7 เรื่องเบื้องหลังงานประกาศผล รางวัลออสการ์ครั้งแรก
16 พฤษภาคม 1929 รางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ (Academy Awards) หรือที่ทั่วโลกรู้จักในชื่อ รางวัลออสการ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก Sarakadee Lite ขอสรุป 7 เรื่องที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังรางวัลอันทรงเกียรติของแวดวงภาพยนตร์ระดับโลกรางวัลนี้
- สถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์ภาพยนตร์ ในสหรัฐอเมริกา ( The Academy of Motion Picture Arts and Sciences) จัดงานมอบรางวัล อะคาเดมี อวอร์ดส์ (Academy Awards) เป็นครั้งแรก หรือ รางวัลออสการ์ หลังจากสถาบันก่อตั้งมาได้ 2 ปี รางวัลนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นักแสดง ผู้กำกับและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา
- งานประกาศผลและมอบรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 จัดแบบกาลาดินเนอร์ที่โรงแรมฮอลลีวูด รูสเวลต์ (Hollywood Roosevelt Hotel) บนถนน ฮอลลีวูดบูเลวาร์ด เมืองลอสแอนเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา หรือ ฮอลลีวูด
- สำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องแรก คือ Wings เป็นภาพยนตร์เงียบ (มีเสียงดนตรีประกอบแต่ไม่มีเสียงตัวละครสนทนา) เล่าเรื่องเรื่องราวความรักหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ผลงานกำกับของ William A. Wellman
- งานประกาศผลและมอบรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 จัดเป็นงานกาลาดินเนอร์มีผู้เข้าร่วมงาน ราว 270 คน และการประกาศผลใช้เวลาเพียง 15 นาทีเป็นอันจบงาน
- งานประกาศผลและมอบรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์งานออสการ์ที่ไม่มีการถ่ายทอดผ่านสื่อใดๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หรือโทรทัศน์
- ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 รางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ (เล่น) เรียกติดปากว่า รางวัลออสการ์ (Oscar) ตามตัวรางวัลซึ่งเป็นรูปหล่อสำริดขนาดสูง 34 เซนติเมตร เป็นรูปอัศวินในท่ายืนคล้ายนักรบกุมดาบ ตั้งบนฐานที่เป็นรูปม้วนใส่ฟิล์มภาพยนตร์ ออกแบบโดย เซดริก กิบบอนส์ หัวหน้าฝ่ายศิลป์อาวุโสสังกัดบริษัท MGM ค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่
- ที่มาชื่อตุ๊กตาออสการ์ มาจากคำเปรียบเปรยว่า รูปหล่อสำริดตุ๊กตารางวัลนี้ “เหมือนลุงออสการ์ของฉันเลย” ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนพูด เพราะมีประวัติที่มา ความเป็นไปได้ถึง 4 แหล่ง คือ 1. มาร์กาเร็ต เฮอร์ริก บรรณารักษณ์ของสถาบัน The Academy of Motion Picture Arts and Sciences 2. บ้างก็ว่ามาจากการเปรียบเปรยของเลขานุการฝ่ายบริหารของสถาบันอีกคนว่า ตุ๊กตาตัวนี้เหมือนลุงออสการ์ เพียร์ซ ของเธอ 3. บ้างก็ว่า เบ็ตตี้ เดวิส ดาราฮอลลีวูดชื่อดังแห่งยุค 30s (ผลงานเด่น Sunset Boulevard) เป็นคนพูด 4. บ้างก็ว่าซิดนีย์ สกอลสกี นักเขียนคอลัมน์ภาพยนตร์ เป็นคนพูด
ต้นเรื่อง
- นิตยสาร สารคดี ฉบับ ตุลาคม 2538 และ พฤษภาคม 2545