จดหมายลับของ แวนโก๊ะ กำลังใจ และความบิดเบี้ยวของชีวิตรันทดใน Van Gogh. Life and Art
- นิทรรศการ Van Gogh. Life and Art จัดแสดงที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน – 31 ธันวาคม 2563 นำเสนอชีวิตและงานของวินเซนต์ แวนโก๊ะ ในรูปแบบมัลติมีเดียโดยเล่นเทคนิคทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวผสมกับเพลงคลาสสิก
- ผู้ชมสามารถถ่ายรูปและถ่ายวิดิโอได้อย่างอิสระเพราะนิทรรศการออกแบบให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ที่ชอบถ่ายรูป เสริมด้วยแอปพลิเคชันถ่ายรูปที่มีฟีเจอร์ให้ผู้ชมสามารถเข้าไปเล่นกับผลงานมาสเตอร์พีซได้อย่างสนุก
- นิทรรศการฉายภาพดิจิทัลผลงานของแวนโก๊ะราว 300 ชิ้น ในแต่ละช่วงของการสร้างสรรค์ผลงานโดยฉายวนเป็นรอบประมาณ 40 นาที
คอศิลปะที่เคยชมนิทรรศการศิลปะมัลติมีเดียจัดโดย ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ไม่ว่าจะเป็น From Monet to Kandinsky และ Italian Renaissance เมื่อปีที่แล้ว หรือ Something Nouveau เมื่อต้นปีนี้อาจรู้สึกไม่เต็มอิ่มเท่าที่ควรกับนิทรรศการล่าสุด Van Gogh. Life and Art ที่จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน – 31 ธันวาคม 2563 เนื่องจากหลายคนคาดหวังเห็นภาพที่มีชื่อเสียงของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ อย่าง Sunflowers, The Starry Night หรือ Self-portrait with Bandaged Ear จัดแสดงในรูปแบบดิจิทัลและพาโนรามา 360 องศาเต็มบนผนังสูง 3 เมตรและบนพื้นของห้องจัดแสดงขนาด 1,200 ตารางเมตร เหมือนเช่น 3 นิทรรศการที่ผ่านมา
สำหรับงานนิทรรศการ Van Gogh. Life and Art ของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh, ค.ศ.1853–1890) ยังคงนำเสนอในรูปแบบมัลติมีเดียโดยใช้ทั้งเทคนิคทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ผสมกับเพลงคลาสสิก แต่สเกลของห้องนิทรรศการเล็กลงเหลือประมาณ 500 ตารางเมตร และลักษณะของห้องที่มีเหลี่ยมมุมและเสาหลายต้นทำให้ผู้ชมไม่สามารถแพลนสายตาเห็นงานได้รอบด้านแบบ 360 องศาได้อย่างเต็มตาและเต็มจอ
ลินดา เชง กรรมการผู้จัดการ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ชี้แจงว่าเดิมทีนิทรรศการแวนโก๊ะจะจัดคู่ขนานกับนิทรรศการ “Andy Warhol: Pop Art” ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลงานของ แอนดี วอร์ฮอล จำนวน 128 ชิ้น จากออร์แกไนเซอร์ที่ประเทศอิตาลีไม่สามารถขนย้ายมาประเทศไทยได้ จึงต้องเลื่อนการจัดแสดงเป็นวันที่ 12 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2563
สำหรับนิทรรศการ Van Gogh. Life and Art จำกัดจำนวนผู้ชม 80 คน ต่อรอบ ตามมาตรการ Social Distancing โดยฉายภาพดิจิทัลผลงานของแวนโก๊ะราว 300 ชิ้น ไล่เลียงในแต่ละช่วงชีวิตของการสร้างสรรค์ผลงาน โดยฉายวนเป็นลูปประมาณ 40 นาที ซึ่งทีมงานโปรดักชันยังเป็นทีมเดิมกับ 3 นิทรรศการมัลติมีเดียที่ผ่านมา คือ บริษัท Vision Multimedia Projects ที่บริษัทแม่อยู่ที่มอสโกและเบอร์ลิน
“ผลงานของ แวนโก๊ะ ให้ความหวังกับผู้ชม เขายากลำบากแต่เขาไม่เคยยอมแพ้หรือเลิกล้มที่จะเป็นศิลปิน เขามีความมานะอดทน ขยัน ซึ่งนี่เป็นสปิริตที่เราควรมี โค้ดคำพูดของ แวนโก๊ะ ที่เราเลือกมาโปรเจกต์ให้คนชมเป็นแนวโพสิทีพ ให้กำลังใจในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่เรากำลังเผชิญอยู่ เช่นที่ แวนโก๊ะ เขียนว่า “The beginning is perhaps more difficult than anything else but keep heart. It will turn out all right” (จุดเริ่มต้นอาจจะยากกว่าสิ่งอื่น แต่จงมีกำลังใจไว้แล้วจะออกมาได้ด้วยดี) เพื่อส่งสารว่า everything will be ok” ลินดา เชง กล่าว
ส่งกำลังใจในยามวิกฤติจากข้อความในจดหมายของแวนโก๊ะ
โค้ดคำพูดแรกที่ต้อนรับผู้ชมก่อนเข้าชมนิทรรศการคือ What would life be if we hadn’t courage to attempt anything? “ชีวิตจะเป็นอย่างไรหากเราไม่มีความกล้าหาญที่จะพยายามทำสิ่งใดก็ตาม” ซึ่งเป็นประโยคหนึ่งจากจดหมายกว่า 800 ฉบับที่แวนโก๊ะเขียนถึงเธโอ (Theo van Gogh) น้องชายผู้เห็นแววศิลปินในตัวพี่ชายและผลักดันให้ แวนโก๊ะ ทำงานศิลปะ ตลอดจนเป็นผู้อุปถัมภ์พี่ชายตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
กิมมิคที่ผู้จัดนำมาเล่นกับผู้ชมที่ชอบถ่ายรูปคือการจำลองห้องนอนของ แวนโก๊ะ ในภาพวาดที่มีชื่อเสียงของเขาชื่อ The Bedroom (1888) ซึ่งโดดเด่นในการจัดคอมโพสิชั่นแปลกตาแบบเรียบ ๆ แบน ๆ ดังเช่นที่ แวนโก๊ะ บรรยายในจดหมายถึงเธโอน้องชายว่า เหมือนภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ผสมกับการใช้สีสันตัดกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นผนังสีม่วงอมน้ำเงิน หน้าต่างสีเขียว เตียงและเก้าอี้สีเหลือง ผ้าปูที่นอนและหมอนสีเขียวมะนาว ในขณะที่ผ้าห่มเป็นสีแดงสดและประตูสีม่วงไลแลค บนผนังยังติดรูปพอร์ตเทตเพื่อนแวนโก๊ะ 2 คนคือ ยูจีน บอช ( Eugène Boch ) และ พอล ยูจีน มิลลิเยต (Paul-Eugène Milliet) ดังที่ปรากฎในภาพ The Bedroom เวอร์ชันแรกอีกด้วย
เก้าอี้ 2 ตัวยังจำลองคล้ายกับที่อยู่ในภาพและผู้ชมสามารถนั่งได้โดยเพิ่มความสนุกด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน Meitu ที่เพิ่มฟีเจอร์พิเศษสำหรับนิทรรศการนี้ไม่ว่าจะเป็นการแต่งรูปด้วยสติ๊กเกอร์งานมาสเตอร์พีซของแวนโก๊ะ หรือฟีเจอร์ Cutout ที่ตัดต่อรูปเข้ากับฉากหลังเป็นภาพเขียนชื่อดังเช่น ภาพ Café Terrace at Night
10 ปีบนเส้นทางศิลปินที่รันทด
แวนโก๊ะ เป็นจิตรกรชาวดัชต์ที่สร้างสรรค์ผลงานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กับศิลปะแบบโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) ตลอดเวลาเพียง 10 ปีที่เขาเริ่มวาดรูปจริงจัง แวนโก๊ะวาดภาพสีน้ำมันมากกว่า 800 ภาพ ภาพดรอว์อิงราว 900 ภาพ ไม่นับภาพที่ตกหล่นถูกโยนทิ้งเพราะโดนมองว่าไร้ค่าหรือเลหลังขายแบบเศษผ้าใบ
ในจำนวนผลงานมากมายนี้มีเพียงภาพชื่อ The Red Vines ที่ขายได้เพียงรูปเดียวในราคาเพียง 400 ฟรังก์ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่ แต่อีก 100 ปีต่อมาเมื่อ ค.ศ.1987 ภาพ Vase with Fifteen Sunflowers ซึ่งเป็นภาพหนึ่งในจำนวนภาพดอกทานตะวัน 7 ภาพที่เขาวาดไว้มีผู้ซื้อไปในราคา 39.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาพ Portrait of Dr. Gachet ถูกประมูลไปในราคา 82.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ ค.ศ.1990
แวนโก๊ะ เป็นจิตรกรที่ชอบเขียนภาพตัวเองมากที่สุดคนหนึ่ง งาน self-portrait ของเขามีถึง 43 ชิ้นและเป็นการเขียนภาพตนเองที่สะท้อนจากกระจกเงา การเขียนภาพตนเองเป็นการค้นหาตัวตนและบันทึกความรู้สึกนึกคิดในช่วงเวลานั้นของศิลปิน
ภาพสเก็ตช์ขาวดำและภาพในยุคแรกของแวนโก๊ะที่เรียกว่า Dutch Period ซึ่งเขาใช้สีโทนหม่นและเขียนแนวเรียลลิสติกส์ในขณะพำนักที่เมืองนือเน่น (Nuenun) ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่ 2 ปีแสดงถึงความยากจนข้นแค้นของผู้คน เช่น ภาพคนทอผ้าด้วยหูกในงานชื่อ Weaver (1884) และ Woman Winding Yarn (1885) และภาพคนปลูกมัน ขุดมัน ปอกมัน และกินมันซึ่งเป็นอาหารหลักของคนยากจนในภาพ Woman Lifting Potatoes (1885) และ The Potato Eaters (1885) ได้โปรเจกต์ลงบนพื้นและผนังพร้อมกับท่วงทำนองเพลงในโทนเศร้าหมอง
ภาพเริ่มมีสีสันสดใสมากขึ้นพร้อมท่วงทำนองเพลงที่รื่นเริงเมื่อเข้าสู่ช่วงที่แวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่ปารีสในช่วง ค.ศ.1886–1888 และสนใจงานภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นของศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) และ อูตางาวะ ฮิโรชิเงะ (Utagawa Hiroshige) รวมทั้งเป็นช่วงที่ได้พบปะกับศิลปินกลุ่มโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ เช่น ตูลูส-ลอเทร็ก (Henri de Toulouse-Lautrec) เดกาส์ (Edgar Degas) ปีซาโร (Camille Pissarro) เซอราท์ (Georges Seurat) ซิกแนค (Paul Signac) และ โกแกง (Paul Gauguin)
ความบิดเบี้ยวและจุดจบในวัยเพียง 37 ปี
ความเบื่อหน่ายมหานครอย่างปารีส บวกด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่จากการติดยาสูบและเหล้า แวนโก๊ะจึงตัดสินใจออกจากปารีสมุ่งสู่ตอนใต้ของฝรั่งเศส ทิวทัศน์ของเมืองอาร์ล (Arles) ยามเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิทำให้เขาประทับใจและตัดสินใจพำนักอยู่ที่นั่น
ขณะอยู่ที่เมืองอาร์ล (ค.ศ.1888-1889) เป็นช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงต่อมามากมาย เช่น Sunflowers, Café Terrace at Night, The Langlois Bridge, The Bedroom และ The Yellow House บ้านสีเหลืองซึ่งเขาตั้งใจให้เป็นสตูดิโอและแหล่งพำนักของเพื่อนศิลปินโดยชวนโกแกงให้มาอยู่ด้วยกัน แต่ด้วยทัศนคติที่ต่างกัน ทั้งคู่จึงเกิดความขัดแย้งและทำให้แวนโก๊ะตัดหูข้างซ้ายของตัวเองซึ่งสะท้อนในภาพชื่อ Self-portrait with Bandaged Ear
ต้นไซเปรสสีดำรูปร่างดั่งเปลวเพลิง ท้องฟ้าสีเข้มและฝีแปรงพู่กันที่เฉียบคม รุนแรงและลากวนเป็นก้นหอยบิดเบี้ยวในภาพเขียนเลื่องชื่อ The Starry Night เริ่มฉายชัดลงบนผนังและพื้นเพื่อบอกเล่าช่วงชีวิตที่ แวนโก๊ะ รักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองแซ็งต์-เรมี (Saint-Rémy) ช่วงปี 1889 -1890 ขณะเข้ารับการบำบัดเป็นเวลา 1 ปี เขาเขียนภาพเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์จากหน้าต่างในโรงพยาบาลและบางครั้งเขาได้รับอนุญาตให้ออกไปเขียนภาพข้างนอกได้
เมื่ออาการดีขึ้นเขาได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองโอเวร์-ซูร์-อัวส์ (Auvers-sur-Oise) และเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต ในนิทรรศการผู้ชมจะได้ยินเสียงปืนหนึ่งนัดก่อนที่โปรเจคเตอร์จะฉายภาพฝูงนกอีกาบินว่อนเหนือทุ่งข้าวสาลีสีเหลืองเพื่อบ่งบอกจุดจบชีวิตของแวนโก๊ะตามที่เชื่อกันว่าเขายิงตัวเองในวันที่ 27 กรกฎาคม 1890 บริเวณทุ่งนาข้าวโดยกระสุนเข้าบริเวณช่องท้องก่อนจะพาตัวเองกลับมาที่พักและเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา
ภาพ Wheatfield with Crows ซึ่งเป็นภาพฝูงอีกาบินเหนือทุ่งข้าวสาลีท่ามกลางท้องฟ้าขมุกขมัวและเชื่อกันว่าเป็นภาพสุดท้ายที่เขาเขียนก่อนจะฆ่าตัวตาย ได้ฉายไปรอบห้องนิทรรศการพร้อมกับบทเพลงคลาสสิก Love Theme from Cinema Paradiso โดย Andrea Morricone เพื่ออาลัยการจากไปของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ชีวิตแสนรันทด
ปริศนาชีวิตและงานของแวนโก๊ะ
ชีวิตของ แวนโก๊ะ อาจจะเป็นภาพฉายของศิลปินไส้แห้ง ผู้อาภัพรัก ผู้มีอารมณ์รุนแรงราวกับฝีแปรงพู่กันที่เขาวาด ผู้มีอาการทางจิตจนตัดหูซ้ายของตัวเองและต้องเข้ารับการรักษาในสถาบันจิตเวชซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบที่เขาวาดรูปทรงต่างๆในลักษณะบิดเบี้ยว หรือ ผู้หม่นหมองกับชีวิตและอาการป่วยจนถึงกับยิงตัวตายในวัยเพียง 37 ปี แต่เรื่องราวของ แวนโก๊ะ ยังมีข้อสันนิษฐานโต้แย้งมากมายจากนักวิชาการต่าง ๆ เปิดเผยมาเป็นระยะ ๆ
แม้หลายคนคิดว่า แวนโก๊ะ ป้ายสีภาพตามอารมณ์หรือผสมอาการประสาทหลอน แต่ในนิทรรศการ Van Gogh at Work ที่ Van Gogh Museum กรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อ ค.ศ.2013 นำเสนองานวิจัยว่าแวนโก๊ะใช้สีอย่างเข้าใจทฤษฎีสีในยุคนั้นและรู้ว่าจะใช้ฝีแปรงบางหรือหนาอย่างไรจึงจะสัมฤทธิ์ผลดังที่ปรากฏในจดหมายที่เขาเขียนถึงเธโอ น้องชายของเขาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1882 พร้อมรูปสเก็ตช์จานสีของตัวเองเพื่ออธิบายถึงการผสมสีต่างๆ
ทั้งนี้เนื่องจากเขาศึกษาทฤษฎีสีในศตวรรษที่ 19 อย่างละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขียนโดย Charles Blanc นักวิจารณ์ นักทฤษฎีศิลปะและผู้อำนวยการ Ecole des Beaux-Arts จดหมายที่เขาเขียนถึงน้องชายมักจะมีภาพสเก็ตซ์สิ่งที่เขาจะเขียนเป็นภาพสีน้ำมันพร้อมคำบรรยายความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นซึ่งจดหมายเหล่านี้ที่เก็บรักษาโดยภรรยาของเธโอสามารถบอกเล่าชีวประวัติของศิลปินและรายละเอียดเบื้องหลังการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมได้อย่างดี
ส่วนภาพ The Starry Night อันโด่งดังกับภาพท้องฟ้าสีเข้ม ดวงดาวและดวงจันทร์สีเหลือง ต้นไซเปรสสีดำพุ่งสู่ท้องฟ้าดั่งเปลวไฟที่เขาเขียนขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองแซ็งต์-เรมี หลายคนลงความเห็นว่าฝีแปรงพู่กันที่รุนแรงและลากวนเป็นก้นหอยเกิดจากอาการประสาทหลอน
แต่อัลเบิร์ต บอยม์ (Albert Boime) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันเปิดเผยผลงานวิจัยของเขาในบทความเรื่อง “Van Gogh’s Starry Night: A History of Matter and A Matter of History” ใน ค.ศ.1984 ว่าตำแหน่งดวงดาวที่ปรากฏในภาพนั้นตรงกับตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าจริงในคืนที่แวนโก๊ะวาดรูปจนไม่อาจเป็นงานของคนสติฟั่นเฟือนได้
เอเดรียน สเปราส์ (Adrienne Sprouse) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นอีกเสียงหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดว่าแวนโก๊ะไม่ได้บ้า จากผลการศึกษาที่เปิดเผยเมื่อ ค.ศ.2012 เธอชี้ว่าแวนโก๊ะป่วยจากการสูดดมโลหะหนักในสีน้ำมันเช่น ตะกั่วและปรอทที่เขาใช้วาดภาพในห้องแคบๆ ซึ่งอากาศไม่ถ่ายเทติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
ส่วนการเสียชีวิตของ แวนโก๊ะ นั้น แม้ทางการจะระบุว่า แวนโก๊ะ ฆ่าตัวตาย แต่หนังสือชื่อ “Van Gogh: The Life” ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.2011 โดย สตีเฟ่น เนฟ (Steven Naifeh) และกรกอรี่ ไวท์ สมิธ (Gregory White Smith) ตั้งข้อสันนิษฐานว่าแวนโก๊ะถูกยิงโดยเด็กวัยรุ่นในละแวกนั้นที่มองเขาเป็นศิลปินวิกลจริต แต่แวนโก๊ะกลับยอมรับความตายนั้นอย่างเต็มใจเพราะอยากจบความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยและไม่อยากเป็นภาระแก่น้องชายที่เขารักอีกต่อไป การตายที่ยังคงเป็นปริศนาแม้จะผ่านมาร่วม 130 ปีแล้วยังเป็นประเด็นที่นำมาโฟกัสในภาพยนตร์อนิเมชันเชิงชีวประวัติที่ถ่ายทอดผ่านภาพวาดสีน้ำมันเรื่อง Loving Vincent ในปี 2017
Fact File
- นิทรรศการ Van Gogh. Life and Art จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน – 31 ธันวาคม 2563 ทุกวันตั้งแต่เวลา 11.00 น ถึง 20.00 น. ที่ MODA Gallery ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบ็งค็อก
- ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Van-Gogh-Life-and-Art
- รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก www.rivercitybangkok.com
อ้างอิง
- บทความเรื่อง Van Gogh at work โดย ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์ ในนิตยสารสารคดี เดือนกันยายน 2556
- http://www.albertboime.com/Articles/Dec1984.pdf
- https://www.nytimes.com/2011/10/21/books/van-gogh-the-life-by-steven-naifeh-and-gregory-white-smith.html
- https://www.indiegogo.com/projects/passion-and-poison-the-vindication-of-vincent-van-gogh-aaem#/