เจ้าชายน้อย เด็กหนุ่มผมสีทองจากดาว B612 วรรณกรรมคลาสสิกโดยนักบินชื่อ แซงเตกซูเปรี
Faces

เจ้าชายน้อย เด็กหนุ่มผมสีทองจากดาว B612 วรรณกรรมคลาสสิกโดยนักบินชื่อ แซงเตกซูเปรี

Focus
  • 29 มิถุนายน ค.ศ.2020 ครบรอบ 120 ปีชาตกาลของ อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) เจ้าของวรรณกรรมสุดคลาสสิก เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) เด็กหนุ่มผมสีทองจากดาว B612 ผู้เป็นขวัญใจของนักอ่านทั่วโลก
  • ปีค.ศ.2020 ยังเป็นปีที่ครบรอบ 77 ปีของการตีพิมพ์เรื่อง เจ้าชายน้อย ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1943 โดยสำนักพิมพ์เรย์นัล แอนด์ ฮิตช์ค็อก (Reynal & Hitchcock)ในนิวยอร์ก เป็นฉบับแปลภาษาอังกฤษชื่อ The Little Prince ก่อนที่ฉบับภาษาฝรั่งเศสจะพิมพ์จำหน่ายตามมา เนื่องจากในช่วงนั้นแซงเตกซูเปรีลี้ภัยสงครามไปอยู่นิวยอร์ก
  • เรื่องเจ้าชายน้อยถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆไม่ต่ำกว่า 380 ภาษา กล่าวกันว่าเป็นหนังสือที่ถูกแปลมากที่สุดรองจากคัมภีร์ไบเบิล และเวอร์ชันล่าสุดในประเทศไทยคือฉบับภาษาล้านนาและภาษาปกาเกอะญอ

เจ้าชายน้อย คือวรรณกรรมสุดคลาสสิกที่ครองใจนักอ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก และในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2020 ก็เป็นวันครบรอบ 120 ปีชาตกาลของนักบินและนักเขียนชาวฝรั่งเศส อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry, ค.ศ.1900-1944) ผู้ให้กำเนิดวรรณกรรมสุดคลาสสิก เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) และทำให้เด็กหนุ่มผมสีทองจากดาว B612 กลายเป็นขวัญใจของนักอ่านทั่วโลก

เจ้าชายน้อย
คาแร็กเตอร์อันโดดเด่นของเจ้าขายน้อย เด็กหนุ่มผมสีทองจากดาว B612

ปี 2020 ยังเป็นวาระครบรอบ 77 ปีของการตีพิมพ์เรื่อง เจ้าชายน้อย ซึ่งได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1943 โดยสำนักพิมพ์เรย์นัล แอนด์ ฮิตช์ค็อก (Reynal & Hitchcock) ในนิวยอร์ก เป็นฉบับแปลภาษาอังกฤษชื่อ The Little Prince โดยแคเทอรีน วูดส์ (Katherine Woods) พร้อมรูปประกอบที่ผู้ประพันธ์วาดเอง จากนั้นเพียงไม่กี่วันทางสำนักพิมพ์จึงออกฉบับภาษาฝรั่งเศส Le Petit Prince ในจำนวนพิมพ์จำกัด ในช่วงเวลานั้นแซงเตกซูเปรีลี้ภัยไปอยู่นิวยอร์กเนื่องจากระยะนั้นประเทศฝรั่งเศสถูกกองทัพนาซีเยอรมนียึดครอง

เจ้าชายน้อย
อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี ผู้ให้กำเนิด เจ้าชายน้อย

หนึ่งเดือนถัดมาหลังเจ้าชายน้อยวางแผง แซงเตกซูเปรีก็ได้ออกเดินทางจากนิวยอร์กมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งทวีปแอฟริกาเหนือเพื่อเข้าร่วมหน่วยบินลาดตระเวนของกองกำลังฝรั่งเศสอิสระในแอลจีเรีย และในการออกบินภารกิจเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.1944 เพื่อลาดตระเวนเครื่องบินของเขาหายสาบสูญไร้ร่องรอยเหมือนกับเจ้าชายน้อยที่หายไปในทะเลทราย

เจ้าชายน้อย
เจ้าชายน้อยหลากหลายภาษา

เรื่องเจ้าชายน้อยถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 380 ภาษา เรียกได้ว่าถูกแปลมากที่สุดรองจากคัมภีร์ไบเบิล โดยมีฉบับแปลทั้งในภาษาหลักของโลก ภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น ภาษาเดนิซลี ของชาวพื้นเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ในประเทศตุรกี รวมทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาที่เสี่ยงต่อการสูญไปอย่าง ภาษาอาราเนส ในหุบเขาอารันแห่งแคว้นกาตาลุญญาที่มีผู้พูดอยู่เพียง 2,000 คน รวมทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาที่ตายแล้ว เช่น ภาษาอียิปต์โบราณ รวมไปถึงภาษาที่คิดขึ้นใหม่เช่น ภาษาออเรเบช ในภาพยนตร์สตาร์วอร์ส นอกจากนี้ยังมีการแปลเป็นอักษรเบรลล์และรหัสมอร์ส ทำให้เจ้าชายน้อยฉบับภาษาต่างๆ กลายเป็นของสะสมของแฟน เจ้าชายน้อย ไปด้วย

เจ้าชายน้อย

สำหรับฉบับแปลภาษาไทยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 โดย อำพรรณ โอตระกูล หลังจากนั้นมีเวอร์ชั่นแปลใหม่จากนักแปลท่านอื่นๆ คือ สมศักดิ์ ธนาศุภวัฒน์, อริยา ไพฑูรย์, สมบัติ เครือทอง และ พงาพันธุ์ และเมื่อปีที่แล้วมี เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาล้านนา แปลโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง และภาษาปกาเกอะญอ โดย พะตีจอนิ โอโดเชา

เจ้าชายน้อย
ภาพวาดเจ้าชายน้อยในร่างแรกๆ ของแซงเตกซูเปรี

ว่ากันว่า เจ้าชายน้อย คือร่างอวตารของแซงเตกซูวเปรี เพราะเนื้อหาล้วนแฝงด้วยประสบการณ์ในช่วงวัยต่างๆของเขา ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจากเครื่องบินตกที่เขาเคยประสบหลายครั้ง หมายเลขเครื่องบิน B612 เป็นหมายเลขเดียวกับเครื่องบินที่ปรากฏในหนังสือเล่มแรกของเขาชื่อ “ไปรษณีย์ใต้” (Courrier Sud) และเชื่อว่าเขาเคยเลี้ยงสุนัขจิ้งจอก (Fennec fox) เมื่อครั้งประจำการอยู่ที่แหลมจูบี ทางตอนใต้ของโมร็อกโก สภาพภูมิประเทศที่เขาเคยเห็นในระหว่างเป็นนักบิน เช่นทะเลทรายของแอฟริกาที่คุ้นเคย ภูเขาไฟปาตาโกเนียในชิลี-อาร์เจนตินา ดงต้นเบาบับในเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล ได้กลายมาเป็นฉากในเรื่อง เจ้าชายน้อย ด้วย

ธนบัตรฝรั่งเศส 50 ฟรังก์  เนื่องในวาระครบ 50 ปี การจากไปของแซงเตกซูเปรี

“ทำไมต้องกลัวหมวกด้วยล่ะ”

ประโยคทองในเรื่องเจ้าชายน้อยที่สุนัขจิ้งจอกพูดกับเจ้าชายน้อยในบทที่ 21 ว่า “เราจะเห็นอะไรได้เพียงด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” เป็นปรัชญาหลักของเรื่องที่ผู้เขียนเปิดประเด็นตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องด้วยรูปภาพหมายเลขหนึ่งของเขาเป็นรูปงูเหลือมกำลังย่อยช้าง แต่เมื่อเอาไปอวดผู้ใหญ่และถามว่ารูปนี้ทำให้พวกเขากลัวบ้างไหม พวกผู้ใหญ่ตอบว่า “ทำไมต้องกลัวหมวกด้วยล่ะ” นั่นทำให้เขาเบื่อหน่ายที่ไม่มีใครมองลึกเข้าไปมากกว่าสิ่งที่เห็นและ “เพราะเหตุนี้ผมจึงต้องอยู่คนเดียวโดยปราศจากคนเข้าใจอย่างแท้จริง”

เจ้าชายน้อย

แซงเตกซูเปรีเริ่มเขียนเรื่องสั้นโดยใช้ “หมวก” เป็นสัญลักษณ์มาตั้งแต่อายุ 14 “มหากาพย์การผจญภัยของหมวกใบหนึ่ง” เป็นเรื่องสั้นที่เขาเขียนในห้องเรียน และครูซึ่งเป็นนักบวชประทับใจมากถึงกับให้นักเรียนทั้งชั้นอ่านและถกเถียงกันในประเด็นของเรื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงทีเดียว แม้ครูจะชอบขนาดไหน เขาก็ได้คะแนนแค่ A- โดยครูให้เหตุผลว่าสะกดผิดเยอะและเขียนยืดยาดไปหน่อย

เรื่องสั้นของเขาว่าด้วยการเดินทางของหมวกทรงสูงหรูหราซึ่งถูกนำไปวางขายในร้านขายหมวกที่ใหญ่ที่สุดของกรุงปารีส ในที่สุดมีสุภาพบุรุษฐานะดีซื้อไปและใส่หมวกใบนี้ไปในงานสังคมชั้นสูงต่าง ๆ ต่อมาหมวกถูกส่งต่อให้แก่พนักงานขับรถม้า และหลังจากนั้นก็ถูกเปลี่ยนมือทั้งโดยตั้งใจและอุบัติเหตุ ถูกขายต่อในราคาถูก ถูกลมพัดปลิว ออกเดินทางไปกับฝูงนกและฝูงปลา จนกระทั่งได้เป็นหมวกของเจ้าชายผู้ทรงอำนาจแห่งแอฟริกา ผ่านเรื่องราวทั้งดีและร้าย ทั้งสูงส่งและตกต่ำจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตหมวกยังหวังว่าตัวเองจะได้กลับไปปารีสและได้รับการยกย่องในฐานะหมวกอันทรงเกียรติอีกครั้งหนึ่ง

“กรุณาวาดแกะให้ผมสักตัวเถิด”

นักบินพบกับเจ้าชายน้อยครั้งแรกเมื่อเครื่องบินของเขาเสียอยู่กลางทะเลทรายสะฮารา และประโยคแรกที่เจ้าชายน้อยพูดกับเขาในสถานที่ที่ห่างไกลบ้านเรือนผู้คนเป็นพันๆไมล์คือ “กรุณาวาดแกะให้ผมสักตัวเถิด”

เจ้าชายน้อย

แซงเตกซูเปรีเริ่มสนใจเรื่องราวของทะเลทรายสะฮาราและการใช้ชีวิตของผู้คนที่นั่นตั้งแต่ปีค.ศ. 1927 และในเรื่อง “จดหมายถึงตัวประกัน” (Lettre à un Otage) ตีพิมพ์ในปีเดียวกับเรื่องเจ้าชายน้อยเขาเขียนถึงชีวิตในสะฮาราว่าเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยวแต่กลับเป็นชีวิตที่เขาโหยหาถึงความสุขขณะอยู่ที่นั่นเมื่อต้องกลับมาอยู่ท่ามกลางฝูงชน การที่เจ้าชายน้อยและนักบินต่างก็มาตกที่ทะเลทรายสะฮาราจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการที่คนโดดเดี่ยวสองคนมาพบกันในสถานที่อันอ้างว้างและโดดเดี่ยว

แซงเตกซูเปรีเริ่มต้นอาชีพรับราชการทหารเป็นนักบินประจำกองการบินที่เมืองสตารบูร์กประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นนักบินประจำเส้นทางตูลูส-คาซาบลังกา ก่อนไปเป็นหัวหน้าหน่วยประจำสถานีบินที่คาซูบีในแอฟริกา และได้บันทึกชีวิตผ่านนิยายเรื่องแรก “ไปรษณีย์ใต้” (Courrier Sud) ตีพิมพ์เมื่อค.ศ.1929

ค.ศ. 1922  แซงเตกซูเปรีในชุด เครื่องแบบทหารอากาศ

ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการบริษัทขนส่งทางอากาศบริษัทหนึ่งที่กรุงบัวโนสไอเรสในอเมริกาใต้ การแข่งขันทางธุรกิจทำให้นักบินต้องเสี่ยงชีวิตปฏิบัติการในตอนกลางคืนทำให้เขาเขียนนิยายเรื่อง “เที่ยวบินกลางคืน” (Vol de Nuit) ในปี ค.ศ. 1931 ภายหลังเขาหันไปขับเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกระหว่างเมืองมาร์แซย์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และเมืองอัลซาส ทางทิศตะวันออกของฝรั่งเศส กระทั่งประสบอุบัติเหตุจากปีกเครื่องบินหักทำให้ต้องพักการบินไปทำงานในแผนกประชาสัมพันธ์ของบริษัทแอร์ฟรานซ์ และเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Paris Soir ประจำกรุงมอสโก

แต่ในที่สุดเมื่อ ค.ศ.1935 เขากลับมาบินอีกครั้งโดยหวังทำสถิติบินรวดเดียวจากปารีสถึงไซ่ง่อนเป็นระยะทาง 12,000 กิโลเมตร แต่เครื่องบินเกิดขัดข้องทำให้ต้องร่อนลงกลางทะเลทรายของลิเบียในแอฟริกาเหนือ ห่างจากกรุงไคโรราว 200 กิโลเมตร ต้องเดินเท้าฝ่าทะเลทรายอยู่หลายวันกว่าจะพบกองคาราวาน จึงมีความเป็นไปได้ว่ากลางสะฮาราที่เป็นจุดพบกันครั้งแรกของนักบินกับเจ้าชายน้อยจึงน่าจะใช่ “ทะเลทรายลิเบีย”ทางตะวันออกของลิเบียซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่แสนระอุสุดโหดของสะฮารา

“อะไรกันคุณตกมาจากฟ้าหรือ”

นานทีเดียวกว่านักบินจะรู้ว่าเจ้าชายน้อยมาจากดาวดวงเล็กๆดวงหนึ่ง ภายหลังจากที่เจ้าชายน้อยเห็นเครื่องบินแล้วถามว่านั่นคืออะไรและตามมาด้วยประโยคคำถามว่า “อะไรกันคุณตกมาจากฟ้าหรือ”

ข่าวหนังสือพิมพ์เรื่องแซงเตกซูเปรี ลงแข่งบินจากปารีสไปไซง่อน

ในชีวิตของการเป็นนักบิน แซงเตกซูเปรีประสบอุบัติเหตุทางเครื่องบินหลายครั้ง ครั้งแรกในวัย 23 ปีหลังจากได้รับใบอนุญาตให้บินได้เพียง 2 ปี และต่อมาใน ค.ศ. 1935 ขณะที่พยายามสร้างสถิติการบินจากปารีสไปไซ่ง่อนแต่เครื่องบินตกในทะเลทรายลิเบียเสียก่อน 

เขาประสบอุบัติเหตุทางเครื่องบินอีกครั้งในปี ค.ศ. 1938 เมื่อพยายามทำสถิติบินจากนิวยอร์กไปติเอร์ราเดลฟูเอโกในอเมริกาใต้ เขานำเครื่องบินเล็กขึ้นบินจากนิวยอร์กไปลงจอดที่กัวเตมาลา แต่เมื่อจะบินขึ้นอีกครั้งกลับไม่สำเร็จเพราะบรรทุกน้ำมันมากเกินไป เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องพักรักษาตัวอยู่นานและทำให้เขาเขียนเรื่อง “แผ่นดินของเรา” (Terre des Hommes) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1939

แซงเตกซูเปรีกับซากเครื่องบิน Caudron C.630 Simoun ที่ตกในสะฮารา 

แม้จะตกจากฟ้าหลายครั้ง แซงเตกซูเปรียังคงหลงใหลในการบินจนได้เข้าร่วมหน่วยลาดตระเวนอีกครั้งในปี ค.ศ. 1939 และใช้เวลาว่างเขียนเรื่อง “ป้อมปราการ” (Citadelle) แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และเรื่อง “นักบินยามสงคราม” (Pilote de Guerre) จนเมื่อเยอรมนีบุกโจมตีฝรั่งเศสเขาจึงหนีภัยสงครามไปอยู่อเมริกาและเขียนเรื่องเจ้าชายน้อยในปี ค.ศ. 1942 ต่อด้วย “จดหมายถึงตัวประกัน” (Lettreà un Otage) และครั้งสุดท้ายที่เขาตกจากฟ้าและไม่มีโอกาสกลับขึ้นไปบินอีกเลยคือวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 ขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนและเครื่องบินของเขาหายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย

เป็นเวลาถึง 54 ปีที่การหายตัวของเขายังคงเป็นปริศนา จนกระทั่งเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ฌ็อง-โกลด บียองโก (Jean-Claude Bianco) ชาวประมงบนเกาะเรอูนียง ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนใต้ของเมืองมาร์แซย์ พบสร้อยข้อมือติดขึ้นมาขณะหาปลา เป็นสร้อยข้อมือเงินสลักชื่อ อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี กับ กอนซูเอโล รวมทั้งชื่อและที่อยู่ของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือให้เขา ที่สร้อยนั้นยังมีเศษผ้าของเสื้อนักบินติดอยู่ด้วยแต่ยังไม่มีใครพบชิ้นส่วนร่างของเขาและของเครื่องบิน 

สร้อยข้อมือเงินสลักชื่อ  อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี  ที่ชาวประมงเก็บได้ใน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

จนกระทั่ง 2 ปีต่อมา ลุก ว็องแรล (Luc Vanrell) นักประดาน้ำ พบชิ้นส่วนของเครื่องบินจมอยู่ก้นทะเลในบริเวณเดียวกับที่พบสร้อยข้อมือ และในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 จึงพบซากเครื่องบินทั้งหมดที่เหลืออยู่ ปีถัดมาหลังจากพิสูจน์จนแน่ชัดแล้วกองทัพอากาศฝรั่งเศสก็ประกาศว่านี่คือเครื่องบินลำที่แซงเตกซูเปรีขับขึ้นลาดตระเวนและหายสาบสูญไปแต่สาเหตุยังคงเป็นปริศนา

“บนดาวของผมน่ะหรือ…มันเล็กมาก”

หลังจากนักบินเชื่อว่าเจ้าชายน้อยมาจากดาว B612 ที่ถูกค้นพบครั้งแรกในกล้องดูดาวของนักดาราศาสตร์ชาวตุรกีในปี ค.ศ. 1909 และ “ดวงดาวของเขาไม่ได้ใหญ่กว่าบ้านของเราสักเท่าไร”

ตัวเจ้าชายน้อยเองเคยเล่ารายละเอียดให้นักภูมิศาสตร์แห่งดวงดาว 330 ว่า

“โอ บนดาวของผมน่ะหรือ ไม่มีอะไรน่าสนใจนักหรอก มันเล็กมาก มีภูเขาไฟสามลูกยังคุกรุ่นอยู่สองลูก อีกลูกดับสนิทแล้ว แต่เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น…ผมมีดอกไม้ดอกหนึ่งด้วย”

เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ตั้งชื่อกลุ่มดาวรังสีแกมมากลุ่มหนึ่งว่า The Little Prince เพื่อเป็นเกียรติแก่วรรณกรรมชื่อดังของฝรั่งเศสที่อยู่ในหัวใจของนักอ่านทั่วโลก

แต่หากย้อนไปเมื่อ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1993 มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยซึ่งตอนแรกได้รับการตั้งชื่อตามลำดับการค้นพบในปีนั้นว่า 1993 TQ1 โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น คิน เอ็นดาเตะ (Kin Endate) และ คาซูโระ วาตานาเบะ (Kazuro Watanabe) ที่หอดูดาวคิตามิ (Kitami) ทางตะวันออกของฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น 

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.064 กิโลเมตร และมีองค์ประกอบเป็นหิน ต่อมาจึงมีผู้เสนอชื่อทางการว่า 46610 Bésixdouze เพื่ออ้างอิงถึงดาวเคราะห์น้อยบ้านเกิดของเจ้าชายน้อย B612โดยเลขฐานสิบ 46610 แปลงเป็นเลขฐานสิบหกได้เท่ากับ B612 และการอ่านออกเสียง B612 ในภาษาฝรั่งเศสคือ Bésix-douze (be.sis.du:z) 

“เราจะเห็นอะไรได้เพียงด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”

สุนัขจิ้งจอกเป็นผู้ทำให้เจ้าชายน้อยได้ค้นพบคุณค่าของความสัมพันธ์และการมองสิ่งต่างๆให้ลึกซึ้งมากกว่าภาพฉาบหน้าด้วยประโยคกินใจก่อนทั้งคู่จากลากันว่า “ลาก่อน และนี่คือความลับของฉัน มันเป็นเรื่องธรรมดามาก…เราจะเห็นอะไรได้เพียงด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”

แสตมป์ที่ระลึกถึง อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี

เจ้าชายน้อยค้นพบว่าแม้จะมีดอกกุหลาบมากมายนับไม่ถ้วน แต่มีกุหลาบเพียงดอกเดียวที่เขาผูกพันด้วยเพราะเขาเฝ้ารดน้ำ ทะนุถนอมไว้ในที่ครอบแก้ว หาฉากบังลมให้ คอยกำจัดตัวหนอนและแม้แต่ยอมทนฟังเธอบ่นและโอ้อวดตัวเอง

“ผู้คนในโลกของคุณ ปลูกกุหลาบห้าพันต้นในสวนเดียวกัน แต่เขากลับไม่เคยพบสิ่งที่เขาค้นหา…ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เขาค้นหา อาจจะพบได้ในกุหลาบเพียงดอกเดียว หรือในน้ำเพียงไม่กี่มากน้อย”

เจ้าชายน้อยพูดกับนักบินในช่วงท้ายเรื่อง

นักวิจารณ์วรรณกรรมจำนวนมากเชื่อว่า สุนัขจิ้งจอกในเรื่องคือ เอลิซาเบท เรย์นัล (Elizabeth Reynal) ภรรยาของ ยูจีน เรย์นัล (Eugene Reynal) เจ้าของสำนักพิมพ์เรย์นัล แอนด์ ฮิตช์ค็อก ผู้พิมพ์หนังสือ Le Petit Prince และ The Little Prince เป็นครั้งแรก ในยามที่ต้องลี้ภัยสงครามมาอยู่ที่อเมริกาแบบโดดเดี่ยวและไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ประกอบกับสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง กล่าวกันว่าเอลิซาเบทซึ่งพูดภาษาฝรั่งเศสได้เป็นผู้หยิบยื่นความช่วยเหลือแก่แซงเตกซูเปรี อีกทั้งยังเป็นผู้ที่เห็นลายเส้นที่เขาร่างรูปเด็กผู้ชายและเป็นผู้สนับสนุนให้เขาเขียนวรรณกรรมเรื่องเจ้าชายน้อยในที่สุด

ภาพประกอบ (เฉพาะภาพเปิด) : นันทวัน วาตะ คอลัมน์วาดเมืองนิตยสารสารคดี มีนาคม 2563

อ้างอิง

  • เจ้าชายน้อย สำนวนแปลภาษาไทยโดย อริยา ไพฑูรย์
  • นิตยสารสารคดี มีนาคม 2563