The Last Czars : อวสานพระเจ้าซาร์ จุดเปลี่ยน ราชวงศ์โรมานอฟ
- The Last Czars เป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดีที่มีรูปแบบการนำเสนอผสมระหว่างสัมภาษณ์คนกับภาพยนตร์ที่ถ่ายขึ้น
- เนื้อเรื่องของ The Last Czars เล่าถึง อวสานพระเจ้าซาร์ วาระสุดท้ายของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย อันเป็นสมัยสุดท้ายของระบอบราชานิยมในประเทศรัสเซีย โดยการล่มสลายของซาร์และราชวงศ์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของรัสเซียและโลกเนื่องจากเป็นการเริ่มต้นผงาดขึ้นของผู้นำฝ่ายซ้ายคนสำคัญอย่าง วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)
The Last Czars ภาพยนตร์ซีรีส์กึ่งสารคดี (Docufiction) ความยาว 6 ตอน ความยาวเฉลี่ยตอนละ 40-50 นาที เล่าถึงเหตุการณ์ อวสานพระเจ้าซาร์ วาระสุดท้ายของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย จุดเปลี่ยน ราชวงศ์โรมานอฟ และเป็นสมัยสุดท้ายของระบอบราชานิยมในประเทศรัสเซีย
กาลเวลาของการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของยุคที่เพิ่งเปลี่ยนจากเทียนไขเป็นหลอดไฟ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกำลังได้รับการพัฒนา ระบอบราชานิยมในยุโรปหลายๆ ประเทศได้รับการปฏิรูป อิทธิพลการขยับขยายของยุคสมัยเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งอันส่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อ ราชวงศ์โรมานอฟ และการ อวสานพระเจ้าซาร์
ความวิบัติของราชวงศ์ในสมัยสุดท้ายส่อเค้าลางมาตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1894 เมื่อรัสเซียสูญเสียพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ไปในวัย 49 พรรษา เป็นเหตุให้ นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ได้ขึ้นครองราชย์ในเวลาอันรวดเร็วก่อนที่พระองค์จะพร้อมเพราะการเป็น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 นั้นหมายถึงการสืบทอดอำนาจอันยิ่งใหญ่แห่ง ราชวงศ์โรมานอฟ อันเป็นผู้ปกครองรัสเซียมาเกือบ 3 ศตวรรษ ทำให้ผู้รับหน้าที่นี้ ต้องรับภาระการเป็นผู้นำจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และมั่งคั่งที่สุดจักรวรรดิหนึ่งของโลก เป็นมหาอำนาจที่มีพื้นที่การปกครองกว้างไกลครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 6 ของโลก และนั่นหมายถึงการมีผู้ใต้บัญชากว่า 146 เชื้อชาติ ทั้งหมดนี้คือภาระอันหนักอึ้งของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งทรงเข้ามารับหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ในวัยเพียง 26 พรรษา
ปฐมเหตุแห่งกาลอวสานของ ราชวงศ์โรมานอฟ
ซาร์นิโคลัสที่ 2 ครองราชย์โดยมี อเล็กซันดร้า เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna) เป็นคู่สมรสและขึ้นเป็นราชินี โดยในช่วงต้นของชีวิตสมรส ซาร์นิโคลัสที่ 2 วัยหนุ่มได้ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ที่ตนมีกับอเล็กซันดร้าเหมือนสามีภรรยาทั่วไปโดยหลงลืมคุณค่าและภารกิจหลายๆ ด้านในหน้าที่ของการเป็น “ซาร์” ประกอบกับช่วงเวลานั้นผู้คนรอบตัวภายใต้บัญชาและเครือญาติคือผู้มีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลกับซาร์ที่อาจจะยังไม่ประสาในการปกครอง ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกเขตราชวังไม่ได้อยู่ในการรับรู้ของซาร์ทั้งหมด ส่งผลให้การตัดสินใจและประเมินความสัมพันธ์ระหว่างซาร์กับประชาชนคลาดเคลื่อน
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือช่วงหลังการขึ้นครองราชย์ ทางราชสำนักรัสเซียได้จัดงานแจกจ่ายของที่ระลึกต่างๆ เกี่ยวกับซาร์ แต่สถานที่จัดงานและการประเมินจำนวนประชาชนที่มาร่วมงานผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก ทำให้มีการแย่งข้าวของจนถึงเหยียบย่ำกันจนมีผู้เสียชีวิตหลักพัน เหตุการณ์ครั้งนั้นผู้ที่ให้คำปรึกษาซาร์ได้บอกความจริงอย่างตัดทอนไปทำให้ซาร์ตัดสินใจไปร่วมงานเลี้ยงของทางวังแทนที่จะไปให้ความสำคัญกับบรรดาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุการณ์นั้นถือว่าเป็นเหตุอันทำให้ซาร์ซึ่งเพิ่งครองราชย์ใหม่เอี่ยมไม่เป็นที่ประทับใจของประชาชนจนได้รับสมญานามว่า “นิโคลัสนองเลือด” (Bloody Nicholas)
หลังจากนั้นมีการตัดสินใจของซาร์ทำนองนี้ที่ไม่เป็นที่พอใจของประชาชนอีกมาก เช่น การไม่ยอมปรับรูปแบบการปกครองให้มีสภาที่มาจากอำนาจประชาชน การประกาศสงครามทางน้ำกับญี่ปุ่นและพ่ายแพ้จนทำให้ต้องส่งทหารรัสเซียไปตายเป็นจำนวนมาก ลามไปจนถึงเหตุการณ์ที่ประชาชนมาชุมนุมหน้าราชวังหลักแล้วซาร์หนีไปพำนักอยู่ที่ราชวังอื่นอย่างไม่สนใจที่จะรับฟังเสียงประชาชน รวมทั้งยังสั่งให้ทหารสามารถยิงประชาชนที่ล้ำเข้ามาในเขตประชิดวังที่กำหนดไว้ได้ จนทำให้มีประชาชนถูกยิงเสียชีวิตนองเลือดหน้าราชวังจนกระทบกับความเชื่อมั่นของซาร์ครั้งใหญ่
ความไม่พอใจของประชาชนเริ่มส่งผลไปถึงการใช้ความรุนแรงของฝ่ายต่อต้าน การวางระเบิดรถม้าของสมาชิกบริหารประเทศที่ใกล้ชิดกับซาร์ สถานการณ์บีบคั้นขึ้นจนซาร์ทรงยอมรับให้มีสภาของรัสเซียที่สมาชิกสภาจากการเลือกตั้ง ทว่าสมาชิกทั้งหมดที่ได้มานั้นก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจซาร์ดังเดิม ไม่ว่าจะตัดสินใจว่าจะผ่านมติอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจซาร์ทำให้สุดท้ายรัฐสภานี้ก็ยังไม่เป็นที่ทางของตัวแทนประชาชน กลับกันคือยิ่งเพิ่มพูนจุดไฟสำหรับกลุ่มต่อต้านที่ต้องการปฏิวัติอำนาจซาร์อันเป็นหลักใหญ่ที่ครอบงำทุกสิ่งของรัสเซีย
ซาร์นิโคลัสที่ 2 จึงเหมือนเริ่มต้นผิดตั้งแต่กลัดกระดุมเม็ดแรก ยามขึ้นครองราชย์ก็ไม่ชายตามองประชาชน ทั้งยังรับฟังเพียงเสียงของกลุ่มคณะที่ปรึกษา เลือกที่จะสำราญและตกอยู่ใต้อำนาจจักรพรรดินี และเลือกจะใช้วิธีที่รุนแรงในการปราบปรามประชาชน แถมยังต้องการรักษาอำนาจแห่งราชวงศ์พร้อมระบอบราชานิยมไว้โดยที่ไม่สนใจว่าโลกภายนอกพระราชวังอันหรูหรากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพียงใด
“รัสปูติน” บาทหลวงจอมขมังเวทย์
เมื่อซาร์ได้ให้น้ำหนักในการตัดสินใจต่างๆ ไว้ที่อเล็กซันดร้า ราชินีซึ่งเป็นผู้คลั่งศาสนา และไม่มีความเข้าใจความคิดเชิงการเมืองประกอบกับเหตุที่เธอมีลูกสาวติดกัน 4 คน ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วในการสืบทอดราชวงศ์ซาร์ต้องการลูกผู้ชาย ลูกคนที่ 5 จึงเป็นเดิมพันที่สูงมาก แม้สุดท้ายลูกคนที่ 5 จะเป็นเพศชายเด็กทารกน้อยนี้ก็มีอาการผิดปกติประจำตัวตั้งแต่กำเนิดคือ ฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) โรคผิดปกติทางเลือดทำให้เลือดไหลไม่หยุดและไหลออกง่ายเพียงแค่โดนกระแทกหรือมีบาดแผลเล็กน้อยเด็กชายคนนี้จะเสียเลือดมากกว่าคนทั่วไปทันที และจากสถิติเด็กที่มีอาการของโรคนี้มักจะเสียชีวิตเร็วกว่าคนทั่วไป รัชทายาทแห่งซาร์ที่มาพร้อมความผิดปกติจึงสั่นคลอนความรู้สึกของซาร์และอเล็กซันดร้าเป็นอย่างมาก
เหตุผิดปกติของรัชทายาททำให้จิตใจของอเล็กซันดร้ากระสับกระส่ายรวมถึงต้องค้นหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมารักษา แต่เมื่อแพทย์ทางวิทยาศาสตร์บอกถึงความเป็นไปได้ว่ายากที่จะรักษา ประกอบกับซาร์ได้รับสายโทรศัพท์จากชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งว่ามีบาทหลวงผู้วิเศษนาม กริกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin) ผู้มีตำนานเล่าขานมากมายถึงขนาดทำให้ชายชราผู้สั่นไหวสามารถสงบนิ่งลงได้ และโดดเด่นด้านการรักษาทั้งร่างกายและจิตใจราวกับมีเวทมนตร์
The Last Czars ย้อนให้เห็นภาพของ กริกอรี รัสปูติน ผู้มีพื้นเพเป็นหัวขโมยยากจนในหมู่บ้านที่ผันตัวไปศึกษาด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ พร้อมออกแสวงบุญในไซบีเรีย จนได้พบผู้คนมากมายและได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้าน ทั้งให้น้ำ ให้ข้าว ให้ที่พักอาศัย และเมื่อรัสปูตินพบผู้ป่วยก็จะรักษาอาการป่วยให้
ชื่อเสียงจากการเดินทางและพบผู้คนทำให้รัสปูตินเป็นที่รู้จักโด่งดังในฐานะบาทหลวงผู้วิเศษ และจากการที่เขาเคยพบปะผู้คนมากมายจนรู้จักนิสัยใจคอมนุษย์หลากหลายแบบทำให้เขาสามารถให้คำปรึกษาคลายปัญหาความกระวนกระวายในจิตใจแก่ผู้คนได้ซึ่งเป็นที่ตกตะลึงในหมู่ชนชั้นสูงเวลานั้น
เมื่อซาร์อนุญาตให้รัสปูตินเข้ามาในราชวัง ทุกสิ่งก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อิทธิพลของรัสปูตินสูงขึ้นเมื่อเขาสามารถหยุดอาการเกี่ยวกับเลือดของรัชทายาทและเยียวยาจิตใจของอเล็กซันดร้าไว้ได้ มีผลให้อเล็กซันดร้าชื่นชอบจนถึงขั้นมีข่าวฉาวเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศกับรัสปูติน แต่ไม่ว่าอย่างไรซาร์ก็ไม่สามารถแตะต้องรัสปูตินอย่างเด็ดขาดได้เพราะอเล็กซันดร้าอ้างเหตุที่รัสปูตินสามารถรักษาลูกชายที่กำลังจะโตไปเป็นรัชทายาทแห่งรัสเซีย
เหตุดังนี้ทำให้ราชสำนักในเวลานั้นเหมือนถูกผูกการตัดสินใจไว้ในมือของ อเล็กซันดร้า และ รัสปูติน ทำให้ซาร์แทบไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยแม้ในยามที่ทำสงครามในแนวรบตะวันออก อเล็กซันดร้าก็ยังบงการซาร์ทางจดหมายโดยอ้างอิงคำสั่งจากรัสปูติน แถมรัสปูตินเองก็ยังเชื่อว่าประชาชนรักซาร์เสมอ การเมืองของราชสำนักจึงเป็นเรื่องที่ถูกครอบงำบงการผ่านอำนาจรัสปูตินอย่างเบ็ดเสร็จด้วยข้ออ้างของการรักษารัชทายาท แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่มีใครมองเห็นผลประโยชน์ของประชาชน เหตุนี้เองจึงทำให้ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อราชสำนักจากเดิมที่สั่งสมมากอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
บทอวสานของราชวงศ์โรมานอฟ
ภายหลัง รัสปูตินถูกวางแผนสังหารโดยอาวุธปืนและนำร่างไปโยนทิ้งน้ำ เรื่องนี้มีเบื้องหลังเป็นกลุ่มชนชั้นสูงที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางราชสำนักภายใต้การควบคุมของรัสปูตินที่ทำให้รัสเซียถึงยุคขาดแคลนอาหาร ผู้คนว่างงานจากเศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศแพ้สงครามเป็นเวลาติดต่อกันยาวนาน การเมืองรัฐสภาล้มเหลว ผู้ปกครองราชสำนักตรึงอำนาจไม่เห็นแก่ประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และนั่นทำให้ประชาชนหันไปสนับสนุนแนวทางอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของ พรรคบอลเชวิก (Bolsheviks)
ในที่สุดการชุมนุมครั้งใหญ่ขับไล่ซาร์และราชวงศ์โรมานอฟจึงเกิดขึ้น แม้แต่ทหารซึ่งเป็นกำลังรบอยู่แนวหน้าสงครามของแนวรบตะวันออกยังถอยทัพกลับมาร่วมชุมนุมกับประชาชน การลุกฮือครั้งนี้ทำให้ซาร์เหลือวิธีเดียวคือสละราชบัลลังก์ ซาร์ตัดสินใจสละราชบัลลังก์ของตนจนสุดท้ายก็เป็นการสิ้นสุดการปกครองด้วยระบบอำนาจเบ็ดเสร็จแบบราชานิยม การสละบัลลังก์ครั้งนี้จึงเป็นการสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์โรมานอฟที่ครองอำนาจกดขี่ประชาชนมายาวนานกว่า 300 ปี
ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ซาร์ อเล็กซานดร้าและลูกทั้ง 5 ก็ถูกนำตัวไปคุมขังโดยคำสั่งของพรรคบอลเชวิกโดยการนำของ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำคอมมิวนิสต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก และในวาระสุดท้ายของซาร์ก็มาถึงเมื่อคณะเลนินมีคำสั่งสังหาร กระสุนจึงระเบิดออกไปยังบ้านพำนักและกราดยิงซ้ำหลายครั้งด้วยเหตุที่บรรดาลูกสาวและอเล็กซานดร้าได้ใส่เครื่องเพชรเย็บกับชุดชั้นในโดยหวังว่าจะสามารถเก็บไว้เป็นทุนเมื่อยามหนีข้ามประเทศ
The Last Czars ย้ำว่า เครื่องเพชรเหล่านั้นจึงเสมือนเกราะราคาแพงที่กระสุนต้องย้ำทำลายล้างในการสังหารมากกว่าเนื้อมนุษย์ปกติ ส่วนเหล่าบรรดาสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟบางส่วนก็สามารถหนีออกนอกประเทศทางเรือได้ทัน ขณะที่บางส่วนก็ถูกสังหารจากคำสั่งนี้เช่นกัน ถือเป็นการอวสานถอนรากถอนโคนราชวงศ์โรมานอฟ ปิดบัญชีเหล่าชนชั้นสูงผู้ละโมบแม้แต่ในวาระสุดท้าย ทว่าเกราะเพชรอันมั่งคั่งก็ไม่สามารถหยุดยั้งกระสุนของเหล่าผู้ปฏิวัติได้
Fact File
สามารถรับชมภาพยนตร์ซีรีส์The Last Czars ได้ทาง Netflix