น้องบ่อยาง คาแรคเตอร์ไทยที่ดึงเสน่ห์เมืองเก่าสงขลามาบอกเล่าผ่านสื่อร่วมสมัย
Faces

น้องบ่อยาง คาแรคเตอร์ไทยที่ดึงเสน่ห์เมืองเก่าสงขลามาบอกเล่าผ่านสื่อร่วมสมัย

Focus
  • น้องบ่อยาง (Boyang) เป็นคาแรคเตอร์ที่ออกแบบโดยศิลปินไทยรุ่นใหม่ มุก-กุลสตรี แซ่หลี เพื่อถ่ายทอดสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของย่านเมืองเก่าสงขลาในรูปแบบร่วมสมัย
  • น้องบ่อยาง ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 คาแรคเตอร์ไทยที่มีโอกาสต่อยอดไปสู่สินค้าสร้างสรรค์และครีเอทีฟคอนเทนต์ของโครงการ CHANGE : Visual Character Arts โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
  • คาแรคเตอร์ได้ต่อยอดคอลแลบส์กับภาคธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นมาสคอตในงานเทศกาลของจังหวัดสงขลาและพัฒนาเป็นสติกเกอร์ไลน์ภาษาถิ่นภาคใต้

น้องบ่อยาง (Boyang) คาแรคเตอร์อ้วนกลมตัวขาวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแลนด์มาร์กประจำเมืองเก่า จังหวัดสงขลา ออกแบบโดยศิลปินไทยรุ่นใหม่ มุก-กุลสตรี แซ่หลี ที่หยิบเอาทั้งสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และผู้คนมาถ่ายทอดผ่านคาแรคเตอร์ โดยการเปรียบน้องบ่อยางเป็นเหมือนคนสงขลาคนหนึ่งที่สนุกในการถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านเกิดออกไปสู่สายตาคนภายนอกทั้งในและต่างประเทศ

น้องบ่อยาง

ปัจจุบันน้องบ่อยางได้ออกมาทักทายทุกคนแล้วกว่า 1 ปี นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2566 ทั้งในรูปแบบของสื่อออนไลน์ และการคอลแลบส์กับภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนเซียหน้าสามในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (Mitsubaru) รวมถึงการต่อยอดคาแรคเตอร์ออกมาเป็นฟิกเกอร์สำหรับเก็บสะสมและของเล่น อีกทั้งน้องบ่อยาง ยังเคยปรากฏตัวเป็นมาสคอตที่พบเจอได้แบบตัวต่อตัวในงานเทศกาลของจังหวัดสงขลา รวมถึงเทศกาลงานท่องเที่ยวอย่าง Japan Expo ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ศิลปินอยากเห็น น้องบ่อยาง เป็นส่วนหนึ่งของสื่อประชาสัมพันธ์ในฐานะตัวกลางการสื่อสารประจำจังหวัด

น้องบ่อยาง

จากวิทยาพนธ์อัตลักษณ์เมืองสงขลา สู่คาแรคเตอร์บอกเล่าจุดเด่นย่านบ่อยาง

น้องบ่อยาง เริ่มต้นมาจากวิทยานิพนธ์ ขณะที่มุกศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตอนนั้นเธอได้รับโจทย์สำคัญคือการออกแบบเพื่อสร้างเสริมอัตลักษณ์ของเมืองสงขลาน้องบ่อยางจึงเกิดขึ้นมาในตอนนั้น และไม่เพียงแต่อาจารย์ประจำภาคที่เห็นแวว แต่น้องบ่อยางยังเข้าตากรรมการ โครงการ CHANGE : Visual Character Arts โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน) หรือ CEA จนได้เป็น 1 ใน 10 คาแรคเตอร์ไทยที่มีโอกาสต่อยอดไปสู่สินค้าสร้างสรรค์และครีเอทีฟคอนเทนต์ต่อไป

“ตอนที่ได้รับโจทย์การออกแบบมาสคอตที่มีอัตลักษณ์ของเมืองสงขลา เราเริ่มจากการสัมภาษณ์บุคลากรในพื้นที่และนักท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าสงขลา ตำบลบ่อยาง คนในพื้นที่จะรู้สึกผูกพันกับย่านนี้และมองว่าย่านเมืองเก่าสงขลามีสถาปัตยกรรมหลายแบบทั้งจีน มุสลิมและไทย เมืองสงขลาแต่เดิมเป็นพื้นที่ที่มีกำแพงล้อมรอบเมืองอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ด้วยความที่ตัวเมืองขยายขึ้น เขาเลยต้องพังกำแพงออกไปแล้ว เหลือแค่บางส่วนที่ตั้งอยู่ที่เดิม ซึ่งเราก็มองเห็นว่าประตูเมืองเป็นอีกจุดเด่นของเมืองสงขลาที่มีทั้งความเก่าและความใหม่ เลยหยิบสถาปัตยกรรมนี้มาเป็นต้นแบบของน้องบ่อยาง” มุก ศิลปินชาวจังหวัดสงขลาเล่าถึงที่มา

ในขั้นตอนการออกแบบ มุกเริ่มต้นจากการวาดร่างในโปรแกรม Procreate ก่อนที่จะมาใส่รายละเอียดและวาดขึ้นจริงในโปรแกรม Illustrator ซึ่งเธอกล่าวว่าน้องบ่อยางที่ไฟนอลออกมาแล้ว แทบจะเป็นดีไซน์แบบเดียวกับเวอร์ชันแรกๆ เพียงแค่ปรับลายเส้นเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยให้ดูน่ารักขึ้น ทั้งยังเป็นเวอร์ชันที่ได้รับการโหวตจากคนท้องถิ่นมากที่สุดในการถ่ายทอดประตูเมืองเก่าออกมาเป็นคาแรคเตอร์

น้องบ่อยาง

ถอดสถาปัตยกรรมประตูเมืองเก่าสงขลาเป็นรูปลักษณ์ของน้องบ่อยาง

หลังจากการพูดคุยและสัมภาษณ์คนในท้องถิ่นโดยได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์ก้อย-วุฒิชัย เพชรสุวรรณ สมาชิกภาคีคนรักเมืองสงขลา เธอก็เริ่มดีไซน์แต่ละส่วนโดยส่วนหัวของน้องบ่อยางได้แรงบันดาลใจมาจากหลังคาของประตูเมืองเก่าจำลอง ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ปลายถนนนครนอกและนครใน ทางทิศใต้ของย่านเมืองเก่า ส่วนลักษณะซุ้มหลังคาแบบจีนนั้น มุกได้ถอดแบบมาเป็นส่วนศีรษะและทรงผม โดยดวงตาปรับรูปแบบมาจากช่องลมที่มีอยู่สองช่องเท่ากับตำแหน่งดวงตาได้พอดี ลงมาที่ลำตัวความโค้งมนของขอบด้านข้างประตูแนวกว้างได้ถูกลดทอนดีไซน์ออกมาเป็นส่วนแขน ขณะที่เครื่องแต่งกายได้แรงบันดาลใจมาจากองค์ประกอบที่แต่งแต้มอยู่บนประตูเมือง อย่างเช่นปอกคอที่ตัดทอนมาจากป้ายเมืองสงขลาและลายส่วนท้องที่มาจากลายแถบขอบประตูทางด้านใน อีกทั้งยังอ้างอิงโทนสีมาจากตัวสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิม

ไม่เพียงแต่ดีไซน์ภายนอก แต่มุกยังออกแบบลักษณะนิสัยที่อ้างอิงมาจากผู้คนในเมืองที่เธอเติบโตมา รวมถึงการสัมภาษณ์คนในพื้นที่อีกกว่า 20 คน เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบท่าทางและการแสดงออกของน้องบ่อยาง จะเห็นว่าเธอมักใส่ความสดใส ร่าเริง และเป็นมิตรลงไปในผลงานเกือบทุกชิ้น

CHANGE : Visual Character Arts
CHANGE : Visual Character Arts

“จริงๆ เราอยากจะเพิ่มตัวละครต่อยอดไปอีก อย่างเช่นนางเงือก แมว และหนู จากนิทานพื้นบ้านของเมืองสงขลา เวลาเราพาน้องบ่อยางไปแสดงงานในจังหวัดอย่างงานวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ งาน Music Night ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เวลามีน้องบ่อยางไปเดินดูอยู่ด้วยก็จะได้รับความสนใจเยอะค่ะ”

CHANGE : Visual Character Arts

ปักหมุดเที่ยวย่านเมืองเก่ากับน้องบ่อยางและสติกเกอร์ไลน์ภาษาใต้

“ปกติแล้วถ้าเราไม่มีคาแรคเตอร์ใช้ เราจะเห็นภาพการท่องเที่ยวในสื่อเป็นภาพประกอบวิวหรือภาพขนมเพียงอย่างเดียว ถ้าเราสามารถเอาน้องบ่อยางเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอทั้งของกิน สถานที่ วัฒนธรรม เอามาแมตช์ ให้น้องบ่อยางมีส่วนร่วมในการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นสื่อรูปแบบใหม่ที่กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้นได้” มุกเล่าพร้อมทั้งเปิดตัวอย่างผลงานให้เราดู

นั่นเป็นเหตุผลให้เพจ Boyang คอยอัปเดตพิกัดย่านเมืองเก่าอยู่ด้วย ทั้งในรูปแบบของภาพประกอบที่วาดฉากขึ้นใหม่ทั้งหมด และภาพถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาที่มีน้องขยับกายออกไปทำกิจกรรมเพื่อเชิญชวนและบอกเล่าเกร็ดประวัติในรูปแบบเข้าใจง่าย

น้องบ่อยาง

“มุกคิดว่าจะส่งมอบน้องบ่อยางในขนาดสำหรับพิมพ์สื่อประชาสัมพันธ์แจกจ่ายให้จังหวัด เพื่อให้น้องได้อยู่ในสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย และส่วนตัวเราก็ได้มีการพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสำหรับการบูรณาการงานวิชาการให้เด็กๆ ในทุกปี ถ้าเป็นไปได้อยากทำอย่างนั้นค่ะ อยากทำงานร่วมกับภาคธุรกิจที่อยู่ในย่านเมืองเก่าสงขลาด้วย” มุกเล่าถึงเป้าหมายในฐานะผู้ออกแบบ

ส่วนตัวมุกเองได้เริ่มทำโปรดักต์ของตัวเองออกมาบ้างแล้ว นั่นคือสติกเกอร์ไลน์ซึ่งขณะนี้มีให้ดาวน์โหลด 3 เวอร์ชันและหนึ่งในนั้นมาพร้อมกับภาษาถิ่นภาคใต้ รวมไปถึงเสื้อยืดที่ระลึกที่หาซื้อได้เฉพาะร้านค้าในเมืองสงขลาเท่านั้นและไม่มีจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ ขณะเดียวกันยังคงแพลนเกี่ยวกับโปรดักต์อื่นๆ ไปทีละขั้น โดยยังคงมองหาแหล่งกระจายสินค้าที่เหมาะสม เป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้เห็นน้องบ่อยางในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงเพื่อนคาแรคเตอร์ของน้องบ่อยางที่ปักแลนด์มาร์กอื่นๆ ของจังหวัดสงขลากันในเร็วๆ นี้

Fact File

  • ติดตามความเคลื่อนไหวของ น้องบ่อยาง ได้ทาง Facebook : Boyang
  • แกลเลอรีภาพประกอบ น้องบ่อยาง : Pinterest
  • ข้อมูลเพิ่มเติม : CHANGE : Visual Character Arts

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"