Made in Hua Lamphong รีแบรนด์ 6 ธุรกิจเก่าแก่แห่งหัวลำโพงด้วยงานดีไซน์
- Made in Hua Lamphong โปรเจ็กต์ที่พาดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาเจอกับร้านค้า ธุรกิจรุ่นเก๋าประจำย่านหัวลำโพง ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ RTUS-BANGKOK ริทัศน์บางกอก
- Bangkok Design Week 2024 หัวลำโพงถือเป็นอีกย่านไฮไลต์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่ย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
หลังจากที่โปรเจ็กต์ Made in Charoenkrung นำคนรุ่นเก๋ามาเจอกับคนรุ่นใหม่ในงาน Bangkok Design Week ตั้งแต่ 2021 มาปีนี้ Bangkok Design Week 2024 ได้ส่งต่อโปรเจ็กต์งานดีไซน์ที่เป็นการเจอกันระหว่างคนรุ่นเก๋ากับดีไซเนอร์รุ่นใหม่สู่ย่าน หัวลำโพงในชื่อ Made in Hua Lamphong ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ RTUS-BANGKOK ริทัศน์บางกอก ส่งต่อหัวลำโพงสู่พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
Made in Hua Lamphong นำศิลปินนักออกแบบรุ่นใหม่มาร่วมกันใส่ไอเดียออกแบบให้กับร้านค้าเก่าแก่ที่อยู่คู่กับย่านหัวลำโพงมานานหลายปีและส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ให้ร้านเก่าที่มีความเก๋าอยู่แล้วได้เข้ามาอยู่ในใจคนรุ่นใหม่และเข้ากับบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เป็นการรีแบรนด์ธุรกิจประจำย่านเหล่านี้ให้มีความทันสมัย แต่ยังคงความเก๋า เอกลักษณ์ดั้งเดิมของทางร้านไว้ ซึ่งในปีนี้มีร้านค้าเก่าแก่ประจำย่านที่เข้าร่วมทั้งหมด 6 ร้านค้า ส่วนนักออกแบบรุ่นใหม่มีทั้งหมด 5 ดีไซเนอร์/สตูดิโอ Sarakadee Lite พาไปปักหมุด Made in Hua Lamphong ที่ห้ามพลาดในงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2567
ศิลป์เมือง x ease studio
ทราบหรือไม่ว่าร่มผ้าใบของเหล่าร้านค้าแผงลอยในย่านหัวลำโพงนั้นเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของ ร้านศิลป์เมือง ร้านผลิตและขายร่มสนามเจ้าเก่าที่อยู่คู่กับย่านหัวลำโพงมากว่า 60 ปี จุดเด่นทำให้เหล่าแม่ค้าพ่อค้าไว้ใจร่มร้านศิลป์เมืองมายาวนานก็ด้วยคุณภาพร่มที่ทำด้วยมือทั้งหมด เย็บเก็บความละเอียด รวมถึงความใส่ใจในการเลือกใช้วัสดุเพื่อให้ได้ร่มคุณภาพที่เหมาะสมกับแดดฝนเมืองไทย
และสำหรับ Bangkok Design Week 2024 ครั้งนี้ทาง ease studio ได้หยิบยกเรื่องราวร่มผ้าใบหลากสีที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านศิลป์เมืองและย่านหัวลำโพงนำมาออกแบบร่มร้านค้าริมทางโฉมใหม่ที่นอกจากสีที่ฉูดฉาดแล้วก็ยังใส่ฟังก์ชันการใช้งานที่นอกเหนือจากการบังแดดกันฝน เช่น การนำขาร่มมาเชื่อมต่อเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เพิ่มส่วนที่นั่ง เพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้มาใช้งานทั้งวางของ และนั่งพักหลบแดดหลบฝน
บ้านอิตาลี x COTH Studio
สิ่งหนึ่งที่เรามักจะพบในอาคารเก่าเกือบร้อยปี คือ เหล็กดัดที่เป็นทั้งงานประดับอาคารและฟังก์ชันป้องกันโจรขโมยเข้าบ้าน สำหรับที่ย่านหัวลำโพงที่มีร้านเหล็กเก่าแก่ประจำย่านชื่อว่า บ้านอิตาลี นอกจากจะเป็นร้านขายเหล็กดัดและอุปกรณ์สำหรับทำประตู หน้าต่างแล้ว ในอดีตทางร้านยังเคยเป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าจำพวกของตกแต่งประตูเหล็กดัดแนวยุโรปผ่านชาวอิตาลีท่านหนึ่ง บ้านอิตาลีมีจุดเริ่มต้นจากรุ่นอากงซึ่งมีอาชีพเป็นช่างรับซ่อมประตู ในสมัยนั้นช่างเหล่านี้มักประดิษฐ์อุปกรณ์ประตูใช้เอง แต่ภายหลังจึงเริ่มมีโรงงานรับผลิตอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ช่างทั้งหลาย บ้านอิตาลีดำเนินธุรกิจมาถึงรุ่นที่ 3 เปิดกิจการมามากกว่า 30 ปีบนถนนเจริญเมือง เป็นอีกร้านที่ครองใจลูกค้าและคนในย่านหัวลำโพงมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ Made in Hua Lamphong ทาง COTH Studio ได้ร่วมมือกับบ้านอิตาลีทำผลงานที่นำเสนอเรื่องราวและจุดเด่นของร้าน ผ่านผลิตภัณฑ์จำพวกเหล็กและอะไหล่โลหะตกแต่งต่างๆ ที่นำความเก่าแก่ของงานเหล็กมาสร้างเป็นผลงานชิ้นใหม่ ในรูปแบบศิลปะสื่อผสมที่มีความสดใหม่และร่วมสมัย โดยนำเหล็กแต่ละชิ้นที่มีดีไซน์แตกต่างกันมาจัดเรียงให้เป็นรูปต่างๆ และแต่งเติมสีสันเข้าไป เช่น ภาพตัวการ์ตูน หุ่นยนต์ เพื่อให้ผู้คนที่แวะมาย่านนี้ได้ชื่นชมภาพความสวยงามและความประณีตของงานโลหะจากร้านบ้านอิตาลี พร้อมชวนรำลึกถึงประวัติศาสตร์การค้าในย่านหัวลำโพง
โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง x Ek Thongprasert
ปฏิทินน่ำเอี๊ยง ปฏิทินจีนสีแดงชาดที่มีทั้งภาษาไทยและจีนกำกับอยู่เป็นสิ่งคุ้นตาของลูกหลานบ้านคนไทยเชื้อสายจีน โดยต้นตำรับปฏิทินจีนที่อยู่ภายใต้ธุรกิจ โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่เคียงคู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 80 ปี ปฏิทินน่ำเอี๊ยงได้เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวไทยเชื้อสายจีนไว้ดูฤกษ์มงคลในการประกอบกิจพิธีต่างๆ และในภายหลังปฏิทินก็ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของปฏิทินให้มีรายละเอียดของวันดีและฤกษ์ยามมงคลต่างๆ เพิ่มขึ้น ประกอบกับการนำเรื่องราวทางโหราศาสตร์ของจีนมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในยุคนั้น
ครั้งนี้ทาง โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงได้จับมือกับ เอก ทองประเสริฐ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ไทยร่วมกันพัฒนารูปแบบของปฏิทินจีนให้ออกมาดูร่วมสมัยใส่ความเป็นแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ทางดีไซเนอร์ได้ปรับเปลี่ยนดีไซน์ตัวอักษรและตัวเลขใหม่ พร้อมสัตว์มงคลต่างๆ รวมถึงมีการเพิ่มสีสัน เช่น สีเขียว สีม่วง และสีอื่นๆ เข้าไปในปฏิทิน ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ใช้เพียงไม่กี่สี แต่ยังคงความดั้งเดิมตามแบบของโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงที่ใส่คำอวยพรและฤกษ์มงคลลงไปในปฏิทิน แถมเข้ากับบ้านหรือโต๊ะทำงานดีไซน์โมเดิร์นได้ด้วย
โรงงานกระดาษชัยกิจ x Likaybidery
กระดาษสีน้ำเงินที่นำมาใช้ห่อสำลี หรือไม้ขีดไฟตราพญานาคยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนในย่านหัวลำโพงมาจนถึงปัจจุบัน กระดาษสีน้ำเงินที่ผลิตจาก โรงงานกระดาษชัยกิจ (ใช่กี่) ซึ่งเป็นโรงงานกระดาษแห่งเดียวในย่านนี้ และมีอายุมากกว่า 80 ปี กระดาษสีน้ำเงินได้รับความนิยมอย่างมาก กล่าวได้ว่าแบรนด์สำลีทุกแบรนด์จะต้องสั่งซื้อกระดาษกับโรงงานชัยกิจ แต่ภายหลังกระดาษสีน้ำเงินก็ได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากการเลือกเข้ามาของพลาสติก จึงส่งผลทำให้โรงงานต้องปิดตัวลงเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทางดีไซน์เนอร์จึงอยากจะนำความทรงจำของคนอื่นในอดีตมาสร้างสรรค์ผลงานจากกระดาษสีน้ำเงินให้ผู้คนรุ่นใหม่ได้ชื่นชมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกระดาษชนิดนี้
ทาง Likaybidery จึงได้นำกระดาษสีน้ำเงินมาตัดด้วยเทคนิค Laser Cut สร้างสรรค์ผลงานผ่านประสบการณ์และการรับรู้ของศิลปินที่มีต่อย่านหัวลำโพง เช่น ภาพโคมกระดาษ ดอกไม้ หรือโครงสร้างตึกแถวอาคารของย่านนี้ และนำมาจัดแสดง ตกแต่งภายในร้าน Play Space Café เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ทำความรู้จักกับกระดาษสีน้ำเงินที่เป็นเอกลักษณ์เก่าแก่ของย่านหัวลำโพง ซึ่งที่ร้าน Play Space Café ยังมีเมนูพิเศษไอศกรีมชาไทยรูปรถไฟหัวจักรไอน้ำขายเฉพาะงาน Bangkok Design Week 2024 ด้วย
เบ๊โอชา x witti Studio
อากาศร้อนๆ แบบนี้คงจะพลาดไม่ได้กับร้าน เบ๊โอชา ถนนรองเมือง ร้านน้ำชงโบราณที่อยู่คู่หัวลำโพงมามากกว่า 80 ปี และมีเมนูเครื่องดื่มกว่า 50 เมนู ในโปรเจกต์ Made in Hua Lamphong ครั้งนี้ ทาง witti.studio ได้มาร่วมออกแบบป้ายร้านค้าของเบ๊โอชาขึ้นมาใหม่เป็นตัวอักษรสีแดงสดแทนป้ายเก่าที่ถูกไฟไหม้ และยังดีไซน์บรรจุภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบขวด พร้อมติดสติกเกอร์โลโก้ร้าน ทำให้ทุกคนสามารถซื้อกลับบ้านได้สะดวกขึ้น
นอกจากนั้นทางสตูดิโอได้วาดภาพแผนที่รวมร้านอาหารในโปรเจกต์ดังกล่าวประดับอยู่บริเวณหน้าร้าน เพื่อให้ผู้คนที่มาเดินชมงาน Bangkok Design Week 2024 ได้มาลิ้มลองความอร่อยของเครื่องดื่มและสัมผัสบรรยากาศสุดคลาสสิกของย่านหัวลำโพงไปพร้อมๆ กัน
ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง x witti Studio
เมนูอาหารจีนที่มีส่วนประกอบของแป้ง หัวไชเท้า กุ้งแห้ง และถั่วลิสง หรือที่เรียกว่า ขนมหัวผักกาด หรือ ไช่เถ่าก้วย หนึ่งในเมนูอาหารว่างที่ได้รับความนิยมกันในกลุ่มชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากสมัยก่อนเนื้อสัตว์มีราคาค่อนข้างแพง เมนูขนมผักกาดจึงเป็นตัวเลือกที่จะช่วยให้อิ่มท้องและประหยัดเงินได้ด้วย สำหรับ ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง ที่ตั้งอยู่ซอยพระยาสิงหเสนี เป็นหนึ่งในร้านเก่าแก่ประจำย่านหัวลำโพง อาม่าชอเค็งยังคงทำขนมโบราณสูตรแต้จิ๋ว ความกรอบนอกนุ่มในของขนมผักกาดที่มัดใจลูกค้าหลายต่อหลายคน จนอยากให้ทุกคนได้มาลิ้มลองรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และอยากอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับคนไทยไปอย่างยาวนาน ทาง witti.studio จึงได้ร่วมมือกับอาม่าชอเค็งเพื่อนำเรื่องราวความอร่อยมาสื่อสารผ่านรถเข็นของอาม่า โดยดีไซน์ป้ายร้านค้าใหม่ที่ใช้ตัวอักษรจากลายมืออาม่า และทำป้ายเมนูพร้อมกล่องใส่ป้ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามารับประทานขนมผักกาด นอกจากนั้นยังติดตั้งภาพวาดแผนที่แนะนำร้านอาหารแบบเดียวกับที่ร้านเบ๊โอชาอีกด้วย (ซอยพระยาสิงหเสนี ตรงข้ามใต้บ้านคาเฟ่ ถนนรองเมือง)
Fact File
- Bangkok Design Week 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567
- ติดตามพิกัด Made in Hua Lamphong ได้ที่ RTUS-BANGKOK ริทัศน์บางกอก