รู้จักกันไว้แล้วไปกับ ดอยสเตอร์ นักวิจัยและพัฒนาที่มุ่งสื่อสารเพื่อพี่น้องชนเผ่า
- ดอยสเตอร์ (DoiSter) ริเริ่มโดยนักพัฒนาอย่าง ปุ๊-สมภพ ยี่จอหอ ที่เคยทำแคมเปญ รสนิยมดี ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ก่อนจะมองเห็นว่าประเด็นความเข้าใจเกี่ยวกับพี่น้องชนเผ่าทางภาคเหนือยังเป็นประเด็นที่ต้องสื่อสาร
- การพัฒนาสินค้าหัตถกรรมของชุมชน เป็นอีกหนึ่ง Side Project ที่ ดอยสเตอร์ร่วมวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและส่งเสริมการท่องเที่ยวไปด้วยในตัว
ทะเลหมอก ฤดูหนาว ธรรมชาติและผู้คน คือเสน่ห์ที่เรานึกถึงเสมอเวลาพูดถึงพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่คนกลุ่มหนึ่งในนามว่า ดอยสเตอร์ (DoiSter) มองเห็นเสน่ห์ในอีกด้านที่ลึกลงไปนั่นคือ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของพี่น้องชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนดอย จนอยากสื่อสารออกไปสู่การรับรู้ของคนในวงกว้าง พร้อมกับการพัฒนาเรื่องของการท่องเที่ยวซึ่งเกี่ยวโยงกับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไปด้วย
Sarakadee Lite มีโอกาสได้คุยกับสองสมาชิกดอยสเตอร์ ปุ๊-สมภพ ยี่จอหอ นักพัฒนา ผู้ริเริ่มโครงการ และ เอ-จรรยวรรธ สุธรรมา นักวิจัย ถึงสิ่งที่พวกเขา ทีมงานดอยสเตอร์และพี่น้องชนเผ่ากำลังร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนกันอยู่
“วัตถุประสงค์ของเราคือต้องการให้คนในสังคมรู้จักกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ แล้วเราจะต้องไปด้วยกัน” ปุ๊ กล่าวถึงเป้าหมายหลักที่สอดคล้องกับสโลแกน “รู้จักกันไว้แล้วไปด้วยกัน” ของ ดอยสเตอร์ ที่เขาเล่าว่ามุ่งหวังที่จะสื่อสารกับคนไทยก่อนเพราะอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่ในต่างประเทศและระดับโลกก็อยากให้รู้จักวัฒนธรรมของไทยด้วยเหมือนกัน
ก่อนที่จะเป็น ดอยสเตอร์ ปุ๊เคยทำโปรเจกต์ที่ชื่อ รสนิยมดี มาก่อน ด้วยความที่ตอนนั้นเขาทำงานที่สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) และสังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวในชุมชนจะเป็นชาวต่างชาติมาก
“เราคิดว่าน่าจะทำแคมเปญรณรงค์ให้คนไทยมาเที่ยวชุมชน เพราะเมืองไทยเราสวย มีผู้คนหลากหลาย เมื่อก่อนคนต่างชาติจะค่อนข้างรู้จักพี่น้องกะเหรี่ยงหรือชนเผ่าต่าง ๆ ดี แต่คนไทยกลับเรียกรวม ๆ กันหมดเป็นชาวแม้ว เป็นกะเหรี่ยง เลยคิดว่าถ้าคนไทยได้มาเที่ยวชุมชนมากยิ่งขึ้น ก็จะเข้าใจมากขึ้น”
ชื่อ ดอยสเตอร์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2559 หลังจากที่หน่วยงานหลักอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เริ่มทำแคมเปญการท่องเที่ยวมากขึ้น “ตอนนั้นเรารู้สึกว่าหน้าที่เราหมดแล้ว เพราะหน่วยงานหลักของประเทศทำแล้ว เราก็เลยชะลอแคมเปญของเรา แล้วคิดว่าต่อไปเราจะทำอะไรดี ก็วิเคราะห์ดูว่าประเด็นไหนที่ยังไม่มีคนทำ และต้องการการขับเคลื่อนมากขึ้น”
“เรามองว่าเรื่องประเด็นชาติพันธุ์ยังไม่ค่อยมีใครสื่อสารในมิติที่ดูใหม่ขึ้น ส่วนมากเวลานึกถึงพี่น้องบนดอยก็จะนึกถึงชาวเขา ซึ่งคำว่าชาวเขาจะมีคอนเซ็ปต์ติด ๆ กันมาไม่กี่คำ เช่น ห่างไกล ลำบาก ยากจน เป็นภาพความเข้าใจของคนในยุคนั้น เลยคิดว่าประเด็นนี้ยังต้องสื่อสารกันต่อ
“ด้วยความที่เราทำงานแบบไม่ได้มีทรัพยากรอยู่มาก ไปทำงานทั่วประเทศก็คงไม่ไหว เลยคิดว่าทำเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงก่อนแล้วกัน จากนั้นก็คิดว่าจะใช้แคมเปญอะไรดี เราทำงานกับชาวดอย เลยมีคำว่าดอยสเตอร์พอปอัปขึ้นมา ตอนนั้นน่าจะเป็นยุคปลาย ๆ ฮิปสเตอร์ (หัวเราะ) ก็เลยเป็นคำว่า ดอยสเตอร์ เหมือนเป็นแก๊งชาวดอย อะไรประมาณนี้”
ปุ๊เป็นคนจังหวัดโคราช แต่ด้วยชื่นชอบศิลปะเป็นการส่วนตัว ทำให้องค์ประกอบของความเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติและผู้คนหลากหลายของจังหวัดเชียงใหม่ ดึงดูดให้เขาย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นั่นในหลักสิบปีแล้ว
“พอเราอยู่เชียงใหม่ จังหวัดที่เราค่อนข้างใกล้ชิดคือแม่ฮ่องสอน…เรารู้สึกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งโอกาส แต่แม่ฮ่องสอนเรารู้สึกว่าทรัพยากรเขาน้อย หน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่ค่อยได้เข้าถึงมาก”
จุดนั้นเลยเป็นที่มาของการเริ่มต้นสื่อสารเรื่องราวของพี่น้องชนเผ่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งทำให้ ดอยสเตอร์ ได้ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวกับหน่วยงานต่าง ๆ ในเวลาต่อมา เช่น ททท. ที่ ดอยสเตอร์ ได้ไปร่วมสร้างสรรค์ “คู่มือท่องเที่ยว ดอยสเตอร์แม่ฮ่องสอน” ในรูปแบบที่ชวนเปิดอ่านด้วยภาพการ์ตูนน่ารัก ๆ ฝีมือ อาจารย์จุ๊-จุฑามาศ ประมูลมาก หนึ่งในทีมดอยสเตอร์ และเจ้าของเพจ PaKimNoteBook ที่ตอนนี้มีให้ติดตาม 3 เล่มกับเนื้อหาหลัก 3 เรื่อง คือ “เที่ยวเก๋ไก๋ สไตล์ดอยสเตอร์ แม่ฮ่องสอน” ที่บอกเล่าถึงความหลากหลายของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ต่อมาเป็น “แม่ฮ่องสอน DoiSter Craftstay” ที่เสมือนคำชักชวนให้เราออกเดินทางเพื่อเข้าไปเรียนรู้งานทำมือต่าง ๆ จากช่างฝีมือในท้องถิ่น และ “แม่ฮ่องสอน DoiSter DishCovery” บอกเล่าถึงวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างไปตามวัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเชื่อ
ในพาร์ตของงานหัตถกรรม ปุ๊เล่าว่าเป็นเหมือน Side Project ของดอยสเตอร์ ที่เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านด้วยงานวิจัยอีกแรง
“ผลิตภัณฑ์ชุมชนก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะบอกเล่าวิถีชีวิต และอีกอย่างมันค่อนข้างที่จะสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คนได้ง่ายกว่า ถ้าไปเที่ยวก็อาจจะต้องรอเวลาว่าง ปัจจัยค่อนข้างเยอะ แต่พอเราออกบูธแล้วเอาของไปขาย คนตัดสินใจซื้อหรือซัปพอร์ตสิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอได้ทันที มากกว่าโปรแกรมท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่เราไปออกงานแฟร์ตามที่ต่างๆ คือเรารู้ว่าเราอยู่ไกล โปรดักต์ทัวร์เราเหมือนเป็นกลุ่มตลาดเฉพาะ เวลาไปออกบูธทัวร์เราเลยเอาของไปขายด้วย
“เราเลยหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น แล้วคิดว่าต่อไปจะปล่อยแคมเปญอะไร เราคุยกับ ททท. ว่าอยากทำแคมเปญ Craftstay เหมือนมุ่งเน้นเรื่องงานหัตถกรรม บวกกับตอนนั้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับงบประมาณในการพัฒนา หน่วยงานหนึ่งคือ สกว. ในยุคนั้น หรือตอนนี้คือ สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)ทำให้เราได้ทำงานวิจัยร่วมกับ สกสว.ที่มาสนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง จังหวะนั้นเราก็สื่อสารเรื่องราวของเราเต็มที่ คนก็รู้จักมากขึ้น
“เรื่องทีมงาน เราก็มีเอมาช่วยในส่วนของงานวิจัย แล้วก็ยังอยู่กับเรา ช่วยทำสื่อ เขาก็มีเพจ Localism Thailand อยู่ด้วย ก็ถือเป็นแต้มต่อของเราซึ่งเจตนารมณ์ของเราคือการสื่อสาร แล้วคนที่มาร่วมทีมเราถนัดเรื่องการสื่อสารด้วย มีความเป็นวิชาการด้วย ตอนหลังก็มีน้องในทีมจบมาทางด้านพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วก็เก่งเรื่องกราฟิกก็ดึง ๆ มาช่วยกัน”
หัวใจหลักของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนคือสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งดอยสเตอร์เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่ชุมชนห้วยตองก๊อ อ.เมือง และชุมชนป่าแป๋ อ.แม่สะเรียงก่อน โดยเน้นพัฒนาด้านเทคนิคการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเดิมที่เคยหายไป
“วิจัยตัวแรกเป็นเรื่องของงานหัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่งานผ้า งานสาน งานเหล็ก งานหัตถกรรมทั้งหมด เราเก็บข้อมูล แล้วมายกระดับมูลค่าของงานหัตถกรรมชุมชน มองโอกาสทางการตลาด วิเคราะห์กับชาวบ้านว่าถ้าเรายกระดับแล้วสินค้าตัวไหนจะไปต่อได้ ข้อสรุปก็คือเรื่องผ้า จากนั้นก็ค้นหาชุมชนที่สามารถขยับตัวเองได้ เป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งก็คือ ห้วยตองก๊อกับชุมชนป่าแป๋
“เราพัฒนาวิธีการ หาพืชธรรมชาติ แล้วก็จัดเก็บข้อมูล เพราะชาวบ้านเขามีแค่ภูมิปัญญาไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลพวกนี้ และเข้าไปพัฒนาเรื่องของดีไซน์และลวดลายให้ตอบโจทย์คนใช้งานที่เป็นคนสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ได้มองว่าพวกนี้เป็นของพวกชาวเขาหรือแปลกแยก” เอ นักวิจัยที่อยากพัฒนาชุมชน ด้วยคลุกคลีกับปัญหาชุมชนมาตั้งแต่เด็ก ๆ เล่าถึงกระบวนการเริ่มต้น
ด้านปุ๊กล่าวว่า “เราต้องการให้โปรดักต์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารด้วย ไม่ใช่แค่สวยแต่ต้องวิเคราะห์ว่าจะถูกใจคนในเมืองไหม ในขณะเดียวกันวิถี วัฒนธรรม ลวดลายต่าง ๆ ก็จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องคงรูปแบบไว้ เพื่อให้มีการสื่อสารในเรื่องวิถีชีวิตอยู่
“ในวิถีชีวิตเช่นชาวกะเหรี่ยง เขาก็จะมีลายเกล็ดนิ่ม ที่เมื่อก่อนแม่บ้านจะเชื่อกันว่าผู้หญิงใส่เสื้อตัวนี้แล้วร่างกายจะแข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วย เพราะเขาเคยเอาเกล็ดนิ่มมาทำเป็นยาสมุนไพร เลยเอาลักษณะลายเกล็ดนิ่มมาปักไว้บนเสื้อ เหมือนเป็น Mental Health อย่างหนึ่งที่คนใส่จะรู้สึกสบายใจ ถ้าจิตใจแข็งแรงก็จะไม่ป่วยง่าย เราก็เอาลายพวกนั้นมาสื่อสาร และปรับสีสัน พอเป็นสีธรรมชาติก็จะดูซอฟต์ขึ้น พอเราทำวิจัยก็ได้สีสันที่หลากหลายขึ้น จับคู่สีได้ดีขึ้น ทำให้สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารมันเชื้อเชิญคนให้มารับสารมากยิ่งขึ้น
“เราจัดเวทีคุยกัน คนเฒ่าคนแก่ก็มาเล่าว่าเมื่อก่อนเขาใช้ตัวนั้น ตัวนี้ เพราะเรื่องสีธรรมชาติจริง ๆ มันหายไปหลายสิบปีแล้ว เราก็เลยสืบค้นทั้งภายในหรือจากชาวบ้านส่วนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันโลกของการย้อมผ้ามันก็มีเทคนิคที่เป็นสากล เราเลยพาเขาไปเรียนรู้กับแม่ครูต่าง ๆ อย่างบ้านไร่ใจสุข ของพี่นุสรา (นุสรา เตียงเกตุ) เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่าเทคนิคปัจจุบันเขาใช้อะไรกันบ้าง ทำแบบไหน เพราะเมื่อก่อนในหมู่บ้านเขาก็จะย้อมใส่ทุกอย่างไปพร้อมกัน พอเราพาไปเรียนใหม่ ใส่เป็นลำดับขั้นตอนก็จะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ทำให้แม่บ้านเรามีเทคนิคที่เรียกว่าอัปเลเวลขึ้นจากเมื่อก่อน พืชพรรณตัวเดียวกันให้สีที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เขาได้สีเพิ่มมากขึ้น มีความหลากหลายขึ้น ขายได้ดีขึ้น มีมูลค่าสูงขึ้น”
สูตรการทำงานฉบับดอยสเตอร์
“เวลาทำงานเรามีวิธีคิดอยู่ 3 เรื่อง 3 ด. ก็คือ ดี โดน ดัง คล้าย ๆ เป็นคอนเซ็ปต์ในการทำและพัฒนางานว่าจะต้องคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง ดีก็คือตัวโปรดักต์ต้องดี โดนคือทำอย่างไรก็ได้ให้โดนใจ สุดท้ายคือดัง ดังของเราจะเป็นในแง่ของคอนเทนต์ คือทำอย่างไรให้มีการสื่อสารเรื่องราวภูมิปัญญาได้ครบถ้วน ผลิตภัณฑ์ของเรามันได้สื่อสารออกไปแล้วกลุ่มลูกค้าได้รับเมสเสจนี้ เราจะรักษาไว้สามเรื่อง ส่วนเรื่องมันจะโดดเด่นกว่าใครไหม มันก็มีปัจจัยหลายอย่างทั้งตัวสินค้า Positioning ที่เราไปออกในตลาด รวมถึงโอกาสในการสื่อสารด้วย
“ส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าเราไม่ต้องรอใคร คือเราสื่อสารเรื่องของเราได้เอง มีแพลตฟอร์ม มีเพจของเราเอง เหมือนเราพึ่งพาตัวเองก่อนเป็นหลัก เราแอ็กทีฟของเราด้วยส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นเรื่องของจังหวะและโอกาส เหมือนเราโยนคำว่าดอยสเตอร์ออกไปในอากาศ เพื่อนหรือคนในแวดวงเครือข่ายเรามาเห็นแล้วชอบก็จะมาคอนเน็กต์กับเรา แต่ถ้าเราไม่สร้างสรรค์อะไรใหม่ คนก็ไม่รู้ว่าจะทำงานกับเราอย่างไร”
ช่องทางการตลาดของงานหัตถกรรมที่ดอยสเตอร์ร่วมพัฒนากับชาวบ้าน ปุ๊กล่าวว่าส่วนมากจะจำหน่ายผ่านงานแฟร์ เพราะลูกค้าได้เห็นเนื้อผ้า ขนาด และชาวบ้านได้ฝึกทักษะการขาย ขณะเดียวกันก็ได้รู้การตอบรับจากลูกค้าในตอนนั้นด้วย
“รูปแบบการทำงานเราเชื่อว่าการที่ชาวบ้านได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้บอกเล่า ได้ขายผลิตภัณฑ์ของเขาเองมันเป็นความงดงามเพราะเราทำงานพัฒนาชุมชน ไม่ได้พัฒนาดอยสเตอร์ว่าเราจะต้องดัง ถ้าเราเป็นที่รู้จักก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ แต่หัวใจสำคัญคือชุมชนต้องได้รับการถูกพัฒนาทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์และคนในชุมชน”
ผลลัพธ์ที่สำคัญคือความภาคภูมิใจ
“สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือชาวบ้านภาคภูมิใจในผ้า ในฝีมือ ในภูมิปัญญาของตัวเอง เพราะว่าแต่ก่อนชาวบ้านเขาไม่กล้าใส่เสื้อตัวเองออกไปไหนเพราะกลัวจะถูกมองว่าพวกนี้เป็นชาวเขา เป็นคนชายขอบ จะมีโดนสังคมมองอยู่กลาย ๆ แต่พอมันเปิดออก คนข้างนอกรับรู้ เขาก็ชื่นชมว่าฝีมือดี” เอยังบอกว่าเขาเองก็ชอบเก็บสะสมงานของเมื่อกา (ป้า, น้า) ช่างฝีมือแต่ละคนเพราะมีเทคนิคที่ต่างกัน และเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหากวันหนึ่งเขาไม่ทำแล้ว
เรื่องของการสืบสาน ปุ๊บอกว่าเขาเองก็คิดว่าจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เพราะคนที่ทำเป็นแต่ละคนก็เริ่มมีอายุที่มากขึ้น ส่วนการขยับขยายพื้นที่พัฒนาหรืองานหัตถกรรมอื่น ๆ ก็อยู่ในแผนที่ตั้งใจไว้เหมือนกัน
DoiSter Craftstay
“สินค้าหัตถกรรมก็ไปต่อยอดในแง่ที่ปัจจุบันคนจะสนใจเรื่องงาน Experience ที่ได้ลงมือทำ ได้มาเวิร์กชอปในพื้นที่จริงกับชาวบ้าน ซึ่งนอกจากเขาจะได้มาเรียนรู้ในเรื่องเทคนิควิธีการแล้ว ก็ยังได้สัมผัสบรรยากาศชุมชนได้เรียนรู้วิถีการกินอยู่แบบชาวบ้านจริง ๆ อย่างชุมชนตองก๊อ ก็จะมีการหาปูหาปลาง่าย ๆ ในคลองระหว่างพักเบรกของการเวิร์กชอป ตอนเย็นก็มาทำกับข้าวกินกัน
“งานของ ดอยสเตอร์ จะเป็นตัวต่อในเรื่องการตลาด เช่นชาวบ้านเขาจะมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารอยู่แล้ว การพิมพ์การโพสต์ เขาไม่สามารถทำได้ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาน การจะเอาของออกมาขายข้างนอกก็เป็นเรื่องยาก เราจะเป็นเหมือนตัวกลางในการนำสินค้า ซึ่งหลัก ๆ จะเป็นงานผ้า ไปออกงานแฟร์บ้าง เชื่อมโยงงานกับ ททท. บ้าง ซึ่งก็เคยพาชุมชนไปออกงานที่ต่างประเทศมาแล้ว พองานพวกนี้ได้ถูกสื่อสารออกสู่สายตาของคนภายนอกมากขึ้น คนที่ใส่เสื้อผ้าในลักษณะของการย้อมสีธรรมชาติก็จะรู้สึกดีกับการได้มาเที่ยวดอย ได้มาเวิร์กชอปอะไรที่เป็นงานเฉพาะ” เอเล่าถึงงานหัตถกรรมและการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน
ปุ๊กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า “ส่วนมากเมื่อก่อนคนจะมองว่ากิจกรรมท่องเที่ยวจะดูเป็นฐาน บางครั้งการเรียนรู้อาจจะไม่ค่อยลึกซึ้ง ได้แค่เล่าให้ฟังหรือสาธิตนิดหน่อย ตอนหลังเราให้เวลากับแต่ละเวิร์กชอปมากขึ้น อย่างทอผ้าก็ให้ไปเลยครึ่งวัน ย้อมสีอาจจะเต็มวัน มาหาวัตถุดิบ ซักฝ้ายด้วยกันอะไรแบบนี้ ก็พัฒนาขึ้นจากการพาไปดูไปชมเฉย ๆ”
เมื่อถามถึงกระแสการท่องเที่ยวชุมชน ปุ๊ออกความเห็นว่า “เราคิดว่ามันอยู่ของมันได้ เพียงแค่ถ้าจะบูมก็เป็นจังหวะของมัน แต่เรื่องของงานหัตถกรรมและการท่องเที่ยวมันน่าจะอยู่คู่กันไปตลอด การสร้างการมีส่วนร่วมกับนักท่องเที่ยว อาจจะด้วยอาหารหรืองานหัตถกรรม ตรงนี้มันสามารถบอกเล่าเรื่องราว ความคิด ความเชื่อ อัตลักษณ์ตัวตน ได้ ถ้าชุมชนยังทำเรื่องท่องเที่ยวโดยยึดหลักการสื่อสารวัฒนธรรมของตัวเอง ก็จะยังอยู่ได้ นักพัฒนาต้องจับกระแส เรื่องนี้สำคัญว่ามันจะไปในทิศทางไหน”
ซึ่งแน่นอนว่านักพัฒนาอย่างปุ๊ รวมถึงทีม ดอยสเตอร์ ก็ต้องหมั่นพัฒนา อัปเลเวลให้ตัวเองเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านด้วยเช่นกัน
“เราถือว่าได้เรียนรู้ไปกับชาวบ้าน จริง ๆ เราไม่ได้ไปพัฒนาเขามากเท่าไรหรอก แต่เราได้พัฒนาตัวเอง ถามว่าอะไรที่ทำให้เรายังริเริ่มโครงการต่าง ๆ ได้ในขณะที่เรายังไม่มีทรัพยากร หนึ่งคือทุกเรื่องที่เราทำมันเป็นประโยชน์กับตัวเรา ยิ่งถ้ามันจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเราด้วยก็ยิ่งดี ประโยชน์เขา ประโยชน์เรา และถ้ามีหน่วยงานไหนที่มีทุนให้ทำงานเราก็ต้องคิดว่าจะมีประโยชน์อะไรให้กับเจ้าของทุน จะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จอย่างไรได้บ้าง ชาวบ้านสอนเราก็เยอะเหมือนกัน เป็นแบบทุกวันนี้ได้ก็ชาวบ้านทั้งนั้น”
และเมื่อถามถึงระดับความสำเร็จของดอยสเตอร์
“ในช่วงแรกที่เข้าไป เราไม่ได้คุยเรื่องงานเลยนะ เราจะไปเรียนรู้ร่วมกับเขา เข้าไปคลุกคลีให้เขารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เขาไม่ได้เรียกเราเป็นอาจารย์ แต่เป็นน้อง เป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นลูกหลาน กลับไปก็ยังคิดถึง สำหรับเราแค่นี้ก็ถือว่างานพัฒนามันสำเร็จแล้ว” เอกล่าวในขณะที่เล่าถึงกระบวนการพัฒนาให้เราฟัง
ส่วนปุ๊ก็ได้ให้คำตอบของคำถามนี้ว่า “โดยส่วนตัวเป็นคนที่มีวิธีวัดความสำเร็จไม่สูงมาก เราจะวัดเป็นช่วงสั้น ๆ เช่นวันนี้จะมาคุยกันเรื่องนี้ ถ้าคุยกันรู้เรื่อง ได้ข้อสรุปดี ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ไปออกงานแฟร์แล้วขายดีก็ประสบความสำเร็จแล้ว เป็นสเตจสั้น ๆ แบบนี้เพื่อให้เกิดแรงฮึดและร่างกายได้หลั่งเอ็นโดรฟินบ่อย ๆ แล้วมาวัดความสำเร็จอีกทีคือปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ถามว่าปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดแล้วไหมเราก็ยังตอบไม่ได้ เพราะเราก็เพิ่งเริ่มต้นทำมาเหมือนกัน
“สิ่งที่หวังก็อยากให้มันเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ได้ขยายพื้นที่ไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ยิ่งขึ้น นอกจากผ้า ก็อยากส่งเสริมงานหัตถกรรมอื่น ๆ มากขึ้น อันนี้คือในเชิงกว้าง ส่วนเชิงลึกเรามองในแง่ที่ว่าจะพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้มากขึ้นไหม อย่างปีนี้เราออกหนังสือคู่มือย้อมสีธรรมชาติ ส่วนตัวก็ฝันว่ามันจะไปได้ทั้งกว้างและลึกมากขึ้น
“อีกอย่างถ้าโมเดลการทำงานของเรามันเวิร์กแล้วคนอื่น ๆ ทำคล้าย ๆ เราแล้วเขาโตได้ดี เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จเหมือนกัน เหมือนเวลาเราโพสต์เรื่องเสื้อผ้าชนเผ่า เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะมาซื้อที่เราอย่างเดียว หัวใจเราก็อยากให้งานมันเล่าวิถีชีวิตไม่ว่าจะจากบ้านไหนก็แล้วแต่ ความสำเร็จก็อาจจะอยู่ที่คนให้ความสำคัญกับงานมากขึ้น หรือหน่วยงาน องค์กรที่ทำงานลักษณะนี้มาทำงานกับชาวบ้านมากขึ้น เราไม่ได้วัดแค่ว่าเราเติบโตไปขนาดไหน”
ภาพ
Fact File
- ติดตามเรื่องราวของ ดอยสเตอร์ (DoiSter) ได้ที่ www.facebook.com/doisterwannabe