เบื้องหลังภาพ The Great Wave วิวภูเขาฟูจิกับคลื่นยักษ์ และ ชีวิตของ Hokusai
- คัตสึชิกะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) เจ้าของภาพพิมพ์แกะไม้รูปคลื่นยักษ์ The Great Wave ที่โด่งดังไปทั่วโลกจะถูกถ่ายทอดในหนังเรื่องใหม่ “Hokusai” กำหนดฉายในญี่ปุ่นปี 2021
- ปี ค.ศ.2020 ตรงกับวาระครบรอบ 260 ปีชาตกาลของโฮะคุไซ (ค.ศ.1760-1849) ศิลปินญี่ปุ่นระดับตำนานยุคเอโดะ
หากรอยยิ้มปริศนาในภาพวาด “โมนาลิซ่า” ของเลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) เป็นงานศิลปะที่โด่งดังของโลกฝั่งตะวันตก รูปคลื่นยักษ์ที่กำลังโหมกระหน่ำใส่เรือประมงในภาพพิมพ์แกะไม้ คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงะวะ หรือ The Great Wave off Kanagawa ของ โฮะคุไซ (Hokusai) นับเป็นงานชิ้นเอกของฝั่งตะวันออกที่ทรงอิทธิพลต่อศิลปินและดีไซเนอร์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Goh) โกลด โมเนต์ (Claude Monet) แอดการ์ เดอการ์ (Edgar Degas) และ จอห์น กัลลิอาโน (John Galliano)
ปี ค.ศ. 2020 ตรงกับวาระครบรอบ 260 ปีชาตกาลของ โฮะคุไซ (ค.ศ.1760-1849) ศิลปินญี่ปุ่นระดับตำนานยุคเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) ซึ่งตามกำหนดเดิมจะมีการจัดงานต่าง ๆ มากมายทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือการเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง “Hokusai” นำแสดงโดย ยูยะ ยากิระ (Yuya Yagira) เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง “Nobody Knows”ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 57 โดยยูยะจะแสดงเป็นโฮะคุไซวัยหนุ่มเลือดร้อน
เมื่อปี 2019 มีการแจ้งข่าวออกมาว่า ภาพยนตร์เรื่อง “Hokusai” จะฉายในประเทศญี่ปุ่นช่วงต้นฤดูร้อนปี 2020 และประเทศอื่นๆ ตามลำดับ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ทำให้มีการเลื่อนฉายภาพยนตร์ไปในปี 2021 โดยที่ยังไม่ระบุวันเวลาที่แน่นอน
Sarakadee Lite ขอปูพื้นคร่าวๆเกี่ยวกับเส้นเรื่องของหนัง รวมถึงชีวิตและผลงานของโฮะคุไซ ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลตลอดกาล โดยเฉพาะภาพ “The Great Wave” ที่ยังคงซัดกระหน่ำต่อเนื่องสู่โลกธุรกิจโดยปรากฏโฉมบนสินค้าหลากประเภทตั้งแต่รองเท้าอาดิดาส นาฬิกาไซโก้ เสื้อยืดยูนิโคล่ ไปจนถึง emoji ในโทรศัพท์ iPhone รวมทั้งจะอยู่บนธนบัตรฉบับ 1,000 เยน และในหน้าพาสปอร์ตของประเทศญี่ปุ่น
งานโด่งดังทั่วโลกแต่ประวัติชีวิตไม่เป็นที่รู้จัก
แม้มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างล้มหลามในฐานะอัจฉริยะศิลปิน ชีวิตของโฮะคุไซกลับไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก ภาพยนตร์เรื่อง Hokusai กำกับโดย ฮาจิเมะ ฮาชิโมโตะ (Hajime Hashimoto) จึงพยายามเสนอมุมมองใหม่และอาศัยการตีความโดยใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อบอกเล่าชีวิตของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่มีชีวิตยืนยาวถึง 89 ปีในยุคสมัยที่ชาวญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยเพียง 40 ปีเท่านั้นนอกจากนี้มิน ทานากะ (Min Tanaka) นักเต้นและนักแสดงชาวญี่ปุ่นที่เคยได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายจากเรื่อง “The Twilight Samurai” (2002) ในงานประกาศรางวัลของสมาคมภาพยนตร์ญี่ปุ่นจะรับบทเป็นไฮคุไซในวัยผู้ใหญ่สุขุม
หนังเน้นการเล่าเรื่องตามช่วงชีวิตผ่านบุคคลสำคัญสองคนที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของโฮะคุไซ คนแรกคือ สึทายะ จูซาบุโระ (Tsutaya Juzaburo) เจ้าของสำนักพิมพ์ผู้ค้นพบและปลุกพรสวรรค์ของโฮะคุไซในวัยหนุ่ม และอีกคนคือนักเขียนชื่อดัง ริวเต ทาเนฮิโกะ (Ryutei Tanehiko) ผู้กลายมาเป็นคู่หูของโฮะคุไซในวัยชรา
ภาพพิมพ์แกะไม้ในตำนานรูปภูเขาไฟฟูจิกับคลื่นยักษ์
โฮะคุไซเป็นศิลปินที่มีความสามารถรอบด้านและตั้งแต่วัยรุ่นทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างแกะแม่พิมพ์ไม้ ต่อมาจึงเริ่มสร้างสรรค์งานภาพพิมพ์ไม้แกะรูปนักแสดงคาบูกิและวาดภาพประกอบหนังสือตั้งแต่วัย 19 ปี ในขณะที่ภาพพิมพ์แกะไม้แบบอุคิโยเอะ (Ukiyo-e) ที่ได้รับความนิยมมากในสมัยเอโดะมักถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสตรีในราชสำนัก ละครคาบูกิ และซูโม่ โฮะคุไซเป็นศิลปินคนแรกๆที่ขบถต่อวิถีนิยมโดยมักวาดภาพธรรมชาติ วิถีชีวิตรายวันธรรมดาๆของชาวญี่ปุ่น สิงสาราสัตว์และรูปผีปิศาจ
ผลงานสร้างชื่อเสียงอย่างมากคืองานภาพพิมพ์แกะไม้ชุด “36 วิวของภูเขาฟูจิ” (Thirty-six Views of Mount Fuji) เป็นมุมภูเขาไฟจากสถานที่ต่างๆในประเทศญี่ปุ่นในแต่ละช่วงเวลาที่เขาได้วาดขึ้นในช่วงอายุ 70 ปี และผลงานชิ้นเอกอย่างภาพ “The Great Wave” และภาพภูเขาไฟฟูจิสีแดงที่รู้จักกันในชื่อ “Red Fuji” เป็นงานที่อยู่ในภาพชุดนี้
ต้นกำเนิดมังงะ
ผลงานรวมเล่มที่ประสบความสำเร็จอีกชุดคือ “โฮะคุไซ มังงะ” (Hokusai Manga) ที่รวบรวมภาพสเก็ตช์มากกว่า 4,000 ภาพที่โฮะคุไซได้วาดไว้ในวัย 55 ปี เป็นจำนวนทั้งหมด 15 เล่ม รวมทั้งสิ้น 958 หน้า โดย 10 เล่มแรกตีพิมพ์ระหว่างปี ค.ศ.1814-1819 และอีก 5 เล่มระหว่างปี ค.ศ.1834-1878 โฮะคุไซเป็นคนแรกๆที่ใช้คำว่า “มังงะ” ที่แปลตรงตัวว่าภาพวาดตามใจ ซึ่งแม้จะไม่ตรงกับความหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่งานชุดนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นและยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินญี่ปุ่นร่วมสมัยอีกมากมาย
ภาพสเก็ตช์มีตั้งแต่รูปคนหลายอิริยาบถหลากอารมณ์ รูปเกลียวคลื่นหลายๆแบบ สัตว์นานาชนิด พืชพรรณ ทัศนียภาพรอบตัว เขาจะวาดภาพเหล่านี้ทีละภาพก่อนนำมาแกะบล็อกรวมกันเพื่อตีพิมพ์ในแต่ละหน้า ภาพวาดที่มีชีวิตของโฮะคุไซจึงนับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดการ์ตูนช่องแม้จะไม่มีเรื่องเล่าก็ตาม
“โฮะคุไซ มังงะ” ยังมีบทบาทในการเผยแพร่คตินิยมศิลปะญี่ปุ่น หรือ Japonism ไปยังฝั่งยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19 ภายหลังจากที่นายแพทย์ชาวเยอรมัน Philipp Franz von Siebold ซึ่งอยู่ที่ญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ.1823-1829 ได้นำงานชุดนี้ไปเผยแพร่ในหนังสือของเขาเกี่ยวกับญี่ปุ่นชื่อ Nippon: Archivzur Beschreibung von Japan เมื่อค.ศ.1831 งานของโฮะคุไซจึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินแนวอิมเพรสชันนิส เช่น แวนโก๊ะ โมเนต์ และ เดอการ์
หนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก
ค.ศ.1999 โฮะคุไซได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Life ให้เป็น “1 ใน 100 บุคคลสำคัญของโลกในรอบ 1000 ปี” และ 2 ผลงานชิ้นเอกอย่าง “The Great Wave”และ “Red Fuji” ถูกประมูลไปเมื่อต้นปี 2019 ที่สหรัฐอเมริกาด้วยราคาภาพละเกือบ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 150 ล้านบาท) ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลตลอดกาลของโฮะคุไซที่ยังคงส่งต่อมาจนถึงโลกในยุคปัจจุบัน
โฮะคุไซเสียชีวิตในวัย 89 ปี ว่ากันว่าตลอดการทำงาน 70 ปี เขาสร้างสรรค์ผลงานมากกว่า 30,000 ชิ้น ย้ายบ้าน 93 ครั้ง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า อุทิศชีวิตให้กับการวาดรูป กระนั้นก็ตามโฮะคุไซไม่เคยหยุดพยายามที่จะสร้างผลงานให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีก ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขาเคยกล่าวว่า ถ้าสวรรค์ให้เขาได้อยู่ต่ออีกสัก 5 ปี หรือ 10 ปี เขาจะเป็นจิตรกรที่แท้จริง
คำกล่าวนี้สอดคล้องกับผลงานในช่วงท้ายของชีวิต (ค.ศ.1834-1849) ที่เขาเซ็นชื่อในภาพยุคนี้ว่า กะเคียว โรจิน มันจิ (Gakyo Rojin Manji) ที่แปลว่า “คนแก่บ้าวาดภาพ” คำคำนี้ยังปรากฏในป้ายสลักเหนือสุสานของเขาที่วัดเซเคียวจิในกรุงโตเกียวอีกด้วย
กระแสความแรงของ “The Great Wave” ไม่เคยซาแม้ผ่านมาเกือบ 200 ปี
โฮะคุไซเกิดและเติบโตในย่านซุมิดะ(Sumida) ที่เมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) และเมื่อปลาย ค.ศ. 2016 ได้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ชื่อ Sumida Hokusai Museum เพื่ออุทิศให้ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ถือกำเนิดในย่านนี้
เมื่อต้นปี2019 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้ธนบัตรโฉมใหม่ในปีค.ศ. 2024 นับเป็นการปรับดีไซน์ของธนบัตรครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยจะมีภาพ “The Great Wave” ปรากฏบนด้านหลังของธนบัตรฉบับราคา 1,000 เยนด้วย
นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังประกาศว่าจะออกพาสปอร์ตรุ่นใหม่ซึ่งหน้าในของพาสปอร์ตจะมีรูปภาพจำนวน 24 รูป จากชุด “36 วิวของภูเขาฟูจิ” ของโฮะคุไซ แต่เดิมคาดว่าจะสามารถออกใช้ได้ในช่วงฤดูร้อนปี 2020 ตรงกับช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก ผลงานของโฮะคุไซจึงเปรียบเสมือนทูตวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆไปทั่วโลก
Fact File
- พิพิธภัณฑ์ https://hokusai-museum.jp/?lang=en
- รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพยนตร์ https://hokusai2020.com