จากลู่วิ่งสีม่วงถึงหน้าผาสีเขียว เปิด Look of the Games ของ Paris 2024 กับพาเลตสีน้ำเงิน แดง เขียว ม่วง
Brand Story

จากลู่วิ่งสีม่วงถึงหน้าผาสีเขียว เปิด Look of the Games ของ Paris 2024 กับพาเลตสีน้ำเงิน แดง เขียว ม่วง

Focus
  • พาเลตสีพาสเทล น้ำเงิน แดง เขียว และม่วง เป็น visual identity หรือ Look of the Games ของโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 ในการตกแต่งสนามแข่งขันต่างๆ
  • ลู่วิ่งของสนามกีฬา Stade de France สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส ได้เปลี่ยนเป็นเฉดสีม่วงอ่อนและเข้มอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสนามกีฬาอื่น
  • จุดเด่นของกราฟิกสำหรับ Paris 2024 คือการนำศิลปะสไตล์อาร์ตเดโคที่เน้นการใช้เส้นเรียบง่ายและรูปทรงเรขาคณิตมาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และกีฬา

โอลิมปิกปารีสใส่รายละเอียดการออกแบบทุกสิ่งอย่างละเอียดสมกับเป็นเมืองแห่งแฟชั่น แม้แต่สีธีมหลักก็มีการกำหนด Visual Identity หรือ Look of the Games อย่างชัดเจน ในปีนี้ สนามกีฬาสตาด เดอ ฟร็องส์ (Stade de France) สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสจะลบภาพจำของลู่วิ่งทั่วไปที่มักเป็นสีโทนน้ำตาลแดงให้กลายเป็นเฉดสดใสของ สีม่วงลาเวนเดอร์ เพื่อสร้างภาพจำใหม่ให้กับ การแข่งขันโอลิมปิก Paris 2024 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม พ.ศ. 2567 และต่อด้วยการแข่งขันพาราลิมปิก ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม-8 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ลูวิ่งสีม่วงของสนามกีฬา Stade de France

สนามกีฬาสำหรับการแข่งขันปีนหน้าผา เลอ บูร์เฌ (Le Bourget Climbing Venue) ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่สร้างขึ้นใหม่สำหรับโอลิมปิกในครั้งนี้ยังได้เปลี่ยนภาพคุ้นตาของหน้าผาสีเทาในการแข่งขันโอลิมปิก Tokyo 2020 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุกีฬาชนิดนี้ในการแข่งขันโอลิมปิก ให้เป็นหน้าผาโทน “สีเขียว” นอกจากนี้ ปอร์ เดอ ลา ชาแปล อารีนา (Port de la Chapelle Arena) ที่ใช้เป็นสนามแบดมินตันและยิมนาสติกลีลาสำหรับโอลิมปิก รวมไปถึงพาราแบดมินตันและพารายกน้ำหนัก ได้รับการตกแต่งให้เป็นโทน “สีม่วง น้ำเงิน” และแซมด้วยสีชมพู

Look of the Games
การตกแต่งสนามกีฬาปีนหน้าผา Le Bourgetในโทนสีเขียว
Look of the Games
Look of the Games
การตกแต่ง Port de la Chapelle Arena ในโทนสีม่วง

สีพาสเทล “น้ำเงิน แดง เขียว ม่วง” เป็นพาเลตสีที่ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 เลือกให้เป็น Visual Identity หรือเอกลักษณ์ด้านภาพของการแข่งขันในครั้งนี้ที่เรียกว่า Look of the Games สนามแข่งขันจะใช้พาเลตสีม่วง เขียว และน้ำเงิน เป็นธีมหลักในการตกแต่งประกอบด้วยสีม่วงสำหรับ 11 สนาม สีเขียว 13 สนาม และสีน้ำเงิน 19 สนาม นอกจากนี้อุปกรณ์กีฬาที่ใช้ในการแข่งขัน เช่น ลูกฟุตบอล ลูกรักบี้ และลูกขนไก่ จะถูกแต่งแต้มด้วยเฉดสีหลักนี้เช่นกัน

Look of the Games
Look of the Games
พาเลตสีน้ำเงิน แดง เขียว และม่วง จะแซมด้วย สีทอง ขาว และชมพู ธีมหลักในการจัดการแข่งขัน
Look of the Games

พาเลตสีน้ำเงิน แดง เขียว และม่วง จะแซมด้วย สีทอง ขาว และชมพู เพื่อสื่อความหมายถึง 4 ธีมหลักในการจัดการแข่งขันคือ 1.การเฉลิมฉลอง ที่มหกรรมกีฬาครั้งนี้นำพาผู้คนทั่วโลกมาร่วมเฉลิมฉลองกันในบรรยากาศที่สนุกสนานและมีชีวิตชีวา 2. การเปลี่ยนแปลงอย่างมีสไตล์ เพื่อสะท้อนความเป็นเมืองแฟชั่นของปารีสโดยนำสปิริตของฝรั่งเศสมาผสมผสานกับศิลปะสไตล์อาร์ตเดโค (Art Deco) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกับที่ปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 1924 มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเพื่อสร้างสีสันใหม่ๆ 3. ความรับผิดชอบ ซึ่งแสดงถึงปณิธานและแนวคิดในการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ว่า “หนึ่งตราสัญลักษณ์ หนึ่งมาสคอต และหนึ่งคำขวัญ” โดยไม่มีการแบ่งแยก อีกทั้งสถานที่ใช้ในการแข่งขันกีฬากว่า 80% เป็นการปรับปรุงสถานที่เดิมที่มีอยู่แล้วและสร้างบางส่วนแบบชั่วคราวเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุดและจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดจากการสร้างอาคารใหม่ๆ และท้ายสุดคือ 4. ความร่วมแรงร่วมใจ เพราะมหกรรมกีฬาครั้งนี้เป็นเกมของทุกคนและเพื่อทุกคน และยอมรับในความหลากหลายตามสโลแกนการแข่งขันที่ว่า “เกมที่เปิดกว้าง” (Games Wide Open)

Look of the Games
บริเวณขั้นบันไดของมหาวิหาร Sacré-Coeur ตกแต่งด้วยพาเลตสี Look of the Games
(ภาพ : ดรุณี คำสุข)

ในการโปรโมท Look of the Games พาเลตสีได้นำมาอยู่รวมกันในองค์ประกอบของเส้นตรง เส้นโค้งและรูปทรงเรขาคณิต เช่น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ทรงกลม วงโค้ง วงรี พีระมิด และทรงกรวย เพื่อสอดคล้องกับภาพรวมการออกแบบของ Paris 2024 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะอาร์ตเดโคซึ่งได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1910-1950 และเฟื่องฟูในช่วงที่กรุงปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ค.ศ. 1924 และต่อด้วยการเป็นเจ้าภาพนิทรรศการนานาชาติ International Exhibition of Modern Decorative and Industrial Arts ใน ค.ศ. 1925 ศิลปะแนวนี้เน้นการใช้เส้นสายและรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย แต่ดูโอ่อ่าและเน้นประโยชน์การใช้สอย

รูปทรงเรขาคณิตสามารถเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น จัตุรัส La place de la Concorde
วงโค้งสามารถสื่อถึงส่วนโค้งบริเวณฐานของหอไอเฟล

รูปทรงเรขาคณิตยังเชื่อมโยงไปสู่แลนด์มาร์ก สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นรวมทั้งกีฬาชนิดต่างๆ ดังในคลิปโปรโมท Look of the Games รูปสามเหลี่ยม ชวนให้นึกถึงเสาหินแกรนิตทรงแหลมซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัสลา ปลัส เดอ ลา กงกอร์ด (La place de la Concorde) วงโค้ง สื่อไปถึงส่วนโค้งบริเวณฐานของหอไอเฟลและสะพานเลอ ปง โอ ช็อง (Le Pont au Change) ที่ข้ามไปยังกงซีแยร์เฌอรี (Conciergerie) บนเกาะซีเต (Île de la Cité) กลางแม่น้ำแซนซึ่งในอดีตเป็นคุกหลวงที่คุมขังนักโทษและหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ถูกคุมขังที่นี่คือพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ส่วนวงรี สามารถสื่อถึงลู่วิ่งในสนามกรีฑาและกระดานสเกตบอร์ด เป็นต้น

วงโค้งสามารถเชื่อมโยงไปยังสถานที่ประวัติศาสตร์ เช่น สะพาน Le Pont au Change ที่ข้ามไปยัง Conciergerie

“การนำกีฬาและสไตล์มารวมกันคือจุดเด่นของกราฟิกสำหรับ Paris 2024” จูลี่ มาติกินน์ (Julie Matikhine) ผู้อำนวยการด้านแบรนดิงของ Paris 2024 กล่าว “แนวคิดในการออกแบบกราฟิกคือการเล่นคำที่ว่า ‘Sous les pavés, les Jeux’ (ใต้แผ่นหินคือเกม) เพื่อสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของประเทศ เนื่องจากทุกเมืองและหมู่บ้านในฝรั่งเศสจะมีแผ่นหินปูพื้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรม และด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมง่ายๆ ของแผ่นหินเราสามารถใส่อะไรเข้าไปได้มากมายให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมา”

แผ่นหินปูพื้นบริเวณประตูชัย Arc de Triomphe

ทั้งนี้ประโยคที่ว่า “Sous les pavés, les Jeux” เป็นการเล่นคำที่ย้อนไปถึงสโลแกน “Sous les pavés, la plage!” (ใต้แผ่นหินคือชายหาด) ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ประท้วงของเหล่านักศึกษาและกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 ที่กรุงปารีส เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและระบบการศึกษา และต่อต้านการบริหารงานแบบเก่าภายใต้การนำของประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล สโลแกนนี้จึงหมายถึงว่าใต้แผ่นหินของเมืองคือผืนทรายกว้างใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและสิ่งใหม่ที่ดีกว่า

สำหรับลู่วิ่งสีม่วงที่ สนามกีฬาสตาด เดอ ฟร็องส์ มี 2 เฉด คือเฉดอ่อนคล้ายลาเวนเดอร์และอีกเฉดที่สีเข้มกว่า และผลิตโดยบริษัท Mondo ประเทศอิตาลี ที่มีชื่อเสียงในการสร้างพื้นผิวของสนามกีฬาและอุปกรณ์มายาวนานกว่า 75 ปี โดยลู่วิ่งสีนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสนามกีฬาอื่นทั่วโลก

“เราต้องการให้ลู่วิ่งมีความแตกต่างกับสิ่งที่เคยเห็นกันมาและเป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการจัดการแข่งขันที่อยากให้คิดนอกกรอบ เราก็ถกเถียงกันหนักว่าจะใช้ลู่วิ่งเฉดสีไหนที่ไม่ใช่แค่สวย แต่ยังต้องขับให้นักกีฬาดูโดดเด่น ในที่สุดเราสรุปกันว่าจะใช้สีม่วงที่ชวนให้นึกถึงลาเวนเดอร์” อาแล็ง บลงเดล (Alain Blondel) ผู้จัดการฝ่ายกรีฑาของ Paris 2024 กล่าวและเสริมว่าสีม่วงยังเป็นเฉดสีที่ตัดกันได้ดีกับที่นั่งสีเทาของอัฒจันทร์

ปอร์ เดอ ลา ชาแปล อารีนา (Port de la Chapelle Arena) เป็นสนามแบดมินตัน

สนามกีฬาสตาด เดอ ฟร็องส์ ซึ่งจะใช้เป็นสนามสำหรับการแข่งขันกรีฑาและรักบี้ใน Paris 2024 สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1995 เพื่อรองรับการแข่งขัน FIFA World Cup และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1998 ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสกับทีมชาติสเปน ที่นี่เป็นสนามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงปารีส และสามารถจุผู้ชมได้กว่า  80,000 คน ด้านฝั่งอัฒจันทร์มีหลังคาคลุม แต่บริเวณกลางสนามแข่งขันเปิดโล่งถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยและเป็นสถานที่สำหรับการแข่งขันฟุตบอล รักบี้ และกรีฑา อีกทั้งยังใช้จัดคอนเสิร์ตและละครเวทีด้วย

เครดิตภาพ: ©Paris 2024 และ IG @stadefrance

อ้างอิง

https://olympics.com/en/paris-2024/information/the-look-of-the-games

https://olympics.com/en/news/paris-2024-athletics-stade-de-france-installation-track-work

https://olympics.com/en/news/paris-2024-olympic-paralympic-athletics-mondo-purple-track-science-innovation


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ