VDO

สำรวจ “ห้องอนุรักษ์บานไม้ประดับมุก”

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการสร้างห้องอนุรักษ์โบราณวัตถุขึ้นในพื้นที่ไซต์งานจริง และหนึ่งในห้องอนุรักษ์แบบ Onsite ที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ “ห้องอนุรักษ์บานไม้ประดับมุก”  ศิลปะชั้นสูงของญี่ปุ่น อายุกว่า 150 ปี ในวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์ ภายในมีการออกแบบพื้นที่สำหรับงานอนุรักษ์ทั้งในส่วนของวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ แน่นอนว่า Sarakadee Lite จะพาไปเปิดประตูชมเบื้องหลังการทำงานอนุรักษ์อย่างละเอียดกัน

สำหรับบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นและแผ่นไม้ประดับรักลายนูนอายุกว่า 150 ปีใช้ประดับบนบานประตู 3 คู่ และบานหน้าต่างอีก 16 คู่เป็นจำนวนทั้งสิ้น 114 แผ่น (1 คู่ประกอบด้วยงานไม้ประดับ 6 แผ่น) แต่ปัจจุบันสูญหายไป 20 แผ่นจึงคงเหลือจำนวน 94 แผ่นที่ต้องอนุรักษ์ซ่อมแซมเนื่องจากเสื่อมสภาพ มีเชื้อรา แมลงกัดกินพื้นไม้  ผิวหน้าชิ้นงานมีความสกปรกจากยางรักที่เคยมีการพยายามซ่อมแซมมาแล้ว และบางบานยางรักที่ถูกทาเคลือบไว้เป็นเวลานานเกิดความหมองคล้ำไม่สดใส ปัจจุบันโครงการอยู่ในระยะที่ 3 (พ.ศ.2564-2568) ซึ่งเป็นขั้นตอนการอนุรักษ์และมีการจัดสร้างห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ภายในวัดเมื่อ พ.ศ. 2564 โดยมีการซ่อมแซมบานไม้ประดับและนำไปติดตั้งยังตำแหน่งเดิมแล้วจำนวน 26 ชิ้น

“ความเหมือนของงานประดับมุกของไทยกับญี่ปุ่นคือนิยมใช้เปลือกหอยโข่งและหอยเป๋าฮื้อและใช้ยางรักเป็นตัวประสานระหว่างเปลือกหอยกับพื้นงาน แต่ยางรักของไทยมีความเข้มข้นเมื่อกรีดยางรักจะสีขุ่นขาวและเมื่อเจออากาศจะสีดำ แต่ของญี่ปุ่นจะมีสีเหมือนโอวัลติน ข้นๆ และไม่เหนียวมาก ส่วนเปลือกหอยที่ใช้ประดับของไทยหนาประมาณ 1 เหรียญบาท แต่ของญี่ปุ่นบางมากประมาณกระดาษ A4 และโปร่งแสง อีกทั้งมีการฉาบสีด้านหลังและปิดแผ่นเงินแผ่นทองทับด้วย ในการอนุรักษ์จึงมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันมาก เราจึงต้องขอความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย องค์ความรู้ และขั้นตอนการอนุรักษ์ที่ถูกต้องจากทางญี่ปุ่น