกมือลาไป คือ ความเฉพาะตัว และการเปิดรับหนังสือที่หลากหลาย แม้แต่งานวิจัยที่ไม่มีร้านไหนเปิดรับก็มีขายที่ร้านนี้ หรืออย่างหนังสือการเมืองก็มีให้เลือกหลากหลายมุมมองมาก นอกจากนี้ยังมีงานศพ และหนังสือหายากที่สำนักพิมพ์ไม่ได้ส่งมาให้ขาย แต่ลูกค้านี่แหละที่เป็นคนส่งมา และพนักงานของร้านเองก็ออกไปตามหาหนังสือเหล่านี้ด้วย

ริมขอบฟ้า
หนังสืองานศพราคาหลักแสน

“อย่างหนังสืองานศพ หลายคนรับไปก็ไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ร้านเราก็รับมา หรือหนังสือบางเล่มเจ้าของเขารู้ว่ามีคุณค่า เขากลัวลูกหลานขายไปและคุณค่าเหล่านี้ก็จะหายไป เขาก็เอามาให้เราขายเพื่อที่จะได้เจอเจ้าของใหม่”

บังอร ท่วมสม ผู้จัดการร้านหนังสือริมขอบฟ้า

บังอร ท่วมสม ผู้จัดการ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า เล่าถึงความเฉพาะตัวของหนังสือ โดยในหมวดหนังสือหายากนั้นที่นี่มีแม้กระทั่งหนังสืองานศพฉบับตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์หลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นหนังสืองานศพฉบับแรกที่จัดพิมพ์และแจกจ่ายอย่างเป็นทางการ ราคาเบื้องต้นอยู่ที่หนึ่งแสนบาท

ปรับพื้นที่ร้านจัดงานสัมมนา

นอกจากความเฉพาะตัวของหนังสือแล้ว บังอรเล่าว่าลูกค้าที่นี่ก็อาจจะแตกต่างจากร้านหนังสือทั่วๆ ไป เช่น กลุ่มผู้สนใจด้านการเมือง กลุ่มสังคมมานุษยวิทยา กลุ่มที่หาหนังสืออ้างอิงหมวดประวัติศาสตร์ รวมทั้งนักศึกษาที่ต้องการศึกษาในศาสตร์นั้นๆ จริงๆ แต่อาจจะไม่มีเงินพอที่จะซื้อหนังสือ

“ลูกค้าชอบบอกว่าถ้าหาหนังสือเล่มไหนไม่เจอให้มาที่นี่ เพราะว่าเราไม่ได้รับเฉพาะหนังสือจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เท่านั้น หนังสือองค์กร หนังสือเนื่องในวาระต่างๆ น้องๆ ที่ร้านก็จะไปตามหามา คือไม่ได้ทำแค่งานในร้าน แต่ทุกคนจะออกไปตามหาหนังสือมาเข้าร้าน จากร้านหนังสือเก่าบ้าง จากลูกค้าประจำที่เขาให้มาบ้าง และก็จากความต้องการของลูกค้าบ้าง

“น้องๆ ในร้านจะรู้จักและจำลูกค้าประจำได้เกือบทุกคน บางคนเขาเป็นนักศึกษา เขาไม่มีเงินมาก แต่เขาต้องการหนังสือเล่มนี้ เขาอยากได้หนังสือเล่มนี้มาก เขาก็จะมาบอกเลยว่า พี่ผมขอจองเล่มนี้นะ สิ้นเดือนผมเอาเงินมาจ่าย คือถ้าเป็นร้านใหญ่ๆ เขาก็อาจจะทำไม่ได้ แต่เราทำร้านริมขอบฟ้ามานาน เรารู้เลยว่าคนที่เขาต้องการหนังสือเล่มนั้นๆ จริงๆ ต้องการใช้ความรู้จากในหนังสือจริงๆ มีจำนวนมาก และเราก็อยากจะช่วยเขาเท่าที่เราทำได้”

17 ปี ร้านหนังสือริมขอบฟ้า อาจจะไม่ได้เดินหน้าอย่างราบรื่นนัก ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนแปลงของราชดำเนิน หรือการเปลี่ยนยุคของหนังสือเข้าสู่ระบบดิจิทัลก็ตาม แต่ด้วยความเฉพาะตัวของหนังสือที่บรรจุอยู่ที่เส้นขอบฟ้าเส้นนี้ ก็ยังพอทำให้ร้านหนังสือรุ่นเก๋าร้านนี้ยังคงหายใจต่อไปได้ ซึ่งในฐานะแฟนคนหนึ่งของร้านนี้ก็อยากจะชวนนักอ่านมาต่อลมหายใจของร้านนี้ด้วยกัน เพราะมีแต่แฟนคลับที่รู้ว่า หนังสือที่หาที่ไหนไม่ได้ ต้องมาที่ ริมขอบฟ้า เท่านั้น

Fact File


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม