ท่าพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของคู่รักนักสะสม พิริยะ-กรกมล วัชจิตพันธ์
- ท่าพิพิธภัณฑ์ หรือ Museum Pier เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก่อตั้งโดยคู่สามีภรรยา พิริยะ-กรกมล วัชจิตพันธ์
- นิทรรศการเปิดตัวคือ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History จากคอลเลกชันส่วนตัวของทั้งคู่ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการจัดเป็นครั้งแรกเมื่อกลางปี 2567 ที่หอศิลปเจ้าฟ้า
- นิทรรศการบอกเล่าประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่กว่า 2 ศตวรรษของไทยผ่านผลงานกว่า 100 ชิ้น พร้อมกับเพิ่มเติมผลงานศิลปะชิ้นที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนอีกราว 20 ชิ้น
หลังจากประสบความสำเร็จด้วยจำนวนผู้เข้าชมร่วมหมื่นคนจากนิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History ที่จัดแสดงเกือบ 2 เดือนเมื่อกลางปี 2567 ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) พิริยะ และ กรกมล วัชจิตพันธ์ ได้นำผลงานในนิทรรศการกว่า 100 ชิ้นจากคลังสะสมส่วนตัวมาจัดแสดงอีกครั้ง ณ ท่าพิพิธภัณฑ์ หรือ Museum Pier พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้ง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คู่สามีภรรยา พิริยะ และ กรกมล สนใจศึกษาเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ของไทยอย่างจริงจังจนกลายเป็นนักสะสมผลงานศิลปะตัวยงด้วยคอลเลกชันหายากกว่า 500 ชิ้น พร้อมกับก่อตั้งบริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center ทั้งคู่ยังมีความตั้งใจที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวโดยโลเคชันที่ต้องการคือใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น บริเวณวัดพระแก้ว
“เวลาไปเมืองนอกและเข้าชมพิพิธภัณฑ์เราจะเห็นประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการศิลปะของประเทศนั้นๆ พิพิธภัณฑ์ในบ้านเรายังไม่ครบเครื่องขนาดนั้น ผมจึงอยากทำสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย ผมมีไอเดียอยากทำมิวเซียม ณ ใจกลางเมืองที่สุดโดยหัวใจคือวัดพระแก้ว แต่โลเคชันหายากมาก” พิริยะ ผู้มีอีกบทบาทหนึ่งคือคอลัมนิสต์ศิลปะในนามปากกา “ตัวแน่น” กล่าว
ความฝันของคู่รักนักสะสมได้กลายเป็นจริงแล้วเมื่อเขาได้พื้นที่ราว 1,500 ตารางเมตรในอาคาร 3 ชั้นของโครงการ “ท่าช้าง วังหลวง” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือท่าช้างและห่างจากวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังเพียงข้ามฝั่งถนน การปรับปรุงอาคารเพื่อให้เหมาะสมกับการจัดแสดงงานศิลปะจึงเกิดขึ้นและนิทรรศการเปิดตัวของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่คือ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History ที่เล่าไทม์ไลน์ของศิลปะสมัยใหม่ของไทยในช่วง 2 ศตวรรษตั้งแต่ยุค ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ริเริ่มใช้เทคนิคเขียนทัศนียภาพ (perspective) แบบตะวันตก จนถึงศิลปินรุ่นใหม่มาแรงในยุคนี้ เช่น Alex Face-พัชรพล แตงรื่น และ มอลลี่-นิสา ศรีคำดี ศิลปินอาร์ตทอยผู้โด่งดังจากคาแรคเตอร์ Crybaby
“ความฝันของเราสองคน คือการสร้างสังคมที่เห็นคุณค่าของงานศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งสามารถส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้อย่างภูมิใจ การเปิดตัวท่าพิพิธภัณฑ์จึงเป็นมากกว่าสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะ แต่เป็นมรดกล้ำค่าที่เราจะฝากไว้ให้แก่ประเทศ เราจะจัดนิทรรศการหมุนเวียนและสามารถเป็น Travelling Exhibition ไปแสดงที่ต่างประเทศได้ ที่นี่จะเป็นเหมือนฐานปล่อยจรวด” พิริยะเผยว่านิทรรศการครั้งต่อไปอาจเป็นคอลเลกชันฟอสซิสสัตว์ดึกดำบรรพ์ต่างๆ ที่เขาสะสมเช่น ไดโนเสาร์ และช้างแมมมอส
สำหรับนิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History ณ ท่าพิพิธภัณฑ์ พิริยะกล่าวว่าไม่ได้เป็นการจัดในรูปแบบ copy & paste จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) แต่ได้คัดเลือกผลงานศิลปะชิ้นที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนมาเพิ่มเติมอีกราว 20 ชิ้น เช่น ภาพ Still Life ที่ศิลปินต่างชาติคนสำคัญของสยามคือ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) วาดโดยได้แรงบันดาลใจจากข้าวของเครื่องใช้ของสยามที่เขานำกลับไปอิตาลี พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ฉายภาพโดย ฟรานซิส จิตร และได้นำไปเป็นแบบให้ศิลปินชาวยุโรป (ไม่ปรากฏนามศิลปิน) วาดภาพเขียนสีน้ำมันพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รวมไปถึงภาพวาดกึ่งนามธรรมขนาดยาวเกือบ 9 เมตรของ ประเทือง เอมเจริญ ซึ่งติดอยู่ตรงเพดานของโถงทางเข้า
“การมาเยี่ยมชมนิทรรศการในครั้งนี้จะไม่ได้เป็นเพียงแค่มาดูงานศิลป์ แต่คุณยังได้เห็นบริบทที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงเวลานั้น ๆ รวมถึงอิทธิพลจากภายนอกที่ส่งผลมายังแวดวงศิลปะของบ้านเรา เราอยากเปิดโอกาสให้คนรักงานศิลป์ได้ร่วมกันชื่นชมผลงานศิลปะ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ผลงานศิลปะที่ไม่ตาย คือผลงานศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ร่วมสัมผัส ยิ่งเป็นการต่อลมหายใจผลงานชิ้นนั้นๆ รวมถึงเชิดชูจิตวิญญาณของศิลปินผู้สร้างให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน” กรกมล ผู้ยังมีบทบาทเป็นผู้บริหารเครื่องสำอางแบรนด์ KA และนักร้องนำวงละอองฟอง กล่าว
ด้านหน้าของท่าพิพิธภัณฑ์ติดตั้ง ประติมากรรมรูปบ้านหลังใหญ่ “Memory House” ของ Alex Face โดยภายในบ้านติดตั้งคาแรคเตอร์สุดฮิตของเขา คือ Mardi เด็กหญิงสามตาในชุดกระต่ายเพื่อสะท้อนความทรงจำบ้านของเขาในวัยเด็กและปัญหาสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโถงทางเข้ายังมีมิวเซียมช็อปที่ทางท่าพิพิธภัณฑ์จับมือกับ happening shop รวบรวมผลงานของศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่ พร้อมกันนี้ยังจัดแสดงประติมากรรม “Unsent Letter” ของ ซันเต๋อ-ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ป็นแผ่นเหล็กอัดก้อนขนาดเกือบ 2 เมตรทำเป็นรูปจดหมายที่เขียนแล้วขยำทิ้งในบริเวณช็อปด้วย
ก่อนจะก้าวเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงงาน ขอแนะนำให้สังเกตเพดานตรงโถงทางเข้าที่ติดตั้งภาพเขียนขนาดใหญ่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของ ประเทือง เอมเจริญ เกี่ยวกับชีวิตและธรรมชาติ
“ภาพนี้เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดของอาจารย์ประเทืองที่วาดในปี พ.ศ.2521 ช่วงที่ท่านยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก เป็นภาพขนาดยาวเกือบ 9 เมตรแบบภาพมุมกว้างมีดวงอาทิตย์และนกอินทรีเป็นจุดเด่นอยู่ตรงกลางภาพ เพื่อนของอาจารย์ประเทืองให้วาดภาพขนาดใหญ่เท่ากำแพงเพื่อจะนำมาประดับดิสโก้เทค แต่เมื่อเห็นภาพแล้วเขาว่าเหมาะกับสถานปฎิบัติธรรมมากกว่าจึงเก็บไว้และผมไปขอซื้อต่อมา” พิริยะกล่าว
นิทรรศการแบ่งออกเป็น 8 โซนและจัดแสดงทั้ง 3 ชั้นของอาคาร โดยเริ่มต้นจากปฐมบทของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยด้วย ภาพสีฝุ่นบนแผ่นไม้ของ ขรัวอินโข่ง (ราวสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4) ผู้ริเริ่มแหวกขนบการเขียนภาพแบบประเพณีไทยนิยมโดยสร้างมิติของภาพด้วยหลักทัศนียภาพแบบศิลปะของตะวันตกผสานกับงานจิตรกรรมฝาผนังและใช้สัญลักษณ์เป็นปริศนาธรรมแทนการวาดพุทธประวัติ
“ขรัวอินโข่งเล่าปริศนาธรรมเป็นภาพคนข้ามเรือไปยังอีกฝั่งที่เจริญกว่า ในภาพมีรูพรุนเล็กๆโดยเฉพาะที่ตรงรูปธงช้างและทีแรกผมคิดว่าอาจจะเป็นมอด แต่เมื่อส่งให้ผู้เชี่ยวชาญคือ โรแบร์ต (Robert Bougrain Dubourg นักอนุรักษ์ชาวฝรั่งเศสผู้ก่อตั้ง องค์กรอนุรักษ์ไร้พรมแดน หรือ Restaurateurs Sans Frontières) เพื่อซ่อมแซมกลับพบว่ารูพรุนเล็กๆนั้นเกิดจากลูกดอกที่ใช้ปาเป้า เพราะเดิมงานชิ้นนี้อยู่ที่วัดและเด็กวัดนำมาใช้เป็นเป้าปาลูกดอก นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องธงให้ความเห็นว่าผลงานชิ้นนี้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่าสยามมีการใช้ธงช้างแบบชูงวงบนพื้นสีแดงมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว” พิริยะกล่าว
อีกหนึ่งชิ้นงานไฮไลต์คือ ภาพลายเส้นดินสอบนกระดาษ “ศรีวสุท” เป็นภาพร่างพระแม่ธรณีบีบมวยผมและด้านขวาล่างมีสัญลักษณ์ “น.ในดวงใจ” และระบุผู้วาดคือ “น.หนู” ซึ่งมาจากพระนามย่อของ สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และคำว่า “ดวงใจ” มาจากพระนามเดิมของพระองค์คือ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าจิตรเจริญ
“สมเด็จฯกรมพระยานริศฯ ทรงเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ไทยคนแรกๆ ภาพนี้เจ้าของเดิมได้มาโดยบังเอิญจากตู้ไม้เก่าของครูแนบ บังคม ศิลปินแกะสลักงานให้กรมพระยานริศฯ โดยเขาเห็นขอบกระดาษโผล่มาจากขอบตู้ ภาพนี้วาดในปี 2463 หลังจากที่กรมพระยานริศฯ ได้ออกแบบศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาและสร้างเสร็จเมื่อปี 2460 จึงสันนิษฐานว่าภาพลายเส้นนี้อาจจะออกแบบเพื่อเป็นโลโก้ให้กับการประปา”
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการว่าจ้างช่างเขียนและสถาปนิกต่างชาติเข้ามารับราชการในสยามเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศในยุคล่าอาณานิคม นิทรรศการจึงจัดแสดงผลงานของศิลปินต่างชาติที่เกี่ยวเนื่องกับราชสำนักสยามโดยเริ่มจาก ภาพเขียนสีน้ำมันพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ราวทศวรรษ 2420) ที่ไม่ปรากฏนามศิลปิน แต่สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในศิลปินชาวยุโรปที่รัชกาลที่ 5 ทรงส่งภาพพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมฉลองพระองค์และเครื่องประดับไปเพื่อใช้เป็นแบบวาด
“ในภาพจะเห็นว่าพระเศียรของ ร.5 จะใหญ่กว่าปกติ เพราะศิลปินยุโรปตั้งใจวาดเพื่อให้ภาพนำไปติดบนที่สูงเมื่อมองแล้วจะได้สัดส่วนพอดี รูปในภาพวาดตรงกับภาพที่ถ่ายโดย ฟรานซิส จิตร จึงสันนิษฐานว่ามีการส่งภาพถ่ายนี้ไปให้ศิลปินยุโรปวาดกลับมา แต่สังเกตให้ดีจะเห็นว่าผิวในภาพวาดเป็นสีชมพูเรื่อๆ แบบฝรั่งซึ่งเพี้ยนจากภาพถ่าย ภายหลังรัชกาลที่ 5 จึงว่าจ้างให้ศิลปินต่างชาติเดินทางมาสยาม เช่น ศิลปินอิตาลี จูเซปเป เทอร์ชี เพื่อวาดภาพพระบรมวงศานุวงศ์ และ กาลิเลโอ คินี เพื่อมาเขียนภาพพระราชกรณียกิจของบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม”
อีกหนึ่งโซนจัดแสดงอุทิศแด่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย” และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเป็นสถาบันศิลปะระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ ส่วนผลงานปั้นหล่อและออกแบบอนุสาวรีย์ที่สำคัญ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมไปถึง พระศรีศากยะทศพลญาณ พระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม และรูปปั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
หลังจากนั้นเป็นการพัฒนาการสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินไทยในรูปแบบต่างๆ เช่น ศิลปะแนวเรียลิสม์อิมเพรสชันนิสม์ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ เซอร์เรียลลิสม์ และศิลปะจัดวาง ด้วยผลงานของศิลปินชั้นครูมากมาย อาทิ สมโภชน์ และ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จำรัส เกียรติก้อง เฟื้อ หริพิทักษ์ ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ มีเซียม ยิบอินซอย ประหยัด พงษ์ดำ ถวัลย์ ดัชนี เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต พิริยะ ไกรฤกษ์ และ มณเฑียร บุญมา
ภาพวาด 3 ภาพเกี่ยวกับสัตว์ได้นำมาจัดแสดงในผนังเดียวกันคือ ภาพวาดด้วยหมึกดำบนกระดาษรูปปลา (พ.ศ.2510) และ ภาพเขียนสีรูปไก่ขนาดใหญ่ของ ถวัลย์ ดัชนี ที่วาดในปีพ.ศ.2511 ด้วยเทคนิคปาดเกรียง กับภาพสีน้ำมันบนแผ่นไม้ชื่อ “กลัว” (พ.ศ.2500) ของ ประหยัด พงษ์ดำ เป็นภาพโทนสีเข้มรูปนกกำลังกกไข่และแมวที่จ้องตะครุบลูกนก
“ภาพนกและแมวของอาจารย์ประหยัดลดทอนรูปทรง สีและน้ำหนักให้เรียบง่าย และพิเศษคือมีการปิดทองคำเปลงในบางจุดของภาพด้วย เช่น ดวงตาของแมวและพ่อนกแม่นก ส่วนภาพเขียนสีของอาจารย์ถวัลย์มีไม่มากและภาพไก่เปรียบเหมือนตัวเองเป็นไก่ที่พยายามจิกกัดวงการศิลปะให้ตื่นตัว และภาพปลาแสดงให้เห็นถึงการใช้เส้นสายที่คมและรวดเร็วซึ่งเป็นช่วงที่ท่านอินกับงานของซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali)”
ปิดท้ายด้วยผลงานของศิลปินร่วมสมัยและที่ขาดไม่ได้คือ คาแรคเตอร์ Crybaby ของ มอลลี่-นิสา ศรีคำดี ศิลปินอาร์ตทอยผู้โด่งดังกับผลงาน “Cry Me a River” ที่ Crybaby จมอยู่ในอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่และโผล่มาแต่ส่วนหัว แขนและขา โดยมีลูกบอลสีใสเต็มอ่างแทนความหมายของฟองสบู่ ผลงานนี้เคยจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในไทยของมอลลี่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2565 และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น
นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนของ เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ หรือที่รู้จักในชื่อ Line Censor ซึ่งเป็นศิลปินไทยคนแรกๆที่นำงานศิลปะเข้าสู่ตลาด NFT จนประสบความสำเร็จ โดยผลงานของเขามักเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเอารัดเอาเปรียบของผู้มีอำนาจ
Fact File
- นิทรรศการ “200 Years Journey through Thai Modern Art History” จัดแสดงตั้งแต่ 19 ตุลาคม 2567 – 30 มิถุนายน 2568 ณ ท่าพิพิธภัณฑ์ (Museum Pier) ในโครงการ “ท่าช้าง วังหลวง” ติดกับท่าเรือท่าช้าง ถนนมหาราช กรุงเทพฯ
- นิทรรศการมีค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 100 บาท ชาวต่างชาติ 300 บาท นักเรียนและนักศึกษา (แสดงบัตร) 50 บาท และเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 90 เซ็นติเมตร เข้าฟรี
- ท่าพิพิธภัณฑ์ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
- รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.museumpier.com/