อาบป่า ท่ามกลางอ้อมกอดของผืนป่าชุมชนกาญจนบุรี
Better Living

อาบป่า ท่ามกลางอ้อมกอดของผืนป่าชุมชนกาญจนบุรี

Focus
  • อาบป่า ศาสตร์ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ชินริน-โยกุ สำหรับไทย แนวคิดนี้ได้นำมาใช้ผ่านการรวมกลุ่มของคนที่สนใจในนาม กลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี
  • การอาบป่า ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นกระบวนการที่มนุษย์เข้าไปอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ได้กลับมาคิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่มีการชี้นำ แต่ให้คนที่อาบป่าสัมผัสธรรมชาติด้วยตัวเอง

ผมปิดเครื่องมือสื่อสารตั้งแต่ก้าวแรก เมื่อเข้าสู่แนวป่าชุมชนลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ก้าวแต่ละก้าวต่อจากนี้… ผมตั้งใจจะจดจ่ออยู่กับการ อาบป่า ศาสตร์ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ชินริน-โยกุ หรือ Forest Bathing ตามแบบยุโรป สำหรับไทย แนวคิดนี้ได้นำมาใช้ผ่านการรวมกลุ่มของคนที่สนใจในนาม กลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี

อาบป่า
สร้างผัสสะทางจิตใจ

“การอาบป่า ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้เราเข้าไปอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยคนที่เป็นผู้นำกิจกรรมจะพูดให้น้อยที่สุด จึงทำให้คนที่มาอาบป่าได้คิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง กระบวนการนี้ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจมากขึ้น เพราะเราไม่ได้ชี้นำ แต่ให้เขาสัมผัสได้ด้วยตัวเอง” ป้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ ตัวแทนกลุ่มอาบป่า จ.กาญจนบุรี ย้ำถึงแก่นสำคัญ

อาบป่า
ป้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ

จากล้มเหลวสู่การปลูกป่าในใจคน

แต่เอาเข้าจริง จุดเริ่มต้นของป้าแอ๊ด กลับเริ่มจากความล้มเหลว ด้วยระยะแรกที่ทำบ้านกลางทุ่งโฮมสเตย์ ใน อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ทุกปีจะประคบประหงมต้นไม้ที่ปลูกเพื่อให้ปีถัดไปเติบใหญ่เป็นสวนป่า แต่ไม่เลย… เพราะเมื่อฤดูกาลผันผ่านสู่หน้าแล้ง น้ำที่แห้งผากทำให้ต้นไม้นั้นเฉาตาย พอหลายปีเข้า ความทดท้อก็กัดกินอยู่ในใจ จนมาค้นพบการอาบป่า จึงรู้ว่า ถ้าปลูกป่าบนความแห้งแล้งไม่ได้ก็ต้องไปปลูกป่าในใจคน

ใช่แล้ว… ความผิดหวังมันเป็นแรงผลักให้ป้าแอ๊ดศึกษาการอาบป่าจากหนังสือทั่วโลก และเดินทางไปญี่ปุ่นศึกษาศาสตร์นี้เพื่อที่จะปลูกและพรวนดินความมุ่งหวังในใจให้กลายเป็นจริง บนผืนดินเมืองกาญจนบุรี

โดยศาสตร์การอาบป่าในญี่ปุ่นเริ่มมีตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 พบว่าการอาบป่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มพละกำลัง ลดความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความเครียด ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับสนิท เนื่องจากคนในสังคมมีความตึงเครียด จนมีอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลจึงส่งเสริมการวิจัยในเรื่องการใช้ธรรมชาติบำบัด มากกว่าการใช้สารเคมี ประกอบกับผลวิจัยของ ดร.ชิง ลี ยืนยันว่าการอาบป่าทำให้โรคร้ายที่ซ่อนอยู่ในร่างกายมนุษย์ลดลง และแนวคิดนี้ก็แผ่ขยายไปทั่วแดนอาทิตย์อุทัย ก่อนจะได้รับความนิยมในยุโรป

อาบป่า
สัมผัสผืนดิน

แต่ที่ไทยคนรุ่นใหม่บางกลุ่มก็เริ่มรู้จักการอาบป่ามากขึ้น แต่ไม่ได้มีพื้นที่ หรือมีผู้นำการทำกิจกรรมอย่างเป็นระบบ เพราะการอาบป่าไม่ใช่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติเหมือนอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นการเดินเข้าไปในป่าเพื่อซึมซับกับธรรมชาติอย่างช้า ๆ ให้ผัสสะทางตา หู จมูก ปาก และการรับรส ของเราได้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่อเราได้อยู่กับตัวเองในป่าก็จะมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ลืมความกังวลที่มีจากการงานภายนอก จนกลายเป็นพลังที่เรียกว่า “ผัสสะทางใจ”

โดยก่อนจะเริ่มการอาบป่าผู้นำกิจกรรมจะบอกถึงวัตถุประสงค์ก่อน จะอธิบายไม่ให้เป็นเชิงวิชาการ เพื่อให้คนที่เข้าร่วมไม่เกิดความสงสัย และลังเลในการทำกิจกรรม เพราะเมื่อเดินเข้าไปในป่าเขาจะได้อยู่กับธรรมชาติจริง ๆ ซึ่งเส้นทางในการอาบป่าตอนนี้มีอยู่ 3 ระยะคือ 500 เมตร, 800 เมตร และ 1 กิโลเมตร ซึ่งการเดินแต่ละเส้นทางจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 นาที เพราะถ้าใช้เวลาน้อยกว่านี้ ผู้ที่เดินจะไม่ทันได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง

อาบป่า
สัมผัสธรรมชาติด้วยใจ

การอาบป่า นอกจากให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ดมกลิ่นใบไม้และดอกไม้แล้ว ยังจะได้โอบกอดต้นไม้เพื่อฟังเสียง โดยเราได้เลือกต้นมะกอกป่าที่มีขึ้นเยอะในพื้นที่ และมีเปลือกบาง ซึ่งจะทำให้ได้ยินเสียงของการถ่ายเทอาหารภายในลำต้น รวมถึงการได้นั่งเงียบ ๆ อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เพื่อทำให้จิตใจที่ว้าวุ่นได้สงบด้วยธรรมชาติบำบัด

และก่อนจบกิจกรรม จะมีการล้อมวงดื่มชาในป่า พูดคุยถึงความสุขที่ได้รับจากธรรมชาติ หรือมีกิจกรรมอ่านบทกวีไฮกุ ที่ทุกคนจะแต่งขึ้นจากสิ่งที่เขารู้สึก กระบวนการนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สัมผัสและอยู่กับธรรมชาติ จนเกิดผัสสะทางใจแล้ว การได้มาทบทวนตัวเอง ในขณะที่กายและใจมีความผ่อนคลายจะทำให้เขาเกิดความคิดหรือการแก้ปัญหาใหม่ๆ

“กิจกรรมอาบป่า เมื่อนำมาทำในไทย ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับป่าของเรา เพราะตอนนี้คนรุ่นใหม่หลายคนที่ทำงานอย่างหนัก มักจะมาทำกิจกรรมนี้ช่วงวันหยุด เพื่อให้ตัวเองผ่อนคลาย หรือบางคนก็อยู่กับเมืองมาตลอด ไม่เคยได้ถอดรองเท้าเดินสัมผัสกับพื้นดิน ซึ่งจากผลวิจัยของ ดร.ชิน ลี อธิบายไว้ว่า มนุษย์มีสภาวะที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติตั้งแต่กำเนิด เพียงแต่เราพยายามเอาตัวเองออกห่างจากธรรมชาติ การอาบป่าเป็นกระบวนการที่ฟื้นฟูทำให้เรากลับมาอยู่ใกล้กับธรรมชาติอีกครั้ง” ป้าแอ๊ดอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

อาบป่า
คนในชุมชนมาร่วมเป็นผู้นำอาบป่า

รวมป่าชุมชน สร้างชุมชนท่องเที่ยว อาบป่า                        

ป้าแอ๊ดเล่าว่าตอนนี้พื้นที่ของการอาบป่าใน จ.กาญจนบุรี มีด้วยกัน 5 แห่ง ซึ่งเจ้าของพื้นที่จัดกิจกรรมอาบป่าที่เป็นภาคส่วนของเอกชนแห่งแรกคือ รศ.ดร.จีระ ประทีป สำหรับ 5 แห่งที่ว่ามาแบ่งเป็น ป่าชุมชน 2 แห่ง โฮมสเตย์2 แห่ง และโรงแรมอีก 1แห่ง และได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในการวิจัยการอาบป่าของไทย เพื่อจะสร้างมาตรฐาน ปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ

รู้จักกลิ่นจากธรรมชาติ

ขณะที่ตอนนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็เริ่มสนใจการท่องเที่ยวแบบสุขภาพ ซึ่งการอาบป่าก็เป็นกระบวนการหนึ่ง ที่สร้างความสุข และความผ่อนคลายในการท่องเที่ยว เพราะหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนมีความสนใจในเรื่องการอาบป่ามากขึ้น

แม้เป็นป่าชุมชนแต่ก็ร่มรื่น

สำหรับป้าแอ๊ด การอาบป่าก็เป็นการอนุรักษ์อย่างหนึ่ง เพราะจากความมุ่งหวังในตอนแรกที่ป้าอยากปลูกต้นไม้ เพราะเราคิดว่านี่เป็นการอนุรักษ์ที่ดีที่สุด แต่พอมาทำกิจกรรมอาบป่า และเริ่มเห็นหลายคนเข้าใจกิจกรรมนี้มากขึ้น เราเริ่มรู้สึกว่า ป่าที่เราสร้างขึ้นในใจของทุก ๆ คน มันทำให้เกิดความสงบ และแปรเปลี่ยนเป็นแนวคิดในการอนุรักษ์ในอีกรูปแบบ

อาบป่า จึงเป็นการแสวงหาเพื่อค้นพบความสุขทางใจ ที่ใช้ธรรมชาติในการกล่อมเกลาความคิดและความรู้สึกที่คอยทิ่มแทงให้กลมมน พร้อมจะกลิ้งและลื่นไหลไปกับสภาวะตัวแปรต่าง ๆ โดยจิตใจของเรายังคงกลมกลืนไปกับธรรมชาติ

Fact File


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ