อิน-จัน บังเกอร์ แฝดสยาม ผู้บุกเบิกสายสัมพันธ์ไทย-อเมริกา
- 11 พฤษภาคม 2354 เป็นวันเกิดของตำนาน แฝดสยาม อิน-จัน หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดีในชื่อ Siamese Twins ทารกชายที่มีช่วงตัวติดกัน แต่สามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนปกติ ทำงาน แต่งงาน มีลูก และเสียชีวิตในวัย 63 ปี
- อิน-จันเดินทางออกจากสยามในช่วงรัชกาลที่ 3 ไปยังอเมริกาและยุโรปเพื่อแสดงโชว์ในคณะละครสัตว์ ทั้งคู่เป็นชาวเอเชียรุ่นแรกๆ ที่ได้เป็นพลเมืองอเมริกา ใช้นามสกุลบังเกอร์ (Eng-Chang Bunker) และมีลูกหลานสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
อิน-จัน คนไทยส่วนใหญ่รู้จักชื่อนี้ดีกับ ตำนาน แฝดสยาม หรือ Siamese Twins แต่ตำนานก็ถูกหยุดไว้แค่นั้นกับไอเดียคร่าวๆ ว่า อิน-จันคือทารกเพศชายที่เกิดมามีช่วงตัวติดกัน และเดินทางข้ามทะเลจากไทยไปใช้ชีวิตในคณะละครสัตว์ยังต่างแดน ใครเลยจะรู่ว่าความดังของอิน-จัน ในยุคนั้นถ้าเทียบกับปัจจุบันแล้ว เขาทั้งคู่คือเซเลบริตี้ระดับโลก โดยเรื่องความดังนี้ โจเซฟ แอนดรูว์ ออร์เซอร์ (Joseph Andrew Orser) แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Live of Chang and Eng : Siam’s Twins in Nineteenth-Century America ว่า ชื่อเสียงของอิน-จัน เทียบได้กับ ไมเคิล แจ็กสัน เลยทีเดียว
อิน-จันเป็นแฝดเพศชายชาวแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 วันที่ 11 พฤษภาคม 2354 ซึ่งบังเอิญว่าแม้แต่ตัวเลขวันเกิดก็ยังเป็นเลขแฝด พวกเขาเดินทางจากบ้านจากเมืองไปซีกโลกตะวันตกพร้อมตำนาน แฝดสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 3 และด้วยความที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่เจริญ การที่อิน-จัน เด็กแฝดตัวติดกันใช้ชีวิตได้อย่างปกติทำให้เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกทันทีที่เขาเดินทางถึงยุโรป และอเมริกา
ตอนอิน-จัน อายุได้เพียง 8 ขวบ พ่อของเขาก็มาเสียชีวิตลงอิน-จัน ต้องช่วยแม่ทำงานในไร่สวนเยี่ยงคนปกติ แต่ชีวิตก็มาพลิกผันเมื่อพ่อค้าชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เดินเรือมาพบทั้งคู่กำลังเล่นน้ำอยู่ในคลองอย่างปกติ เขาจึงขอรับอิน-จัน มาเลี้ยงดู โดยให้เงินจำนวนหนึ่งกับผู้เป็นแม่ และเมื่ออิน-จัน อายุได้ 18 ปี ก็เดินทางออกจากสยามไปยังอเมริกา ทั้งคู่ตระเวนออกโชว์ตัวในคณะละครสัตว์จนมีชื่อเสียง อีกทั้งเรื่องราวของทั้งคู่ยังเป็นที่สนใจอย่างมากในแวดวงการแพทย์ เพราะตามสถิติในยุคนั้น แฝดที่มีลักษณะของอวัยวะติดกันเช่นนี้ ผู้เป็นแม่จะแท้งลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือต่อเมื่อทารกเกิดมาก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
ภายหลังเมื่อทั้งคู่มีชื่อเสียง ประกอบกับสัญญาของคณะละครสัตว์หมดลง อิน-จัน จึงได้ออกมาเปิดคณะการแสดงของตัวเอง ไม่นานก็แต่งงานสร้างครอบครัว อินแต่งงานกับ ซาราห์ ส่วนจันแต่งงานกับ อะเดเลด เยตส์ ซึ่งหญิงสาวทั้งสองเป็นพี่น้องกัน
แน่นอนว่าการแต่งงานพร้อมกันของทั้งคู่เป็นข่าวใหญ่ในอเมริกาและยุโรป อินมีลูก 11 คน ส่วนจันมีลูก 10 คน ลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านแทรปฮิลล์ ชานเมืองวิลล์ โบโร เคาน์ตี้วิลล์ รัฐนอร์ท แคโรไลนา พร้อมเปลี่ยนนามสกุลเป็น บังเกอร์ (Bunker) ถือได้ว่าทั้งคู่เป็นคนเอเชียรุ่นแรกที่ได้สัญชาติกลายเป็นพลเมืองอเมริกา ทั้งยังเป็นการบุกเบิกความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีความสัมพันธ์ด้านการทูตอย่างเป็นทางการเลยด้วยซ้ำ
หากมองผิวเผินแฝดที่เติบโตมาด้วยกัน ใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง อย่าง อิน-จัน น่าจะมีความชอบ นิสัย และไลฟ์สไตล์ชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ทว่าความจริงแล้วทั้งคู่กลับต่างกันลิบลับ จันตัวเตี้ยกว่า มีสติปัญญาหลักแหลมกว่า แต่ขี้โมโห ส่วนอินสงบนิ่ง เรียบร้อย และมักเป็นผู้ยอมให้จันเสมอ
หลายครั้งที่จันชอบทำตัวเป็นนาย ถึงขั้นบังคับให้อินผูกเชือกรองเท้าให้บ่อยๆ แต่เรื่องที่ทรมานใจทั้งคู่ที่สุดคงเป็นการที่จันชอบดื่มเหล้า ส่วนอินชอบเล่นไพ่โปกเกอร์ตลอดทั้งคืน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ทั้งคู่หงุดหงิด ทะเลาะกันจนถึงขั้นขอร้องให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดแยกร่างออกจากกัน แต่ด้วยการแพทย์ในยุคนั้นยังไม่เจริญ และทั้งคู่มีอวัยวะสำคัญที่ติดต่อกันคือ เนื้อตับ ความคิดนี้จึงต้องถูกยกเลิกไป
จันเริ่มป่วยเป็นหลอดลมอักเสบอย่างรุนแรง และจนเสียชีวิตลงในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2417 ส่วนอินเสียชีวิตตามในอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา รวมอายุได้ 63 ปี โดยหลังการเสียชีวิตของ อิน-จัน พิพิธภัณฑ์ Mutter (The Mutter Museum of the College of Physicians of Philadelphia) ได้ขอนำร่างของทั้งคู่มาศึกษา และปัจจุบันก็ยังมีเรื่องราวของอิน-จัน จัดแสดงพร้อมด้วยรูปหล่อท่านบนของทั้งคู่ที่ให้เห็นถึงบริเวณหน้าอกที่ติดกัน เรียกได้ว่าที่ทั่วโลกได้รู้จักแฝดสยาม อิน-จัน ไม่ใช่เรื่องความผิดปกติของร่างกาย แต่เป็นความรู้ด้านการแพทย์ที่พวกเขาทั้งคู่ได้มอบไว้ และถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยวรัฐนอร์ทแคโรไลนาคุณจะพบเรื่องราวของตระกูลบังเกอร์และแฝด อิน-จัน กระจัดกระจายอยู่ในมุมต่างๆ ของเมือง รวมทั้งการใช้ชีวิตด้วยความมุ่งมั่นที่เขาฝากไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน
“หากใครท้อถอยในชีวิต คนเหล่านั้นควรดูการสู้ชีวิตของแฝดคู่นี้เป็นตัวอย่าง”
Pearl Peters กล่าวถึงทวดของเธอในงานรวมญาติในปี 2558 ซึ่งมีลูก หลาน เหลน ของ อิน-จัน เกือบ 200 คนมาร่วมงาน
ภาพ
· The Mutter Museum of the College of Physicians of Philadelphia
· Historical Medical Library of The College of Physicians of Philadelphia
อ้างอิง
· http://muttermuseum.org/exhibitions/cast-and-livers-of-chang-and-eng-bunker/
· นิตยสาร สารคดี ฉบับพฤศจิกายน 2558
· นิตยสาร สารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ 2532
· Historical Medical Library of The College of Physicians of Philadelphia