(ห)มา ซีเอ็มยู เปลี่ยนสุนัขจรเป็น สุนัขชุมชน อยู่ร่วมกับคนอย่างยั่งยืน
- ด้วยจำนวนหลักร้อยของประชากรสุนัขในพื้นที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงจับมือกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ ผุดโครงการจัดการปัญหาสุนัข มช. หรือ โครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู ขึ้นมา ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาทั้งในเรื่องความปลอดภัยของคนในพื้นที่ และการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า
- การทำงานของโครงการเน้นไปที่การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน การควบคุมประชากร รวมถึงการปรับพฤติกรรมให้กลายเป็น สุนัขชุมชน ที่อยู่ร่วมกับคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่เป็นการผลักภาระไปให้ชุมชนอื่น
หลังจากช่วงก่อนหน้าที่มีการตามหา พี่เตี้ย สุนัขพันธุ์ไทย เพศผู้ น้องหมาเซเลบประจำคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนเกิด #เตี้ยมช ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ติตต่อกันตลอดช่วงเวลาที่ประกาศตามหา ซึ่งต่อมาได้มีการพบร่างและแจ้งอย่างเป็นทางการผ่านเฟซบุ๊ก เตี้ย มช. ว่า พี่เตี้ยเดินทางไปดาวหมาแล้ว โดยได้รับการยืนยันจากไมโครชิปที่ติดตัว ทำให้หลายคนที่ผูกพันและชื่นชอบในความน่ารักของพี่เตี้ย รู้สึกใจหายกับเหตุการณ์นี้
การเดินทางไปดาวหมาของพี่เตี้ย ยังทำให้เกิดกระแสหลายด้านเกี่ยวกับการจัดการสุนัขในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วนอกจากพี่เบื่อ พี่สิงโต พี่เตี้ย สามเซเลบซึ่งเป็นที่รู้จักแล้ว ยังมีสุนัขอีกมากที่มาอาศัยอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยตอนนี้น้องหมาทุก ๆ ตัวได้รับการดูแลร่วมกันระหว่าง โครงการจัดการปัญหาสุนัข มช. หรือ โครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู และคณะหรือส่วนงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัย
“สุนัขในพื้นที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนี้มีประมาน 216 ตัว มีที่ฝังไมโครชิปแล้วประมาน 190 กว่าตัว เพราะยังมีบางส่วนที่เขายังให้จับไม่ได้ เป็นสุนัขในพื้นที่ส่วนกลางที่ยังค่อนข้างขี้ระแวงอยู่” สพ.ญ.ณัชชา ชาวนาน สัตวแพทย์ประจำโครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู กล่าว
ด้วยเหตุผลของจำนวนประชากรสุนัขรอบรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ค่อนข้างมาก ซึ่งมีทั้งสุนัขที่มีพฤติกรรมเป็นมิตรและไม่เป็นมิตร ทำให้ทางมหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงปัญหาทั้งในเรื่องความปลอดภัยของคนในพื้นที่ ไปจนถึงการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า จึงร่วมมือกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ในการจัดตั้ง โครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู ขึ้นมา ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2559 เพื่อให้สุนัขภายในพื้นที่ได้รับการดูแลและจัดการปัญหาอย่างมีระบบแบบยั่งยืน
“ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้มีการจัดการอย่างเป็นระบบขนาดนี้ แต่อาจจะมีบางพื้นที่ที่ดูแลสุนัขในส่วนของชุมชนตัวเองอยู่แล้ว พอเขาเล็งเห็นถึงปัญหานี้ขึ้นมาเลยต้องการที่จะจัดการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น”
การหาแนวทางสำหรับดูแลสุนัขในมหาวิทยาลัย
“เราผ่านกระบวนการหารือและศึกษาแนวคิดต่าง ๆ เพื่อที่จะจัดการให้มีความยั่งยืน เพราะถ้าพูดถึงระบบการจัดการสุนัขในภาพรวมจะมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเรื่องของสร้างศูนย์พักพิง หรือว่าการนำสุนัขออกจากพื้นที่ แต่หลังจากได้ปรึกษาหาแนวทางเรื่องของจัดการ ทางโครงการก็ได้เล็งเห็นว่าจริง ๆ แล้วการนำสุนัขออกจากพื้นที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากในที่สุดก็จะมีสุนัขจากพื้นที่อื่นเข้ามาอยู่แทนที่สุนัขตัวที่ย้ายออกไปตามหลักธรรมชาติ เลยได้มีการสร้างระบบในการจัดการสุนัขให้สามารถอยู่กับชุมชนได้และเกิดการดูแลอย่างเป็นระบบมากขึ้น”
การทำงานของโครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู
“เราเน้นในเรื่องการดูแลสุขภาพของสุนัข ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การทำหมันเพื่อควบคุมประชากร และมีการฝังไมโครชิปเพื่อระบุตัวตนของสุนัข ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปถึงคนที่ดูแลสุนัขหรือผู้ที่ให้อาหารพวกเขาในพื้นที่ต่าง ๆ อยู่แล้วด้วย เรามีการประสานงาน ติตต่อระหว่างกัน เพื่อที่จะนำสุนัขเข้าโครงการ”
“โดยปกติแล้วสุนัขที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ทางโครงการจะได้รับแจ้งจากคนในชุมชนว่ามีสุนัขอาศัยอยู่ในพื้นที่ของเขา แต่ส่วนหนึ่งมาจากการสำรวจของทางโครงการเอง เพราะอาจจะมีพื้นที่ส่วนกลางที่ไม่มีคนอยู่ประจำ เราเลยต้องใช้วิธีการสำรวจไปด้วย จากนั้นทางโครงการก็จะขึ้นทะเบียนสุนัขเพื่อที่จะดำเนินการต่อในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ไปตรวจสุขภาพหรือการนัดหมายผ่าตัด”
“ในส่วนของสุนัขที่อยู่ในโครงการอยู่แล้วก็อาจจะมีบางกรณีที่เขามีปัญหาสุขภาพ ทางผู้ดูแลก็จะแจ้งกลับมาทางโครงการเพื่อวางแผน ประสานงานหรือส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อ ทำให้นอกจากสุนัขจะได้ขึ้นทะเบียนและทำหมันแล้ว เราจะมีการดูแลสุขภาพให้เขาอย่างต่อเนื่องด้วย ส่วนเรื่องทุนเราก็ได้รับการสนับสนุนงบประมานจากทาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ”
การฝังไมโครชิปช่วยในเรื่องอะไร
“ตัวไมโครชิปที่ทางโครงการใช้อยู่ตอนนี้ จะเป็นการฝังไว้ใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นการระบุเลขรหัสของน้องหมา ซึ่งก็จะบอกข้อมูลรายละเอียดที่ทางโครงการบันทึกไว้ทั้งชื่อ ผู้ดูแล รวมถึงประวัติการรักษาต่าง ๆ ไม่ได้ใช้ระบุในเรื่องของตำแหน่ง GPS แต่จริง ๆ แล้วตัว GPS ก็มีใช้อยู่บ้างในต่างประเทศ แต่ทางโครงการเราเองยังไม่ได้มีการใช้อยู่ตอนนี้”
“หลัก ๆ ไมโครชิปเราจะดูในเรื่องของการระบุตัวตน ประวัติการรักษาและเจ้าของ เพราะอาจจะมีกรณีที่สุนัขหลงมาบ้างในบางพื้นที่ หรือบางกรณีที่สีของสุนัขใกล้กันมากแล้วคนในพื้นที่เขาไม่รู้ เราก็จะไปสแกนดูว่าจริง ๆ แล้วตัวนี้เคยอยู่จุดไหน เคยขึ้นทะเบียนไว้ว่าอยู่ตรงไหนมาก่อน ก็จะบอกข้อมูลได้คร่าวๆ”
นอกจากการขึ้นทะเบียนสุนัขชุมชนและดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องแล้ว ทางโครงการยังได้ริเริ่มการใช้ “ปลอกคอสุนัข มช.” โดยที่แต่ละสีของปลอกคอใช้บ่งบอกถึงลักษณะพฤติกรรมที่ต่างกัน
“ปลอกคอสามสี เราจะแบ่งตามลักษณะพฤติกรรมหรือระดับความเป็นมิตรของสุนัข หนึ่งคือเพื่อที่จะเตือนคนในพื้นที่ด้วยว่าสุนัขตัวไหนเราควรเข้าหาอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะสุนัขที่ไม่ได้เป็นมิตรกับคนร้อยเปอร์เซ็นต์ และเพื่อที่เราจะสามารถจัดการกับตัวสุนัขได้ เพราะวิธีการดำเนินงานกับสุนัขแต่ละสีปลอกคอจะค่อนข้างแตกต่างกัน”
“สุนัขปลอกคอสีเขียวที่เขาเป็นมิตรอยู่แล้ว เราจะสามารถเข้าไปดำเนินการแบบนัดหมายวันได้เลย แต่สุนัขที่สวมปลอกคอสีเหลืองหรือสีแดง เขายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคนเท่าไร อาจจะต้องมีการปรับพฤติกรรมก่อน หรือเขาอาจจะชินกับแค่บางคนหรือบางกลุ่ม การจะเข้าไปดำเนินการเช่นตรวจสุขภาพก็จะต้องมีการนัดหมายกับคนที่สามารถจับเขาได้ด้วย”
การปรับพฤติกรรมของน้องหมาทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง
“ตอนนี้เราใช้ลักษณะการสร้างความคุ้นเคยผ่านการให้อาหาร โดยเราอาจจะไม่ได้วางอาหารทิ้งไว้แล้วให้เขามากินเอง เหมือนกับว่าจะต้องให้เขาเริ่มกล้าเข้ามาหา มาใกล้ชิดกับเรามากยิ่งขึ้น ตอนแรกอาจจะอยู่ห่างหน่อย แต่พอเราอยู่ตรงนั้นแล้วเราจะทำให้เขารู้ว่าเราไม่ได้เป็นศัตรู ให้เขากล้าเดินเข้ามากินอาหารที่เราให้ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาระดับหนึ่ง”
มีการจัดการด้านที่อยู่อาศัยของสุนัขอย่างไร
“จริง ๆ แล้วตามลักษณะพฤติกรรม สุนัขชุมชน ส่วนมากเขาจะอยู่ถิ่นใครถิ่นมันอยู่แล้ว แต่ในส่วนของที่นอนอาจจะแล้วแต่ลักษณะของชุมชน แล้วก็ระดับความใกล้ชิดของสุนัขด้วย สุนัขบางตัวเขาจะชอบไปนอนเองตามธรรมชาติไม่ได้ชินกับการนอนในที่ที่เราจัดสรรไว้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของสุนัข และชุมชนหรือคณะนั้น ๆ ว่าเขาจะสามารถสนับสนุนในการจัดสรรพื้นที่อย่างไร”
การจัดหาบ้านถาวร
“กรณีบ้านถาวร ส่วนมากจะเป็นสุนัขที่เพิ่งหลงมาหรือเพิ่งคลอดจากแม่สุนัขที่เรายังไม่ได้ทำหมัน เราก็จะหาบ้านให้น้องกลุ่มนั้น แต่สำหรับตัวแม่เขาด้วยอายุก็อาจจะหาบ้านได้ยาก ซึ่งเราก็จะทำหมันแล้วให้เขาอยู่ในพื้นที่เดิม แต่ลูก ๆ เราก็จะมีการหาบ้านใหม่ให้เขา”
คุณภาพชีวิตของเหล่าสุนัขชุมชนใน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“จริง ๆ แล้วต้องระบุตามลักษณะพฤติกรรมของสุนัขก่อนว่าสุนัขที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัย เราไม่ได้จัดเป็นสุนัขจรจัดร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าแบ่งตามระบบสุนัขจะแบ่งเป็นสุนัขที่มีเจ้าของแบบเลี้ยงในบ้านอย่างเดียว สุนัขที่มีเจ้าของแต่เลี้ยงปล่อย และสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของและไม่มีคนรับผิดชอบเลย ซึ่งตอนแรกก่อนที่จะมีโครงการนี้ สุนัขเหล่านี้ก็อาจจะจัดอยู่ในกลุ่มจรจัด แต่ตอนนี้ทางโครงการก็พยายามจะดันให้สุนัขเหล่านั้นมาเป็น สุนัขชุมชน ซึ่งหมายถึง การมีคนร่วมกันดูแลในพื้นที่หรือมีหลาย ๆ คนร่วมกันรับผิดชอบ”
“เรื่องของกระบวนการดูแล ในลักษณะของคุณภาพชีวิตก็คือสุนัขเหล่านี้จะได้รับการดูแลในเรื่องของสุขภาพ วัคซีน รวมไปถึงการรักษาเมื่อมีการเจ็บป่วย ซึ่งปกติคนในชุมชนที่เขาดูแลเวลามีปัญหาเกิดขึ้นจะดูแลค่อนข้างใกล้ชิดอยู่แล้ว ถ้าพูดถึงคุณภาพชีวิตก็อาจจะดีขึ้นกว่าสุนัขจรจัดที่ไม่ได้มีคนดูแลเลย”
“แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของการจัดหาบ้านให้ การจะเปลี่ยนให้ สุนัขชุมชน เหล่านี้ไปเป็นสุนัขที่มีเจ้าของหรือเลี้ยงให้อยู่ประจำบ้านเลยอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะหากนับจำนวนประชากรรวมแล้วค่อนข้างที่จะเยอะ เราไม่สามารถหาบ้านให้เขาได้ทุกตัว และถ้าสมมติเราหาบ้านให้ทุกตัวได้จริง ๆ อย่างไรก็จะต้องมีสุนัขตัวใหม่เข้ามาในพื้นที่อยู่ดี แล้วการจัดการปัญหาตรงนี้ภายในมหาวิทยาลัยเองจะไม่ใช่การจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน มันจะเป็นการผลักดันให้สุนัขที่มีอยู่ในพื้นที่ไปเป็นสุนัขในความรับผิดชอบของชุมชนอื่น”
“เราจึงทำระบบจัดการให้สุนัขที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น จะได้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อน แล้วก็ไม่ได้ผลักให้เขาไปเป็นภาระของชุมชนอื่นด้วย เชื่อว่าประเทศไทยตอนนี้ทั้งในส่วนของศูนย์พักพิงหรือสุนัขในพื้นที่ข้างนอกมีจำนวนค่อนข้างเยอะ และถ้าพูดถึงการรับเลี้ยงในประเทศไทยก็มีอัตราไม่ได้สูงเท่ากับเมืองนอกที่สามารถรับเลี้ยงกันได้แบบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งทำให้ไม่มีสุนัขจรจัดเลย”
การจัดการกับสุนัขที่มีพฤติกรรมด้านลบ และการรับมือกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดกับ สุนัขชุมชน
“กรณีที่สุนัขก่อความเดือดร้อน เราจะต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมเขา แต่ถ้าพูดถึงโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุกับตัวสุนัข เราเองก็ต้องยอมรับ ณ จุดหนึ่ง ว่าไม่สามารถควบคุมเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะว่าเราไม่ได้ขังหรือจำกัดบริเวณ แต่ในฐานะที่เขาอยู่ในพื้นที่ของเรา ในส่วนของการจัดการด้านอื่น ๆ เราก็จะพยายามดูแลเขาเท่าที่ทุกฝ่ายจะสามารถทำได้”
ความคาดหวังของโครงการนี้
“ตอนนี้ยังมีสุนัขบางส่วนที่รอให้เราปรับพฤติกรรม ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองทางโครงการก็อยากทำให้การปรับพฤติกรรมของสุนัขเกิดขึ้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ รวมไปถึงคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับพื้นที่อื่น ๆ ให้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการจัดการสุนัขที่ไม่มีเจ้าของในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือในการช่วยเข้ากันเข้ามาดูแล เพราะการให้คนคนเดียวเขารับเป็นเจ้าของเลย อาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ตอนนี้ก็มี โครงการสุนัขชุมชน ตลาดแม่กลอง ที่นำรูปแบบปลอกคอสามสีไปใช้แล้ว จากตอนแรกที่ใช้แค่ป้ายระบุชื่อน้องหมาเฉยๆ”
Fact File
- ทำความรู้จักโครงการและน้องหมาในรั้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ที่ macmu.vet.cmu.ac.th/
- ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู ได้ที่ Facebook: โครงการจัดการปัญหาสุนัข มช.
อ้างอิง
- ภาพ Facebook : เตี้ย มช. , สิงโต แมสคอม , เบื่อ สมาคม , หนูแดง และชาวแก๊งค์