โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก ผู้อยู่เบื้องหลังการอนุรักษ์ภาพวาดฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 9 และศิลปะในพระที่นั่งสำคัญของไทย
Faces

โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก ผู้อยู่เบื้องหลังการอนุรักษ์ภาพวาดฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 9 และศิลปะในพระที่นั่งสำคัญของไทย

Focus
  • โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก แห่ง Restaurateurs Sans Frontières (RSF) คือผู้อยู่เบื้องหลังการซ่อมแซมและอนุรักษ์งานศิลปะสำคัญในประเทศไทย เช่น ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 9 และจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งอัมพรสถาน
  • RSF ยังเป็นเวิร์กช็อปเอกชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีห้องแล็ปพร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการวิเคราะห์โครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ของงานศิลปะด้วยเทคนิคที่หลากหลาย
  • ล่าสุด RSF ได้จับมือกับ The Art Auction Center ในการจัดตั้ง RSF Art Clinic เพื่อให้บริการซ่อมและอนุรักษ์งานศิลปะด้วยบริการที่สะดวกและภายใต้ระยะเวลาการซ่อมที่ชัดเจน

โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก (Robert Bougrain Dubourg) นักอนุรักษ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสหัวใจไทยวัย 76 ปีและผู้ก่อตั้ง องค์กรอนุรักษ์ไร้พรมแดน หรือ Restaurateurs Sans Frontières (RSF) ที่ก่อตั้งมากว่า 25 ปีในประเทศไทย มักเก็บตัวไม่ออกสื่อและทำงานเบื้องหลังเงียบๆ ที่เวิร์กช็อปของเขาในซอยเกษมสันต์ 2 กรุงเทพฯ แต่ผลงานการซ่อมแซมและอนุรักษ์ของเขาและทีมงานนั้นล้วนเป็นเมกะโปรเจกต์สำคัญระดับชาติ เช่น ภาพเขียนของศิลปินชาวตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ประดับตกแต่งในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน คอลเลกชันภาพวาดฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝาผนังและชิ้นส่วนประดับตกแต่งภายในพระที่นั่งอัมพรสถาน และล่าสุดที่เพิ่งบูรณะเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกันยายน 2566 คืองานศิลปะประดับเพดานและผนัง 50 ห้องภายในพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต

โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก
โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก

“ผมเดินทางมาทั่วโลก แต่บอกได้เลยว่าคนไทยนั้นดีที่สุดในโลก ประเทศไทยมีช่างฝีมือที่เก่ง มีมหาวิทยาลัยดีๆ มีวัสดุอุปกรณ์ที่ดี มีคุณภาพและราคาเป็นมิตร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากทำก่อนตายคือ ก่อตั้งโรงเรียนอนุรักษ์งานศิลปะ เพื่อเป็นแหล่งฝึกฝนทักษะสำหรับทั้งศิลปินและช่างฝีมือให้ต่อยอดทำงานศิลปะได้ที่ไหนก็ได้ทั่วโลก และยังเป็นสถานที่รองรับแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพโดยที่เขาไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องการดำรงชีพจนต้องหันเหไปทำอาชีพอื่น” โรแบร์ต กล่าวถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตของเขา

ปัจจุบัน RSF มีทีมงานชำนาญการราว 20 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของวิทยาลัยเพาะช่างโดยทำงานในเวิร์กช็อป ณ ชั้น 4 อาคารเฮนรี่ บี ทอมป์สัน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอาคารหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน ทางมูลนิธิจิม ทอมป์สัน ได้เอื้อเฟื้อให้ใช้พื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2549 เนื่องจากงานอนุรักษ์ศิลปวัตถุที่เก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลศิลปะของพิพิธภัณฑ์ดำเนินการโดย RSF มาโดยตลอด

โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก
เวิร์กช็อปของ Restaurateurs Sans Frontières (RSF) ในกรุงเทพฯ

ที่นี่ยังเป็นเวิร์กช็อปเอกชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีห้องแล็ปพร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการวิเคราะห์โครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ของงานศิลปะด้วยหลากหลายเทคนิค เช่น การถ่ายภาพด้วยรังสียูวี (uv) และอินฟราเรด (infrared) เพื่อหาร่องรอยการซ่อมแซมที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น การวิเคราะห์หาปริมาณองค์ประกอบธาตุในชิ้นงานด้วยเครื่องเอกซเรย์ ฟลูออเรสเซนซ์ (x-ray fluorescence) รวมไปถึงการส่งชิ้นงานไปตรวจดูโครงสร้างภายในอย่างละเอียดด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน (computerized tomography scan) กับโรงพยาบาลในเครือข่าย

โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก

อีกหนึ่งโปรเจกต์สำคัญที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปคือการซ่อมแซมและอนุรักษ์ภาพเขียนของศิลปิน จ่าง แซ่ตั้ง (พ.ศ.2477-2533) จำนวน กว่า 10 ภาพเพื่อนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ “Non-Forms” ซึ่งนับเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของศิลปินไทยที่จัดแสดง ณ Centre Pompidou กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2566 – 8 เมษายน 2567

“ทางภัณฑารักษ์ของ Centre Pompidou มาดูงานของจ่างในประเทศไทยและต้องการให้มีการซ่อมและอนุรักษ์ก่อนส่งไปจัดแสดงที่นั่น ภาพเขียนแต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่ราว 2 เมตร เรานำมาทำความสะอาด ซ่อมแซมส่วนที่ฉีกขาด ผนึกชั้นสีที่มีรอยแตกให้แข็งแรงและเคลือบวานิชเพื่อปกป้องชิ้นงานและง่ายต่อการทำความสะอาด นอกจากนี้ยังเสริมซัปพอร์ตด้านหลังให้แข็งแรงเพื่อป้องกันเมื่อมีการเคลื่อนย้ายหรือจัดแสดง และจากการวิเคราะห์ในห้องแล็ปเราพบว่าสีดำที่จ่างนิยมใช้นั้นเป็นสีอิพ็อกซี (epoxy) เนื่องจากจ่างมีฐานะยากจนทำให้ต้องใช้สีที่มีราคาถูก”

โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก

จุดเริ่มต้นของบ้านหลังที่ 2 ในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นงานอนุรักษ์ในประเทศไทยจนกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของโรแบร์ต เริ่มจากการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังที่วัดชนบทแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเมื่อ พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นโปรเจกต์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสและกรมศิลปากรของประเทศไทย

โรแบร์ตเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานศิลปะและเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรด้านการอนุรักษ์จิตรกรรมที่ École des Beaux Arts d’Avignon ในประเทศฝรั่งเศส โดยมีผลงานบูรณะภาพเขียนสีโบราณ จิตรกรรมฝาผนัง ประติมากรรม และศิลปะประดับตกแต่งในสถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลก เช่น วิหารคาร์นัก (Temple of Karnak) ในประเทศอียิปต์, ปราสาทบากอง (Bakong Temple) ในประเทศกัมพูชา และพระราชวังหลวงพระบาง ในประเทศลาว

โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก
(ภาพ: สมัชชา อภัยสุวรรณ)

“ในช่วงที่กำลังอนุรักษ์วัดที่โคราชนั้น ทางกรมศิลปากรแจ้งว่าอยากให้ผมช่วยซ่อมแซมภาพเขียนของศิลปินชาวตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเก็บรักษาที่พระตำหนักจิตรลดา เริ่มจากซ่อมภาพ 2 ชิ้นและพระองค์ (รัชกาลที่ 9) ทรงพอพระราชหฤทัย จากนั้นจึงมีโอกาสได้ซ่อมแซมภาพทั้งหมดในคอลเลกชันส่วนพระองค์รวมถึงภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์ด้วย

“พระองค์ทำงานศิลปะด้วยความชื่นชอบอย่างแรงกล้าและผมสัมผัสได้ถึงการเป็นศิลปินอย่างแท้จริง ผมเข้าใจว่าต่อมามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทรงพระสำราญจากการวาดภาพ แล่นเรือใบ เล่นดนตรีและถ่ายรูป ทำให้ต้องหยุดการวาดภาพไปในที่สุดเพื่อทุ่มเทให้กับโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อพสกนิกร โดยปกติพระองค์จะใช้เวลาวาดภาพในเวลากลางคืนและเมื่อไม่อยากรบกวนเวลาพักผ่อนของคนอื่นในการช่วยเตรียมผ้าใบ พระองค์มักจะวาดทับภาพเก่าซึ่งอาจเป็นงานที่ไม่ชื่นชอบเท่าไรนัก เมื่อตรวจในห้องแล็ปเราจะเห็นเลยว่าหลายภาพมีการซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น”

โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก
( ภาพ: สมัชชา อภัยสุวรรณ )

เนื่องจากต้องทำงานอย่างพิถีพิถันและต่อเนื่องสำหรับการอนุรักษ์คอลเลกชันภาพวาดฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 9 ทำให้โรแบร์ตตัดสินใจเปิดสำนักงานของ RSF ในประเทศไทย และต่อมาในปี 2547 รัชกาลที่ 10 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชดำริให้มีการบูรณะหมู่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ภายหลังจากที่พระราชบิดาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ใช้เป็นที่ประทับถาวร และทีมงานของโรแบร์ตได้รับผิดชอบในการอนุรักษ์ศิลปะตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและจิตรกรรมฝาผนังซึ่งวาดโดย เซซาเร แฟร์โร (Cesare Ferro) จิตรกรชาวอิตาลีที่ได้รับการว่าจ้างจากราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยใช้เวลาในการอนุรักษ์งานศิลปะทั้งหมดในหมู่พระที่นั่งเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง

หลังจากนั้นใน พ.ศ.2549 ทางมูลนิธิจิม ทอมป์สัน ได้สนับสนุนให้จัดตั้งเวิร์กช็อปของ RSF ณ สถานที่ตั้งปัจจุบัน และทำให้ฐานลูกค้าขยายไปสู่นักสะสมงานศิลปะเบอร์ต้นทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เช่น ฌ็อง มีแชล เบอร์เดอเลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมที่จังหวัดเชียงใหม่, ดิสพล จันศิริ เจ้าของอาร์ตสเปซ DC Collection ในจังหวัดเชียงใหม่ และ พิริยะ วัชจิตพันธ์ นักสะสมงานศิลปะ

หัวใจการอนุรักษ์คือการไม่ทำลายชิ้นงานเดิม

ในการอนุรักษ์งานศิลปะนั้น โรแบร์ตกล่าวว่าเราต้องเรียนรู้เทคนิคดั้งเดิมของชิ้นงาน แต่ต้องไม่ทำทับของเดิมเพื่อให้เหมือนทุกอย่าง

“ถ้าคุณซ่อมให้เหมือนของเดิมทุกอย่างนั่นคือการทำลายชิ้นงาน งานอนุรักษ์ต้องสามารถถอดงานออกได้โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับชิ้นงานเดิม เนื่องจากในวันข้างหน้าอาจมีเทคนิควิธีการซ่อมแซมที่ดีกว่านี้ก็สามารถนำสิ่งที่เราซ่อมออกได้ หรืออยากให้งานกลับไปเป็นแบบดั้งเดิมก็สามารถทำได้”

ทั้งนี้ส่วนงานที่ยากในการซ่อมแซมนั้นโรแบร์ตกล่าวเพิ่มเติมว่า คือ งานศิลปะร่วมสมัย มากกว่าจะเป็นโบราณวัตถุ

“ศิลปินสมัยโบราณใส่ใจในการเลือกใช้เทคนิคและวัสดุอย่างถูกต้อง แต่ศิลปินสมัยใหม่มักให้ความสำคัญกับแนวคิดและการขายงานมากกว่าโดยไม่ระมัดระวังในการเลือกใช้วัสดุว่าจะส่งผลเสียต่อชิ้นงานหรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป แต่เมื่อเกิดความเสียหายคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือนักสะสมงานศิลปะ เมื่อมีโอกาสไปบรรยายให้นักศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่างผมจึงเน้นย้ำเสมอว่าศิลปินต้องเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพและใช้ให้ถูกวิธี”

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากบริการซ่อมแซมและอนุรักษ์งานศิลปะแล้ว คือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ชิ้นงานศิลปะตามความต้องการของลูกค้าตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ด้วยการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยในห้องแล็ปผนวกกับฐานข้อมูลงานศิลปะที่มีเป็นจำนวนมาก

“บางคนว่างานซ่อมของเราแพง แต่ไม่จริงเลย เพราะเราทำทั้งวิจัยและทำรายงานอย่างละเอียดให้ลูกค้าด้วยซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้การวิเคราะห์อย่างละเอียดและด้วยฐานข้อมูลซึ่งเราเก็บสะสมมาเป็นเวลาหลายสิบปี ผมมั่นใจว่าที่นี่มี big data ของงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย”

ห้องแล็ปวิเคราะห์งานศิลปะด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์

นวรัตน์ แก้วอ่อน นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ได้พาชมห้องแล็ปวิเคราะห์งานศิลปะที่นับว่าเป็นสถานที่เอกชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีเครื่องมือทันสมัยและครบครันในการใช้งาน

“งานทุกชิ้นที่ส่งมาซ่อมเราจะถ่ายภาพก่อนลงมือทำเพื่อบันทึกเป็นข้อมูล และในระหว่างการซ่อมทุกขั้นตอนจะมีการบันทึกภาพเก็บไว้ด้วย ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพแบบพิเศษมีเทคนิคการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและแหล่งแสงหลายแหล่งโดยหลักๆ คืออินฟราเรดและยูวี ยูวีจะช่วยให้เราเห็นภาพที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นภายใต้แสงปกติ เช่น บางจุดที่มีการซ่อมแซมมาถ้ามองด้วยตาเปล่าภายใต้แสงยูวีเราจะเห็นได้ชัดเจน ส่วนอินฟราเรดมีคุณสมบัติส่องทะลุชั้นสีลงไปได้ เช่นทำให้เห็นรอยสเกตช์หรือลายเซ็นซึ่งช่วยพิสูจน์เบื้องต้นว่าเป็นงานแท้หรือไม่แท้ได้ในบางครั้ง” นวรัตน์อธิบาย

นอกจากนี้ยังมีเครื่องเอกซเรย์ ฟลูออเรสเซนซ์ เพื่อใช้วิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุในชิ้นงานโดยมีทั้งเครื่องสำหรับวิเคราะห์สารประกอบแบบอินทรีย์วัตถุเช่นงาช้างและผ้า และอีกเครื่องสำหรับสารประกอบอนินทรีย์ เช่น พิกเมนต์ของสีที่ทำมาจากหิน ดิน และแร่ต่างๆ

“ข้อดีของเครื่องนี้คือไม่สัมผัสกับชิ้นงานและสามารถบอกผลเป็นเปอร์เซ็นต์ขององค์ประกอบธาตุ เช่นพระพุทธรูปโลหะ ทำให้รู้ว่าทำมาจากอะไรหากเป็นทองแดงผสมสังกะสีก็เป็นทองเหลือง หรือหากทองแดงผสมดีบุกก็เป็นสำริด หรือบางครั้งเราเจอพระพุทธรูปที่มีธาตุทองแดง ทองคำ และปรอทซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่าช่างโบราณใช้เทคนิคหุ้มทองที่เรียกว่า gold amalgam ก็ต้องมาวิเคราะห์หาเปอร์เซ็นต์ของแร่ธาตุต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปที่ถูกต้อง ส่วนการทำซีทีสแกนเพื่อดูโครงสร้างข้างในเราร่วมมือกับโรงพยาบาลเพื่อส่งชิ้นงานไปตรวจสอบซึ่งดูได้ทั้งแบบสองและสามมิติเหมือนคุณหมอวิเคราะห์คนไข้อย่างละเอียด”

เปิดคลินิกศิลปะให้บริการแบบโรงพยาบาลเอกชน

พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทยและบริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center เป็นลูกค้าประจำของ RSF มาเป็นเวลากว่า 10 ปี และล่าสุดราวเดือนสิงหาคม 2566 เขาได้จับมือกับโรแบร์ตในการก่อตั้ง RSF Art Clinic โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ชั้น 4 ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก

“นักสะสมงานศิลปะมักถามว่าถ้าต้องการซ่อมแซมงานจะส่งไปที่ไหนดี ผมจะแนะนำให้มาที่คุณโรแบร์ตตลอด เขาเป็นคนที่ไม่โปรโมตตัวเองและลูกค้ามาจากปากต่อปาก ผมชักชวนอยู่นานว่าเขาน่าจะเปิดให้คนทั่วไปรู้จักหน่อยหากเขาต้องการขยายทีมช่างฝีมือและอยากเปิดโรงเรียนอนุรักษ์งานศิลปะ เรามีหน้าร้านที่ริเวอร์ซิตี้ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไปฝากงานที่นั่นและเรานำมาซ่อมที่เวิร์กช็อป เมื่อประเมินงานแล้วเราจะเสนอราคาชัดเจนและตารางเวลาว่าจะใช้เวลาซ่อมเท่าไรซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เหมือนโรงพยาบาลเอกชน”

(ภาพ: สมัชชา อภัยสุวรรณ)

พิริยะกล่าวว่านักอนุรักษ์งานศิลปะในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมากซึ่งสวนทางกับการเติบโตของการสะสมงานศิลปะและความต้องการในการซ่อมแซมอนุรักษ์

“คนเก็บงานศิลปะของศิลปินระดับ old masters มีเป็นจำนวนมาก งานเหล่านี้แม้ไม่เสียหาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปอย่างน้อยก็ต้องทำความสะอาด เมื่อก่อนคนอาจจะมองว่าการจ่ายเงินในการส่งมาทำความสะอาดในราคา 5,000ถึง 10,000 นั้นแพง แต่เมื่อรูปเขียนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านก็ถือว่าคุ้มค่าอย่างมาก นอกจากนี้คนที่เก็บงานกระดาษก็ต้องมีการอนุรักษ์ที่ดี เพราะงานกระดาษไวต่อความชื้น ถ้าหากผ่านการอนุรักษ์อย่างดีและถูกวิธีจะทำให้เก็บได้เป็น 100 ปี”

นอกจากลูกค้าที่ต้องการซ่อมแซมและอนุรักษ์งานในคอลเลกชันส่วนตัวของตนเองแล้ว อีกกลุ่มลูกค้าหนึ่งคือผู้ที่ต้องการส่งงานศิลปะเข้าร่วมประมูลโดยเฉพาะกับทางบริษัท The Art Auction Center ของพิริยะ

“พอเราทำงานประมูลจะมีคนส่งงานมาร่วมประมูลเป็นจำนวนมาก ถ้างานเสียหายเราก็จะแนะนำให้ซ่อมก่อน เพราะหากอยากได้ราคาที่ต้องการ งานของคุณก็ต้องอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด”

 พิริยะยกให้โรแบร์ตเป็นเบอร์หนึ่งของภาคเอกชนในการอนุรักษ์งานศิลปะในประเทศไทยโดยข้อได้เปรียบของเขาไม่ใช่เครื่องมือวิเคราะห์งานศิลปะที่ทันสมัย แต่คือฐานข้อมูลที่เขาเก็บสะสมไว้เป็นเวลาหลายสิบปี

“ผมเคยส่งงานของอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ มาให้เขาซ่อมและวิเคราะห์ซึ่งเขาสามารถบอกได้เลยว่าเป็นงานของอาจารย์ในยุคไหนจากการใช้สีและเลเยอร์ของชั้นสี เพราะถึงแม้จะใช้สีเดียวกัน แต่เฉดสีของแต่ละช่วงการทำงานของอาจารย์ประเทืองก็จะต่างกัน เขาจะทำรายงานการวิเคราะห์อย่างละเอียดมาเป็นเล่มหนาๆ เลย

“แต่ที่นี่เขาจะไม่ฟันธงนะว่างานศิลปะชิ้นนี้ชิ้นนั้นจริงหรือปลอม เพราะเขาไม่มีสิทธิ์ออกใบรับรอง แต่สิ่งที่เขาทำคือรายงานเล่มหนาและมีข้อสรุปตอนท้ายจากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และฐานข้อมูลว่าอะไรเหมือน อะไรไม่เหมือน ซึ่งเราก็สามารถสรุปเองได้ว่างานนี้จริงหรือไม่” พิริยะกล่าว

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก แปลจากภาษาอังกฤษโดยผู้เขียน

Fact File

  • Restaurateurs Sans Frontières ตั้งอยู่ในซอยเกษมสันต์ 2 กรุงเทพฯ, โทร. 08-7551 6543
  • RSF Art Clinic ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก, โทร.06-1505 1654 หรืออีเมล : rsf-artclinic@theartauctioncenter.com

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม