คนกราบหมาฆ่าเชคสเปียร์ : นมัสการเดรัจฉานเถิด…หากขุนศึกผู้ล้ำเลิศจะโสมมถึงเพียงนี้
Lite

คนกราบหมาฆ่าเชคสเปียร์ : นมัสการเดรัจฉานเถิด…หากขุนศึกผู้ล้ำเลิศจะโสมมถึงเพียงนี้

Focus
  • คนกราบหมา และ เชคสเปียร์ต้องตาย ผลงานภาพยนตร์ของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือที่รู้จักกันในนาม “อิ๋ง เค” (Ing K) ผู้กำกับ ไทยที่โดนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ถึงสองครั้ง
  • คนกราบหมา (2540) โดนคำสั่งห้ามฉายโดยกฎหมายเก่าก่อนมีกองพิจารณาภาพยนตร์ถึง 25 ปี ส่วน เชคสเปียร์ต้องตาย (2555) ที่ได้รับการจัดประเภท ห. ห้ามฉาย ในการพิจารณาถึง 12 ปี

ปี พ.ศ. 2567 วงการภาพยนตร์ไทยตื่นขึ้นอีกครั้งกับข่าวใหญ่เรื่องการปลดคำสั่งห้ามฉายในภาพยนตร์เรื่อง คนกราบหมา และ เชคสเปียร์ต้องตาย ผลงานภาพยนตร์ของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือที่รู้จักกันในนาม “อิ๋ง เค” (Ing K) ผู้กำกับ ไทยที่โดนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ถึงสองครั้ง นอกจากผลงานภาพยนตร์ยังมีผลงานศิลปะและหนังสือเล่มดังอย่าง ข้างหลังโปสการ์ด (นามปากกา “หลานเสรีไทย (136)”) เป็นหนังสือบันทึกการเดินทางที่จัดจ้านและกระตุกหลายประเด็นทางสังคมให้ถูกมอง ในงานสร้างสรรค์ของสมานรัชฎ์อันหลากหลายมักมีจุดเชื่อมโยงกันคือการไต่เส้นศีลธรรม ความกล้าหาญที่จะนำเสนอประเด็นสังคมอย่างคมชัด และการกระตุ้นความคิดของผู้เสพงานเสมอ นอกเหนือจากผลงานสร้างสรรค์สมานรัชฎ์ยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์ ซิเนม่าโอเอซิส (Cinema Oasis) โรงภาพยนตร์ที่จัดฉายภาพยนตร์อิสระและมีห้องนิทรรศการแสดงงานศิลปะหมุนเวียนในอาคารเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า แกลอรี่ โอเอซิส (Galerie Oasis) อีกด้วย

คนกราบหมา

เรียกได้ว่านอกเหนือจากการปลดแบนภาพยนตร์ทั้งสองแล้วเหตุการณ์นี้ยังทำให้ชื่อของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ กลับขึ้นเป็นที่พูดถึงอีกครั้งทั้งเชิงความกล้าหาญและฝีไม้ลายมือ การปลดคำสั่งห้ามฉายครั้งนี้นับเป็นการปลดแอกภาพยนตร์ คนกราบหมา (2540) ที่โดนคำสั่งห้ามฉายโดยกฎหมายเก่าก่อนมีกองพิจารณาภาพยนตร์ถึง 25 ปี และ เชคสเปียร์ต้องตาย (2555) ที่ได้รับการจัดประเภท ห. ห้ามฉาย ในการพิจารณาถึง 12 ปี การปลดแอกภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องจากการกักขังด้วยกฎหมายครั้งนี้ทำให้ภาพยนตร์ทั้งสองได้กลับมาทำหน้าที่ฉายแสงแห่งคำถามที่เคยถูกกลบด้วยความดำมืด ทำให้นอกจากประเด็นทางภาพยนตร์ที่เป็น ตัวบท (text) ให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำแล้วยังมี บริบท (context) จากการโดนคำสั่ง ห้ามฉาย ให้ได้คิดกันต่อว่าอะไรทำให้ทั้งสองเรื่องนี้เคยโดนห้ามไม่ให้มาถึงสายตาประชาชนนับทศวรรษในประเทศไทย

คนกราบหมา
จากภาพยนตร์คนกราบหมา

นมัสการเดรัจฉานเถิด หากขุนศึกผู้ล้ำเลิศจะโสมมถึงเพียงนี้

ในเชิงประเด็นภาพยนตร์ที่ทั้งสองมีร่วมกันคือการนำผู้ชมเข้าไปสู่คำถามปรัชญาจริยศาสตร์ คำถามที่มักจะเขย่าวัตรปฏิบัติที่เป็นแบบแผนต้องทบทวนหาความหมายใหม่เป็นหนึ่งในรูปแบบคำถามทางปรัชญาที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์มนุษย์ในฐานะสัตว์ผู้นึกคิดได้เสมอมาในคนกราบหมา ภาพยนตร์ได้พาผู้ชมเข้าสำรวจลัทธิบูชาหมาที่มีกลุ่มผู้นำลัทธิเป็นคนคอยอธิบายความคิดให้เหล่าสาวกเชื่อในการเคารพหมา มีตัวละครที่เป็นสาวกคนหนึ่งที่มีความมั่นคนทางจิตใจมากขึ้นเมื่อได้เข้าร่วมลัทธิ ตัวละครนี้ยังคงเชื่อในลัทธิแม้ในตอนท้ายจะมีการเปิดโปงว่าสำนักนี้มีพฤติกรรม “ไม่น่านับถือ” โดยสายลับต่างชาติ การเปิดโปงนั้นก็หาได้ทำให้เหล่าสาวกเสื่อมศรัทธาไม่

คำถามที่สำคัญคือตรงนี้ในจุดที่ภาพยนตร์ไปถึงจุดคลี่คลายปมปัญหาโดยใช้ตัวละครสายลับมาบอก “ความจริง” กับสาวก แต่ความจริงนั้นช่างไร้ราคาไม่อาจนำสาวก “ตาสว่าง” ได้อย่างที่สายลับคาดหวังไว้ เป็นฉากคลี่คลายของภาพยนตร์เชิงสืบสวนที่ต่อต้านขนบของภาพยนตร์ตระกูลนี้และทำให้ผู้ชมเสมือนถูกตบศีรษะจากความพลิกผันทางขนบว่าทำไมเมื่อเรื่องราวที่สายลับสืบสวนได้พบความจริงแล้วความจริงนั้นไม่สามารถ “กำจัด” ตัวละครเจ้าลัทธิที่เสมือนเป็นผู้ร้ายได้ นี่คือกลวิธีที่น่าสนใจจากเรื่อง คนกราบหมา ในการนอกขนบภาพยนตร์ที่ตนเองกำลังดำเนินอยู่ การนอกขนบนี้นอกจากการทำลายฉากจบแบบดั้งเดิมที่หนังสืบสวนมักมีนักสืบหรือสายลับอันน่านับถือมาเป็น “ปัญญา” ให้กับตัวละครอื่นๆ ได้ตาสว่างจากความจริง แต่สายลับใน คนกราบหมา ทำไมถึงไร้ราคาในการเสนอความจริงของเขาได้ขนาดนี้ กล่าวได้ว่าเพราะความจริงของเขาไม่ใช่ความจริงของคนอื่นที่เหลือทั้งหมด ความจริงของเขาคือความจริงทางสายตาประกอบเข้ากับความรู้ดั้งเดิมของเขา แต่สำหรับสำนักกราบหมานี้ความจริงคือการเข้าถึงรูปแบบทางปฏิบัติและแนวคิดใหม่ที่เหล่าสาวกยอมรับ พอมาถึงจุดนี้ภาพยนตร์จึงโยนคำถามใหญ่โถมเข้าผู้ชมพร้อมกับการหักขนบการเล่าว่าหากความจริงของเราไม่เหมือนกันเราต้อง “กำจัด” ผู้ที่เชื่อต่างจากเราหรือพยายามเปิดโปงทำลายให้มันสิ้นแบบที่สายลับอยากให้เป็น มันจำเป็นจริงหรือ การทำลายความเชื่อออกไปจากสังคมจนสังคมต้องสมาทานความจริงแบบเดียวกัน ระหว่างมีความเชื่อประหลาดเต็มไปหมดกับมีความเชื่อใดก็ตามที่บังคับให้เราเชื่อเหมือนกันแบบไหนน่ากลัวขนหัวลุกกว่ากัน

คนกราบหมา
เชคสเปียร์ต้องตาย

ในตอนท้ายของ เชคสเปียร์ต้องตาย ก็สอดรับทางประเด็นดังกล่าวด้วยฉากที่คณะละครถูกสังหารและจับกุมจากกลุ่มคนเห็นต่างอย่างโหดร้ายและทำลายโรงละคร ในฉากนี้ผู้ชมจะได้เห็นการกำจัดตั้งแต่ผู้กำกับละครเวทีไปจนถึงผู้คนในโรงละคร และมีฉากที่คล้ายกับภาพเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ ในประวัติศาสตร์ไทย ภาพของภาพยนตร์ปลุกภาพจำทางประวัติศาสตร์มาขนานทำให้เกิดการเปรียบเทียบในมโนสำนึกของผู้ชมและตั้งคำถามเช่นเดียวกันกับ “คนกราบหมา” ว่าเรื่องทำนองนี้มันต้องถึงกับเลือก “การกำจัด” เป็นทางออกของสังคมที่มีความคิดหลากหลายจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมทางออกดังกล่าวมันดีจริงหรือแม้กระทั่งกับฝ่ายที่ถือความรุนแรง เพราะแม้คุณจะฆ่าล้างฝ่ายตรงข้ามมากมายเท่าไรก็จะมีแต่มือคุณและจิตใจของคุณเท่านั้นที่เปื้อนเลือด เสมือนฉากหลอนที่เกิดขึ้นกับ คุณหญิงเมฆเด็ด สตรีผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบุรุษขุนศึกมือเปื้อนเลือด เมฆเด็ด ที่ในฉากดังกล่าวเธอกำลังถูกหลอกหลอนด้วยจิตใจของตัวเองทำให้เข้าใจว่าที่มือของเธอมีเลือดที่ล้างเท่าไรก็ไม่สามารถชำระมันออกไปได้ มือที่เปื้อนเลือดแล้วจะกลับมาสะอาดไม่ได้อีก จิตใจอันโสมมที่เดินทางไกลจนกู่ไม่กลับจึงหลอกหลอนทั้งเธอและสามีเมฆเด็ดของเธอจนวันสุดท้าย ฉากดังกล่าวย้อนกลับมาให้นึกคิดถึงความรู้สึกเวลาเราเห็นผู้ที่คิดต่างจากเราประสบเคราะห์กรรมเลวร้าย ถ้าเรารู้สึกยินดีเมื่อไรจิตใจของเราเองนั้นแหละที่จะน่าเวทนายิ่งขึ้นไปจากการตอกย้ำความเหี้ยมโหดของตน ดังนั้นความรุนแรงทั้งผู้กระทำก็ได้รับมือเปื้อนเลือด ผู้ที่ถูกกระทำก็เสียหายล้มตายแล้วสุดท้ายใครได้ประโยชน์ หรือไม่มีใครหรอกที่ได้ประโยชน์หากมีเหตุแบบนั้นเกิดขึ้นทุกผองล้วนน่าเวทนาและบางทีตัวตนและอารมณ์ของเราเองอาจจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดอีกสิ่งก็ได้ ดังคำกล่าวในเรื่องที่ว่า “อนิจจา บ้านเมืองน่าเวทนา เจ้าแทบไม่กล้ารู้จักตัวเอง ไม่บังอาจอาจเรียกว่าแผ่นดินแม่ ที่แท้คือหลุมศพของเรา ไม่มีรอยยิ้มบนใบหน้า ล้วนแต่คนบ้าที่ไม่รับรู้สิ่งอันใด”

เชคสเปียร์ต้องตาย

ผีหมา วิญญาณเชคสเปียร์ กับคำสาปคำสั่งห้ามมีเสรีภาพในภาคประชาชน

การกลับมาของทั้งสองภาพยนตร์ไม่เพียงทำให้ประชาชนในฐานะผู้ชมได้เห็นเนื้อหาที่เคยต้องโทษห้ามฉายในไทย แต่การที่ถูกห้ามฉายหรือการ “เซนเซอร์” เองก็สามารถเป็น ปรบท (paratext) ของภาพยนตร์ได้เช่นกัน เพราะเราดูในแบบที่รู้อยู่แล้วว่านี้คือหนังต้องโทษ แล้วการต้องโทษดังกล่าวคืออะไรมีความหมายต่อประชาชนอย่างไรก็จะถูกคิดอีกทอดหนึ่งในเชิงปรบทของภาพยนตร์ทั้งสอง

สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือที่รู้จักกันในนาม “อิ๋ง เค” (Ing K) 
ผู้กำกับภาพยนตร์คนกราบหมา และ เชคสเปียร์ต้องตาย

ว่ากันที่การ “เซนเซอร์” เองในภาพยนตร์ทั้งสองอาจถูกระงับห้ามฉายจากบางฉากที่ไปกระตุ้นต่อมอำนาจในการกำหนดศีลธรรมของผู้มีอำนาจคาดโทษในเวลาที่ทั้งสองเรื่องโดนห้ามฉาย แต่นัยหนึ่งแล้วอำนาจการห้ามฉายมันควรมีอยู่ในสังคมหรือไม่ก็เป็นคำถามสำคัญว่า ความชอบธรรมของการที่มีผู้มีอำนาจในการสั่งการให้สังคมรู้หรือไม่รู้เรื่องอะไรมันมีความชอบธรรมอยู่หรือไม่ หากยึดหลักประชาธิปไตยที่อำนาจควรได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนอำนาจในการห้ามฉายก็ไม่ควรดำรงอยู่เสียตั้งแต่ทีแรก เหตุการณ์ที่ลงดาบห้ามฉายกับคนกราบหมา และ เชคสเปียร์ต้องตาย ก็เป็นหน้าประวัติศาสตร์หลายทศวรรษที่ตอกย้ำว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแม้กระทั่งอำนาจในการจะสื่อสารและรับรู้ก็ไม่ได้อยู่ที่การกำหนดของภาคประชาชนแต่อย่างใด การลงดาบดังกล่าวอาจสามารถฆ่าสังหาร “คนกราบหมา” และ “เชคสเปียร์ต้องตาย” ไปได้หลายทศวรรษ แต่การกลับมาได้ฉายใหม่ก็สร้างความหมายว่าในรัฐที่ประชาชนกำลังต่อสู้ทุกหนแห่งจะไม่มีอะไรที่เป็นความลับได้ตลอดไป การจะมาห้ามให้รู้หรือไม่รู้เรื่องใดไม่ควรมีอยู่อีกแล้วในสังคมไทย

คนกราบหมา

ในการชมภาพยนตร์การอ่านเชิงปรบทยิ่งทำให้เห็นว่าเนื้อหาไม่ได้ดำรงอยู่ภายใต้แสงจากจอฉายอย่างเดียว แต่โลกใบนี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกันและกันเสมอทำให้นัยของการกลับมาฉายภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องจึงมีความน่าสนใจ ซับซ้อน และควรค่าที่ผู้ชมชาวไทยจะได้ชม ได้รับรู้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยถูกห้ามฟังห้ามดูอะไรและทบทวนว่าวันนี้เรายังคงถูกห้ามจากอำนาจแบบไหนต่อไป การจำกัดเนื้อหาด้วยกฎทางชุมชนของสื่อสังคมออนไลน์ถือว่าเป็นการ “เซนเซอร์” หรือไม่ การที่มีกฎหมายอันเคร่งครัดบางมาตราจนทำให้ประชาชนวิจารณ์บางสิ่งที่เกี่ยวกับเขาไม่ได้ถือเป็นการ “เซนเซอร์” หรือไม่ และวันนี้สังคมไทยมีเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นแล้วหรือยัง ทั้งหมดคือคำถามใหญ่จากกรณีปลดแอกปล่อยผีทั้งหมาทั้งเชคเสปียร์ออกมาถาม และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าทางทีมผู้สร้างยอมแพ้ ทางทีมผู้สร้างได้ผ่านกระบวนการทางกฎหมายมาร่วม 10 ปีกว่าทุกอย่างจะถูกปลด ทั้งหมดทั้งมวลตอกย้ำว่านอกจากฝีไม้ลายมืออันยอดเยี่ยมทางภาพยนตร์แล้วสิ่งที่น่านับถือที่สุดของสมานรัชฎ์คือการทำภาพยนตร์กระตุ้นให้เราขบคิดปัญหาอันท้าทายความเชื่อเดิมของตนอยู่เสมอ

สุดท้ายขอให้ผีหมาและวิญญาณเชคสเปียร์ได้เป็นพยานถึงการถูกลิดรอนเสรีภาพทางความคิดและขอให้ประชาชนจงเจริญ !


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน