สีฝุ่นไทยโทน “กระยารงค์” แบรนด์ที่ช่างสีต้องอดทนทำและลูกค้าต้องตั้งใจรอ
Brand Story

สีฝุ่นไทยโทน “กระยารงค์” แบรนด์ที่ช่างสีต้องอดทนทำและลูกค้าต้องตั้งใจรอ

Focus
  • “เก่ง” นพพล นุชิตประสิทธิชัย เป็นหนึ่งในไม่กี่คนของช่างศิลปะไทยที่ผลิตสีฝุ่นธรรมชาติจาก Pigment ของหิน ดิน พืชและสัตว์เพื่อให้ได้เฉดสีแบบไทยโทนอย่างงานจิตรกรรมไทยโบราณ
  • กระบวนการผลิตแต่ละสีของแบรนด์ “กระยารงค์” มีความซับซ้อน ใช้เวลาและความอดทนสูง อีกทั้งตัวแร่บางชนิดเองมีราคาแพงทำให้สีฝุ่นบางสีมีราคาสูงถึงเกือบ 20,000 บาทต่อกิโลกรัม
  • เสน่ห์ของสีฝุ่นธรรมชาติคือความเสถียร คงทน และสีนวลตาไม่จัดจ้านเหมือนสีเคมีและแต่ละสีอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืม

สีฝุ่นไทยโทน ที่ทำโดยวัสดุจากธรรมชาติแบบโบราณนั้นหาไม่ง่ายในท้องตลาด…

แร่อะซูไรต์ (Azurite) แร่ซินนาบาร์ (Cinnabar) ดินแดง เปลือกหอยและใบแค คือตัวอย่างของวัสดุธรรมชาติที่ “เก่ง” นพพล นุชิตประสิทธิชัย นำมาผลิต สีฝุ่นไทยโทน แบบทำมือทุกกระบวนการเพื่อให้ได้เฉดสีแบบไทยโทนอย่างงานจิตรกรรมไทยโบราณซึ่งปัจจุบันมีน้อยคนที่จะทำเพราะใช้เวลานานและต้องมีความอดทนสูง และบางสีมีขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก

เก่งเริ่มทดลองทำสีฝุ่นจากวัสดุธรรมชาติตั้งแต่เรียนจิตรกรรมไทยที่วิทยาลัยเพาะช่างเมื่อ 10 ปีที่แล้วเนื่องจากไม่ต้องการใช้สีฝุ่นที่ผลิตจากสารเคมีที่มีขายในท้องตลาด เขาศึกษาค้นคว้า ลองผิดลองถูกเรื่อยมาจนได้เฉดสีแบบไทยโบราณตามที่ต้องการหลายเฉด ไม่ว่าจะเป็นสีครามฝรั่งจากแร่อะซูไรต์หรือแร่ลาพิสลาซูลี (Lapis Lazuli) สีแดงชาดจากแร่ซินนาบาร์ สีเขียวตังแช (ครามอมเหลือง) จากสนิมเขียวของทองแดง หรือสีขาวผ่องจากเปลือกหอย

สีฝุ่น
คุณเก่ง-นพพล นุชิตประสิทธิชัย ผู้ริเริ่มทำสีฝุ่นไทยจากธรรมชาติ “กระยารงค์”

เมื่อสีฝุ่นไทยโบราณจากธรรมชาติไม่มีขาย คำตอบคือทำใช้เอง

เริ่มจากทำใช้เองและเพื่อนศิลปินขอแบ่งใช้จึงเกิดการบอกต่อกันปากต่อปากว่าสีของเขามีคุณภาพดี ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% มีเนื้อเป็นประกายแวววาว มีความเสถียรและติดคงทน ความต้องการจากคนในแวดวงศิลปะไทยและ กลุ่มนักอนุรักษ์ งานศิลปะจึงมีมากขึ้นจนเมื่อ 2 ปีที่แล้วเก่งเริ่มทุ่มเทอย่างจริงจังในการผลิตสีฝุ่นจนเกิดเป็นแบรนด์ “กระยารงค์” ซึ่งลูกค้าเองก็ต้องอดทนรอเช่นกันเพราะกว่าจะได้แต่ละสีใช้เวลาแรมเดือนจนถึงเป็นปีก็มี เพราะเก่งไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรม มีเพียงตัวเขาและผู้ช่วยอีกแค่ 2 คนที่ทำกันด้วยสองมือและใจรัก

“ตั้งแต่สมัยเรียนที่เรียนเพาะช่าง อาจารย์สอนให้ใช้ สีฝุ่น และเฉดสีฝุ่นแบบโบราณ แต่เราไม่มีสีฝุ่นตัวจริงแบบที่โบราณใช้ก็ต้องใช้สีฝุ่นของฝรั่งที่ผลิตจาก Pigment เคมีมาผสมกับตัวอื่นเพื่อเทียบสีให้ออกมาใกล้เคียงแบบงานจิตรกรรมไทยโบราณ เช่นสีแดงเราก็ใช้สีฝุ่นฝรั่งหรือสีโปสเตอร์มาผสมกับเสนเพื่อให้ได้สีคล้ายชาด หรือเอาสีขาวผสมกับสีเขียวและน้ำเงินให้ออกมาเป็นสีเขียวตังแช เลยคิดว่า เราน่าจะลองทำใช้เองก็ทดลองทำเรื่อยมาเพราะอยากรู้ อยากใช้และอยากทำให้เป็นของแท้” เก่ง อดีตอาจารย์สอนจิตรกรรมไทยที่วิทยาลัยในวังชาย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสีฝุ่นธรรมชาติ

ส่วนผสมในการผลิตสีที่มาจากธรรมชาติ

เบื้องหลังสีฝุ่นคือหลักการเบื้องต้นของวิทยาศาสตร์

เก่งใช้พื้นที่บริเวณบ้านสวนของเขาย่านถนนพุทธมณฑลสาย 2 เป็นสตูดิโอชื่อว่า Nop-Art Studio บริเวณด้านนอกอาคารเราเห็นเปลือกหอยหลายตันตากแห้ง เพื่อให้คลายความเค็มก่อนจะนำไปล้างและไปบดให้เป็นสีฝุ่นสีขาว นอกจากนั้นยังมีดินและหินหลายก้อนรอการสกัดเอาแร่ธาตุให้สีและผ่านกระบวนการตำมือด้วยครกศิลาและบดด้วยถ้วยบดเซรามิกให้เนื้อเนียนละเอียด และถ่ายน้ำเป็นร้อยๆรอบเพื่อกรองเอาคราบฝุ่นและเศษผงอื่นๆออกให้หมด จากนั้นเกรอะให้เหลือเพียง Pigment แท้ของสีเท่านั้นก่อนจะนำไปตากแดดให้แห้ง

“คนที่จะนำ Pigment หรือรงควัตถุจากธรรมชาติมาทำสีไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุจากหิน ดิน พืชและสัตว์ ต้องมีความรู้ทั้งทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ ต้องเข้าใจว่าแต่ละสีเกิดจากอะไร เราไม่มีเครื่องแยกธาตุแต่เราต้องศึกษาองค์ประกอบของแร่ธาตุ สังเกตและทดลองไปเรื่อย ๆ ศึกษาจากเอกสารโบราณทั้งของไทยเช่น จดหมายเหตุวัดโพธิ์ บทความต่างๆของกรมทรัพยากรธรณี และงานวิจัยจากต่างประเทศโดยเฉพาะของประเทศจีนและอินเดียซึ่งเป็นสองประเทศที่เก่งเรื่องการใช้ สีฝุ่น มาเป็นพันๆปี แต่ละสีมีกรรมวิธีที่แตกต่างกันกว่าจะได้มา มีเทคนิคการถ่ายน้ำถ่ายพิษ เทคนิคการบดต่างๆ” เก่งในวัย 29 ปีกล่าว

ขั้นตอนการถ่ายน้ำที่ต้องทำนานนับเดือนกว่าจะได้สีครามจากธรรมชาติ

ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความใจเย็น

หลายคนอาจจะตกใจเมื่อเห็นราคา สีฝุ่นไทยโทน เช่น สีครามที่ได้จากแร่อะซูไรต์หรือแร่ลาพิสลาซูลีราคา 15,000-18,000 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนสีเขียวตังแชจากแร่มาลาไคต์ (Malachite) หรือจากสนิมทองแดงราคากิโลกรัมละ 7,000-8,000 บาท รวมไปถึงสีชาดที่ราคากิโลกรัมละ 8,000 บาท (ทุกสีแบ่งซื้อเป็นขีดได้)

“สีที่ทำนานที่สุดคือสีครามที่ได้จากแร่อะซูไรต์หรือแร่ลาพิชลาซูลี ตัวหินเองมีราคาแพงมากเพราะเป็นกึ่งอัญมณี หินอะซูไรต์มีสีน้ำเงินคือเป็นแร่ที่ติดกับแร่มาลาไคต์ฉะนั้นจะมีสีเขียวติดมาด้วยและดินสีเหลืองๆติดมาเต็มไปหมด เมื่อบดและเอาไปล้างเราก็จะเจอหิน แร่ธาตุอื่นหรือดินปะปนมา เราก็ต้องบดต้องล้างไปเรื่อยๆเป็นร้อยๆรอบจนกว่าจะได้สีครามตามต้องการ ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือน”

สีฝุ่นไทยโทน
หินแร่ต่างๆ ถูกเก็บสะสมไว้ในสตูดิโอเพื่อเตรียมผลิตสี

ตัวแร่ซินนาบาร์เองที่นำมาสกัดเป็นสีแดงชาดราคาก็ตกหลายพันบาทต่อหนึ่งกิโลกรัม และถึงแม้กระบวนการทำไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่าสีอื่นเพราะไม่ใช่แร่ที่มีความแข็งมาก แต่เก่งอธิบายว่า “ต้องใช้เวลาบดนานมากช่างส่วนใหญ่จึงเลี่ยงที่จะไม่ทำ และมีเทคนิคการบดเฉพาะเพื่อให้ได้สีสด”

สีแดงชาดถือเป็นแม่สีของสีไทยและใช้มากในจิตรกรรมไทยประเพณีเพื่อสื่อถึงบรรยากาศของสวรรค์ สำนักช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากรยังเคยสั่งสีชาดของเก่งไปใช้ในการบูรณะพระราชยานคานหามเมื่อครั้งเตรียมการในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2560

สีแดงชาดได้รับความนิยมอย่างมากในงานจิตรกรรมไทย

จากแม่สีหลักแตกเป็นสีใหม่ได้นับ 100 เฉด

แบรนด์ “กระยารงค์” มี สีฝุ่น ครบตามสีหลักเบญจรงค์คือขาว เหลือง ดำ แดง เขียว​​(คราม) ซึ่งสามารถนำไปผสมแตกย่อยได้อีกเป็นร้อยๆเฉด

นอกจากสีแดงชาดแล้ว ยังมีเฉดสีแดงอมน้ำตาลที่ได้จากดินแดงซึ่งมีแร่เฮมาไทต์ (Hematite) สีขาวได้จากทั้งดินขาว ปูนขาวหรือเปลือกหอยที่มาเกรอะน้ำจนจืด สีเหลืองสดได้จากยางของต้นรงทองและสีเหลืองดินจากดินในธรรมชาติ สีเขียวครามยังได้จากใบของต้นครามที่นำมาหมักกับน้ำปูนและต้มเพื่อให้ได้ Pigment ส่วนสีดำได้จากหมึกดำธรรมชาติของจีน

สีฝุ่นไทยโทน
สีเขียวจากในแค

“เรายังมีสีเขียวใบแคที่ออกเป็นสีเขียวขี้ม้าเข้มได้มาจากการนำใบแคมาตำและบดให้ละเอียด ละลายน้ำและตากให้แห้งก็จะได้สีเขียวดำ แต่กว่าจะได้เฉดสีเขียวแบบใบแคก็ต้องผสมสีเหลืองที่ได้จากการต้มไม้แกแลหรือบางคนเรียกว่าเขซึ่งแก่นของมันให้สีเหลืองสดและคนนิยมนำไปย้อมผ้า เมื่อสีเขียวเข้มจากใบแคเจอสีเหลืองของแกแลก็จะได้สีเขียวตามที่ต้องการ ใบแค 4 กระสอบเมื่อนำมาบดแล้วได้สีฝุ่นไม่ถึงครึ่งกิโลกรัม

เก่งอธิบายเพิ่มเติมว่าสีที่ทำง่ายสุดคือสีเขียวตังแชที่ได้จากสนิมเขียวของทองแดง แค่ต้องรอเวลาบางครั้งอาจนานเป็นปี โดยการนำเส้นทองแดงที่ซื้อมาจากร้านรับซื้อของเก่ามาใส่ในโหลแก้วและใส่กรดเกลือเพื่อให้กัดทองแดงจนเป็นผง จากนั้นจึงค่อยผ่านกระบวนการล้างน้ำ กรองน้ำหลายรอบจนใสสะอาดและหมดความเค็ม

“สีที่ขายดีที่สุดคือสีชาดและสีขาว สีที่ได้จากแร่ธาตุพวกนี้อยู่ได้เป็นพันๆปี”

สีฝุ่นไทยโทน
สีขาวในเฉดต่างๆ

เสน่ห์และความพิเศษของสีฝุ่นธรรมชาติ

เก่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คนของช่างศิลปะไทยที่ยังผลิตสีฝุ่นจากวัสดุธรรมชาติ เขายังสนุกและตื่นเต้นที่ได้ลองทำเฉดต่างๆจากวัสดุที่หลากหลาย

เสน่ห์ของสีฝุ่นที่ได้จากธรรมชาติมีความพิเศษตั้งแต่กระบวนการทำ การเขียน และผลสัมฤทธิ์ แต่ละสีมีลักษณะเฉพาะตัวและมีประกายระยิบระยับในตัวเนื้อสี ค่าสีมีความเสถียรคือเวลาผ่านไปเฉดสีไม่เปลี่ยนและยังมีความคงทนอยู่ได้เป็นพันปีถ้าเก็บรักษาดี ๆ นอกจากนี้เฉดสียังออกนวลไม่จัดจ้านเหมือนสีเคมี และเมื่อหลายสีอยู่รวมกันในหนึ่งภาพแต่ละสีไม่ดร็อปและอยู่ร่วมกันได้ดี” เก่งกล่าวทิ้งท้าย

การใช้สีฝุ่นจากธรรมชาติให้สีที่สดไม่แพ้สีจากเคมี

Fact File

  • ติดตามชมผลงานเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/nop-art-studio by นพพล นุชิตประสิทธิชัย
  • ติดตามชมผลงานเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2QgDxij


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว