ทัวร์ปีมะเส็ง พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร เปิดตำนานอสรพิษ ทำไมงูลิ้นสองแฉก พระศอดำของพระศิวะ และกำเนิดนางมณโฑ
- เพื่อต้อนรับปีมะเส็ง 2568 หรือปีงูเล็ก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดนำชมโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในคัมภีร์ ตำนาน และความเชื่อเกี่ยวกับอสรพิษในหัวข้อ “อาศิรวิษนักษัตร”
- การนำชมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Night at the Museum กับการเปิดพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้จนถึงเวลา 20.00 น. ระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม พ.ศ. 2567 โดยจะจัดวันละ 1 รอบตั้งแต่เวลา 18.00-19.30 น.
- ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับอสรพิษเชื่อมโยงกับศิลปวัตถุที่จัดแสดง เช่น เทวรูปพระศิวะกับเรื่องพระศอดำ และจิตรกรรมสีฝุ่นรูปนางมณโฑที่เกี่ยวข้องกับนาคและงูดิน
ทำไมงูมีลิ้นสองแฉก ทำไมพระศิวะจึงมีอีกพระนามว่า “นิลกัณฐ์” ที่แปลว่า “พระศอดำ” และกำเนิดนางมณโฑ มเหสีเอกของทศกัณฐ์ในเรื่อง รามเกียรติ์ เกี่ยวข้องอย่างไรกับการสมสู่ของนาคและงูดิน เหล่านี้คือบางส่วนของเรื่องราวในคัมภีร์ ตำนาน และความเชื่อเกี่ยวกับอสรพิษที่จะถ่ายทอดผ่านการนำชมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุบนเส้นทาง ทัวร์ปีมะเส็ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในยามค่ำคืน ในหัวข้อ “อาศิรวิษนักษัตร” เพื่อต้อนรับปีมะเส็ง 2568 หรือปีงูเล็ก
กิจกรรม ทัวร์ปีมะเส็ง อัดแน่นด้วยเกร็ดความรู้และความสนุกเป็นส่วนหนึ่งของ ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ หรือ Night at the Museum กับการเปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้เข้าชมได้จนถึงเวลา 20.00 น. ระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม พ.ศ. 2567 และการนำชม “อาศิรวิษนักษัตร” จะจัดวันละ 1 รอบเท่านั้นตั้งแต่เวลา 18.00-19.30 น. โดยไม่ต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้า ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. และร่วมลุ้นรับของที่ระลึก พู่ห้อยมะเส็งเรียกทรัพย์ สีแดงและสีเขียวหยกที่จะแจกวันละ 10 ชิ้น
“อาศิรวิษ แปลว่า งูและอสรพิษ ดังนั้นการนำชม ‘อาศิรวิษนักษัตร’ เราจึงพยายามหาตำนานเกี่ยวกับงูโดยใช้โบราณวัตถุเป็นตัวเชื่อม เช่น ในไตรภูมิพระร่วงมีการจัดลำดับชั้นของพญานาคกับงูดินที่เชื่อมโยงไปถึงกำเนิดนางมณโฑในเรื่อง รามเกียรติ์ ตำนานกวนเกษียรสมุทรของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่เกี่ยวเนื่องกับพระนาม ‘นิลกัณฐ์’ หรือพระศอดำของพระศิวะและทำให้งูมีลิ้นสองแฉก หรือเครื่องถ้วยเบญจรงค์ 5 สีที่สัมพันธ์กับเจ้าแม่หนี่วาซึ่งมีร่างกายท่อนบนเป็นผู้หญิงและท่อนล่างเป็นงูใน ‘คัมภีร์ขุนเขาและท้องทะเล’ หรือซานไห่จิง ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์บนโลกจากการปั้นดิน และช่วยโลกไม่ให้ถูกทำลายล้างด้วยการปั้นดิน 5 สีไปอุดรอยรั่วบนท้องฟ้าจากการต่อสู้ระหว่างเทพบนสวรรค์” ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กล่าวถึงแนวคิดในการจัดกิจกรรมนำชมเพื่อต้อนรับปีมะเส็ง
Sarakadee Lite พาไปพรีวิวจุดนำชมบางส่วนในเส้นทาง อาศิรวิษนักษัตร บนพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ที่ประทับของพระมหาอุปราชตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมแล้วก็สามารถปักหมุดเซฟลิสต์แล้วไปตามรอยกันได้เลย
พิษร้ายแรงของนาคและพระศอดำของพระศิวะ
พิกัด : ห้องสุโขทัยอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
ไฮไลต์ : เทวรูปพระอิศวรหรือพระศิวะ หนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาฮินดูหล่อจากสำริด ศิลปะสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 หรือประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) พระเศียรทรงชฎามงกุฎประดับปิ่นพระจันทร์เสี้ยว มีพระเนตรที่ 3 สัญลักษณ์แห่งไฟบรรลัยกัลป์ และมีสายธุรำหรือสายยัชโญปวีต ซึ่งเป็นเครื่องหมายของวรรณะกษัตริย์และพราหมณ์โดยสายธุรำขององค์พระศิวะทำจากนาคและส่วนหัวของนาคอยู่บริเวณพระอังสะ
อีกหนึ่งเทวรูปสำริดศิลปะสุโขทัยที่ประทับเคียงข้างกันคือ พระวิษณุหรือพระนารายณ์ เป็นหนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดของฮินดูในฐานะผู้รักษาปกป้องโลก และตามการปกครองแบบลัทธิเทวราชาเชื่อว่ากษัตริย์คือพระนารายณ์อวตารลงมาเพื่อปราบทุกข์เข็ญของประชาชนเปรียบดังสมมุติเทพ พระนารายณ์องค์นี้ถึงแม้มีสี่กร แต่ทรงอาวุธแค่สองสิ่งคือจักรและสังข์
ตำนานอสรพิษ : พระศิวะมีอีกพระนามว่า “นิลกัณฐ์” ที่แปลว่า “พระศอดำ” ซึ่งมาจากตำนานการกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำอมฤต เรื่องเกิดจากฤาษีทุรวาสพิโรธพระอินทร์และสาปให้เทวดาทั้งหลายเสื่อมอิทธิฤทธิ์ทำให้พ่ายแพ้เมื่อต่อสู้กับพวกอสูร พระอินทร์จึงนำความขึ้นทูลปรึกษาพระนารายณ์ พระองค์จึงทรงแนะนำให้ทำพิธีกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤตให้เทวดาได้ดื่มเป็นอมตะและเพิ่มพูนอิทธิฤทธิ์ แต่การกวนเกษียรสมุทรต้องใช้แรงมาก เหล่าเทวดาจึงชวนอสูรให้มาร่วมด้วยโดยหลอกล่อว่าจะแบ่งน้ำอมฤตให้ เขามันทระถูกนำมาใช้แทนไม้พายในการกวนมหาสมุทรและพญานาควาสุกรี อุทิศร่างต่างเชือกใช้กลางลำตัวพันรอบเขา
“ฝ่ายเทวดาอ้างว่าพวกตนฤทธิ์น้อยขอถือฝั่งหาง และให้พวกอสูรถือฝั่งหัวเนื่องจากคาดการณ์ไว้แล้วว่าเมื่อพญานาคถูกแรงยื้อยุดไปมาจะเวียนหัวและบาดเจ็บจนสำรอกพิษออกมา และเป็นเช่นนั้นจริงทำให้พิษร้ายโดนพวกอสูรเป็นเหตุให้มีหน้าตาอัปลักษณ์ พิธีดำเนินต่อไปจนเกิดแรงสั่นสะเทือนทำให้พื้นดินรองรับเขามันทระไม่ได้ พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่ายักษ์เพื่อรองรับเขาไว้ การกวนเกษียรสมุทรดำเนินไปถึง 1,000 ปี จนบังเกิดสิ่งวิเศษผุดขึ้นมา 14 อย่าง
“สิ่งแรกคือยาพิษร้ายแรงมาก เพราะเกิดจากพญานาคพ่นพิษ พระศิวะจึงเสียสละตัวเองดื่มยาพิษนั้นเข้าไป พระอุมาเกรงว่าพระสวามีจะตายจริงจึงกดคอของพระศิวะไว้ แต่ด้วยความร้ายแรงของพิษที่ค้างอยู่ทำให้คอของพระศิวะไหม้เป็นสีดำ จึงทำให้พระศิวะมีอีกพระนามว่า ‘นิลกัณฐ์’ ที่แปลว่า “พระศอดำ” ดังนั้นในการสร้างเทวรูปพระศิวะจึงมีการใช้งูเป็นเครื่องประดับ ส่วนของวิเศษอีกอย่างคือ พระจันทร์เสี้ยว พระศิวะนำมาปักเป็นปิ่นเพื่อบรรเทาความร้อนของพิษ” ศุภวรรณอธิบาย
การสมสู่ข้ามตระกูลของนาคและงูดินสู่การกำเนิดนางมณโฑ
พิกัด : พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ไฮไลต์ : สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างตู้พระธรรม 3 ตู้สำหรับใส่พระไตรปิฎกและตั้งกั้นเป็นฝาประจันห้องในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จิตรกรรมบนตู้พระธรรมเล่าเรื่อง รามเกียรติ์ ต่อเนื่องกันโดยด้านหน้าเป็นภาพลายรดน้ำและด้านหลังเป็นลายกำมะลอ ด้านหลังของตู้ที่ 1 เขียนตอนหนุมานบุกกรุงลงกาเพื่อตามหานางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป มุมหนึ่งของตู้เป็นภาพหนุมานพบเจอทศกัณฐ์ขณะนอนอยู่กับนางมณโฑซึ่งตำนานการเกิดของนางมณโฑ มเหสีเอกของทศกัณฐ์มีความเกี่ยวข้องกับงูดินและนาค
ตำนานอสรพิษ : ในเรื่องรามเกียรติ์ กล่าวถึงพระฤาษี 4 ตนกำลังบำเพ็ญพรตอยู่ที่ป่าหิมพานต์ และมีโคนม 500 ตัวที่อาศัยอยู่ในป่าใกล้กับอาศรมมีใจเลื่อมใสจึงพากันมาหยอดนมในอ่างทุกเช้าเพื่อให้พระฤาษีได้ฉันเป็นประจำ และพระฤาษีมีใจเมตตาเผื่อแผ่นมเป็นทานให้นางกบตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นด้วย
“นาคถือตนเองเป็นอีลิต (elite) จะไม่สมสู่ข้ามตระกูลและมักดูถูกงูดินว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่เจ้าหญิงแห่งเมืองนาคกลับไปสมสู่กับงูดินในป่าและฤาษีพบเห็นจึงจับแยก เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม นางนาคอับอายแทรกแผ่นดินหนีกลับเมืองบาดาล แต่ด้วยกลัวว่าฤาษีจะนำเรื่องนี้มาฟ้องพ่อจึงแอบขึ้นมาคายพิษลงในอ่างน้ำนม กบเห็นเหตุการณ์และด้วยความกตัญญูรู้คุณจึงยอมเสียสละชีวิตโดดลงไปในอ่างน้ำนมจนตัวตาย เมื่อฤาษีกลับมาเห็นจึงเกิดความสงสัยเลยปลุกเสกให้เป็นผู้หญิงรูปโฉมงดงามเพื่อถามหาสาเหตุและตั้งชื่อนางว่า มณโฑ จากนั้นก็นำนางไปถวายพระศิวะและกลายเป็นนางกำนัลของพระอุมา” ศุภวรรณเล่าความเกี่ยวข้องของงูและนาคกับนางมณโฑ
ต่อมาเมื่อทศกัณฐ์สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ยกเขาไกรลาสที่เอนเอียงให้ตั้งตรงได้สำเร็จจากเหตุการณ์ที่ท้าววิรุฬหกโกรธตุ๊กแกที่ล้อเลียนขณะเดินขึ้นเขาไกรลาสเพื่อเข้าเฝ้าพระศิวะ จึงซัดสร้อยสังวาลนาคใส่ตุ๊กแกจนตายและแรงสั่นสะเทือนทำให้เขาไกรลาสทรุดเอียง ทศกัณฐ์ทูลขอพระอุมาเป็นรางวัลเนื่องจากทรงประกาศว่าหากผู้ใดทำสำเร็จจะบำเหน็จรางวัลตามที่ขอ พระศิวะทรงประทานให้ แต่ทศกัณฐ์เหาะไปได้แค่ครึ่งทางต้องนำกลับมาถวายคืน เพราะต้องอุบายพระนารายณ์ จึงขอเปลี่ยนเป็นนางมณโฑแทน
ท้าวจตุโลกบาลและคาถาปราบงู
พิกัด : พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ไฮไลต์ : จิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เขียนขึ้นราว พ.ศ.2338 ในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังสร้างกรุงเทพฯ ไม่นานจึงเชื่อว่าเป็นฝีมือช่างชาวอยุธยา เพราะเขียนตามคตินิยมสมัยอยุธยาตอนปลาย การจัดวางองค์ประกอบภาพใช้เส้นสินเทาแบบฟันปลาเป็นตัวแบ่งภาพ ผนังด้านบนเหนือกรอบประตูหน้าต่างทั้ง 4 ด้านเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมด้านละ 4 ชั้น และมีการเขียนเทพทั้งหมด 400 องค์ ส่วนผนังตอนล่างระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติรวม 32 ภาพ
ตำนานอสรพิษ : คติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู และพุทธสอดคล้องกันว่ามีเทวดาสถิตรักษาอยู่สี่ทิศเรียกว่าท้าวจตุโลกบาล ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวร ประจำทิศเหนือ ปกครองยักษ์, ท้าววิรุฬหก ประจำทิศใต้ ปกครองครุฑและกุมภัณฑ์, ท้าวธตรฐ ประจำทิศตะวันออก ปกครองคนธรรพ์ และท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศตะวันตก ปกครองนาค
“ภาพที่เชื่อมโยงกับตำนานอสรพิษคือภาพเทพชุมนุมชั้นล่างสุดซึ่งเป็นภาพท้าวจตุโลกบาล คือเจ้าแห่งครุฑ เจ้าแห่งยักษ์ เจ้าแห่งคนธรรพ์ และเจ้าแห่งนาค โดยเขียนภาพท้าวทั้ง 4 สลับกันไปมา ในตำนานกล่าวว่าท้าววิรูปักษ์ เจ้าแห่งนาค เป็นผู้มอบคาถาวิรูปักเขหรือคาถาปราบงูแด่พระพุทธเจ้ายามเมื่อธุดงค์ถือศีลในป่าเพื่อใช้ไล่งูและสัตว์มีพิษ และในพระไตรปิฎกมีอหิราชสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อสวดแผ่เมตตาให้กับบรรดาอสรพิษต่างๆ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ อหิราชสูตรเป็นคาถาต่อจากอาฏานาฏิยสูตรซึ่งเป็นคาถาไล่ผีที่ใช้พิธีสวดภาณยักษ์” ศุภวรรณกล่าว
ความแค้นระหว่างครุฑกับนาคส่งผลให้งูมีลิ้นสองแฉก
พิกัด : โรงราชรถ
ไฮไลต์ : ราชรถและราชยานเป็นหนึ่งในเครื่องประกอบในพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์และได้รับการสร้างอย่างวิจิตรงดงามตามคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์หรือสมมุติเทพที่จุติลงมายังโลกมนุษย์ เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคตเท่ากับเป็นการเสด็จกลับสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ศิลปกรรมรูปครุฑจึงมักใช้เป็นองค์ประกอบของงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เนื่องจากครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ และรูปนาค สัตว์ในเทวตำนานผู้ปกป้องดูแลเขาพระสุเมรุที่อยู่ขององค์มหาเทพ
ตำนานอสรพิษ : ตามตำนานกล่าวว่าครุฑและนาคเป็นพี่น้องต่างแม่และไม่ลงรอยกัน ครั้งหนึ่งกัศยปฤาษีให้นางทั้งสองขอพรได้คนละข้อ ผู้น้องนามว่า กัทรุ ขอพรให้มีลูกมากมายและแปลงกายได้ ส่วนฝ่ายพี่นามว่า วินตา ขอพรให้ตนมีลูกเพียงแค่สอง แต่มีอิทธิฤทธิ์มากกว่าลูกของน้องสาว เมื่อเวลาผ่านไป 500 ปี นางกัทรุให้กำเนิดนาค 1,000 ตัว แต่นางวินตาคลอดลูกเป็นไข่สองฟองและไม่ยอมฟักเป็นตัว นางจึงทุบไข่ใบแรกทำให้บุตรมีร่างเพียงครึ่งท่อนนามว่า พระอรุณ ด้วยโทสะว่ามารดาทำให้ตนเกิดก่อนกำหนดจนพิการ พระอรุณจึงสาปให้มารดาของตัวเองเป็นทาสของนาคเป็นเวลา 500 ปี และบุตรจากไข่ใบที่ 2 จะเป็นผู้ช่วยให้นางพ้นคำสาป
“บุตรจากไข่ใบที่ 2 คือพญาครุฑ และถ้าจะไถ่ตัวแม่จากการเป็นทาสได้ต้องไปนำน้ำอมฤตจากสวรรค์มาให้นาค แต่เมื่อได้มาแล้วพญาครุฑก็ออกอุบายให้เหล่านาคไปอาบน้ำให้สะอาดก่อนดื่มน้ำอมฤต จากนั้นก็แอบเขี่ยไหให้แตก พวกนาคเสียดายจึงเลียน้ำที่หยดบนยอดหญ้าจนกระทั่งลิ้นถูกบาดเป็นสองแฉก กลายเป็นตำนานว่าทำไมงูจึงมีลิ้นสองแฉก” ศุภวรรณกล่าว
เบญจรงค์ 5 สี กับตำนาน “เจ้าแม่หนี่วา” ผู้สร้างมนุษย์จากดิน
พิกัด : ห้องเครื่องถ้วยในราชสำนัก หมู่พระวิมาน
ไฮไลต์ : คอลเลกชันเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่เขียนลวดลายด้วยสี 5 สี คือ แดง เหลือง ดำ ขาว และเขียว สะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นสูงในราชสำนักสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 2 แหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์น่าจะมาจากแหล่งเตาทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยทางราชสำนักสยามน่าจะให้ช่างเขียนลายต้นแบบ อาทิ รูปสัตว์หิมพานต์ เทวดา เทพนม ลายกระหนก ลายตัวละครในวรรณคดี เช่นเรื่องพระอภัยมณี และส่งไปให้ช่างจีนทำ ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการเดียวกับการสั่งซื้อ “ผ้าลายอย่าง” จากอินเดียที่บนผืนผ้าปรากฏลวดลายอย่างไทย
ตำนานอสรพิษ : ใน “คัมภีร์ขุนเขาและท้องทะเล หรือซานไห่จิง ที่ว่าด้วยการเกิดโลกและสัตว์ประหลาด กล่าวถึงเจ้าแม่หนี่วา ผู้มีร่างกายท่อนบนเป็นผู้หญิงและท่อนล่างเป็นงู ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์บนโลกจากการนำดินโคลนมาปั้นเป็นรูปคนและเป่าลมให้มีชีวิต แต่เมื่อเริ่มขี้เกียจและต้องการสร้างคนจำนวนมากจึงใช้เชือกจุ่มไปในโคลนและสะบัดออกไป กลุ่มคนที่เกิดจากการปั้นมือในตอนแรกมีรูปร่างสวยและดูดีจึงกลายเป็นกลุ่มชนชั้นปกครอง แต่กลุ่มคนที่เกิดจากการสะบัดโคลนกลายเป็นกลุ่มทาส
“ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินแยกจากเสาค้ำยันสวรรค์หัก และท้องฟ้ารั่วจากการต่อสู้ระหว่างเทพบนสวรรค์ เจ้าแม่หนี่วาเป็นผู้ปั้นดิน 5 สี คือ ขาว แดง เหลือง เขียว และดำ เพื่ออุดรอยรั่ว จึงเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมการใช้สี 5 สีเป็นพื้นฐานของทั้งจีน อินเดีย และเปอร์เซีย แต่เฉดสีอาจจะแตกต่างกันออกไป เช่น การทำเบญจรงค์ของจีน และการทำผ้าพิมพ์ลายอย่างของอินเดีย” ศุภวรรณอธิบาย
Fact File
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ จัดกิจกรรม “ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ” (Night at the Museum) โดยเปิดให้เข้าชมได้จนถึงเวลา 20.00 น. ระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม พ.ศ. 2567
- การนำชม ทัวร์ปีมะเส็ง “อาศิรวิษนักษัตร” ที่เล่าเรื่องตำนานอสรพิษ จัดวันละ 1 รอบในช่วง Night at the Museum ตั้งแต่เวลา 18.00-19.30 น. โดยไม่ต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้า ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น.
- ภายในงานยังมีกาชาปอง “มะเส็งเฝ้าทรัพย์” รูปตราประทับงูเฝ้าทรัพย์ ใต้ฐานสลักอักษรมงคลห้าประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ โดยเปิดสุ่มที่บูทมู-เซียม สตูดิโอ 064 ในตลาดพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ในราคาสุ่มละ 200 บาท
- สอบถามเพิ่มเติม : โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok