โขนกลางแปลง ยิ่งใหญ่ ใกล้ชิดผู้ชม กลุ่มศิลปินวังหน้ากว่า 100 ชีวิต ท่ามกลางธรรมชาติ สิงห์ปาร์ค เชียงราย
Arts & Culture

โขนกลางแปลง ยิ่งใหญ่ ใกล้ชิดผู้ชม กลุ่มศิลปินวังหน้ากว่า 100 ชีวิต ท่ามกลางธรรมชาติ สิงห์ปาร์ค เชียงราย

Focus
  • “โขนกลางแปลง” หนึ่งในไฮไลต์ เทศกาลบอลลูนนานาชาติ International Balloon Fiesta 2024 ซึ่งจัดขึ้นท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขา ลมหนาว และสีสันบอลลูนที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย
  • โขนกลางแปลงนั้นหมายถึงโขนที่จัดแสดงกลางแจ้ง ไม่มีฉากแบบโรงละคร แต่ใช้ความสวยงามของธรรมชาติเป็นฉาก และไม่บ่อยนักที่จะได้ชมโขนกลางแปลงชุดใหญ่ที่ใกล้ชิดคนดู และจัดเต็มความวิจิตรตามขนบโขนแต่โบราณแบบนี้

ยิ่งใหญ่ ใกล้ชิดผู้ชม และสมการรอคอยจริงๆ สำหรับ โขนกลางแปลง หนึ่งในไฮไลต์ เทศกาลบอลลูนนานาชาติ International Balloon Fiesta 2024 ซึ่งจัดขึ้นท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขา ลมหนาว และสีสันบอลลูนยักษ์จาก 11 ประเทศกว่า 30 ลูก ที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย โดยโขนกลางแปลงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา กับการยกทัพนักแสดง กลุ่มศิลปินวังหน้า กว่า 100 ชีวิต มาเปิดการแสดงที่ริมทะเลสาบ สิงห์ปาร์ค เชียงราย บอกได้คำเดียวว่าไม่บ่อยนักที่จะได้ชมโขนกลางแปลงชุดใหญ่ที่ใกล้ชิดคนดู และจัดเต็มความวิจิตรตามขนบโขนแต่โบราณแบบนี้

โขนกลางแปลง
ตัวละคร “นนทก” แสดงโดย อิสระ ขาวละเอียด ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
โขนกลางแปลง
โขนกลางแปลงท่ามกลางฉากขุนเขาที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย
โขนกลางแปลง

โขนกลางแปลง โดยกลุ่มศิลปินวังหน้า ทำการแสดงในเทศกาลบอลลูนนานาชาติต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 และถือเป็นไฮไลต์ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างตั้งตารอ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโขนกลางแปลงที่เปิดการแสดงกลางแจ้งชุดใหญ่เช่นนี้นับวันจะหาชมได้ยากเต็มที เพราะการเปิดการแสดงแต่ละครั้งต้องใช้เงินทุนสูง ทั้งยังต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมนักแสดงกว่าร้อยชีวิตให้พร้อมเพรียง ไหนจะชุดโขนที่ต้องยึดตามขนบโขนดั้งเดิม ไม่นับรวมแสงสีเอฟเฟต์สมัยใหม่ที่ช่วยให้โขนกลางแปลงมีความร่วมสมัยเข้าถึงใจคนดูได้ทุกวัยและทุกชาติ

โขนกลางแปลง

“โขนกลางแปลงมีมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันหาชมได้ยาก ต้องโอกาสสำคัญเท่านั้นถึงจะได้ชม จุดเด่นของโขนกลางแปลงคือการที่ผู้ชมจะได้ชมการแสดงอย่างใกล้ชิด ได้เห็นความวิจิตรของเครื่องแต่งกายโขนใกล้ๆ และที่สำคัญคือโขนกลางแปลงจะมีธรรมชาติจริงๆ เป็นฉาก อย่างที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย ก็มีภูเขาโอบล้อม เปิดการแสดงตอนเย็น มีพระอาทิตย์ตก และบอลลูน เป็นฉากหลัง ทำให้ได้อรรถรสในการรับชมโขนที่แตกต่างจากการชมในโรงละคร”

อาจารย์สุรเชษฐ์ เฟื่องฟู อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโขนละคร กรมศิลปากร ผู้ก่อตั้งกลุ่มศิลปินวังหน้า

อาจารย์สุรเชษฐ์ เฟื่องฟู อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโขนละคร กรมศิลปากร ผู้ก่อตั้งกลุ่มศิลปินวังหน้า ทั้งยังเป็นผู้ประพันธ์บทและกำกับการแสดงโขนกลางแปลงครั้งนี้ กล่าวถึงความพิเศษของโขนกลางแปลงที่แตกต่างจากโขนในโรงละคร โดยครั้งนี้จัดแสดงในชื่อชุด “พระจักรีทรงกลดปฐมบทรามเกียรติ์” แบ่งการแสดงออกเป็น 2 องค์ องค์แรกกล่าวถึงพระนารายณ์อวตารที่เชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ไทย ส่วนองค์ที่ 2 ย้อนเล่ากำเนิดมหากาพย์รามเกียรติ์ เหตุแห่งการต่อสู้ระหว่างมนุษย์ กองทัพวานร และยักษ์ ที่มาจากยักษ์ล้างเท้านาม “นนทก” ผู้ได้รับความแค้นแสนสาหัสจากการถูกเหล่าเทวดากลั่นแกล้งจนไปขอนิ้วเพชรที่สามารถชี้เป็นชี้ตาย สู่การกลับมาเกิดใหม่เป็นพญายักษ์ ทศกัณฑ์ และมหาสงครามสามโลกที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรมไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน

สำหรับตัวละคร “นนทก” นั้นถือได้ว่าเป็นอีกตัวละครที่มีความท้าทายสำหรับนักแสดงโขนเป็นอย่างมาก เพราะ นนทก ได้ชื่อว่าเป็น “ยักษ์ร้อยอารมณ์” ที่มีทั้งความเศร้า เจ็บปวด ดีใจ เสียใจ น้อยเนื้อต่ำใจ ไปจนถึงความแค้นอย่างที่สุด โดยตัวละครนนทกในครั้งนี้แสดงโดย อิสระ ขาวละเอียด ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่หลงใหลในการแสดงโขนและได้เข้าร่วมการแสดงโขนมาในหลากหลายบทบาทโดยเฉพาะ “ยักษ์” และยักษ์นนทกก็ถือว่าเป็นอีกความท้าทายด้านการแสดงอารมณ์เป็นอย่างมาก

นนทก

“บทบาทของยักษ์นั้นผมได้แสดงมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้จะเน้นเรื่องการแสดงอารมณ์ที่หลากหลายมากขึ้น และสำหรับตอน นนทก ถือเป็นตอนที่ผู้ชมจะได้เห็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมทศกัณฑ์กับพระรามต้องรบกัน ตามปกติผู้ชมจะได้เห็นฉากการรบต่างๆ ของรามเกียรติ์ แต่อาจจะไม่ทราบว่าทำไมมนุษย์ธรรมดา วานร ยักษ์ ต้องรบกัน ส่วนเหตุผลที่เรานำเสนอเป็นโขนกลางแปลงก็เพราะเป็นโขนที่มีการจัดแสดงน้อยมาก โดยเฉพาะการแสดงชุดใหญ่ ยิ่งทางภาคเหนือด้วยมีโอกาสที่จะได้ชมโขนกลางแปลงน้อยมากๆ ทาง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จึงเห็นโอกาสในการที่เรามีสถานที่ที่เอื้ออำนวยสามารถใช้เป็นฉากโขนที่สวยงามได้ และด้วยสถานที่ใหญ่ก็สามารถเปิดเวทีการแสดงชุดใหญ่ได้เลย โดยครั้งนี้มีนักแสดงราว 100 คนเข้าร่วมแสดง และข้อดีของโขนกลางแปลง คือ ผู้ชมสามารถใกล้ชิดและชมการแสดงได้จากทุกๆ ด้าน สามารถชมลีลาของผู้แสดงได้ในทุกๆ มุม”

โขนกลางแปลง
โขนกลางแปลง

ด้านกลุ่มศิลปินวังหน้านั้น เป็นการรวมตัวของผู้ที่ศึกษาด้านโขน ละคร นาฏศิลป์ไทย ทำหน้าที่เผยแพร่ศิลปะและส่งเสริมการแสดงด้านโขน ละครไทยมานานร่วม 30 ปี ซึ่งนอกจากจะมีนักแสดงประจำแล้ว จุดเด่นของกลุ่มศิลปินวังหน้าคือการเปิดโอกาสให้นักแสดงในภูมิภาคต่างๆ ได้มีเวทีในการทำการแสดง เมื่อกลุ่มศิลปินวังหน้าไปเปิดการแสดงที่จังหวัดใดก็จะมีศิลปินในพื้นที่นั้นๆ เข้าร่วมแสดงด้วย ซึ่งอาจารย์สุรเชษฐ์ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ยังคงยืนหยัดเปิดการแสดงมาร่วม 30 ปีก็ด้วยเชื่อว่า โขน ละคร นาฏศิลป์ไทยนั้นยิ่งเผยแพร่ก็ยิ่งเติบโต

เบื้องหลังการแต่งกายชุดโขนที่ต้องประณีตในทุกขั้นตอน
โขนกลางแปลง

“ผมเคยถามหลายคนที่เลิกเล่นโขน เลิกจัดโขนว่าเลิกทำไม เขาบอกว่าทำไปก็ไม่มีใครดูแล้ว แต่สำหรับผมกลับคิดตรงข้ามว่าถ้ายิ่งไม่ทำ ไม่เผยแพร่ ก็จะยิ่งไม่มีคนดู ที่เขาไม่ดูเพราะเขาอาจจะไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมีโอกาสได้ดู ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ตรงกับทางบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ต้องการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมไทย จึงเป็นที่มาของการสนับสนุน โขนกลางแปลง และยกเวทีมาเปิดการแสดงที่เทศกาลบอลลูนนานาชาติต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 พร้อมแสงสี เทคนิคสมัยใหม่ที่ทำให้โขนกลางแปลงเข้าถึงได้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ”

แม้แต่ชาวต่างชาติก็หลงใหลในการแสดงโขน

ใครที่พลาดโขนกลางแปลงในปีนี้ไป เตรียมปักหมุดรอในปีหน้าไว้ได้เลย เพราะโขนกลางแปลงที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ได้ขึ้นแท่นกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายของการแสดงโขนประจำปีระดับประเทศที่แฟนโขนต้องห้ามพลาดตีตั๋วชม แล้วเจอกันเทศกาลบอลลูนนานาชาติ ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย ในปีหน้า

Fact File

  • ติดตามปฏิทินงาน เทศกาลบอลลูนนานาชาติ International Balloon Fiesta 2024 และการแสดงโขนกลางแปลงที่สิงห์ปาร์ค เชียงรายได้ที่ FB : SinghaparkChiangrai

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม