6 วัฒนธรรมไทย สู่ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
- เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้ ต้มยำกุ้ง อาหารที่เป็นไอโคนิคและสะท้อนถึงวิถีชีวิตและมรดกภูมิปัญญาของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
- รายการแรกของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเมื่อปี พ.ศ.2561 คือ โขน
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลาประมาณ 02.10 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ขององค์การยูเนสโก ซึ่งจัดขึ้น ณ นครอซุนซิออน สาธารณรัฐปารากวัย ได้ประกาศให้ ต้มยำกุ้ง อาหารที่เป็นไอโคนิคและสะท้อนถึงวิถีชีวิตและมรดกภูมิปัญญาของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ประจำปี 2567
ต่อเนื่องในช่วงค่ำของวันเดียวกันได้มีการประกาศให้ชุดพื้นเมือง เคบายา เป็นรายการมรดกวัฒนธรรมที่ 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ร่วมกันเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปีนี้ด้วย Sarakadee Lite ชวนย้อนรอย 6 ตัวแทนรายการด้านวัฒนธรรมของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
เคบายา (2567)
เป็นเสื้อสตรีพื้นเมืองที่เป็นองค์ประกอบหลักในการแต่งกายแบบเพอรานากัน หรือที่รู้จักกันว่า บาบ๋า-ย่าหยา เป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มคนที่มีเชื้อสายจีนและมลายูซี่งมีถิ่นฐานอยู่ในภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต พังงา รวมทั้งบางพื้นที่ของมาเลเซีย สิงคโปร์ ลักษณะเด่นของตัวเสื้อเคบายาจะเป็นแบบเปิดหน้า นิยมสีสันสดใสและฉลุลายสัตว์มงคลหรือดอกไม้ สวมใส่กับผ้านุ่งปาเต๊ะ เคบาย่าเคยได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยเมื่อปี 2555
ต้มยำกุ้ง (2567)
ต้มยำกุ้ง เคยได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยเมื่อปี 2554 ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ ด้วย ต้มยำกุ้ง เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่มีความเรียบง่ายและเป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารโดยชื่อ ต้มยำกุ้ง เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำ ให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพร จนปัจจุบันที่ภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งได้มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นอาหารขึ้นชื่อของไทยและเป็นที่รู้จักแพร่หลายในต่างประเทศ
สงกรานต์ (2566)
ประเพณีการเล่นสงกรานต์แบบไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อ พ.ศ.2566 สำหรับประวัติศาสตร์ วันสงกรานต์ นั้นเดิมทีไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 13 เมษายน แต่ในสมัยก่อนไทยเรามีการกำหนด วันสงกรานต์ แบบคำนวณปีต่อปี และต้องคอยฟังประกาศจากทางการว่าปีนี้ ปีใหม่ไทยหรือ สงกรานต์ จะตรงกับวันใด ส่วนการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันมหาสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ และเป็นวันครอบครัว เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ 2491 ด้วยช่วงมหาสงกรานต์ตรงกับฤดูเก็บเกี่ยว นับว่าเป็นเวลาดีที่จะได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เหมาะกับช่วงทำบุญใหญ่ในรอบปี การฉลองสงกรานต์แบบไทยๆ ไม่ได้มีแค่ทำบุญ ตักบาตร รดน้ำดำหัว หรือสรงน้ำพระ ทว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติคือ กิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ซึ่งในแต่ละภาค แต่ละจังหวัดที่จะมีการผสมผสานรากวัฒนธรรมท้องถิ่นให้แตกต่างกัน
โนรา (2564)
โนรา ถือเป็นรายการ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 3 ของไทยต่อจาก นวดไทย (พ.ศ.2562) และโขน (พ.ศ.2561) ปัจจุบันในภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะในพื้นที่พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา มีคณะโนราเล็กใหญ่กระจายอยู่กว่า 200 คณะ และมี 12 สายตระกูลหลักที่ทำหน้าที่สืบทอดท่ารำโนราในแบบฉบับเฉพาะของแต่ละสายตระกูล รวมทั้งมี “โนราโรงครู” เป็นพิธีกรรมเฉพาะที่ยังคงได้รับการสืบสานและจัดอย่างยิ่งใหญ่ตลอด 3 วัน อีกทั้งเครื่องแต่งกาย และเครื่องดนตรีของโนราก็มีรูปแบบเฉพาะ ด้านเนื้อหาก็สะท้อนทั้งความเชื่อ ศาสนา วิถีชีวิต และตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งนั่นทำให้การแสดงโนราไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่โนรายังได้รวมเอามรดกทางภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมที่ตกทอดมาอย่างยาวนานเข้าไว้ด้วยกัน
นวดไทย (2562)
นวดไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี 2562 โดยในเว็บไซต์ของยูเนสโกระบุว่า นวดไทยเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์และศิลป์และวัฒนธรรมของการสาธารณสุขพื้นบ้าน โดยการนวดนั้นเพื่อให้เกิดความสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกายคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
หากเอ่ยถึงศาสตร์การนวดแผนไทย วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์ ย่อมเป็นชื่อแรกที่หลายคนนึกถึง เพราะเป็นสถานที่ที่รวบรวมตำราการแพทย์แผนโบราณผ่านจารึกวัดโพธิ์ ประดับไว้ที่ศาลาราย เสา และระเบียงพระอุโบสถ รวมทั้งประติมากรรมรูปฤาษีดัดตน รวมทั้ง “ตำราหมอนวดจำนวน 60 ภาพ” จารึกไว้ที่ศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ด้านเหนือ และที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คือ นวดไทยวัดโพธิ์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการนวดแผนไทยชิ้นเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการอ้างถึงคือศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยซึ่งขุดพบที่ป่ามะม่วง มีการจารึกเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยการนวด ส่วนหลักฐานเอกสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนวดแผนไทยพบในสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ได้มีการสถาปนาระบบการแพทย์แผนไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1998 โดยแบ่งงานสาธารณสุขออกเป็น 7 กลุ่มซึ่งมีกลุ่มหมอนวดเป็นหนึ่งในนั้น
โขน (2561)
รายการแรกของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเมื่อปี พ.ศ.2561 คือ โขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยและมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในราชสำนักและตามบ้านขุนนางชั้นสูงจะมีการฝึกหัดการแสดงโขนเพื่อแสดงในงานมหรสพหลวงและพิธีต่างๆสำหรับสร้างความบันเทิงและเป็นเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สอดแทรกคติต่างๆ สู่ผู้ชมผ่านการแสดงของตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของความดี ความชั่ว ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งมีที่มาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย
ปัจจุบันการแสดงโขนได้เผยแพร่ไปสู่ประชาชน มีคณะโขนพื้นบ้านเกิดขึ้นหลายคณะพร้อมมีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเพื่อสืบทอดศิลปะการแสดงโขน เช่น การร่ายรำ ท่าเต้น เครื่องแต่งกาย บทโขน บทเพลงและดนตรี รวมทั้งฉากและอุปกรณ์ ตลอดจนเทคนิคทางด้านการแสดงต่างๆ
หนึ่งในการแสดงที่สำคัญและได้ความนิยมอย่างมากคือการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือ โขนพระราชทาน หรือที่หลายคนเรียกว่า โขนศิลปาชีพฯ ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 โขนมูลนิธิฯเน้นการดำเนินเรื่องกระชับฉับไวพร้อมอุปกรณ์ประกอบฉาก แสง สี เสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจและเต็มไปด้วยฉากสู้รบที่เร้าใจและคลุกเคล้าความสนุกด้วยมุกตลกที่พอเหมาะจึงเหมาะสมกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย แต่ยังคงสืบสานความวิจิตรของศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในด้านวรรณศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์และวิจิตรศิลป์