เมื่อศิลปะคือจุดเปลี่ยนชีวิต “ปรัชญา เจริญสุข” ศิลปินที่ใช้ศิลปะส่งเสียงความเจ็บปวดแทนโลกใบนี้
Arts & Culture

เมื่อศิลปะคือจุดเปลี่ยนชีวิต “ปรัชญา เจริญสุข” ศิลปินที่ใช้ศิลปะส่งเสียงความเจ็บปวดแทนโลกใบนี้

Focus
  • “ผึ้ง-ปรัชญา เจริญสุข” ศิลปินรางวัลชนะเลิศระดับอาเซียน 2023 UOB Southeast Asian Painting of the Year และศิลปินรางวัลชนะเลิศ UOB Painting of the Year ประจำปี 2566 (ประเทศไทย)
  • ความโดดเด่นในผลงานของ ปรัชญา เจริญสุข คือการหยิบจับประเด็นสิ่งแวดล้อมมาบอกเล่า พร้อมนำขยะไมโครพลาสติกมาสร้างผลงาน

“ศิลปะอาจจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกได้ในทันที แต่อย่างน้อยศิลปะก็สามารถสร้างความสั่นสะเทือนเล็กๆ ในใจของผู้ชมและศิลปินได้”

UOB Art Around ชวนไปเปิดสตูดิโอย่านพระราม 2 ของ ผึ้ง – ปรัชญา เจริญสุข ศิลปินรางวัลชนะเลิศระดับอาเซียน 2023 UOB Southeast Asian Painting of the Year และศิลปินรางวัลชนะเลิศ UOB Painting of the Year ประจำปี 2566 (ประเทศไทย) เมื่อคำว่า “ศิลปะ” ได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเธอ พร้อมส่งแรงสั่นสะเทือนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ใจผู้ชม

จากจุดเริ่มต้นเพียงโปรเจ็กต์ด้านขยะทะเลกับงานประเพณีไทยที่เธอต้องทำส่งอาจารย์สมัยเรียนปี 3 คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ความสะเทือนใจที่ได้เห็นกองขยะเกลื่อนชายหาดในจังหวัดบ้านเกิดที่ชุมพร ทำให้ผึ้งตัดสินใจใช้งานศิลปะบอกเล่าปัญหาขยะและประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ปรัชญา เจริญสุข
ไมโครพลาสติกที่เป็นวัสดุหลักในการทำงานศิลปะของ ปรัชญา เจริญสุข

“ในหลายครั้ง เราแทบมองไม่ออกว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ขยะ” เพราะมันกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม จนแยกไม่ออกระหว่างธรรมชาติกับสิ่งแปลกปลอมที่มนุษย์สร้างขึ้น”

เธอย้ำถึงเหตุผลที่ตั้งใจใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่า “ศิลปะเป็นมากกว่าแค่ความสวยงาม ยิ่งถ้างานศิลปะของเราสามารถเล่าเรื่องบางอย่างได้ ส่งต่อประเด็นบางอย่างได้ก็จะยิ่งดี”

“การเลือกใช้ ‘ไมโครพลาสติก’ ในการสร้างสรรค์งานแทนการวาดรูป เพราะตั้งใจอยากจะสื่อสารเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะไมโครพลาสติก เพื่อให้งานศิลปะของเราเป็นเหมือนข่าว ให้ผลงานของเราช่วยส่งเสียงเรื่องนี้” ผึ้งเล่าถึงความตั้งใจในการเลือกใช้ไมโครพลาสติกในการสร้างสรรค์งาน ให้งานศิลปะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เฉพาะกับเธอเอง แต่กับผู้คนที่ได้เข้ามาชมงานของเธอด้วย

ปรัชญา เจริญสุข

ให้ศิลปะนำทางชีวิต

เส้นทางศิลปะของผึ้ง เริ่มต้นขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ตอนนั้นเธอกำลังค้นหาตัวเอง ยังไม่แน่ใจนักว่าถนัดอะไร หรืออยากจะเป็นอะไร สิ่งเดียวที่เธอสนใจคือวาดรูป โชคดีที่ครอบครัวของเธอมองเห็นแสงประกายเล็กๆ จึงแนะนำให้เธอมุ่งตรงไปยังวิชาชีพศิลปะด้วยการสมัครเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช ในระดับ ปวช. ก่อนจะต่อปริญญาตรี และปริญญาโทที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“เป็นคนไม่ชอบเรียนวิชาการ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ รู้แค่งานอดิเรกคือวาดรูป พ่อเองก็คิดว่าลูกชอบศิลปะเลยพาไปติวศิลปะ เรียนไปเรียนมาจนถึงตอนนี้ก็ได้ก้าวเข้ามาทำงานศิลปะอย่างเต็มตัว ซึ่งตัวงานที่ทำอาจจะต่างไปจากคนอื่นตรงที่ไม่ได้ใช้สีหรือดรอว์อิ้งเป็นการสื่อสารหลัก แต่เป็นการหยิบไมโครพลาสติกมาเป็นวัสดุในการทำงานศิลปะ ซึ่งแน่นอนว่างานแบบนี้อาจจะไม่ใช่งานที่สามารถขายได้ง่าย แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าศิลปะจะนำทางเราไปเอง ผึ้งจึงเริ่มจากส่งงานประกวด เริ่มหาเงินได้จากอาชีพนี้ ได้ก้าวขาข้างหนึ่งเข้ามาในอาชีพศิลปิน และศิลปะก็เริ่มพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มันมีทางเดินของมัน”

ปรัชญา เจริญสุข

ขยะทะเลที่สั่นสะเทือนหัวใจ

ผึ้งทำงานโดยโฟกัสด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี จุดเริ่มต้นมาจากการลงพื้นที่ชายหาดในจังหวัดชุมพรบ้านเกิดเพื่อหาเศษไม้มาทำงาน แต่ภาพที่เธอเห็นกลับเป็นกองขยะที่คลื่นซัดเข้าฝั่ง นั่นคือครั้งแรกที่ทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจนอยากที่จะถ่ายทอดออกมา

“งานศิลปะที่เราทำมักจะเป็นเรื่องที่เจอมากับตัวจนรู้สึกสะเทือนใจ ต้องมีความรู้สึกต่อใจเราก่อนจึงสามารถถ่ายทอดออกมาได้ อย่างงานขยะทะเลที่ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะทำเรื่องนี้ แต่พอเราได้เห็นและรู้สึกสะเทือนใจ เราก็เลยเอาขยะพลาสติกจากทะเลเหล่านี้มาทำงาน Installation และก็ทำประเด็นขยะทะเลมาเรื่อยๆ จนได้มาเจอข่าวเรื่องการพบไมโครพลาสติกในปลาทูที่เรากินกันอยู่ทุกวัน โดยปลาทู 1 ตัว พบไมโครพลาสติกมากถึง 78 ชิ้น”

“ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าไมโครพลาสติกหน้าตาแบบไหน ก็เลยมุ่งหน้าไปที่ชายหาด ตั้งใจไปหาไมโครพลาสติก และก็ได้เจอด้วยตัวเอง ใช้กระชอนร่อนจนได้พลาสติกขนาดเล็กมาใช้ทำงาน ติดลงในเฟรมที่มีการตีตารางขนาด 5 x 5 มิลลิเมตร เพื่อที่จะสื่อสารว่าสิ่งนี้คือไมโครพลาสติก และหลังจากนั้นก็ใช้ไมโครพลาสติกที่อยู่รอบตัวมาทำงานศิลปะมาตลอด”

ปรัชญา เจริญสุข

ศิลปะไม่อาจเปลี่ยนโลก แต่เปลี่ยนมุมมองชีวิต

นอกจากขยะทะเล ไมโครพลาสติก ความสั่นสะเทือนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมของผึ้งได้ขยายไปสู่เรื่องภาวะโลกร้อน ภาวะโลกรวน ฝุ่น การทิ้งร่องรอยของมนุษย์ไว้บนโลกผ่านขยะ นอกจากนี้ความสะเทือนใจของเธอยังขยายวงสู่คนรอบตัว เริ่มจากครอบครัว ญาติ ที่เริ่มพูดคุยปัญหาขยะ แยกขยะ เก็บขยะมาให้เธอทำงาน รวมทั้งผู้ชมงานที่เริ่มตั้งคำถามในปัญหาสิ่งแวดล้อม

“งานของเราอาจจะไม่ได้ทำให้ผู้ชมงานเปลี่ยนพฤติกรรม หรือทำให้เขาดูแลเอาใจใส่โลกมากขึ้น แต่อย่างน้อยมันก็ได้สร้างความสั่นสะเทือนเล็กๆ ให้เขา ทำให้เขาหยุดสนใจ พูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือบางคนก็อาจจะกลับไปค้นหาข้อมูลต่อ ครั้งหนึ่งผึ้งเคยไปนั่งติดขยะทำงานที่ริมทะเล มีน้องประมาณ ป.3-ป.4 เขาก็ถามว่าเราทำอะไร และเขาก็ตกใจว่าขยะมันเยอะขนาดนี้เลยหรอ จากนั้นน้องก็ไปเอาเศษไม้มาเขียนทรายว่า ‘ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม’ นี่คือตัวอย่างของงานศิลปะที่อาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่สามารถสร้างความสะเทือนเล็กๆ ในอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ และก็อาจจะกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อไป”

รางวัลระดับอาเซียนที่เปลี่ยนชีวิตในข้ามคืน

นอกจากศิลปะจะเข้ามาเปลี่ยนมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเธอ ชีวิตในสายอาชีพศิลปินของผึ้งก็เริ่มเปลี่ยนในช่วงข้ามคืน มากไปกว่ารางวัลและชื่อเสียง เธอกล่าวว่าเวทีการประกวดคือสิ่งที่ช่วยการันตีว่า งานที่เธอทำมีคุณค่า และทำให้เธอมีพลังที่จะทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

“เวทีการประกวดจำเป็นสำหรับศิลปินหน้าใหม่อย่างผึ้ง ทำให้เรามีที่ยืนในวงการศิลปะมากขึ้น เดิมทีเราทำงานแชร์รูปในโซเชียลมีเดียก็มีแค่เพื่อนของเราที่เห็น แต่การประกวดจิตรกรรมยูโอบีเหมือนมีแสงสปอตไลต์ส่องลงมาที่เรา หลังจากที่ประกาศรางวัล 2023 UOB Southeast Asian Painting of the Year คืนนั้นก็มีคนติดต่อมาซื้องานเราเลย มีคนไปเห็นผลงานเราในแกลเลอรีที่สิงคโปร์แล้วก็ติดต่อมาให้เราไปแสดงงานในอเมริกา มีแกลเลอรีในประเทศไทยที่ติดต่อไปจัดแสดงงานมากขึ้น ก่อนหน้าที่ได้รางวัล ผึ้งเองก็มีแอบคิดบ้างว่า หรือเราจะเปลี่ยนไปทำงานประจำดี เราเริ่มหาสิ่งต่างๆ เข้ามาทำเพื่อสร้างรายได้ แต่พอได้รางวัลมันทำให้เราตัดสินใจได้แล้วว่า เราจะเป็นศิลปินต่อไป เราอยากจะเป็นศิลปินที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อ รางวัลด้านศิลปะทำให้เราสามารถทำงานในฐานะ ศิลปินอาชีพ ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น”

Fact File

  • ใครที่สนใจและอยากคว้าโอกาสเป็นศิลปินระดับอาเซียน การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 15 ประจำปี 2567 พร้อมเปิดรับผลงานแล้ว สามารถศึกษากฎและกติกาการประกวด และส่งผลงานผ่านระบบ E-Submission ได้ทาง www.uob.co.th/poy ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางอีเมล poy@uob.co.th
  • อ่านคอนเทนต์ด้านศิลปะจาก UOB Art Around : https://www.uob.co.th/uobandart/uob-art-around.page