Sustainable Tourism Innovation 2024 อพท. เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมพัฒนา เกาะยอ ไฮไลต์แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
Better Living

Sustainable Tourism Innovation 2024 อพท. เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมพัฒนา เกาะยอ ไฮไลต์แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

Focus
  • ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเกาะยอที่หลอมรวมทั้งเรื่องระบบนิเวศและวิถีท้องถิ่นดั้งเดิม เกาะแห่งนี้จึงมีเสน่ห์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งไทยและต่างชาติโดยเฉพาะจากจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศตะวันตกให้มาเยือนเกาะยอเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี
  • Sustainable Tourism Innovation 2024 เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”

จบลงไปแล้วสำหรับกิจกรรมแข่งขันระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” จัดโดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาขีดความสามารถด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ซึ่ง เกาะยอ จังหวัดสงขลา ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่พิเศษภายใต้การดูแลของ อพท. ด้วยเช่นกัน

Sustainable Tourism Innovation 2024

เกาะยอ เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดดเด่นด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย อาหารพื้นถิ่นอันเลิศรส วัฒนธรรมร่วมสมัยที่หลอมรวมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เกาะยอจึงเปรียบเสมือนอัญมณีที่รอการเจียระไนเพื่อส่องแสงในเวทีการท่องเที่ยวระดับโลก โดยที่ผ่านมาเกาะยอสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศตะวันตก ให้มาเยือนเกาะยอเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการท่องเที่ยวบนเกาะยอจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ก็ย่อมต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนั่นจึงเป็นที่มาของการตามหาไอเดียเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาขีดความสามารถด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาะยอ ผ่านกิจกรรมแข่งขันระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024

Sustainable Tourism Innovation 2024

สำหรับทีมชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนักเรียน/นักศึกษา ได้แก่ ผลงาน นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism)  “I LAN YOR” จาก ทีม I LAN YOR และประเภทประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผลงาน “กล่องนวัตกรรมสายน้ำแห่งวัฒนธรรมเกาะยอ” จาก ทีมเกาะยอทอวิถี โดยทาง อพท.ได้นำผลงานนวัตกรรมชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท ไปทดสอบการใช้งานจริงในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเลือกตำบลเกาะยอ และโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ในอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ทั้งนี้ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจของทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งระบุว่าผลงานมีศักยภาพที่จะประยุกต์ใช้ในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

Sustainable Tourism Innovation 2024

“กล่องนวัตกรรมนี้ใช้ต้นทุนในการผลิตไม่สูงมาก สามารถพัฒนาให้เป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ สร้างความสนุกให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจวัฒนธรรม และช่วยชูเอกลักษณ์ชุมชนในเทศกาลต่างๆ หรือจัดทำเป็นของที่ระลึกเชิงนวัตกรรมจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้ และในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเทคนิคใหม่ เช่น การเพิ่ม Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น การชมความเคลื่อนไหวของปลากะพงในกล่องนวัตกรรม หรือการนำ AR มาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะยอ”

Sustainable Tourism Innovation 2024

ดร.เกรียงศักดิ์ รักษาเดช อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จากทีมเกาะยอทอวิถี ทีมชนะเลิศประเภทประชาชน อธิบายถึงคอนเซ็ปต์ “กล่องนวัตกรรมสายน้ำแห่งวัฒนธรรมเกาะยอ” มีที่มาจากแนวคิดที่ต้องการฟื้นฟูประเพณีท้องถิ่น เช่น ลอยแพสะเดาะเคราะห์ ลากพระสรงน้ำ และแข่งเรือยาวมาสร้างสรรค์ผลงานกล่องนวัตกรรมสายน้ำแห่งวัฒนธรรมเกาะยอ นวัตกรรมนี้ผสานเทคนิคภาพลวงตา Pepper Ghost และกล้อง สเตริโอสโคป สื่อสารวัฒนธรรมผ่านรูปแบบที่สร้างสรรค์ เรียบง่าย แต่ทรงพลัง ซึ่งกล่องนวัตกรรมดังกล่าวไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวของอดีต หากแต่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชม พร้อมกระตุ้นความภาคภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมของชุมชน

Sustainable Tourism Innovation 2024

ด้านทีม I LAN YOR ได้ครีเอต นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) I LAN YOR ในรูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชนเกาะยอเข้าด้วยกัน โดย นางสาวกันยากร คำพิทูล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนทีม I LAN YOR บอกถึงคอนเซ็ปต์ของนวัตกรรมนี้ที่ประกอบด้วย 3 แนวคิดหลัก ได้แก่ อยู่แต่สวน  นำนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนผลไม้ของชาวบ้าน เรียนรู้กระบวนการปลูก บ่ม และแปรรูปผลไม้ กวนในร่ม กิจกรรมเวิร์กช็อปภายในสวนให้นักท่องเที่ยวสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกับชาวบ้าน พร้อมนำกลับเป็นของฝาก และ ห่มกลับบ้าน การผสานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับการนำผ้าทอเกาะยอลายประจำถิ่นที่โด่งดังอย่างลาย “ราชวัตถ์” มารังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของที่ระลึกกลับไป

นายสรยุทธ หวังโส๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อีกหนึ่งตัวแทนของทีม I LAN YOR กล่าวเสริมว่า เกาะยอขึ้นชื่อด้านผลไม้และหัตถกรรมท้องถิ่น เช่น จำปาดะ ไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญ ออกผลตลอดปีและแปรรูปได้หลากหลาย เช่น เค้กจำปาดะ คุกกี้จำปาดะ ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ส่วน สวาหรือละมุดลูกใหญ่ แม้มีข้อจำกัดด้านฤดูกาลแต่ก็เหมาะสำหรับการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้เช่นกัน ด้านหัตถกรรมผ้าทอเกาะยอโดยเฉพาะลาย “ราชวัตถ์” ที่สะท้อนความประณีตและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น เสื้อผ้า กรอบรูป ผ้าคลุมไหล่ หรือถ้านำไปเคลือบสารนาโนให้มีความแข็งแรงคงทน ก็สามารถนำมาผลิตเป็นผ้ากันเปื้อนได้

นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี
ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ  อพท.

ขณะที่ นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ  อพท. กล่าวว่า อพท. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายสรวงษ์ เทียนทอง) ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ มีภารกิจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย อพท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงได้จัดกิจกรรมแข่งขันระดับชาติเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรม และยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการของชุมชนในพื้นที่พิเศษของ อพท. อีกด้วย

“การจัดการแข่งขันนวัตกรรมระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024 เป็นหนึ่งในภารกิจของ อพท. ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนให้กับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ เพื่อสร้างสรรค์เครื่องมือและพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษต่อไป” ผอ. อพท. กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำเร็จของการแข่งขันนวัตกรรมระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024

Fact File

ติดตามบรรยากาศกิจกรรมแข่งขันระดับชาติเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) และการนำผลงานนวัตกรรมลงทดสอบจริงในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ของ อพท. ได้ที่ https://www.dasta.or.th/th/article/4662


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite