ไฟน์อาร์ตไม่ใช่คำตอบ แต่แฟชั่นคือทางที่ใช่สำหรับ โชน ปุยเปีย
- โชน ปุยเปีย บุตรเพียงคนเดียวของศิลปินไฟน์อาร์ตชื่อดัง ชาติชาย ปุยเปีย และ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ สร้างเส้นทางเดินเองในสายแฟชั่นด้วยแบรนด์เสื้อผ้าของตนเองในชื่อ Shone Puipia
- โชนเปิดสตูดิโอชื่อ soi sa:m ในซอยสวนพลู 3 กรุงเทพฯ เพื่อเป็นโชว์เคสผลงานที่เขากล่าวว่าเป็น Cross-gender และ Sustainable Fashion
- งานออกแบบของโชนมักได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียน ภาพถ่ายและภาพยนตร์ โดดเด่นที่การผสมผสานวัสดุหลากหลายและลวดลายผ้าที่แปลกใหม่เนื่องจากพื้นฐานทางศิลปะที่แข็งแรง
แม้จะเติบโตในบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยงานศิลปะและเป็นบุตรเพียงคนเดียวของศิลปินชื่อดัง ชาติชาย ปุยเปีย และ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ แต่ โชน ปุยเปีย ยืนยันว่าเขาไม่เคยคิดที่จะทำงานด้านไฟน์อาร์ตเหมือนพ่อกับแม่เลย
โชนเลือกเส้นทางสายแฟชั่นและทำแบรนด์เสื้อผ้าของตนเองในชื่อ Shone Puipia โดยเปิดสตูดิโอชื่อ soisa:m (ตั้งอยู่ในซอยสวนพลู 3 กรุงเทพฯ) เมื่อ 2 ปีที่แล้วหลังจากเรียนจบด้านแฟชั่นดีไซน์จาก Royal Academy of Fine Arts Antwerp ที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม
สตูดิโอของ โชน ปุยเปีย ประดับด้วยภาพวาดงานสเก็ตช์และงานคอลลาจที่เขาออกแบบสำหรับพิมพ์เป็นลวดลายสำหรับเสื้อผ้าในแต่ละคอลเล็กชั่นไม่ต่างจากสตูดิโองานศิลปะ และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแวดล้อมที่เขาเติบโตมาหล่อหลอมให้ดีไซเนอร์หนุ่มวัย 26 ปี มีพื้นฐานด้านศิลปะที่แข็งแรง ทำให้ผลงานออกแบบ แฟชั่น ของโชนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
คอลเล็กชั่น The Brighter World ที่จัดแสดงอยู่ที่สตูดิโอเล่นกับสีสันสดใสเหมือนชื่อด้วยเฉดแดง เขียว ม่วง เหลือง น้ำเงิน เน้นรูปทรงพลิ้วไหว โดดเด่นด้วยวัสดุที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นการใช้หนังปลาแซลมอนมาตัดและเย็บต่อกันด้วยมือเป็นลวดลายธนูของญี่ปุ่น หรือการใช้เยื่อไหมมาวาตะ (Mawata) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานศิลปะของแม่มาตัดเป็นชุดเดรส กระโปรงและกางเกง ลวดลายดอกไม้เกิดจากการวาดพู่กันและกัดสีผ้าออก รวมถึงการสร้างลวดลายผ้าจากงานคอลลาจที่สร้างสรรค์จากเศษผ้าและไหมพรมที่ได้อิทธิพลมาจากลายปักพรมแบบโมร็อกโก
“โชนไม่เคยรู้สึกกดดัน และไม่เคยแวบเข้ามาเลยว่าอยากเป็นอาร์ทิสต์ ช่วงเรียนม.ปลายที่สาธิตปทุมวัน เป็นช่วงที่ค้นหาอยู่ว่าอยากจะเรียนต่อแนวไหน คิดว่าคงอยู่ในทางด้านครีเอทีฟ ตอนแรกคิดว่าจะไปทางสถาปัตย์ฯ แต่พอไปลองเรียนดูแล้วคิดว่าไม่ใช่แนว” โชนในเสื้อเชิ้ตสีม่วงสดกับกางเกงสีดำกล่าวขณะเปิดสตูดิโอให้เยี่ยมชม
ประตูบานแรกสู่วงการแฟชั่น
แม้จะเรียน ม.ปลายทางสายวิทย์-คณิต แต่โชนเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมที่สมาคมฝรั่งเศส และที่นี่เองเป็นประตูบานแรกที่ทำให้เขาก้าวเข้าไปในโลก แฟชั่น เมื่อโชนเห็นว่ามีคลาสสอน Pattern Making และ Draping เลยสมัครทดลองเรียนและพบว่านี่แหละ คือทางที่ใช่สำหรับเขา
“เทียบง่าย ๆ เหมือนงานสถาปัตย์ฯ เพียงแต่เปลี่ยนจาก 2D เป็น 3D การเขียนแบบมีกฎเกณฑ์ประมาณหนึ่ง เสื้อผ้าต้องอยู่บนตัวคนได้และเป็นงานที่ต้องดีลกับคน ไม่ใช่งานอิสระเหมือนศิลปินไฟน์อาร์ต งานแฟชั่นต้องทำงานกับหลายฝ่ายตั้งแต่ Pre ถึง Post Production ทั้งนายแบบ นางแบบ และรันเวย์”
เมื่อมุ่งมั่นแล้วก็ลุยเต็มที่เริ่มด้วยการเตรียม Portfolio และฝึกดรออิ้งกับวาดสีน้ำโดยมีพ่อและแม่เป็นติวเตอร์ จากนั้นยื่น Portfolio สมัครเรียน 3 โรงเรียนดัง คือ Parsons School of Design ที่นิวยอร์ก, Central Saint Martins ที่ลอนดอน และ Royal Academy of Fine Arts Antwerp ที่แอนต์เวิร์ป และได้รับการตอบรับเข้าเรียนทั้ง 3 ที่ แต่โชนเลือกที่แอนต์เวิร์ปเพราะเห็นว่าที่นี่เน้นให้นักเรียนค้นหา Identity ของตัวเอง และดีไซเนอร์คนโปรดของโชนอย่าง Dries Van Noten ก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่ โชนใช้เวลา 4 ปีในการเรียนจนจบระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
“ดีไซเนอร์ที่จบจากที่นี่มี Identity ชัดเจนไม่ได้ตามกระแส แฟชั่น ของโลก ส่วนคนไทยที่จบจากที่นี่มี พี่เอก ทองประเสริฐ (เจ้าของแบรนด์ EkThongprasert) โรงเรียนรับนักศึกษาปีละประมาณ 60 คน ช่วงปลายปีของปีแรกนักเรียนจะหายไปเลยครึ่งหนึ่ง ปีสุดท้ายที่เรียนจบจริง ๆ จะเหลือปีละประมาณ 10-15 คน รุ่นโชนจบแค่ 6 คน คือเคี่ยวมาก การออกแบบจะเบสจากดรออิ้งเรามาก ๆ เวลาออกแบบชุดอาจารย์จะเทียบชุดกับดรออิ้งเราเลย ต้องทำสเก็ตช์และรีเสิร์ชเยอะมาก”
“ปีแรกหนักมากต้องทำหลายโปรเจกต์ เราอยู่คนเดียวในเมืองเหงา ๆ เทา ๆ ก็มีโฮมซิกบ้าง แต่ได้อยู่กับคนที่รักในสิ่งเดียวกันทำให้เราอยู่ได้ ปีแรกก็ต้องเรียนศิลปะ ปรัชญา การวาดดรออิ้งนู้ด และทำโชว์เคส 3 ชิ้นมีกระโปรงผ้าดิบ เดรสจากผ้าคอตตอนสีเดียว และ Experimental Jacket ตัดจากกระดาษและผ้าสักหลาด พอขึ้นปี 2 ก็มีการใช้สี การผสมผสานวัสดุ การ Finishing และทำ Historical Costumes ส่วนปี 3 ทำโปรเจกต์เป็น Local Costumes และปริญญาโททำคอนเซ็ปต์ของตัวเองได้แรงบันดาลใจจากหนังและงานศิลปะสมัยวิกตอเรียน”
ผลงานช่วงที่เรียนที่แอนต์เวิร์ปเคยมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม (MAIIAM Museum) จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปลายพ.ศ.2560
งานดีไซน์แบบ Cross-gender
งานออกแบบของ โชน มักได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียน ภาพถ่ายโบราณและภาพยนตร์เช่นเรื่อง The Royal Tenenbaums ของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน และเรื่อง Picnic at Hanging Rock ของปีเตอร์ เวียร์โดยดึงอิลิเมนต์บางอย่างมาเล่นให้มีความนอสทัลเจีย (Nostalgia) ผสมกับการเล่นกับวัสดุที่หลากหลายเช่น หนังปลาแซลมอน เยื่อไหม ผ้ากิโมโนเก่า หนังกลับ ผ้าวูล และผ้าฝ้าย ให้เกิดมิติใหม่ ๆ เป็นคอลเล็กชั่น Read-to-Wear ที่โชนกล่าวว่าเป็น “Cross-gender”
“โชนพยายามให้เป็นอย่างนั้น สมัยนี้เส้นแบ่งไม่ต้องมีแล้วก็ได้”
คอลเล็กชั่น The Brighter World เป็นผลงานชุดที่ 2 ของสตูดิโอ soi sa:m ที่เน้นสีสันสดใสให้ผู้สวมใส่มีความสุขกับการแต่งกายในหลาย ๆ บุคลิก
“คอลเล็กชั่นแรกจะออกแนว Neutral และดิบ ๆ อยากกลับมาใช้สีสันบ้างและมีความยูนิเซ็กซ์ (Unisex) เสื้อบางตัวมีลายสีสันสดใสแต่ถ้ากลับด้านเป็นสีดำล้วนและใส่ได้ 2 ด้าน เสื้อแจ็กเก็ตที่สามารถพลิกเอาฝั่งไหมซาตินออกมาอวดโฉมได้ ผ้ากิโมโนเก่าเอามาตัดเป็นกางเกงและบุด้วยหนังกลับ หรือใช้เยื่อไหมมาวาตะ วัสดุที่เคยเห็นในผลงานศิลปะของแม่มาปรับใช้ในชุดเดรสและกางเกง”
โชนยังได้มีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์จิม ทอมป์สัน ออกแบบคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 สำหรับผู้หญิงเป็น Ready-to-Wear 6 ลุค โดยโชนได้ออกแบบลายผ้าเป็นลวดลายใบไม้และดอกไม้เหมาะกับการมิกซ์แอนด์แมตช์
รองเท้ายังเป็นแอคเซสเซอรีที่สำคัญในคอลเล็กชั่นของโชนเพราะเขาชื่นชอบมากจนลงเรียนคลาส Footwear Patternmaking and Prototyping ที่โรงเรียน Arsutoriaในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มีการใช้หนังวัว หนังแกะ หนังปลาไหล และหนังกลับ มาตัดเย็บให้เกิดเท็กเจอร์แปลกใหม่
สร้างแบรนด์เพื่อ Sustainable Fashion
สตูดิโอ soi sa:m มีทีมงานแค่โชน ช่างตัดเย็บอีก 2 คน และผู้จัดการสตูดิโออีก 1 คนเท่านั้น เดิมทีเขาวางแผนจะแสดงคอลเล็กชั่นใหม่ในเดือนเมษายน และทางโรงแรม Kimpton Maa-Lai Bangkok จะให้พื้นที่ 1 ห้องสำหรับพรีวิวงานใหม่และโชว์ผลงานเก่าช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่ทั้ง 2 โปรเจกต์ต้องพับเก็บไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
“เราค่อยๆ บิวด์แบรนด์ ไม่รีบร้อน เราไม่ได้ทำแมสมากแต่คงคุณภาพของงานและหาสิ่งใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ ให้วงการแฟชั่นไทย ลูกค้าของโชนส่วนใหญ่เป็นคนในวงการศิลปะและ แฟชั่น ที่รักการแต่งตัวพอสมควรมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก นอกจาก Ready-to-Wear พอมาทำเสื้อผ้าแบบ Custom Made ด้วยทำให้ได้เรียนรู้เรื่องสรีระคน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้สวมใส่ที่ไม่ใช่เป็นไซซ์นางแบบ”
เมื่อถามถึงราคาของเสื้อผ้าว่าจับต้องได้แค่ไหน โชนกล่าวว่า “เป็นราคาที่สะท้อนถึงงาน ซึ่งเป็นลักชัวรีโปรดักต์ที่มีการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ งานตัดเย็บดี ดีเทลละเอียด เป็นราคาที่คุ้ม เป็น Sustainable Fashion ไม่ใช่ Fast Fashion”
พินรีแม่ของโชนซึ่งบ้านอยู่ใกล้กับสตูดิโอมักแวะมาให้กำลังใจลูกชายอยู่เสมอ “เราทำงานศิลปะเรื่องบอดี้ก็มีอิลิเมนต์ที่แทรกซึมกันบ้าง” พินรีกล่าว “บางทีลูกก็ปรึกษาเรื่องการใช้สีหรือให้แม่ลองชุดให้หน่อย พ่อแม่เป็นได้แค่ผู้ช่วยแต่เรื่องคอนเซ็ปต์ต่าง ๆ นั้นลูกต้องคิดเองและทำเอง”
“เยื่อไหมที่แม่ใช้ในงาน Installation Art โชนชอบเท็กเจอร์ของมันมากเลยเอามาทำเสื้อผ้า แต่เราก็ต้องเอา Organza มาเป็นตัวทับประสานเวลาตัดเย็บ” โชนพูดถึงแม่ที่เป็นแรงบันดาลใจ “พ่อกับแม่บอกว่าทำอะไรต้องมีแพสชั่นและให้เวลากับงานตัวเอง ทำงานด้วยใจรักและต้องทุ่มสุดตัว”
ดีไซเนอร์หนุ่มไฟแรงนับเป็นอีกหนึ่งความหวังใหม่ที่จะจุดประกายสิ่งใหม่ ๆ ให้กับวงการแฟชั่นไทยด้วยพื้นฐานศิลปะที่แข็งแรง ความเป็นตัวของตัวเอง และความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่ง
Fact File
- ติดตามผลงานของโชน ปุยเปีย ได้ที่ www.shonepuipia.com