เปิดโลก นักสะสม กับ RCB Auctions ส่งต่อแรงบันดาลใจผ่าน 3 นักสะสมรุ่นใหม่ของไทยที่น่าจับตา
Faces

เปิดโลก นักสะสม กับ RCB Auctions ส่งต่อแรงบันดาลใจผ่าน 3 นักสะสมรุ่นใหม่ของไทยที่น่าจับตา

Focus
  • กมล บูรณกุล นักสะสมเครื่องถ้วยชาหายากที่ตั้งเป้าอยากสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เล่าเรื่องเครื่องถ้วยชา
  • มณฑล วิเศษสินธุ์ นักแสดงและนักสะสมรุ่นใหม่ที่แม้จะเรียนจบวิศวะแต่เขากลับมาตกหลุมรักเครื่องเบญจรงค์ไทย
  • วีรวิชญ์ ฟูตระกูล นักสะสมที่สนใจศิลปวัตถุยุครัตนโกสินทร์โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 กับเส้นทางการสะสมที่เริ่มจากแสตมป์สู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายแอนทีคที่ต้องการส่งความรู้สู่นักสะสมรุ่นใหม่

เมื่อโลกของการสะสมไม่ได้จบอยู่แค่มูลค่าด้านการลงทุนซื้อขาย แต่ นักสะสม ยังเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งยังเป็นผู้ส่งต่อประวัติศาสตร์นอกตำราซึ่งพ่วงมากับเรื่องเบื้องหลังของสะสม โดยในประเทศไทยนั้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมาวงการนักสะสมศิลปวัตถุหรือของแอนทีคได้ขยายสู่ความสนใจของนักสะสมรุ่นใหม่และเจนใหม่มากขึ้น บางคนเข้าสู่วงการนักสะสมเพราะชอบประวัติศาสตร์ บ้างก็หลงเสน่ห์ของการเสาะแสวงหา บ้างก็ถือว่าเครื่องถ้วยชาเก่าแก่เหล่านี้เป็นเบี้ยความสุขที่ต้องค่อยๆ เก็บทีละเล็กละน้อย และก็มีหลายคนที่ไม่ได้ตั้งใจเป็น นักสะสม ทว่ามารู้ตัวอีกทีก็มีเครื่องเบญจรงค์หายากไว้ในครอบครอง

นักสะสม

อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงความหลงใหลที่ชวนให้สะสม RCB Auctions บริษัทประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยชวนไปรู้จัก 3 นักสะสมรุ่นใหม่ของไทย ได้แก่ กมล บูรณกุล นักสะสมเครื่องถ้วยชาหายากที่ตั้งเป้าอยากสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เล่าเรื่องเครื่องถ้วยชาเก่าแก่ มณฑล วิเศษสินธุ์ นักแสดงและนักสะสมรุ่นใหม่ที่แม้จะเรียนจบวิศวะแต่เขากลับมาตกหลุมรักเครื่องเบญจรงค์ไทย และ วีรวิชญ์ ฟูตระกูล นักสะสมที่สนใจศิลปวัตถุยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 กับเส้นทางการสะสมที่เริ่มจากแสตมป์สู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายแอนทีคที่ต้องการส่งต่อแรงบันดาลใจสู่นักสะสมรุ่นใหม่

นักสะสม

“กมล บูรณกุล” นักสะสมเครื่องถ้วยชาหายาก

กมล บูรณกุล ชื่อนี้คือคนรุ่นใหม่ที่มีแรงบันดาลใจด้านการสะสมชุดถ้วยชาหายาก จากวัยเด็กที่มักใช้เวลาว่างในการเข้าพิพิธภัณฑ์สู่การเป็นนักสะสมที่มีความฝันอยากจะเปิดพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยชาเล็กๆ เป็นของตัวเอง และแม้จะเป็น นักสะสม และผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องถ้วยชา แต่เส้นทางนักสะสมของเขากลับเริ่มต้นด้วยหุ่นกระบอก โดยย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อนที่เทวรูปศิลปะขอมกำลังเป็นเทรนด์มาแรงในวงการนักสะสมไทย ทว่าสิ่งที่ดึงดูดกมล กลับเป็นหุ่นกระบอกไม้ศิลปะพม่าที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาของช่างโบราณในการสร้างกลไกซ่อนอยู่ด้านใน เพื่อทำให้หุ่นสามารถกระพริบตาและขยับแขนขาได้ราวมีชีวิต กมลซื้อหัวหุ่นสายพม่าอายุกว่า 100 ปี จากนั้นเขาก็ได้ขยายคอลเลกชันสู่หุ่นไทย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก และหุ่นวังหน้าที่ใกล้สูญหาย

นักสะสม

ต่อมาเมื่อวงการแอนทีคในไทยเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของเครื่องกระเบื้อง กมลจึงพัฒนาความสนใจและการสะสมมาสู่ความหลงใหลในเครื่องกระเบื้องถ้วยชา เขาเริ่มศึกษาเกี่ยวกับปั้นชา และตามมาด้วยเครื่องถ้วยชา โดยกมลใช้เวลากว่า 10 ปีในการสะสมชุดถ้วยชาสยามที่นิยมในสมัย ร.4 และ ร.5 ซึ่งมีลวดลายอย่างไทยผลิตโดยจีนอันเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่าง ทั้งเขียนภาพทิวทัศน์ บุคคล (ภาพเซียน อรหันต์ พระ พลรบ) สัตว์มงคลต่างๆ (สิงโต มังกร) พืช (บัว เหมย ต้นหลิว) รวมทั้งการวาดอักษรมงคลลงในเครื่องถ้วยชา

“ผมเริ่มศึกษาเครื่องถ้วยชาเรื่องจากหนังสือเครื่องโต๊ะและเครื่องถ้วยปั้นที่เขียนโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการจัดชุดชาแบบปั้นเดี่ยวที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนนี้ที่สะสมอยู่ก็มีชุดเครื่องชาแบบไทยประมาณ 30 กว่าชุด ราคาแพงสุดคือหลักแสนต่อชุด ปกติปั้นชาและชุดถ้วยชามักขายแยกกัน ผมก็นำมาจับคู่กันเอง เช่น ชุดถ้วยชาลายยุทธหัตถีในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในลวดลายที่หายากที่สุด ผมเลือกจับคู่กับปั้นชาทรงงวงครุเดือยไก่โดยอิงตามตำราของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือชุดถ้วยชาแปดเซียนที่มีการวาดลายทั้งด้านนอกและในถ้วยชา ผมนำจับคู่กับปั้นทรงกงเติงสุ่ยผิงหรือทรงโคมจักรพรรดิ์ จะเห็นได้ว่าการสะสมย่อมต้องคู่กับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับของที่สะสมด้วย”

นักสะสม

นอกจากการศึกษาจากตำราแล้ว กมลมองว่าสถาบันประมูลยังเป็นแหล่งที่เพิ่มพูนประสบการณ์ให้ นักสะสม ได้ “ของหลายชิ้นผมได้มาจากการประมูลที่ RCB Auctions ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับคนต้องการขายกับคนต้องการซื้อ เป็นสถาบันการประมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะของทุกชิ้นจะได้รับการตรวจจากทีมผู้เชี่ยวชาญมาระดับหนึ่งแล้ว อีกอย่างการประมูลทำให้เรารู้ราคาและได้เห็นของก่อน มีเวลาได้ศึกษาและประเมินความพอใจว่าจะซื้อหรือไม่”

และเมื่อถามต่อถึงเหตุผลที่เขาหลงใหลในการสะสมและออกตามหาเครื่องถ้วยชาทั้งสยามและจีนมาตลอด 20 ปี กมลกล่าวว่า

“สำหรับผมการสะสมเหมือนกันลงทุนกับความสุขที่เราได้ตื่นมาเห็นของที่เราชอบทุกวัน ยิ่งเก็บไว้นานนอกจากได้กำไรจากราคาที่ขึ้นแล้ว เรายังได้ดอกเบี้ยเป็นความสุขอีกด้วย และการสะสมไม่ใช่แค่การเก็บของเก่า แต่นักสะสมยังมีความสำคัญมากในวงการศิลปวัฒนธรรมไทย เพราะนักสะสมมีพลังอย่างมากในการอนุรักษ์ ถ้าพวกเขาเปิดให้คนที่สนใจได้เข้าชมจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านศิลปวัตถุเหล่านั้น”

นักสะสม

“มณฑล วิเศษสินธุ์” นักสะสมรุ่นใหม่ที่หลงใหลเครื่องเบญจรงค์

หลายคนอาจจะคุ้นหน้า มิก-มณฑล วิเศษสินธุ์ ในฐานะนักแสดงรุ่นใหม่มาแรงที่มีผลงานการแสดงซีรีส์ออกมาให้ได้ชมอย่างต่อเนื่อง แต่น้อยคนจะรู้ว่าในอีกมุมหนุ่มหน้าใสคนนี้คือนักสะสมที่หลงใหลในเครื่องเบญจรงค์ไทย และมักจะใช้เวลาว่างในการเข้าออกห้องประมูลของแอนทีค ซึ่งเส้นทางการเป็นนักสะสมเครื่องเบญจรงค์ของมิก เริ่มตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อเขาอายุได้เพียง 14- 15 ปี เป็นความบังเอิญที่ทำให้มิกได้รู้จักโลกของการสะสมศิลปวัตถุของแอนทีค

นักสะสม

“ผมเรียนจบวิศวะ จุฬาฯ ที่บ้านผมก็ไม่ได้ใครอยู่ในวงการนักสะสมหรือเล่นของเก่าของแอนทีคมาก่อน เรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญอย่างมากที่ทำให้ผมก้าวเข้ามาสู่วงการนักสะสม ตอนนั้นจำได้ว่าใกล้บ้านผมมีงานประมูลขายทอดตลาดของสะสม ผมกับคุณพ่อก็ชวนกันไปดูว่าการประมูลเขาทำอะไรกันบ้าง แรกเริ่มตั้งใจว่าจะไปร่วมสนุกๆ แต่ก็มีโอกาสได้ไปยกป้ายประมูลและได้เครื่องสังคโลกกลับบ้านในราคาประมาณพันกว่าบาท ซึ่งเราก็ไม่ได้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์อะไรเลยเกี่ยวกับของชิ้นนั้น จนกระทั่งมีอาจารย์ท่านหนึ่งมาบอกว่าของที่เราได้มามีประวัติศาสตร์นะ มาจากทางเหนือเป็นงานสังคโลกโบราณเตาเวียงกาหลงยุคเดียวกับสุโขทัย เราก็เลยเริ่มสนใจและตามศึกษาประวัติศาสตร์ว่าเตานี้คืออะไร แล้วก็เริ่มซื้อหนังสือเรื่องเกี่ยวกับเครื่องถ้วยสุโขทัยมาอ่าน และก็อ่านไปจนถึงพัฒนาการเครื่องสังคโลกในไทย มารู้ตัวอีกทีก็มาร่วมประมูลที่ RCB Auctions แทบทุกเดือน”

นักสะสม

มิกย้อนเล่าถึงความบังเอิญที่จุดประกายให้เขาหันมาศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวของเครื่องสังคโลก จากนั้นก็ขยายมาสู่เครื่องกระเบื้องอยุธยา และเครื่องเบญจรงค์ยุครัตนโกสินทร์

“ความสนใจในการสะสมของผมเปลี่ยนไปตามยุคของเครื่องถ้วยกระเบื้องในไทย เริ่มจากยุคสุโขทัยซึ่งเป็นจุดเริ่ม เป็นของชิ้นแรกที่ผมซื้อ ข้อดีคือของเครื่องถ้วยสุโขทัยราคาถูก แต่ข้อเสียคือมีรูปแบบน้อย สีสันน้อย แล้วก็เริ่มพัฒนาเป็นอยุธยาที่เริ่มติดต่อค้าขายกับจีนซึ่งเครื่องถ้วยก็มีสีสันที่มากขึ้น แต่ที่ตกหลุมรักเลยก็คือเครื่องเบญจรงค์ เริ่มตั้งแต่ปลายอยุธยา และมาพีคสุดก็สมัยรัชกาลที่ 2 ที่เริ่มมีการพัฒนาช่างสิบหมู่ พัฒนาวงการช่างไทยสาขาต่างๆ ให้มีศักยภาพมากขึ้น ยิ่งสะสมก็ยิ่งอยากศึกษาหาข้อมูลมากขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยความที่ผมไม่ได้จบด้านประวัติศาสตร์ก็เลยต้องหาหนังสือ เข้าพิพิธภัณฑ์ แต่ที่ช่วยผมได้มากก็คือการเดินเข้ามาที่บริษัทประมูล ไปพิพิธภัณฑ์เราอาจจะได้แค่มอง แต่มาที่ห้องประมูลอย่างที่ RCB เราสามารถจับ สัมผัสเนื้อดิน ความบาง การเคลือบ และได้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ”

มิกย้อนเล่าว่าก่อนเข้าสู่วงการนักสะสม เขาไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าที่ประเทศไทยมีห้องประมูลศิลปวัตถุของแอนทีคเช่นที่ RCB Auctions โดยมิกกล่าวเสริมว่า “ที่ RCB ไม่ใช่แค่ห้องประมูล แต่การมางานประมูลมันทำให้เราได้สัมผัส ได้ศึกษา ห้องประมูลเป็นสถานที่เรียนรู้เหมือนการเข้าห้องสมุดที่สามารถเข้าไปอ่านหนังสือโดยที่ไม่ต้องซื้อก็ได้ หรือถ้าชอบจะซื้อก็ได้ เรียกว่าเป็นห้องเรียนที่ไม่มีการปิดกั้น”

เมื่อถามต่อว่าอะไรคือเสน่ห์ของการสะสม มิกตอบทันทีเลยว่าคือการค้นพบเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังวัตถุชิ้นนั้นๆ

“ผมรู้สึกว่าการสะสมมันมากกว่าการซื้อมาแล้วเก็บไว้เฉยๆ มันคือการซื้อมาแล้วได้ศึกษา ทุกชิ้นที่สะสมล้วนมีสตอรี่ ผมเองเล่าทุกอย่างที่สะสมได้เลยว่าแต่ละชิ้นมีเรื่องราวอย่างไร ความพิเศษ เทคนิคเชิงช่าง ประวัติศาสตร์ ผมว่าการสะสมทำให้ผมหันมาสนใจประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลกมากขึ้น ได้เห็นความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ มากขึ้น นักสะสม ยังเป็นสื่อกลางทำให้คนทั่วไปได้เห็นของเก่ามากขึ้น นักสะสมคือคนที่เห็นคุณค่าของ ประวัติศาสตร์ ยิ่งถ้าเราได้แชร์เรื่องราวของสะสมก็ยิ่งจะทำให้มีคนเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมมากขึ้นตามมาด้วย สำหรับผมมองว่ากำไรของการสะสมคือความรู้ เรื่องราวที่เราได้จากการศึกษาของชิ้นนั้นๆ”

“วีรวิชญ์ ฟูตระกูล” นักสะสมประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์

หากถามถึงนักสะสมที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประวัติศาสตร์และศิลปวัตถุของโบราณ แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ วีรวิชญ์ ฟูตระกูล ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งจากเพจ “น้องญี่ พี่วิท” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2 แสนคน โดยเขาคนนี้คือ นักสะสม อินฟลูเอนเซอร์ และเจ้าของร้านขายของเก่า “สนามหลวง” ที่ชวนคนรุ่นใหม่ออกเดินทางไปค้นหาจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ไทยในยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 7 อันเป็นยุคที่ไทยเปิดประเทศรับวัฒนธรรมต่างชาติ มีการบรรจบกันของเทคโนโลยีตะวันตกและศิลปะตะวันออกบนแผ่นดินไทย

“เป็นความเข้าใจผิดที่ว่าของยิ่งเก่ายิ่งแพง จะเป็นนักสะสมต้องมีเงินก่อน แต่สำหรับผมคิดว่ามันอยู่ที่ชิ้นงาน อยู่ที่คุณค่าของงานชิ้นนั้นๆ อย่างผมเองเริ่มจากการสะสมแสตมป์ราคาไม่กี่ร้อย ค่อยๆ ขยับมาที่หนังสือเก่า รูปถ่ายเก่า เครื่องกระเบื้อง ส่วนปัจจุบันผมสะสมศิลปวัตถุทุกประเภทในยุครัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ความจริงแล้วผมไม่ได้เริ่มจากการสะสมของเก่าก่อน แต่ผมเริ่มจากความสนใจในประวัติศาสตร์ก่อนและค่อยมาที่ของเก่า ผมชอบประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์ก็เลยชอบศิลปวัตถุในยุคนี้ตามมา เหตุผลที่ชอบยุคนี้เพราะเป็นยุคเปลี่ยนผ่านสยามเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นยุคของการเปิดประเทศโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการรับวัฒนธรรมทั้งตะวันตกและตะวันออกเข้ามาพร้อมกันของในยุคนี้ก็จะหลากหลายและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

วีรวิชญ์ ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักสะสมของตนเองที่มาจากความชอบในประวัติศาสตร์ เมื่อชอบก็ลงมือศึกษาซึ่งวีรวิชญ์ย้ำว่าการศึกษาให้รู้ไปถึงประวัติศาสตร์เบื้องลึกเป็นสิ่งที่นักสะสมควรจะต้องทำ

“มากกว่าการสะสมคือการศึกษาให้เข้าใจประวัติความเป็นมาของแต่ละชิ้นว่าของชิ้นนี้ถูกผลิตในยุคไหน ผลิตจากที่ไหน ทำเพื่ออะไร หลายคนมาปรึกษาว่าอยากเริ่มสะสมของเก่าแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ผมก็แนะนำให้ลองศึกษา อาจจะเริ่มจากไปเดินดูในพิพิธภัณฑ์ก่อนเลยว่าของที่คุณชอบเป็นแบบไหน เพราะของเก่า ของแอนทีคมันมีหลากหลายแบบมาก และราคาก็มีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักล้าน ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเริ่มสะสมจากของหลักล้าน อย่างตอนเด็กๆ ผมเองสะสมแสตมป์ดวงละหลักร้อยบาท คนส่วนใหญ่มักคิดว่านักสะสมของเก่าต้องมีเงิน แต่จริงๆ คือเริ่มจากของชิ้นถูกๆ ได้ แต่อยากแนะนำให้ศึกษาก่อนว่าเราสนใจของประเภทไหน เครื่องกระเบื้อง เครื่องเงิน เหรียญ แบงค์ แสตมป์ ของแอนทีคมันมีหลายศาสตร์มากๆ แต่ละศาสตร์ก็ใช้การศึกษาไม่เหมือนกัน”

เมื่อแน่ชัดแล้วว่าตนเองสนใจอะไร ลำดับถัดไปที่นักสะสมมือใหม่ต้องคำนึงก็คืองบประมาณ วีรวิชญ์อธิบายว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการสะสมต้องใช้ทุนทรัพย์ แต่ก็ต้องดูไม่ให้เกินกำลังของแต่ละคน

“อย่างผมเองก็ค่อยๆ ต่อยอดการสะสมมา 20 ปี เล่นตามกำลังฐานะในแต่ละช่วงเวลา ผมเป็นคนเล่นของเก่าด้วยความชอบ ความรัก มูลค่าเป็นเรื่องรอง ผมซื้อทุกชิ้นด้วยความชอบ ไม่ได้ตั้งต้นว่าของชิ้นนี้จะไปซื้อทำกำไร อันนั้นเป็นผลพลอยได้ซึ่งทุกชิ้นเราซื้อด้วยใจรัก ถ้าใจไม่รักเล่นของเก่ายาก และอีกสิ่งที่ช่วยซัปพอร์ตนักสะสมได้ก็คือบริษัทประมูล บริษัทประมูลมีความสำคัญทั้งในแง่ของความเชื่อมั่นในเรื่องของแท้ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาดูแล และการประมูลยังเป็นเครื่องการันตีตลาดที่แท้จริงว่าของชิ้นนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ มันไม่ใช่การสมมติขึ้นมาเอง แต่เป็นราคาจากนักสะสมจริงๆ”

วีรวิชญ์ ทิ้งท้ายถึงความสำคัญของนักสะสมว่า นักสะสมไม่ใช่แค่ผู้สะสมหรือไม่ได้มีแค่เรื่องการซื้อขาย แต่นักสะสมยังหมายถึงผู้ดูแลมรดกทางวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่ส่งต่อประวัติศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่น

“ถ้าไม่มีนักสะสมของเก่าพวกนี้ก็อาจจะสูญหายไปหมด เมื่อก่อนงานศิลปวัฒนธรรมถูกทำลายเพราะความไม่รู้เยอะมาก พอมีนักสะสมพวกเขาก็ช่วยอนุรักษ์ของพวกนี้อีกทาง คีย์ของการสะสมคือการเห็นคุณค่า ไม่อยากให้มองที่มูลค่าก่อน เพราะของแต่ละชิ้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การสร้างวัฒนธรรมการสะสมจึงมีความสำคัญต่อการดูแลมรดกทางวัฒนธรรมในไทยอย่างมาก”


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์
ภัทรวดี แสงมณี
อดีตนักข่าวไลฟ์สไตล์ The Nation และ Bangkok Post ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆผ่านการพูดคุยกับผู้คนและสิ่งที่พบเจอระหว่างการเดินทาง

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"