ไอคอนสยาม ต้อนรับเทศกาลลอยกระทง จัดเต็ม นิทรรศการกระทงนานาชาติ 15 ประเทศ
- “นิทรรศการกระทงนานาชาติ 15 ประเทศ” นำเสนอกระทงในรูปแบบต่างๆเพื่อบอกเล่าเทศกาลสำคัญ มรดกทางวัฒนธรรมและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของนานาประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับประเพณีลอยกระทงของไทย
- ไอคอนสยามได้เชิญสถานเอกอัครราชทูต 15 ประเทศมาร่วมถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ ภายใต้แนวคิด Upcycled Kratong หรือกระทงรักษ์โลก
- กระทงสร้างสรรค์โดยนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และฐานกระทงออกแบบโดยศิลปินนักทำโมเดลชาวไทย ส่วนองค์ประกอบของกระทงนำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลและอัพไซเคิล
เทศกาลนวราตรีของประเทศอินเดียที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะขององค์พระแม่ทุรคา เทศกาลโคมลอยที่วัดโบโรบูดูร์ บนเกาะชวาตอนกลางของประเทศอินโดนีเซีย เทศกาลอินติไรมี (Inti Raymi) เพื่อบูชาพระเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ของชาวอินคาในประเทศเปรู และ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและฝรั่งเศสกว่า 340 ปีนับตั้งแต่เมื่อพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตจากสยามไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เหล่านี้คือเทศกาลสำคัญและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่นำมาร้อยเรียงผ่านการออกแบบกระทงไทยในรูปต่างๆ ใน นิทรรศการกระทงนานาชาติ 15 ประเทศ จัดแสดงระหว่างวันที่ 2 – 17 พฤศจิกายน 2567 ณ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม
นิทรรศการกระทงนานาชาติ 15 ประเทศ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 โดยไอคอนสยาม เพื่อต้อนรับเทศกาลลอยกระทงและเชื่อมโยงประเพณีไทยเข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลายของนานาประเทศ โดยทางไอคอนสยามได้เชิญสถานเอกอัครราชทูต 15 ประเทศ ได้แก่ ชิลี, สาธารณรัฐประชาชนจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เปรู, โปรตุเกส, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, สาธารณรัฐเกาหลี, เม็กซิโก, เนปาล และเวียดนาม มาร่วมถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ ภายใต้แนวคิด Upcycled Kratong หรือกระทงรักษ์โลก โดยนำแรงบันดาลใจจากงานเทศกาลของ 15 ประเทศ มาสร้างสรรค์เป็นกระทงไทยด้วยฝีมือนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ โชว์ความงดงามบนฐานกระทงจากฝีมือของศิลปินนักทำโมเดลชาวไทย และองค์ประกอบของกระทงทำขึ้นจากการนำวัสดุเหลือใช้หลากหลายประเภทจากโครงการ 360 Waste Journey to Zero Waste ของไอคอนสยามมารีไซเคิลและอัพไซเคิล เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ให้มีประโยชน์ ส่งต่อคุณค่า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
กระทงของแต่ละประเทศได้นำสัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของประเทศ และเรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี และมรดกทางวัฒนธรรมมานำเสนอและเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีลอยกระทงของประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจ เช่น ประเทศชิลี นำเสนอเทศกาล Tapati Festival เทศกาลเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมแบบชาวเกาะดั้งเดิม อันเป็นเอกลักษณ์และความภูมิใจของชาวราปานุย (Rapa Nui) ซึ่งมีทั้งการแสดงเต้นรำและแข่งเรือแคนู สะท้อนถึงจิตวิญญาณและวิถีชีวิตท้องถิ่น พร้อมด้วยอาหารและดนตรีพื้นเมือง ที่สร้างสีสันแห่งความสนุกให้ทุกคนเต็มอิ่มไปด้วยความสุข นอกจากนี้โดยรอบกระทงยังตกแต่งด้วยโมอาย รูปปั้นหินเอกลักษณ์เกาะอีสเตอร์ สร้อยดอกไม้สีชมพูที่สื่อถึงความรักและความสุข รวมถึงนก Manutara นกศักดิ์สิทธิ์ของชาวราปานุย
เทศกาลไหว้พระจันทร์ ของ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน และเป็นเทศกาลที่ผู้คนจะเดินทางกลับบ้านเกิดไปหาครอบครัวเพื่อจัดงานเลี้ยง ชมพระจันทร์และกินขนมไหว้พระจันทร์ร่วมกัน กระทงนี้จึงมีทั้งพระจันทร์ กระต่าย สัตว์เลี้ยงข้างกายของเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ รวมถึงดอกโบตั๋น ดอกไม้มงคลของประเทศจีนที่สื่อความหมายถึงความรัก โดยเน้นโทนสีแดง-เหลืองทอง ซึ่งสื่อถึงความโชคดี ความสุขและความเป็นมงคล
ประเทศอินเดีย นำเสนอ เทศกาลนวราตรี (Navratri) ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองแด่ชัยชนะขององค์พระแม่ทุรคาที่ปราบอสูรได้ (อวตารปางหนี่งของพระแม่อุมาเทวี) โดยจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ 9 วัน 9 คืน ตามระยะเวลาที่องค์พระแม่ทุรคาต่อสู้กับศัตรู และทั้ง 9 วันผู้คนจะร่วมกันบูชาพระแม่อุมาเทวี 9 ปาง รวมถึงสวดมนต์ ร้องเพลง และเต้นรำ Garba ซึ่งนักเต้นจะสวมชุดแต่งกายตามประเพณี และเต้นเป็นวงกลมล้อมรอบดวงไฟที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตและจิตวิญญาณ ท่ามกลางบรรยากาศที่ตกแต่งด้วยสีสันสวยงามจากดอกไม้และโคมไฟ
ประเทศอินโดนีเซีย นำความสวยงามของเทศกาลโคมลอยที่ วัดโบโรบูดูร์ (Borobudur Temple) มาบอกเล่า โดยเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงวันวิสาขบูชา ณ วัดโบโรบูดูร์ บนเกาะชวาตอนกลาง ซึ่งเป็นวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ในเทศกาลมีทั้งขบวนแห่เครื่องบูชา การสวดมนต์และการทำสมาธิ โดยจุดเด่นอยู่ที่การปล่อยโคมไฟนับพันดวงขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืน พร้อมคำอธิษฐานและความหวังของผู้เข้าร่วมพีธี เพื่อสันติภาพ ความสามัคคี และการหลุดพ้นจากความทุกข์
ประเทศอิตาลี เลือกใช้ธีม เทศกาลดนตรีซานเรโม (Sanremo Music Festival) มาออกแบบโดยนำเวทีคอนเสิร์ต ถ้วยรางวัลสไตล์โมเสก และต้นปาล์มสัญลักษณ์ของเมืองซานเรโม มารวมไว้บนกระทง ซึ่งส่วนของโมเสกเป็นการระลึกถึงงาน “Mosaico – the Italian code of timeless art” ที่สถานฑูตอิตาลีร่วมกับมิวเซียมสยามจัดขึ้นในปีนี้ ภายใต้แนวคิดหลักที่ต้องการผสมผสานสองวัฒนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยศิลปะและประเพณี ทั้งเทศกาลลอยกระทงของไทยและเทศกาลดนตรีซานเรโมของอิตาลีเข้าด้วยกัน
งานมหกรรมโลก Expo 2025 จะจัดขึ้น ณ เกาะยูเมชิมะ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เมษายนถึง 13 ตุลาคม 2568 ดังนั้นประเทศญี่ปุ่นจึงเลือกใช้งาน “Expo 2025 Osaka, Kansai” มาเป็นธีมหลักในการตกแต่งกระทงและสอดคล้องกับธีมของงาน Expo คือ “การออกแบบสังคมในอนาคตที่ชีวิตส่องประกาย” โดยได้นำ “เมียะคุเมียะคุ” (MYAKU-MYAKU) มาสคอตของงานที่สื่อถึงสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์และน้ำ เปรียบดังดีเอ็นเอภูมิปัญญา เทคโนโลยี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของมวลมนุษย์ที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มาเคียงข้าง “น้องภูมิใจ” มาสคอตตัวแทน Thai Pavilion ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพ
ประเทศเปรู ชวนทำความรู้จักกับเทศกาล อินติไรมี (Inti Raymi) เทศกาลสำคัญของชาวเปรู ที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระอินติ หรือพระเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ที่ชาวอินคาเคารพนับถือ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี ณ เมืองคุสโก อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรอินคา โดยถือเป็นการเฉลิมฉลองวันครีษมายันและปีใหม่ของชาวอินคา เพื่อต้อนรับการกลับมาของดวงอาทิตย์ที่นำพาความอบอุ่นและแสงสว่างมาสู่การเพาะปลูก ในอดีตเทศกาลอินติไรมีเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่มีการถวายเครื่องสังเวยพระอาทิตย์และจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ แต่หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรอินคาก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
ประเทศโปรตุเกส นำเสนอเรื่องราวอันน่าสนใจของ ไก่บาร์เซลูส สัตว์ประจำชาติ และ Flower Festival โดยบนกระทงจะเห็นไก่บาร์เซลูสซึ่งมีรูปหัวใจด้านข้างลำตัวและช่วงหาง สื่อความหมายถึงโชคลาภ ความสุข และความเจริญรุ่งเรือง ส่วนดอกไม้หลากหลายสีสันที่รายล้อมตัวไก่นั้นสื่อถึงเทศกาลดอกไม้สุดยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมือง Madeira ซึ่งภายในงานจะมีทั้งขบวนพาเหรดดอกไม้ นิทรรศการดอกไม้ แข่งขันจัดดอกไม้ ตลาดดอกไม้ และทั่วทั้งเมืองจะตกแต่งด้วยดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์
ประเทศฟิลิปปินส์ นำแนวคิดและประเพณีของชาวฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า “bayanihan” ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณแห่งชุมชน ความร่วมมือ และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน มาจัดแสดงผ่านองค์ประกอบของเทศกาลเก็บเกี่ยวประจำปี Pahiyas ที่ประเทศฟิลิปปินส์จะเฉลิมฉลองทุกวันที่ 15 พฤษภาคม ในเมือง Lucban จังหวัด Quezon เพื่อเป็นเกียรติแก่ San Isidro Labrador นักบุญอุปถัมภ์คาทอลิกของชาวไร่ชาวนา การนำเทศกาล Pahiyas มาเชื่อมโยงกับประเพณีไทยอย่างลอยกระทง นับเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของฟิลิปปินส์และไทย และเป็นการเฉลิมฉลอง 75 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในปีนี้ด้วย
ประเทศสหรัฐอเมริกา มาในธีมงานฉลองบอลลูนระดับโลก Albuquerque International Balloon Fiesta ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองอัลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก โดยจะฉลองอย่างยิ่งใหญ่ 9 วันเต็ม ด้วยการปล่อยบอลลูนพร้อมกันหลายร้อยลูกทุกวัน พร้อมด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ การแสดงดนตรี การออกร้านขายอาหาร และความบันเทิงอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีขบวนพาเหรดบอลลูนสีสันสดใส พาเหรดรถประดับ และพิพิธภัณฑ์บอลลูน ฯลฯ นับเป็นงานเทศกาลที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความสวยงามและความหลากหลายของรัฐนิวเม็กซิโก
ประเทศฝรั่งเศส สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและฝรั่งเศส ด้วยการนำรูปปั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระยาโกษาธิบดี (ปาน) มาเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์กว่า 340 ปี เมื่อครั้งที่พระยาโกษาธิบดีแห่งกรุงศรีอยุธยาและคณะทูตเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างสองประเทศ ขณะที่อีกด้านจำลองสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อันโดดเด่นของฝรั่งเศส อาทิ หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประตูชัย รวมถึงโอลิมปิกบอลลูนและกระถางคบเพลิง เพื่อพาผู้ชมข้ามเวลาจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน
สาธารณรัฐเกาหลี ปีนี้นำกีฬาประจำชาติอย่าง “เทควันโด” ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่มีมานานนับพันปีจนกลายมาเป็นกีฬาระดับโลกที่ได้บรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิกตั้งแต่ปี 2000 มานำเสนอ โดยยกเอาทั้งสนามแข่งและโพเดียมมอบรางวัลมาไว้บนกระทง พร้อมนำภาพของ “เทนนิส พาณิภัค” นักกีฬาเทควันโดระดับโลกสายเลือดไทย และโค้ชเช “ชัชชัย เช” หรือชื่อเดิม “ยอง ซอก เช” โค้ชเทควันโดชาวเกาหลีใต้ สัญชาติไทย มาไว้บนแท่นรับรางวัลที่ 1 เป็นการเชื่อมสองประเทศเข้าด้วยกัน
ประเทศเม็กซิโก โดดเด่นสะดุดตาด้วยสีสันสดใสของ Alebrijes (อเลบริเฆ่) ประติมากรรมพื้นบ้านรูปสิ่งมีชีวิตแฟนตาซีจากจินตนาการ ซึ่งมีต้นกำเนิดในเม็กซิโกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 โดยทั่วไป Alebrijes จะทำจากไม้และแต่งแต้มด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ในสีสันสดใส แต่ทุกวันนี้ Alebrijes ถูกนำไปใช้ผ่านรูปแบบที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์และการเฉลิมฉลองของชีวิตที่มักปรากฏในเทศกาลและขบวนพาเหรดต่าง ๆ นับเป็นศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินทั่วโลก และยังสะท้อนให้เห็นการผสมผสานระหว่างประเพณีกับความทันสมัย ตัวแทนของความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของประเทศเม็กซิโก
ประเทศเนปาล พาไปชมความงามของ สวยัมภูนาถ (Swayambhunath) หรือที่รู้จักในชื่อ “วัดลิง” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาในกาฐมาณฑุ ซึ่งได้ชื่อเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และเป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดในเนปาล ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งชาวพุทธและฮินดู โดยชาวเนปาลเชื่อว่าสถานที่นี้เกิดขึ้นเองเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน จากดอกบัวที่ผุดขึ้นกลางน้ำ ในสมัยที่กาฐมาณฑุยังเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ และด้วยความที่มีลิงอาศัยอยู่มากจึงได้ชื่อว่าเป็น “วัดลิง” ซึ่งด้วยความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมทำให้สวยัมภูนาถเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่งดงามของศิลปะโบราณของเนปาล
ประเทศเวียดนาม ปีนี้นำเสนอมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า หุ่นกระบอกน้ำ (Water Puppetry) หนึ่งในเอกลักษณ์ประจำชาติที่สืบทอดมานานกว่า 1,000 ปี เป็นการละเล่นประกอบดนตรีพื้นบ้าน โดยจะมีผู้บังคับหุ่นให้โชว์บนผืนน้ำอย่างมีชีวิตชีวา ในฉากโบราณสถานอันสวยงามที่มักสร้างขึ้นบริเวณแหล่งน้ำหรือบ่อน้ำ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต วรรณกรรมพื้นบ้าน หรือตำนานท้องถิ่น นับเป็นกระทงที่สะท้อนงานหัตถศิลป์และมรดกทางวัฒนธรรมของเวียดนามได้อย่างดียิ่ง
Fact File
- นิทรรศการกระทงนานาชาติ 15 ประเทศ จัดแสดงให้ชมฟรี ระหว่างวันที่ 2 – 17 พฤศจิกายน 2567 ณ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม
- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 1338 และ Facebook: ICONSIAM