ไฟโอลิมปิกจากโอลิมเปียสู่ปารีส ในวันชาติฝรั่งเศส กับเส้นทาง คบเพลิงโอลิมปิก ที่เปิดมุมมองหลากมิติ
- คบเพลิงโอลิมปิกที่เริ่มจุด ณ เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ จะถูกส่งต่อมาถึงกรุงปารีส เมืองเจ้าภาพโอลิมปิก Paris 2024 ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งตรงกับวันชาติของฝรั่งเศส
- พิธีวิ่งคบเพลิงในปารีสจะจัดขึ้นในวันที่ 14-15 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เป็นระยะทางรวม 5 กิโลเมตร และมีผู้วิ่งคบเพลิงจำนวน 240 คน
- คบเพลิงจะถูกส่งต่อไปยังเมืองต่างๆ ก่อนที่จะกลับคืนสู่ปารีสในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีการจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ
ไฟโอลิมปิก ที่ถูกจุดขึ้น ณ เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโอลิมปิกฤดูร้อน Paris 2024 จะถูกส่งต่อมาถึงปารีส เมืองเจ้าภาพ ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งตรงกับวันชาติของฝรั่งเศส และ พิธีวิ่ง คบเพลิงโอลิมปิก ในปารีสจะจัดขึ้นในวันที่ 14-15 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เป็นระยะทางรวม 58.5 กิโลเมตร และมีผู้วิ่งคบเพลิงจำนวน 240 คน
เส้นทางวิ่ง คบเพลิงโอลิมปิก ในปารีสจะผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แลนด์มาร์ก อนุสรณ์สถาน ศาสนสถาน และชุมชนต่างๆ เพื่อให้เห็นหลายมุมของปารีส เช่น จตุรัสบาสตีล (Place de la Bastille) บริเวณที่เคยเป็นคุกหลวงคุมขังนักโทษการเมืองในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ศาลาว่าการกรุงปารีส (L’Hôtel de Ville) ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการปกครองของปารีสและเป็นที่พำนักของนายกเทศมนตรีเมืองปารีส บาตากล็อง (Bataclan) คอนเสิร์ตฮอลล์ที่ถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีใน ค.ศ. 2015 และจะผ่านจตุรัสสำคัญ เช่น จตุรัสกงกอร์ด (La Place de la Concorde) อดีตลานประหารในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และ จตุรัสเด โวช (Place des Vosges) จตุรัสที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส
นอกจากนี้เส้นทางวิ่ง คบเพลิงโอลิมปิก ยังผ่านย่านที่มีผู้อพยพและชนชั้นแรงงานอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น กุตต์ ดอร์ (La Goutte d’Or) และ แบลวีลล์ (Belleville) และย่านที่มีการปรับโฉมใหม่ เช่น ปอร์ เดอ ลา ชาแปลล์ (Porte de la Chapelle) และวิ่งบนเลนจักรยานบริเวณถนนรีโวลี (Rue de Rivoli) ซึ่งเป็นเลนจักรยานที่ตัดผ่านศาสนสถานสำคัญ อาทิ มหาวิหารนอเทรอดาม (Cathédrale Notre-Dame) และ มัสยิดกลางปารีส (La Grande Mosquée de Paris) รวมไปถึงแลนด์มาร์กทางศิลปวัฒนธรรมอย่าง พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) โรงภาพยนตร์เลอ กร็องด์ เครกซ์ (Le Grand Rex) และผ่านสวนป่าและสวนสาธารณะ เช่น บัวส์ เดอ แว็งแซนน์ (Bois de Vincennes) และ บุตต์ โชมงต์ (Buttes Chaumont)
พิธีวิ่งคบเพลิงในกรุงปารีสจะเริ่มในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เวลา 12.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 17.50 น. ตามเวลาในประเทศไทย จุดเริ่มต้นอยู่ที่ถนนช็องเซลีเซ (Les Champs-Élysées) และคาดหมายว่าจะมีบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมวิ่งคบเพลิงในครั้งนี้ เช่น นักแสดงและนักแข่งรถชาวจีน หวังอี้ป๋อ นักยูโดชาวฝรั่งเศส เตดดี รีเนอร์ ผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัย และ โทนี พาร์กเกอร์ นักบาสเกตบอลมืออาชีพของ NBA
หลังจากกรุงปารีส คบเพลิงโอลิมปิก จะถูกส่งต่อไปยังเมืองต่างๆ ก่อนที่จะกลับคืนสู่ปารีสในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีการจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ
พิธีจุดคบเพลิงจากโอลิมปิกโบราณสู่การแข่งขันสมัยใหม่
การแข่งขันโอลิมปิกถือได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นับย้อนหลังไปได้ราว 2,800 ปีในสมัยกรีกโบราณโดยใช้ชื่อเดิมว่า “Olympiad” ในเมืองโอลิมเปียของกรีซ ส่วนการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่นั้นจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ใน ค.ศ. 1896 แต่การส่งต่อคบเพลิงโอลิมปิก (Olympic Torch Relay) เริ่มต้นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ. 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อเชื่อมโยงโอลิมปิกยุคโบราณกับสมัยใหม่เข้าด้วยกัน
ประเพณีจุด คบเพลิงโอลิมปิก เป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่สมัยกรีกโบราณเพื่อระลึกถึงเพลิงที่เทพเจ้าโพรมีทีอุสขโมยมาจากเทพเจ้าซูสเพื่อมามอบให้มนุษย์สำหรับการยังชีพ อีกทั้งชาวกรีกโบราณยังถือว่าไฟนี้เป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ที่สื่อความหมายถึงความสุข จึงเป็นสาเหตุให้ไฟคบเพลิงโอลิมปิกต้องสว่างไสวตลอดการแข่งขัน
ประเพณีการจุดคบเพลิงสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่จะเริ่มต้นที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ โดยไฟจะถูกจุดขึ้นด้วยการใช้แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านกระจกโค้ง จากนั้นจะมีพิธีการส่งมอบคบเพลิงที่สนามกีฬาพานาทิเนอิก ในกรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นสนามกีฬารูปตัว U และเป็นหนึ่งในสนามกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่สร้างตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ก่อนจะเริ่มต้นการส่งต่อคบเพลิงผ่านเมืองต่างๆ โดยการวิ่งหรือทางการคมนาคมอื่นๆ จนถึงเมืองเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกในแต่ละครั้ง
สำหรับโอลิมปิก Paris 2024 ไฟได้ถูกจุดด้วยแสงอาทิตย์และกระจกโค้งตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาอย่างยาวนานที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567 จากนั้นมีการวิ่งคบเพลิงผ่านหลายเมืองในกรีซเป็นเวลา 9 วัน ก่อนจะมาถึงสนามกีฬาพานาทิเนอิก ในกรุงเอเธนส์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 หลังจากนั้นคบเพลิงถูกส่งต่อมาที่ฝรั่งเศสด้วย เรือ Belem ซึ่งเป็นเรือกระโดงสามเสาที่เก่าแก่และมีประวัติมายาวนานของฝรั่งเศส โดยถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1896 เพื่อเป็นเรือบรรทุกสินค้าและปัจจุบันได้รับการบูรณะโดยมูลนิธิ Belem ให้มีสภาพสมบูรณ์เพื่อเป็นเรือฝึกสำหรับนักเดินเรือและเยาวชน
เรือ Belem นำ คบเพลิงโอลิมปิก ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาขึ้นฝั่งที่เมืองมาร์แซย์ ในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 จากนั้นมีการวิ่งคบเพลิงผ่านเมืองต่างๆ ทั่วประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนจะเข้าสู่กรุงปารีสในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งตรงกับวันชาติฝรั่งเศส เส้นทางนี้จะครอบคลุมมากกว่า 400 เมืองในประเทศและดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส
เสมอภาค น้ำ และสงบสุข หัวใจหลักการออกแบบคบเพลิงจากเหล็กรีไซเคิล
คบเพลิงสำหรับโอลิมปิก Paris 2024 ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส มัตเญอร์ เลออานเนอร์ (Mathieu Lehanneur) ด้วย 3 คอนเซปต์หลัก คือ “ความเสมอภาค” “น้ำ” และ “ความสงบสุข” เพื่อให้สอดคล้องกับหัวใจหลักของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้คือการสื่อถึงความเป็นเอกภาพ ความเท่าเทียม และเสรีภาพของมนุษยชาติ
คบเพลิงถูกออกแบบให้มีความสมมาตรทั้งแนวตั้งและแนวนอนเพื่อใช้สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกในรูปแบบเดียวกันเพื่อ “ความเสมอภาค” ส่วน “น้ำ” หมายถึงพิธีการส่งต่อ คบเพลิงโอลิมปิก จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศกรีซและข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศเจ้าภาพที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุก 4 ปี อีกทั้งยังสื่อถึง “แม่น้ำแซน” แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านกลางกรุงปารีสและจะเป็นสถานที่จัดพิธีเปิดการแข่งขันด้วยขบวนเรือกว่า 90 ลำที่จะนำทัพนักกีฬาทั่วโลกกว่า 10,000 คนล่องไปตามแม่น้ำเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร โดยมีแลนด์มาร์กและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เรียงรายตลอดสองฝั่งแม่น้ำเป็นฉากประกอบ ดังนั้นลวดลายของคบเพลิงจึงเป็นลักษณะคล้ายวงกระเพื่อมบนผิวน้ำที่สะท้อนกับแสงแดด
สำหรับ “ความสงบสุข” สื่อถึงเอกภาพของมนุษยชาติ โดยคบเพลิงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงผู้คนจากทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน การออกแบบในครั้งนี้จึงเน้นลายเส้นที่โค้งมนให้ความรู้สึกสงบ อ่อนโยน และแฝงความหมายถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอันเป็นเป้าหมายหลักของการแข่งขัน
คบเพลิงเป็นเฉดสีแชมเปญ มีความสูง 70 เซนติเมตร หนัก 1.5 กิโลกรัม และวัสดุเป็นเหล็กรีไซเคิล 100% ผลิตโดยบริษัทเหล็กชั้นนำ ArcelorMittal ที่ผลิตโลโกโอลิมปิกรูป 5ห่วงขนาดยักษ์ติดตั้งที่หอไอเฟล และวงรีอาจิโต (Agito) 3 สีของพาราลิมปิกติดตั้งเหนือประตูชัย Arc de Triomphe บริษัทได้ผลิตคบเพลิงจำนวนทั้งสิ้น 2,000 ชิ้นซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่น้อยลง 5 เท่าเมื่อเทียบกับโอลิมปิกครั้งก่อนๆ ทั้งนี้เพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากการผลิตให้ได้มากที่สุด
อ้างอิง