ถอดดีไซน์ Grand Ring แลนด์มาร์กความยั่งยืน World Expo 2025
Brand Story

ถอดดีไซน์ Grand Ring แลนด์มาร์กความยั่งยืน World Expo 2025

Focus
  • ย้อนไปใน ค.ศ. 1970 ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกในเอเชียที่ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป ส่วน World Expo 2025 ครั้งนี้เมืองโอซาก้ารับไม้ต่อจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • World Expo หรือชื่อเต็ม World Exposition เป็นงานแสดงนวัตกรรมการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี World Expo จัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใน ค.ศ.1851

13 เมษายน 2025 นี้ นิทรรศการนานาชาติที่รวบรวมนวัตกรรมกว่า 150 ประเทศทั่วโลก World Expo 2025 (เวิลด์เอ็กซ์โป 2025) หรือ Expo 2025 Osaka (เอ็กซ์โป 2025 โอซาก้า) กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ตรงกับ 55 ปีที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมระดับโลก โดยญี่ปุ่นเป็นชาติแรกในเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปในปี ค.ศ. 1970 และครั้งนี้ยังถือเป็นการกลับมาเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ของเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่นอย่างโอซาก้า โดย World Expo 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 ตุลาคม ค.ศ. 2025

World Expo 2025

ย้อนไปใน ค.ศ. 1970 ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกในเอเชียที่ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป ส่วน World Expo 2025 ครั้งนี้เมืองโอซาก้ารับไม้ต่อจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่งานถูกเลื่อนมาจัดใน ค.ศ. 2021 เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นการกลับมาเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ของเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่นในรอบ 55 ปี  

World Expo 2025

ภายใต้ธีมหลัก “การออกแบบสังคมอนาคตเพื่อชีวิตของเรา (Designing Future Society for Our Lives)” งาน World Expo 2025 จะเกิดขึ้นที่เกาะยูเมะชิมะ (Yumeshima) เกาะเทียมที่ได้ฉายาว่า “เกาะแห่งความฝัน” ตั้งอยู่กลางท้องทะเลอันเงียบสงบของภูมิภาคคันไซ โดยมีการออกแบบ Grand Ring (แกรนด์ริง) วงแหวนไม้ขนาดใหญ่เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงนวัตกรรมแห่งอนาคต เมื่อต้นเดือนมีนาคมวงแหวนขนาดมหึมานี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมไม้ที่ใหญ่ที่สุดของโลกโดยกินเนสส์ เวิลด์ เรกคอร์ดส์ (Guinness World Records) Sarakadee Lite ชวนไปสำรวจแรงบันดาลใจของ Grand Ring สัญลักษณ์ของ Expo 2025 Osaka

World Expo 2025

นักออกแบบ : Grand Ring ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น โซ ฟูจิโมโตะ (Sou Fujimoto) ผู้ก่อตั้งบริษัท Sou Fujimoto Architects ร่วมกับบริษัท Tohata Architects & Engineers และ Azusa Sekkei เพื่อสร้างสรรค์วงแหวนไม้สุดอลังการที่มีเส้นรอบวง 2 กิโลเมตรกับพื้นที่ใช้สอยกว่า 61,000 ตารางเมตร ความสูงประมาณ 12- 20 เมตร

World Expo 2025

คอนเซ็ปต์ : Grand Ring ถูกออกแบบให้มีรูปร่างเป็นวงแหวนไม้ขนาดใหญ่โอบล้อมพื้นที่จัดงาน โดยตรงกลางวงแหวนคือพาวิลเลียนของประเทศต่างๆ ส่วนคอนเซ็ปต์ของ Grand Ring คือ “เอกภาพในความหลากหลาย” (Unity in Diversity) คือ ปรัชญาที่สะท้อนถึงคุณค่าในการรวมตัวกันของประเทศต่างๆ จากทั่วโลกตลอด 6 เดือนของการจัดงาน โดยวงแหวนไม้นี้คือสถานที่เชื่อมโยงโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายกับการสร้างสรรค์อนาคตสำหรับเด็กและคนหนุ่มสาว อีกทั้งยังสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นที่มีความชำนาญด้านการก่อสร้างอาคารไม้ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี และมีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นการขัดไม้เป็นเสา อาคารที่มักจะเห็นได้ในวัดเก่าแก่ ที่สำคัญวงแหวนไม้ขนาดใหญ่นี้ยังคำนึงถึงความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องการใช้วัสดุในประเทศและการนำกลับมารียูสด์หลังจบงาน

“พวกเราหวังที่จะแสดงอนาคตของสถาปัตยกรรมไม้ที่สะท้อนว่าญี่ปุ่นเป็นผู้นำของโลกในด้านนี้ หลังจากที่ผู้เข้าชมได้เห็นแกรนด์ริงแล้ว พวกเขาจะเกิดแรงบันดาลใจในการเดินทางสู่เมืองนาราและเกียวโตเพื่อสัมผัสกับธรรมเนียมแบบดั้งเดิมของงานสถาปัตยกรรมงานไม้แบบนี้ที่ยังคงอยู่ในยุคสมัยโมเดิร์น” โซ ฟูจิโมโตะ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ www.gov-online.go.jp

วัสดุ : Grand Ring เป็นวงแหวนไม้ขนาดใหญ่ และเพื่อเป็นการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไม้ภายในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น 70% ของไม้ที่ใช้ในการสร้าง Grand Ring ทางรัฐบาลเลือกใช้ไม้สนซีดาร์และไม้สนซีเพรสที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่นจากภูมิภาคฟูกูชิมะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ในเหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ค.ศ. 2011 อีกทั้งไม้ส่วนใหญ่ที่เป็นโครงสร้างของเสาและคานจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่หลังงาน  World Expo 2025 จบลง

Grand Ring

เทคนิคการก่อสร้าง : เพื่อสะท้อนถึงการผสมผสานอันกลมกลืนของเทคโนโลยีสมัยใหม่และเทคนิคช่างไม้ดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น สถาปนิกฟูจิโมโตะเลือกวิธีการต่อและเข้าเดือยแบบไม่ใช้ตะปู ที่เรียกว่า nuki joints ร่วมด้วยเทคนิค kakezukuri ที่นิยมใช้ในการสร้างวัดและศาลเจ้าบริเวณหน้าผาหรือทางลาดชันซึ่งเป็นเทคนิคโบราณแบบเดียวกับที่ใช้สร้างวัดคิโยมิซุ หรือวัดน้ำใสในเกียวโต เทคนิคนี้จะใช้คานไม้เป็นตัวเชื่อมระหว่างเสาเพื่อเพิ่มความความแข็งแรงให้กับฐานรากที่อยู่ใต้พื้น โดยไม้แต่ละท่อนจะถูกจัดวางแบบขัดกันเพื่อช่วยพยุงและกระจายน้ำหนักของตัวอาคาร ทั้งยังมีความคงทนสูง นอกจากนี้ยังมีการใช้ส่วนประกอบโลหะเพื่อเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างไม้ตามมาตรฐานความสั่นสะเทือนและความปลอดภัยสำหรับสถานการณ์แผ่นดินไหวเพิ่มเข้าไปด้วย

Grand Ring

ดีไซน์ : Grand Ring ถูกออกแบบเป็นรูปทรงวงแหวนขนาดใหญ่เพื่อสร้างเส้นทางสัญจรที่เป็นวงกลม รองรับการหลั่งไหลไม่รู้จบของผู้คน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นที่กำบังจากฝน ลม หรือแสงแดด โดยมี The Ring Ground Walk เป็นเส้นทางเดินบนพื้นดินที่สามารถเดินเชื่อมถึงกันได้ทั้งวง ทั้งยังเป็นอารยสถาปัตย์รองรับทั้งวิลแชร์และผู้พิการทางสายตา ชั้นบนสุดของวงแหวนคือสกายวอล์กที่ผู้สัญจรจะได้เพลิดเพลินไปกับวิวสวยสะดุดตาของทะเลเซโตะ (Seto Inland Sea) ที่เป็นไฮไลต์ของเมือง เมื่อท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีส้มช่วงพระอาทิตย์ตกดิน มองออกไปไกลขึ้นคุณจะเห็นวิวของเมืองโอซาก้าและโกเบในวันที่ฟ้าสดใส

“ผมหวังว่าเมื่อผู้เข้าชมเห็นวิวนี้จะรู้สึกได้ว่าพวกเขากำลังแบ่งปันท้องฟ้านี้ร่วมกับทุกคนบนโลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ผมตั้งใจใส่ฟีเจอร์ต่างๆ นี้ในภูมิทัศน์ของพื้นที่จัดงานเพื่อให้เป็นความทรงจำของทุกคนที่เข้ามา นี่เป็นการสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของงานเวิลด์เอ็กซ์โปด้วย” โซ ฟูจิโมโตะ กล่าวเสริมในเว็บไซต์ www.gov-online.go.jp

Grand Ring

ภายในพื้นที่จัดแสดงได้รับการออกแบบให้เป็นเหมือนห้องทดลองที่มีชีวิต (People’s Living Lab) พาผู้เข้าชมไปสำรวจความเป็นไปได้ของการออกแบบเพื่ออนาคตพร้อมกับค้นพบวัฒนธรรมที่แตกต่างและพูดคุยกันถึงวิกฤตโลกที่เรากำลังเผชิญ มีการจำลองสังคมอนาคตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโยโลยีดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่และแนวคิดความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่สำหรับการแสดงต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ อย่าง Projection Mapping ที่จะฉายบนอาคารและทางเดินต่างๆ ขบวนพาเหรดจากทั่วทุกภาคของญี่ปุ่นและศิลปะการแสดงหลากหลายรูปแบบ

“นี่เป็นพื้นที่รวมตัวของทั้งโลกเป็นความรู้สึกของผู้คนที่แตกต่างกันจำนวนมากมาอยู่ด้วยกัน การพบปะแบบนี้จะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ได้ค้นพบวัฒนธรรมที่แตกต่างและแรงบันดาลใจมากมาย ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับอนาคตของเราด้วยกัน แน่นอนมันอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาของสถานการณ์โลกได้หมด แต่ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากที่ผู้คนจากหลายๆ ประเทศได้มารวมตัวกันและสร้างสรรค์ความเป็นหนึ่งเดียวด้วยกัน ในศตวรรษที่ 21 เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านระบบเครือข่ายและสมาร์ตโฟน แต่งานเอ็กซ์โปจะนำสิ่งมหัศจรรย์ของแต่ละประเทศมาไว้ด้วยกัน ผู้เข้าชมจะได้เห็นวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกความจริง” โซ ฟูจิโมโตะ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารออกแบบ Dezeen

Grand Ring

แนวคิดด้านความยั่งยืน : ส่งเสริมการนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดขยะจากอุตสาหกรรมและกระตุ้นการตระหนักรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน The Japan Association for the 2025 World Exposition เปิดให้มีการประมูลผ่านแพลตฟอร์มของ Expo Circular Market Myaku-ichi สำหรับการเคลื่อนย้ายตัวอาคารและการนำวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ กลับไปใช้ใหม่ เช่น หลอดไฟ LED สปอตไลต์ ถังดับเพลิง โถสุขภัณฑ์ และเฟอร์นิเจอร์    

“ด้านความยั่งยืนเราต้องพิจารณากันอย่างจริงจังมากขึ้น เราต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาเมื่อเราจัดงานในสเกลใหญ่ขนาดนี้ เช่นการปล่อยคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ”

อ้างอิง

Fact File

  • ซื้อบัตรเข้างาน World Expo 2025 ได้ที่ www.expo2025.or.jp/en
  • World Expo หรือชื่อเต็ม World Exposition เป็นงานแสดงนวัตกรรมการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี World Expo จัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใน ค.ศ.1851
  • ความโดดเด่นของเวิลด์เอ็กซ์โปไม่ได้มีเพียงอาคารสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่อย่างการเกิดขึ้นของ Crystal Palace เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานที่กรุงลอนดอนเมื่อ ค.ศ.1851 หรือการสร้างหอไอเฟลเป็นซุ้มเข้างาน World Expo ที่ปารีสเมื่อปี ค.ศ.1889 เท่านั้น ทว่าของใช้ในชีวิตประจำวัน เมนูอาหารที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในทุกวันนี้ก็มีต้นกำเนิดมาจาก World Expo ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาปลุก (1851) โทรศัพท์ (1876) หรือแม้แต่แฮมเบอร์เกอร์ ฮ็อตดอก ก็ยังถือกำเนิดที่งาน World Expo ในอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1904

Author

ภัทรวดี แสงมณี
อดีตนักข่าวไลฟ์สไตล์ The Nation และ Bangkok Post ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆผ่านการพูดคุยกับผู้คนและสิ่งที่พบเจอระหว่างการเดินทาง