5 ผลิตภัณฑ์อาหารยอดฮิต ผลผลิตจากสงครามและความอดอยาก
- ไม่น่าเชื่อว่าขนมขบเคี้ยวที่หลายคนรักและคุ้นเคยอย่างชีโตส (Cheetos) พริงเกิลส์ (Pringles) และเอ็มแอนด์เอ็ม (M&M’s) ที่แท้เป็นผลผลิตจากการคิดค้นของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดยอาหารที่ว่านั้นจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการ เก็บไว้ได้นาน และมีรสอร่อย
- ในบรรดาอาหารจากกองทัพทั้งหมดคงไม่มีอะไรที่มีตำนานพิลึกพิลั่นเท่ากับ “สแปม” (SPAM) แฮมปรุงรสอัดกระป๋องอีกแล้ว เพราะยังมีหลายคนสงสัยจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานกันว่า เนื้อที่ใช้นำมาทำเป็นแฮมนั้นคือเนื้อของอะไรและส่วนไหนกันแน่
- แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หลายคนเคยดูแคลนว่าเป็นอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ แต่ความเป็นจริงแล้วนี่คือนวัตกรรมที่นายโมโมฟุกุ อันโด (Momofugu Ando) ผู้ก่อตั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในนามนิชชิน (Nissin) ตั้งใจทำเพื่อชาวญี่ปุ่นไม่ให้ต้องหิวโหยทนความหนาวเย็นยืนต่อคิวซื้อบะหมี่อาหารที่นับว่ามีราคาต่ำในสมัยนั้น
ระหว่างที่เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ของวิกฤติโควิด-19 คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าพฤติกรรมของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป เราระวังตัวเองมากขึ้น ดูแลความสะอาดมากขึ้น ซึ่งนั่นรวมไปถึงการรับประทานอาหาร อย่างในตอนที่ต้องอยู่บ้าน work from home ถ้าใครไม่ได้สำรองอาหารกระป๋องหรือ อาหารกึ่งสำเร็จรูป ก็คงจะพึ่งพาบริการส่งอาหารกันอย่างแน่นอน
แต่ใครจะรู้ว่าเหล่า อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวที่กำลังมีติดบ้านเป็นจำนวนมากอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น หากแต่มีอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับภาวะอดอยากและสงคราม โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาที่พยายามคิดค้นอาหารเหล่านี้เพื่อเป็นเสบียงให้กับเหล่านาวิกโยธินอย่างจริงจัง ซึ่งอาหารที่ว่านั้นจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการ เก็บไว้ได้นาน และมีรสอร่อย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนกินอาหารมีสุขภาพกายและใจที่ดีไปพร้อมๆ กัน และนี่ก็คือ 5 ผลิตภัณฑ์อาหารที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าทึ่งที่พกพาความอร่อยไว้ภายใน
ชีโตส (Cheetos)
เชื่อว่าข้าวโพดพองกรุบกรอบคงเป็นขนมที่ชื่นชอบของใครหลายคน แต่กว่าชีโตสจะเป็นข้าวพองเคลือบด้วยชีสผงสีส้มน่ากินแบบนี้ คงต้องยกประประโยชน์ให้กองทัพอเมริกาเขาล่ะ
คงต้องบอกว่าไม่ใช่แค่คนสมัยนี้ที่หลงรักชีสเท่านั้น ชีสนับเป็นอาหารโปรดของคนทุกยุคทุกสมัย แต่กรรมวิธีทำค่อนข้างยากและพกพาก็ไม่สะดวกเอาเสียเลย กองทัพสหรัฐอเมริกาเลยพยายามคิดค้น “ชีสแบบแห้ง” หรือ “ผงชีส” เพื่อมาเติมความอร่อยให้กับเหล่าทหารให้ได้ ซึ่งในยุคแรกๆ ของการทำผงชีสนั้นจะเป็นการผสมเกลือเข้ากับชีสแล้วใส่ลงไปในอาหาร ทำโดยบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง คราฟต์ฟู้ดส์ (Kraft Foods) ซึ่งทางกองทัพก็ซื้อไปเป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ทางกองทัพพอใจ และนั่นก็ทำให้ทางกองทัพสหรัฐพยายามคิดค้นผงชีสเป็นของตัวเอง
การคิดค้นผงชีสอย่างเป็นจริงจังเริ่มต้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1943 โดย จอร์จ แซนเดอร์ส (George Sanders) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์นมของกระทรวงเกษตรสหรัฐ แต่หลังจากความพยายามหลายต่อหลายครั้งก็ยังไม่สามารถทำสำเร็จ เพราะเขายังหาวิธีเก็บรักษาไขมันให้อยู่ในผงชีสอันเป็นลักษณะเด่นของชีสเอาไว้ไม่ได้ แล้วยิ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงกลาโหมก็ไม่สามารถแบกภาระด้านการเงินไว้ได้อีก โกดังอาหารจึงถูกเปิดเหล่าบรรดาของแห้งได้ถูกขายทอดตลาด บ้างก็แจกจ่ายให้กับประชาชน เช่นเดียวกับสูตรการทำชีสที่บริษัทฟริโต เลย์ (Frito-Lay) สามารถนำมาต่อยอดได้เป็นผลสำเร็จ
จากนั้นในปี ค.ศ. 1948 ชีโตสก็ได้คิดค้นการทำผงชีสเสียใหม่โดยมีส่วนผสมอื่น (เพื่อประหยัดต้นทุน) เพิ่มเติมไม่ใช่แค่ชีสล้วนๆ จนได้ผงชีสสีส้มเคลือบบนข้าวโพดพองกรุบกรอบที่พร้อมติดปลายนิ้วเราทุกครั้งเมื่อส่งความอร่อยเข้าปาก
พริงเกิลส์ (Pringles)
ความเป็นมาของพริงเกิลส์ไม่ได้แตกต่างจากชีโตสมากนัก เพราะเกิดจากความพยายามอย่างหนักของกระทรวงเกษตรสหรัฐที่อยากได้มันฝรั่งทอดกรอบที่มีน้ำหนักเบา บางกรอบ และมีรสอร่อยเพื่อนำเสนอให้กับกองทัพมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950
จุดเริ่มต้นของความกรุบกรอบกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1956 โดยบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter & Gamble) ก็พยายามคิดค้นหาทางสร้างมันฝรั่งที่มีความบางและกรอบโดยได้ไอเดียจากทางกองทัพเช่นกัน เพราะเบื่อกับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคซ้ำๆ ถึงเรื่องมันฝรั่งที่แตกหักในถุง และรสชาติที่ไม่สม่ำเสมอเอาเสียเลย เฟร็ด บาวเออร์ (Fred Baur) หนึ่งในพนักงานเลยเสนอตัวขอทางบริษัทใช้เวลาคิดค้นและแก้ปัญหานี้เป็นเวลากว่า 2 ปี จนได้มันฝรั่งทอดกรอบที่บางโค้งมีรูปลักษณ์เหมือนอานม้า และวางซ้อนต่อเรียงๆ กันในภาชนะทรงกระบอกที่ภายในหุ้มด้วยอะลูมิเนียมเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบจนแตกหัก
แต่ถึงกระนั้น มันฝรั่งที่มีความกรอบก็ยังไม่ได้ฤกษ์ออกจำหน่ายเสียที เพราะยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพและรสชาติได้ดีพอ บาวเออร์เลยโดนโยกย้ายให้ไปทำงานอื่นก่อนที่จะได้อเล็กซานเดอร์ ลีปา (Alexander Liepa) มาพัฒนารสชาติต่อ จนในที่สุดพริงเกิลส์ก็ได้ฤกษ์วางขายและจดสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1976 โดยที่บาวเออร์ไม่ได้เครดิตแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่พริงเกิลส์นับเป็นความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ที่ยากจะเลียนแบบอย่างแท้จริง
สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมพริงเกิลส์ถึงไม่เหมือนมันฝรั่งทอดปกติ เราคงต้องบอกว่าพริงเกิลส์เป็นเพียงขนมมันฝรั่ง เพราะมีแป้งเป็นส่วนประกอบนั่นเอง
เอ็มแอนด์เอ็ม (M&M’s)
“ละลายในปาก แต่ไม่ละลายในมือ” คงเป็นสโลแกนสุดคุ้นหูที่คนรักช็อกโกแลตต้องรู้จัก และหากใครยังไม่รู้ จุดเด่นที่ว่านี้มีไว้เพื่อทหารสหรัฐที่ต้องไปออกรบนอกประเทศ
เอ็มแอนด์เอ็มเป็นผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตที่ผลิตโดย มาร์ส อินคอร์ปอเรทเต็ด (Mars, Incorporated) เจ้าของช็อกโกแลตมาร์ส (Mars) ที่เริ่มผลิตขึ้นในปี ค.ศ. 1941 โดยแฟรงค์ ซี. มาร์ส (Frank C. Mars) ทายาทรุ่นที่สอง เขาได้แนวคิดมาจากการที่เห็นเพื่อนทหารที่รบในสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War 1936-1939) พกช็อกโกแลตยี่ห้อสมาร์ตีส์ (Smarties) ช็อกโกแลตเคลือบน้ำตาลหลากสีสัญญาติอังกฤษติดตัวเอาไว้ เขาก็เลยเกิดไอเดียในการทำช็อกโกแลตแบบนี้บ้าง ก่อนที่จะจดสิทธิบัตรและเริ่มทำช็อกโกแลตอย่างเป็นทางการ
แน่นอนว่าลูกค้ารายแรกและรายใหญ่ของเอ็มแอนด์เอ็มก็คือ กองทัพสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเห็นว่าช็อกโกแลตนี้คือสิ่งประดิษฐ์ที่จะทำให้เหล่าทหารสามารถพกพาช็อกโกแลตไปกินได้โดยไม่ละลาย แม้จะต้องประจำการยังประเทศที่มีความอบอุ่นและร้อนชื้น จนถึงขนาดผูกขาดการซื้อตลอดช่วงระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว ทำให้กว่าที่เอ็มแอนด์เอ็มจะเป็นที่รู้จักจริงๆ ก็ปาไปในปี ค.ศ. 1947 หรืออีกราวๆ 6 ปีให้หลังจากการผลิตครั้งแรก
ปัจจุบัน เอ็มแอนด์เอ็มยังคงมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเหมือนครั้งอดีต ด้วยการสนับสนุนด้านอาหารให้กับกองทัพที่เรียกกันว่า MRE หรือ Meal Ready to Eat และล่าสุดมาร์ส อินคอร์ปอเรทเต็ด ยังได้บริจาคผลิตภัณฑ์มูลค่ากว่า 750,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 75 ปีเอ็มแอนด์เอ็มเมื่อปี ค.ศ. 2016 อีกด้วย
สแปม (SPAM)
พอได้ยินชื่อ “สแปม” หลายคนคงนึกถึงสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แต่ถ้าเป็น SPAM ที่สะกดด้วยตัวใหญ่ทั้งหมดคือ เครื่องหมายการค้าของแฮมบรรจุกระป๋องที่ผลิตโดยบริษัท ฮอร์เมลฟู้ด จำกัด (Hormel Foods) จากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937 โดยที่มาของชื่อสุดเท่นั้นมาจากตัวอักษร 2 ตัวแรกและ 2 ตัวท้ายของคำว่า “Spiced Ham” หรือ “แฮมปรุงรส”
เรื่องราวความเป็นมาของสแปมเรียกได้ว่าล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร เพราะนับเป็น “ของใหม่” ที่คนไม่คุ้นเคย ทำให้เมื่อออกวางจำหน่ายถึงกับต้องมีการโฆษณาอย่างหนักหน่วง ทั้งการแจกสูตรอาหารและทำเพลงจิงเกิลเพื่อบอกเล่าว่าสแปมเป็นอาหารที่กินง่ายและไม่ต้องพึ่งพาตู้เย็น จนในที่สุดผลิตภัณฑ์ก็เริ่มติดตลาด แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ยอดขายที่ดูเหมือนจะดีกลับตกอย่างฮวบฮาบ แต่โชคยังดีที่กองทัพสหรัฐอเมริกาเลือกสแปมไปเป็นหนึ่งในอาหารของเหล่าทหารหาญในกองทัพ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สแปมเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกจากการที่ทหารสหรัฐอเมริกาลงพื้นที่ไปส่วนต่างๆ ของโลกและนำสแปมไปเผยแพร่ โดยเฉพาะในฮาวายและเกาหลีใต้ที่หลงรักสแปมจนหมดหัวใจ
ด้วยความที่เป็นขวัญใจของทหารอเมริกันนี่เอง ทำให้มีเรื่องเล่าขานกันว่า เนื้อที่ใช้นำมาทำเป็นแฮมนั้นคือเนื้อของอะไรและส่วนไหนกันแน่ แถมยังมีความเชื่อเลยเถิดไปว่านั่นอาจเป็นเนื้อของเหล่าทหารที่ล้มตายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นได้ แต่จริงๆ แล้วสแปมทำมาจากเนื้อหมูส่วนหัวไหล่ ก่อนจะปรุงรสต่างๆ ลงไป อีกทั้งยังมีรสใหม่ออกมาเรื่อยๆ อย่าง สแปมไลต์ (Spam Lite) ที่มีไขมันลดลง 50% สแปมฮอตแอนด์สไปซี่ (Spam Hot and Spicy) สแปมกับเบคอน (Spam with Bacon) และสแปมเทอริยากิ (Spam Teriyaki) ในปี ค.ศ. 2012
ถึงกระนั้น ก็ยังมีเรื่องเล่าที่เชื่อได้อย่างเหล่าทหารเคยใช้ไขมันในกระป๋องสแปมมาใช้ขัดรองเท้าและด้ามปืนกันจนขึ้นเงาแวบวับ!
นิชชิน (Nissin)
ปิดท้ายด้วยเมนูขวัญใจคนทั่วโลกอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เมื่อสิ่งนี้คือนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อคนหิวในสนนราคาน่ารักอย่างแท้จริง
จุดเริ่มต้นของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น เริ่มต้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างที่รู้กันว่าในตอนนั้นญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานะของผู้แพ้สงคราม ส่งผลให้เศรษฐกิจย่ำแย่ถึงขีดสุด อาหารที่ทุกคนสามารถซื้อกินได้ในราคาย่อมเยาจึงมีเพียง “โลเมียง” (Lo-Mein) หรือบะหมี่ต้มเท่านั้น แต่แล้ววันหนึ่งในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1958 มีชายที่ชื่อว่าโมโมฟุกุ อันโด (Momofugu Ando) เขาได้เห็นภาพของเพื่อนร่วมชาติยืนต่อคิวยาวสู้ความหนาวตัวสั่นงันงก เพียงเพื่อรอโลเมียงเพียง 1 ชาม นายอันโดจึงตั้งปณิธานว่าเขาจะต้องทำให้ทุกคนมีโอกาสกินบะหมี่อร่อยๆ ได้ที่บ้านในราคาที่สมเหตุสมผล และนั่นก็เป็นที่มาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อนิชชิน (Nissin)
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูตรของนายอันโดในเริ่มแรกจะทำมาจากเส้นบะหมี่ที่ผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่ ก่อนจะนำไปทอดเพื่อไล่ความชื้นออกไป จนได้บะหมี่กรอบสีเหลืองทอง เวลากินก็เพียงแค่เติมน้ำร้อน เส้นก็จะคืนตัวและพร้อมกินได้เลย ส่วนเครื่องปรุงก็ไม่ต้องใช้ เพราะความอร่อยอยู่ในเส้นแล้ว ดังนั้น รสชาติแรกที่ถูกผลิตขึ้นมาจำหน่ายก็คือ “บะหมี่รสไก่” (Chicken Ramen) ที่ยังคงเป็นรสที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
และที่สำคัญบะหมี่ที่เคยเรียกขานกันว่า “โลเมียง” ในภาษาจีนก็เพี้ยนกลายเป็นคำว่า “ราเมน” (Ramen) ตามแบบฉบับญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งก็มาจากฝีมือของนายอันโดล้วนๆ
Fact File
หากใครสนใจเรื่องราวเพิ่มเติมของอาหารที่มีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังแล้วล่ะก็ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Combat-Ready Kitchen: How the U.S. Military Shapes the Way You Eat (2015) เขียนโดย Anastacia Marx de Salcedo
อ้างอิง
- https://www.confectionerynews.com/Article/2016/11/10/Untold-war-stories-Mars-and-M-M-s-military-history
- https://instantnoodles.org/en/noodles/index.html
- https://www.navytimes.com/military-honor/salute-veterans/2019/11/17/how-the-military-made-spam-an-iconic-american-brand/
- https://taskandpurpose.com/history/7-everyday-military-foods
- https://www.thrillist.com/eat/nation/things-you-didnt-know-about-cheetos
- https://www.wired.com/2015/08/us-military-helped-invent-cheetos/