เช็กลิสต์เตรียมตัวก่อนตีตั๋วไปโอลิมปิก Paris 2024 ตั้งแต่โซนจัดงาน ถึงค่าโดยสารรถสาธารณะทุกรูปแบบ
Lite

เช็กลิสต์เตรียมตัวก่อนตีตั๋วไปโอลิมปิก Paris 2024 ตั้งแต่โซนจัดงาน ถึงค่าโดยสารรถสาธารณะทุกรูปแบบ

Focus
  • การจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4โซน โดยแต่ละโซนมีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เข้มงวดรวมถึงการใช้ QR Code ในบางพื้นที่ด้วย
  • อัตราค่าบริการรถโดยสารสาธารณะทุกรูปแบบมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัวและมีการออกบัตรโดยสารเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว
  • ราคาค่าที่พักทั้งในปารีสและชานเมืองมีการปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเมืองปารีสมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าจากราคาเดิม

ใกล้เข้ามาแล้วกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก Paris 2024 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม 2567 และต่อด้วยการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2567 และกรุงปารีสในฐานะเจ้าภาพได้มีการจัดเตรียมสถานที่ทั้งสนามแข่งที่มีอยู่แล้วและสนามที่จะสร้างขึ้นมาเฉพาะกิจ รวมทั้งมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยสำหรับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่นี้อย่างเต็มที่เช่นกัน

ผู้ที่มาเยือนปารีสช่วงนี้จะพบว่าท้องถนนในกรุงปารีสนั้นเต็มไปด้วยแผงกั้นและมีการปิดถนนห้ามรถวิ่งหรือการปิดพื้นที่จราจรบางช่วง การยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปสถานที่สำคัญต่างๆ มักจะมีสิ่งก่อสร้างทั้งโครงเหล็กและโครงไม้บดบังทำให้การหามุมสวยๆ ในการถ่ายรูปกลายเป็นเรื่องท้าทายกันเลยทีเดียว

 Paris 2024
ภาพ : ดรุณี คำสุข

ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธบุกยิงโจมตีงานคอนเสิร์ตบริเวณชานกรุงมอสโก ประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 22  มีนาคม 2567 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยกระดับการเฝ้าระวังการก่อการร้ายในฝรั่งเศสให้อยู่ในระดับที่ 4 หรือระดับสูงสุดที่เรียกว่า Urgence Attentat (อรุกฌองซ์ อัตตองตา) ทั่วประเทศ ส่งผลให้การเดินทางในปารีสในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกจะมีความยุ่งยากและลำบากไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการขนส่งสาธารณะ จักรยานยนต์ หรือรถยนต์ส่วนตัว

 Paris 2024

ภายใต้คอนเซปต์ที่ว่า “ยิ่งเราอยู่ห่างจากพื้นที่การแข่งขันมากเท่าไร เราก็จะมีข้อจำกัดที่ลดน้อยลง” คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งปารีส 2024 (Comité d’organisation des Jeux olympiques et paralympiques d’été de 2024 หรือ COJOP) จึงได้แบ่งโซนพื้นที่ในกรุงปารีสและบริเวณที่จะมีการจัดการแข่งขันต่างๆ ออกเป็น 4 โซน คือ

  1. พื้นที่จัดการแข่งขันหรือโซนสีเทา
  2. พื้นที่ป้องกันหรือโซน Silt หรือโซนสีดำ (Sécurité intérieure et lutte contre le terrorisme : ความปลอดภัยภายในและการต่อต้านการก่อการร้าย)
  3. พื้นที่ห้ามเข้าสำหรับยานพาหนะหรือโซนสีแดง
  4. พื้นที่จัดระเบียบยานพาหนะหรือโซนสีน้ำเงิน
 Paris 2024

โซนสีเทาหรือบริเวณพื้นที่จัดการแข่งขัน

ผู้ที่จะเข้าไปในพื้นที่นี้ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ Paris 2024 และ COJOP คณะนักกีฬา รวมถึงผู้ชมที่มีตั๋วเข้าชมการแข่งขันนั้นๆ และจะต้องผ่านการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าไป การบังคับใช้การกำหนดสีของพื้นที่โซนนี้มาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการจัดเตรียมและติดตั้งอุปกรณ์ที่จะใช้ในการแข่งขัน โดยจะมีผลไปจนถึงประมาณเดือนตุลาคม 2567 หลังจากที่มีการรื้อถอนอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแข่งขันเสร็จสิ้นลง

 Paris 2024

สนามแข่งกีฬาของโอลิมปิกและพาราลิมปิกนั้นมีทั้งที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส เขตแซน-แซ๊งต์ เดอนีส์ (Seine-Saint-Denis)  เขตอีฟเวอลีนส์ (Yvelines) เขตโอต์ เดอ แซน (Hauts-de-Seine) เขตแซน-เอ-มาร์น (Seine-et-Marne) และเขตเอสซอนน์ (Essonne) ส่วนบริเวณนอกปารีสเช่น เมืองมาร์กเซย (Marseille) และเมืองทีฮูโป (Teahupo’o) ณ เกาะตาฮิติ

ภาพ : ดรุณี คำสุข

โซนสีดำหรือโซน Silt

โซนสีดำเป็นโซนที่มีพื้นที่รอบๆ และติดกับสนามแข่งขันหรือสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ผู้ที่มีตั๋วเข้าชมการแข่งขัน นักกีฬา หรือคณะบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันจึงจะสามารถเข้าพื้นที่ในโซนนี้ได้ แต่จะต้องถูกตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ตามจุดตรวจก่อนเข้าไป ส่วนยานพาหนะตั้งแต่สองล้อขึ้นไปที่จะเข้าพื้นที่นี้ต้องเป็นยานพาหนะของผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันที่ได้รับอนุญาตและต้องมีบัตรอนุญาต (Laissez-passer) แบบ QR Code

การกำหนดโซนพื้นที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 (8 วันก่อนวันเริ่มต้นการแข่งขัน) จนสิ้นสุดการแข่งขัน แต่ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีพิธีเปิดการแข่งขันคือ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ห้ามยานพาหนะต่างๆ เข้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ป้องกันและรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย และหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเท่านั้น

 Paris 2024
ภาพ : ดรุณี คำสุข

โซนสีแดงหรือพื้นที่ห้ามยานพาหนะเข้า

โซนสีแดงเป็นพื้นที่ที่อยู่ถัดออกมาด้านนอกของพื้นที่โซน Silt เป็นพื้นที่ห้ามยานพาหนะตั้งแต่สองล้อขึ้นไป (ยกเว้นจักรยานและสกูตเตอร์) เข้าไปในพื้นที่ ยานพาหนะของผู้ที่จะเข้าไปต้องมีบัตรอนุญาต(Laissez-passer) แบบ QR Code และต้องแสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่บริเวณที่มีการตั้งด่านตรวจก่อนเข้าไป

การบังคับใช้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 (8 วันก่อนวันเริ่มต้นการแข่งขัน) จนสิ้นสุดการแข่งขันในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีพิธีเปิดการแข่งขันคือ ห้ามรถทุกชนิดเข้าตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

ภาพ : ดรุณี คำสุข

โซนสีน้ำเงินหรือพื้นที่จัดระเบียบยานพาหนะ

โซนสีน้ำเงินเป็นพื้นที่การจัดระเบียบการจราจรสำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะเพื่อที่จะลดการใช้เส้นทางที่จะเข้าไปในพื้นที่สีแดงและเพื่อเบี่ยงการจราจร ยานพาหนะที่จะสามารถเข้าพื้นที่นี้ได้จะต้องได้รับการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามจุดตรวจค้นต่างๆ ก่อนเข้าในพื้นที่โดยไม่จำเป็นต้องใช้ QR Code การบังคับใช้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 (8 วันก่อนวันเริ่มต้นการแข่งขัน) จนสิ้นสุดการแข่งขัน

ค่าบริการรถโดยสารสาธารณะทุกรูปแบบปรับราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว

อัตราค่าบริการรถโดยสารสาธารณะทุกรูปแบบทั้งรถไฟใต้ดิน รถไฟชานเมือง รถโดยสารประจำทาง และรถรางไฟฟ้า จะมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 8 กันยายน 2567 แต่จะเพิ่มความถี่และจำนวนเที่ยวของการให้บริการขึ้นอีก 15% โดยมีรายละเอียดของอัตราค่าโดยสารดังนี้

  • ตั๋วรายเที่ยวในเมืองปารีส หรือตั๋วโซน 1 และโซน 2 (เมโทร รถรางไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง) ราคา 4 ยูโร จากเดิมราคา 2.15 ยูโร และ บัตรแบบ 10 เที่ยวที่เรียกว่า การ์เน (Carnet de 10 tickets) ราคา 32 ยูโรจากเดิมราคา17.35 ยูโร
  • ตั๋วรายเที่ยวปารีส-ชานเมืองหรือชานเมือง-ปารีส ที่ระบุสถานีต้นทางหรือปลายทาง (รถไฟชานเมืองหรือ RER) ราคาแพงสุดเที่ยวละ 6 ยูโรจากเดิมราคาที่แพงที่สุดคือ 5 ยูโร (ราคาตั๋วรถไฟแบบ RER จะมีราคาแตกต่างกันไปตามระยะห่างจากเมืองปารีส)  
  • ตั๋วรถบัสปารีส-สนามบินหรือสนามบิน-ปารีส ทั้งสองสนามบินราคา 16 ยูโรต่อเที่ยวเท่ากัน (จากเดิมรถ Shuttle Bus จากปารีส Opéra ไปสนามบิน Charles de Gaulles ราคา 16.60 ยูโร และจากปารีส Denfert Rochereau ไปยังสนามบิน Orly 11.50 ยูโร) 

ในส่วนของผู้ที่อาศัยในปารีสและชานเมืองที่มีบัตรโดยสารประเภทต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันทั้งบัตรโดยสารแบบรายเดือน (Navigo mensuel) รายปี (Navigo annuel) บัตรโดยสารนักเรียน (Imagine’R) รวมถึงบัตรโดยสารสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่ได้รับส่วนลดต่างๆ จะไม่มีการปรับขึ้นราคา รวมถึงบัตรโดยสารแบบรายเที่ยวที่เรียกว่า Navigo Liberté+ ที่เป็นการหักค่าโดยสารตามที่ใช้เดินทางจริงเป็นรายเที่ยวและราคาก็จะตกอยู่ที่เที่ยวละ 1.73 ยูโร

 Paris 2024

บัตรโดยสารเฉพาะกิจ Le Passe Paris 2024

แคว้น อิล-เดอ- ฟร้องซ์ (Région Île-de-France) ได้มีการออกบัตรโดยสารเฉพาะกิจ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางที่เรียกกันว่า “เลอ ปาส ปารี 2024” (Le Passe Paris 2024) โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและง่ายต่อการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับประเภทของตั๋วโดยสารแบบแยกชนิด แยกประเภทของระบบขนส่งมวลชนทั้งในระบบของตัวเมืองปารีสและระบบที่เชื่อมระหว่างเมืองปารีสและชานเมือง อีกทั้งเพื่อทำให้การเดินทางคล่องตัวมากขึ้นรวมถึงจะเป็นการลดความแออัดและลดระยะเวลาในการรอซื้อตั๋วโดยสารแต่ละครั้งบริเวณสถานีต่างๆ เพราะบัตรหรือตั๋วดังกล่าวจะเป็นแบบเหมารวมและไม่จำกัดเที่ยวการเดินทาง ใช้งานง่าย ยิ่งถ้าซื้อจำนวนวันที่มากเท่าไร ก็จะประหยัดค่าเดินทางได้มากยิ่งขึ้น

Le Passe Paris 2024จะมีการขายในราคาตามจำนวนวันดังนี้ คือ ระยะเวลา 1, 2, 3, 4, 5, 7, และ 14 วัน ราคา 16, 30, 42, 52, 60, 70 และ 140 ยูโร ตามลำดับ (ราคานี้ไม่รวมค่าบัตรอีก 2 ยูโร)

ข้อดีของตั๋วโดยสารแบบเหมาเที่ยวก็คือเราสามารถเดินทางไปยังสนามแข่งขันทุกสนามได้ทั้งที่อยู่ในและนอกตัวเมืองปารีส และยังสามารถใช้เดินทางไปยังสนามบินทั้งสองแห่งของปารีสคือ สนามบิน Orly สนามบิน Roissy Charles-de-Gaulle ทั้งนี้สามารถซื้อได้ตามเคาน์เตอร์ขายตั๋วที่อยู่ตามสถานีต่างๆ ได้ ซึ่งบัตรโดยสารดังกล่าวจะมีจำหน่ายในสองรูปแบบคือ

  • แบบบัตรโดยสารสามารถซื้อได้ตามเคาน์เตอร์ที่อยู่ตามสถานีต่างๆ ได้ทั้งในและนอกปารีส หรือผ่านทางเว็บไซต์ https://www.iledefrance-mobilites.fr ที่มีให้เลือกถึงหกภาษา
  • แบบบัตรโดยสารดิจิทัลบนสมาร์ตโฟน หรือที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า La carte dématérialisée (ลา การ์ด เดมาเตริอาลิเซ) ที่รูปแบบหลังนี้สามารถซื้อผ่านทางแอปพลิเคชัน Transport Public Paris 2024 ที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งจาก Play Store และ App Store (บัตรโดยสารทั้งสองรูปแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรายการหรือแลกคืนเป็นเงินได้ในทุกกรณี)

ราคาที่พักปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5เท่า

นอกจากค่าบริการรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาของห้องพักไม่ว่าจะเป็นโรงแรม อะพาร์ตเมนต์ โฮสเทล หรือที่พักแบบ Airbnb ก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังที่สื่อต่างๆ ของฝรั่งเศสได้รายงานว่า ราคาที่พักในปารีสในช่วงที่มีการแข่งขันโอลิมปิกนั้นมีการปรับราคาสูงขึ้นเฉลี่ยถึงประมาณห้าเท่า จากที่ช่วงหน้าร้อนของปีที่แล้วราคาของห้องพักในเขตปารีสราคาเฉลี่ยคืนละ 205 ยูโร แต่ปีนี้ราคาเฉลี่ยประมาณคืนละ 1,055 ยูโร

ส่วนที่พักแบบหรูหรานั้น ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Les Échos ระบุว่า บริษัทจัดการด้านอสังหาริมทรัพย์ Barnes ได้เปิดเผยว่าราคาของที่พักแบบหรูหราที่บริษัทปล่อยเช่ามีราคาเฉลี่ยประมาณ 35,000 ยูโรต่อสัปดาห์  เช่น ที่พักแบบแมนชันส่วนตัวที่มีขนาด 550 ตารางเมตรแบบ 8 ห้อง ในเขต 16 ของปารีส ผู้เช่าชาวอินเดียได้จ่ายค่าเช่าไปแล้วสำหรับช่วงโอลิมปิก ในราคา 222,000 ยูโรสำหรับ 2 สัปดาห์ ส่วนของบริษัทจัดการอสังหาริมทรัพย์ระดับหรูอย่าง Féau ก็รายงานว่าบริษัทได้ปล่อยเช่าอะพาร์ตเมนต์แบบ 7 ห้อง ขนาด 700 ตารางเมตร พร้อมสวนและสระว่ายน้ำ ใกล้ๆ กับ Trocadéro ในช่วงของการแข่งขันโอลิมปิกปีนี้ให้กับผู้เช่าชาวเอเชียไปในราคา 112,000 ยูโรต่อสัปดาห์ และผู้ขอเช่าได้จองและจ่ายเงินเป็นจำนวน 336,000 ยูโร ตลอดระยะเวลาที่จะพำนัก

Fact File

  • พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกจะมีขึ้นวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 บริเวณแม่น้ำแซน ตั้งแต่สะพานออสแตร์ลิตส์ (Le pont d’Austerlitz) ผ่านมหาวิหารโนร์ธเทรอะดาม (Notre-Dame) พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) สะพานปงเนิฟ (Le pont Neuf) สะพานเดซาส์ (Le pont des Arts) พิพิธภัณฑ์ออร์กเซย Musée d’Orsay หอไอเฟล (La tour d’Eiffel) และไปสิ้นสุดที่ทร็อคกาเดโคร (Trocadéro) รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
  • พิธีเปิดการแข่งขันพาราลิมปิกจะจัดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างถนนช็องเซลีเซ (Les Champs-Élysées และจตุรัสกงกอร์ด (La Place de la Concorde)
  • อัปเดตเกี่ยวกับการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้ที่ https://olympics.com/fr/paris-2024

อ้างอิง


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง