ย้อนรอยคริสต์ในสยาม จากศาสนาสู่แว่นตา ยา กล้อง โรงพิมพ์ โรงพยาบาล โรงเรียนฝรั่ง
- ย้อนรอยคริสต์ในสยาม นับตั้งแต่มีการประกาศเผยแผ่คริสต์ศาสนาอย่างเป็นทางการในสยามโดยสันตะสำนักกรุงโรมเมื่อกว่า 350 ปีที่แล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งทางการเมือง การทูต และความก้าวหน้าทางศิลปะ
- ถึงแม้จะมีมิชชันนารีเดินทางมาสู่สยามเมื่อร่วม 500 ปีก่อนแล้ว แต่การสถาปนามิสซังสยามอย่างเป็นทางการเริ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2212 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 และถือเป็นมิสซังแรกของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (E.P)
ย้อนรอยคริสต์ในสยาม … นับตั้งแต่มีการประกาศเผยแผ่ คริสต์ศาสนา อย่างเป็นทางการในสยามโดยสันตะสำนักกรุงโรมเมื่อกว่า 350 ปีที่แล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งทางการเมือง การทูต และความก้าวหน้าทางศิลปะวิทยาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ การพิมพ์ในระบบโรงพิมพ์ โรงเรียน และโรงพยาบาล
Sarakadee Lite พาไป ย้อนรอยคริสต์ในสยาม เริ่มต้นจากรากฐานของนิกายโรมันคาทอลิก ที่ปัจจุบันในประเทศไทยมีคริสตังราว 3.8 แสนคน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ตามเขตการปกครองของพระศาสนจักรไทยที่เรียกว่าสังฆมณฑล และยังมีวัดคาทอลิกมากกว่า 500 แห่งกระจายอยู่ตาม 11 สังฆมณฑลซึ่งดูแลโดยพระสงฆ์ 400 กว่ารูป นักบวชชาย 100 กว่าคน และนักบวชหญิงเกือบ 1,500 คน
ก้าวแรกบนแผ่นดินสยามอย่างเป็นทางการ
ถึงแม้จะมีมิชชันนารีเดินทางมาสู่สยามเมื่อร่วม 500 ปีก่อนแล้ว แต่การ ย้อนรอยคริสต์ในสยาม อย่างเป็นทางการ เริ่มนับจากการสถาปนามิสซังสยามอย่างเป็นทางการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2212 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 และถือเป็นมิสซังแรกของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P)
คำว่ามิสซังมาจากคำว่า มิสซีออง(mission) ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึงขอบเขตการปกครองของพระสังฆราช หรืออาจเรียกว่าเทียบสังฆมณฑล และ “ที่ทำการแรก” ของมิสซังสยามอยู่ที่วัดนักบุญยอแซฟอยุธยา
พระสังฆราชลาโนได้รับอภิเษกเป็น Apostolic Vicar หรือผู้แทนพระสันตะปาปาองค์แรกของมิสซังสยาม ในภาพเขียนประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์คณะราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2216 มีรูปฝรั่งสูงวัยที่ตรงหน้าอกติดรูปไม้กางเขนอยู่ด้านขวาของภาพ นั่นคือภาพพระสังฆราชลาโน ผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามในขณะนั้น
คริสต์ศาสนากับการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝรั่งเศส เช่นส่งคณะราชทูตไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่กรุงปารีส เพื่อถ่วงดุลอำนาจของโปรตุเกสและฮอลันดาที่มีต่อราชอาณาจักร
นักวิชาการคริสต์ศาสนาสมัยใหม่วิเคราะห์ว่าการส่งเสริมมิชชันนารีและคริสต์ศาสนาด้วยการพระราชทานที่ดินแปลงใหม่เพื่อขยายวัดนักบุญยอแซฟ ยังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะผูกมิตรเพื่ออาศัยความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส
ความวิตกว่าพระองค์อาจเข้ารีตทางคริสต์ศาสนาจากการที่มีพระบรมราชานุญาตให้พระสังฆราชฝรั่งเศสเข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์ รวมทั้งคราวหนึ่งมีรับสั่งให้ปิดวัดพุทธแห่งหนึ่ง และอิทธิพลของฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติของขุนนางฝรั่งนาม คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่มีบทบาทมากในราชสำนักในตำแหน่งออกพระฤทธิกำแหงภักดี (ต่อมาคือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์) จึงนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในราชสำนักสยาม รวมทั้งมิสซังที่ตั้งมาได้เกือบ 20 ปี
พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ก่อการรัฐประหารเมื่อพ.ศ.2231 พระโอรสและพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ฟอลคอนโดนประหาร และต่อมาพระนารายณ์สวรรคต
พระคุณเจ้าลาโนเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกที่ถูกจับ และหลังถูกจองจำเป็นเวลา 21 เดือน ได้รับการปลดปล่อยและคืนทรัพย์สินและบ้านให้แก่มิสซัง เวลานั้นการติดตามคริสตังเพื่อจับเข้าคุกมีอยู่ทั่วราชอาณาจักร มีคริสตังชาวสยามอยู่ในกรุงศรีอยุธยาราว 100 คนเท่านั้นเมื่อ พ.ศ. 2246 ขณะที่สมเด็จพระเพทราชาสวรรคต
สิ้นอยุธยาเกือบสิ้นมิสซัง
การเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยามเกือบสิ้นสุดเมื่อคราวสิ้นกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 คริสตังราว 300 คน ต้องหนีไปหาที่หลบภัยในเขมร สามเณรและภคินีรักกางเขนไปหลบภัยที่จันทบุรี
ช่วง 2 ปีนับแต่เสียกรุงไม่มีพระสงฆ์คาทอลิกเหลืออยู่ในสยามเลยนอกจากที่จันทบุรี อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ริมแม่น้ำจันทบุรี กลายเป็นที่พักหลบภัยช่วงสั้น ๆ ของมิชชันนารี สามเณร และคริสตังที่ไม่ตกเป็นเชลยพม่า
วัดคริสต์ในสยาม
วัดคอนเซ็ปชัญ เป็นวัดคาทอลิกเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ ซึ่งพระสังฆราชลาโนได้รับพระราชทานที่ดินและวัสดุจากสมเด็จพระนารายณ์ให้สร้างวัดในชุมชนชาวโปรตุเกสที่บางกอก เมื่อราว พ.ศ.2381
ตามบันทึกในเวลานั้นบอกว่ามีคริสตัง 600 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นชาวโปรตุเกสในเขมรที่ถูกชาวเวียดนามรุกรานและขับไล่มาเมื่อ พ.ศ.2202 จึงเรียกชุมชนนี้ว่าวัดเขมร
ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำคือจาก วัดซางตาครู้ส ซึ่งคริสตชนส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายโปรตุเกสบาทหลวงฌาคส์ กอรร์ สร้างวัดแห่งนี้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน วัดซางตาครู้สเพิ่งครบรอบ 250 ปีไปเมื่อกันยายน 2562 ที่ผ่านมา
ต่อมาชาวโปรตุเกสกลุ่มที่ถูกเรียกว่าผู้ไม่นบนอบต่อพระสังฆราชแยกตัวจากวัดซางตาครู้ส และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามให้เป็นที่ตั้งวัดกาลหว่าร์
ถัดลงไปทางปลายน้ำเป็นที่ตั้งของ อาสนวิหารอัสสัมชัญ ที่เพิ่งฉลองวาระครบ 100 ปี พิธีเสกวัดมอบแด่แม่พระเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นวัดคาทอลิกที่สำคัญที่สุดของประเทศเพราะเป็นที่พำนักของประมุขมิสซังหลายองค์รวมถึงผู้นำพระศาสนจักรไทยสำคัญๆวัดอัสสัมชัญได้รับการสถาปนาเป็นอาสนวิหารพร้อมการสถาปนาอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2508
การพิมพ์หนังสือเล่มแรกในสยาม
หนังสือที่พิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์เกิดขึ้นโดยชาวคริสตังเมื่อพระคุณเจ้าการ์โนลต์เจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังสยามเมื่อ พ.ศ.2354 ตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือ “คำสอนคริสตัง” หนังสือพิมพ์เป็น “ภาษาวัด” ซึ่งเป็นการเขียนภาษาสยามด้วยอักษรโรมันเมื่อ พ.ศ. 2339 ถือเป็นหลักฐานการพิมพ์หนังสือเล่มแรกในสยาม
“ในเมืองไทยเป็นที่ยอมรับกันว่าหมอบรัดเลย์เป็นผู้เริ่มการพิมพ์ด้วยตัวอักษรไทยเป็นคนแรก พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น แต่ถ้าพูดถึงการตั้งโรงพิมพ์คาทอลิกทำมาก่อน” อาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ผู้จัดการหอจดหมายเหตุสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อธิบาย
แว่นตา ยา กล้อง: สิ่งของจากมิชชันนารี
“แว่นสายตาก็เริ่มเข้ามาแพร่หลายในช่วงนั้น” อาจารย์พุฒิพงศ์ พูดถึงของใหม่ที่เข้ามาสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์พร้อมกับศาสนาคริสต์ ซึ่งแว่นตาคือของใหม่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
“พระสังฆราชปัลเลอกัว (ประมุขมิสซังสยามคนที่ 13) นำเข้ามาจากฝรั่งเศส ขุนนางสมัยนั้นนิยมมาก สั่งกันเยอะมาก” อาจารย์พุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
พระสังฆราชผู้นี้ยังนำยาควินินเข้ามาใช้รักษาไข้ป่า เอายาถ่ายพยาธิมาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนให้เด็กกินในสมัยพระคุณเจ้ามีคริสตัง 4,300 คนอยู่ในสยาม
ท่านเป็นคนแรกที่จัดการให้บาทหลวงลาร์โนดีนำกล้องถ่ายรูปดาแกร์โรไทป์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกล้องถ่ายรูปเข้ามาจากต่างประเทศ หลังจากนั้นคนไทยหลายคนก็ได้เรียนวิชาถ่ายรูปจากคุณพ่อลาร์โนดี นับจากพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีช (ต้นสกุลนิลรัตน์) รวมทั้งหลวงอัคนีนฤมิตร (ฟรานซิสจิตร) ผู้รับศีลล้างบาปเข้าเป็นคาทอลิกและเป็นคนไทยคนแรกที่ตั้งร้านรับถ่ายรูปบนเรือนแพหน้าวัดซางตาครู้ส
ฟรานซิสจิตรเป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพบุคคล เหตุการณ์และสถานที่สำคัญๆต่างๆของเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ไว้มากที่สุด จนต่อมาได้รับราชทินนามว่าขุนสุนทรสาทิศลักษณ์
โรงพยาบาลคาทาลิกแห่งแรกของบางกอก
ตั้งแต่ยุคที่เป็นสุขศาลาในวัดนักบุญยอแซฟเมื่อ พ.ศ.2214 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ล่วงมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์นับเป็นโรงพยาบาลคาทอลิกแห่งแรกในบางกอกและเปิดรับผู้ป่วยชาวสยามคนแรก เมื่อ พ.ศ.2441
โรงพยาบาลสร้างขึ้นบนที่นาริมคลองเจ้าสัวยม หรือ คลองสาทร ในปัจจุบัน โดยอาศัยเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลฝรั่งเศสมอบให้มิสซัง ซึ่งเป็นเงินที่สยามจ่ายให้ฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436)
โรงเรียนของฝรั่งในไทย
โรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุด และยังเปิดการเรียนการสอนอยู่คือ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก สมัยคุณพ่อเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์ เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ (พ.ศ.2418-2476) ท่านขออนุญาตพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ประมุขมิสซังในสมัยนั้น ใช้อาคารบ้านเณรที่ไม่ได้ใช้งานแล้วเป็นโรงเรียนประจำวัดอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ.2420 ในชื่อ “โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศส วัดสวนท่าน”
จนกระทั่ง พ.ศ. 2428 โรงเรียนปรับเป็นวิทยาลัยในชื่อ “โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ” (Le Collège de L´ Assomption) โรงเรียนอัสสัมชัญได้รับความนิยมต่อเนื่องจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จน ภราดามาร์ติน เดอ ตูรส์ มีแนวคิดจะเปิดโรงเรียนอีกแห่งรองรับ และได้รับการเสนอที่ดินริมถนนสามเสนจากบาทหลวงบรัวซาต์ ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ เพื่อให้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เมื่อ พ.ศ.2463
หลังจากนั้นโรงเรียนในเครือคาทอลิกก็ขยายกว้างขวางพร้อมกับการเดินทางเข้ามาทำงานของหลายคณะนักบวช คณะอุร์สุลินเข้ามาตั้งโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ที่กรุงเทพฯ และโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ที่เชียงใหม่ เป็นต้น
ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 415 เดือนกันยายน พ.ศ.2562