IceDEA ไอศกรีมสุดครีเอตที่เกิดจาก “นักออกแบบไอศกรีม” ผู้อยู่เบื้องหลังงานอีเวนต์
Brand Story

IceDEA ไอศกรีมสุดครีเอตที่เกิดจาก “นักออกแบบไอศกรีม” ผู้อยู่เบื้องหลังงานอีเวนต์

Focus
  • จากประสบการณ์ที่ได้จากอาชีพ Icecream Designer ที่ ติ๊บ-พริมา จักรพันธุ์ หวั่งหลี ทำหน้าที่ออกแบบรสชาติและรูปลักษณ์ไอศกรีมใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เกิดเป็นร้านไอศกรีม IceDEA ที่เธอตั้งใจใส่ไอเดียลงไปในทุกๆ ส่วนของไอศกรีม
  • จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกค้าไม่สามารถไปนั่งที่ร้านได้อย่างเคย แต่ IceDEA ยังคงมีบริการดีลิเวอรีเพื่อส่งต่อความหวานเย็นมีไอเดียให้ถึงบ้าน

การได้กินของอร่อยที่ถูกใจสามารถเติมความสุขให้เราได้เสมอ ยิ่งในยามที่เกิดความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 และท่ามกลางอากาศร้อนของเมืองไทย รสชาติ กับความเย็นชื่นใจของไอศกรีมยังคงเป็นหนึ่งโมเมนต์เล็กๆ ที่ยังคงเรียกรอยยิ้มให้กับเรา ยิ่งได้เห็นของหวานดับร้อนนี้ทำออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ อย่างทุเรียน มังคุด ดอกไม้ ก็ยิ่งดึงดูดและเพิ่มดีกรีความชุ่มฉ่ำใจให้กับเราเข้าไปอีก

เชื่อว่าหลายๆ คนทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจน่าจะต้องเคยเห็นไอศกรีมสุดครีเอตของ IceDEA ชื่อแบรนด์ที่มาจากประโยค ‘Idea in Icecream’ คอนเซ็ปต์ของร้านที่ ติ๊บ-พริมา จักรพันธุ์ หวั่งหลี ผู้อยู่เบื้องหลัง ตั้งใจสอดแทรกไอเดียลงไปในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับไอศกรีมตั้งแต่รสชาติ หน้าตา วิธีการนำเสนอไปจนถึงวิธีการกิน และเพราะหน้าตาของไอศกรีมนี่แหละที่ทำให้ลูกค้าIceDEA อดยกกล้องขึ้นมาถ่ายแล้วแชร์ต่อกันไม่ไหว ในโอกาสที่IceDEA โผล่ขึ้นมาในหน้าไทม์ไลน์โซเชียลมีเดียของเราอีกครั้ง Sarakadee Lite เลยขอพาทุกคนไปรู้จักแบรนด์นี้ให้มากขึ้น

IceDEA

การออกแบบที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งของ 

“ที่บ้านชอบกินไอศกรีม คุณพ่อก็ชอบทำไอศกรีมให้กินตั้งแต่เด็กๆ ในช่วงที่ติ๊บเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ฯ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรมมาใหม่ๆ ธุรกิจไอศกรีมกำลังได้รับความนิยม ในขณะที่รสชาติในตลาดยังมีแค่รสชาติทั่วไป เราก็คิดว่าหนึ่งเราเรียนจบทางด้านออกแบบมา และช่องทางการตลาดก็มีช่องว่างตรงนี้อยู่ แล้วทำไมเราไม่ออกแบบไอศกรีมให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของร้านต่างๆ เลยเกิดเป็นอาชีพ Icecream Designer ขึ้นมา แต่ก็ทำอยู่เบื้องหลังคือออกแบบให้กับร้านอาหาร งานอีเวนต์ ยังไม่มีหน้าร้านเป็นของเราเอง จนประมาน ค.ศ.2009 ทางหอศิลปกรุงเทพฯ เห็นว่าไอศกรีมของเราถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เลยชวนให้มาใช้พื้นที่จัดแสดงไอศกรีมให้คนทั่วไปเห็นว่ามันก็เป็นงานศิลปะ ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายเพราะเป็นอาหาร”

ติ๊บเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการหันมาออกแบบไอศกรีม เพราะเห็นว่าการออกแบบสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสิ่งรอบตัว และกล่าวเสริมว่า การออกแบบอาหารนั้นมีข้อจำกัด แต่ก็มีข้อดีตรงที่มีมิติของรสชาติที่สามารถเข้าถึงความรู้สึกของคนได้มากกว่าแค่มองเห็นหรือจับต้อง

หลังจากนั้นติ๊บจึงเดินหน้าแบรนด์IceDEA เต็มกำลัง ซึ่งมากกว่าการออกแบบรสชาติใหม่ๆ เธอยังใส่ไอเดียในการดีไซน์หน้าตาของไอศกรีมให้เป็นรูปร่างต่างๆ เพราะเห็นว่าเอื้อต่อการประชาสัมพันธ์มากกว่าการสื่อด้วยรสชาติเพียงอย่างเดียว อีกอย่างเธอยังมองเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ในยุคนี้ที่ชอบถ่ายรูปก่อนค่อยกิน จึงเกิดเป็นโจทย์หลักที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนเห็นแล้วอยากถ่ายรูป นำไปโพสต์ หรือแชร์ต่อ

หลังทำโชว์รูม หรือจะเรียกว่าเป็นสตูดิโอไอศกรีมขนาดย่อมรวบรวมผลงานไอศกรีมที่เธอเคยออกแบบมาเปิดกลางหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อให้ลูกค้ารายใหม่ได้เห็นและชิมเป็นตัวอย่างแล้ว ปรากฏว่าได้เสียงตอบรับที่ดีเกินคาด เพราะไม่เพียงกับกลุ่มลูกค้าที่กำลังมองหาคนออกแบบไอศกรีมเท่านั้น แต่คนทั่วไปที่มาเห็นก็รู้สึกอยากกินไปด้วย เมื่อเสียงเรียกร้องเริ่มมากขึ้น เธอจึงตัดสินใจเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของหอศิลป์กรุงเทพฯ ชั้น 4 เปิดเป็นร้านไอศกรีม IceDEA ขึ้นมา

ไอศกรีมหมูทงคัตสึ

เธอเริ่มออกแบบเมนูโดยการหยิบแรงบันดาลใจที่ได้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว บวกกับประสบการณ์จากการดีไซน์ไอศกรีมสำหรับงานอีเวนต์ แล้วสังเกตเห็นว่ามีคนพูดถึง “ไอศกรีมซูชิ” ที่หน้าตาเหมือนอาหารญี่ปุ่นจริงๆ ค่อนข้างเยอะ จึงนำคอนเซ็ปต์ที่นำรูปแบบของอาหารมาแปลงเป็นไอศกรีมมาใช้ เกิดเป็นเมนูเซตแรกๆ ของIceDEA เช่น “ไอศกรีมหมูทงคัตสึ” ที่นำไอเดียไอศกรีมทอดแบบที่คนไทยชอบมาต่อยอดกับรูปลักษณ์ของหมูทงคัตสึที่เป็นอาหารญี่ปุ่น แต่เปลี่ยนจากแป้งทอดของไอศกรีมปกติให้เป็นเกล็ดขนมปังที่ใช้สำหรับทำทงคัตสึแทน มากกว่านั้นคือการจัดเสิร์ฟให้เหมือนกับอาหารญี่ปุ่นจริงๆ

ไอศกรีมสเต๊ก
ไอศกรีมสเต๊ก (มีเดียมแรร์)

นอกจากนี้เธอยังหยิบกระแสเหตุการณ์ต่างๆ และความต้องการของลูกค้ามาตั้งเป็นโจทย์ โดยมีหัวใจหลักอยู่ที่การออกแบบให้มีเอกลักษณ์ตามคอนเซ็ปต์ของ IceDEA เช่น เมนูยอดนิยมอย่าง “ไอศกรีมสเต๊ก” ที่เกิดจากเสียงเรียกร้องของลูกค้าที่อยากกินไอศกรีมชิบูย่าฮันนี่โทสต์ เธอจึงเกิดไอเดียการเสิร์ฟพาเมซานชีสโทสต์ คู่กับไอศกรีมสเต๊ก (รสบราวนี) ที่สั่งได้ว่าต้องการแบบมีเดียมแรร์ (เพิ่มการสอดไส้ไอศกรีมรสนมเย็นด้านใน) หรือเวลดัน มีเครื่องเคียงเป็นเฟรนช์ฟรายส์ที่ดัดแปลงเป็นกล้วยเผาราดคาราเมล จุดนี้เห็นแล้วต้องเกิดคำถามกันบ้างแหละว่าที่เห็นคือไอศกรีมจริงๆ หรือเปล่า

ตัวฮอตฮิตและทำให้คนรู้จัก IceDEA มากขึ้นอีกเมนูคือ “ไอศกรีมทุเรียน” ที่เธอคิดค้นขึ้นมาซัพพอร์ตลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย 

ไอศกรีมทุเรียนแบบแท่ง

“นักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียมาเมืองไทยเขาชอบทุเรียนอยู่แล้ว ก็มาถามหาว่ามีไอศกรีมทุเรียนไหม ฟีดแบ็กจากลูกค้าหลายๆ ท่านก็ถามหาไอศกรีมทุเรียนเยอะ เลยคิดว่าจะทำไอศกรีมทุเรียนสำหรับกลุ่มลูกค้านี้ แต่ทำเป็นสกู๊ปเฉยๆ ก็เป็นอะไรที่ไม่ใช่ IceDEA ส่วนหนึ่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนสามารถซื้อกลับบ้านได้ด้วย เพราะเมนู ณ ตอนนั้น ต้องนั่งกินที่ร้านหมด เลยคิดว่าน่าจะเป็นอะไรที่คนสามารถซื้อกลับบ้านได้ เอาไปฝากหรือดีลิเวอรีได้

ไอศกรีมทุเรียนพร้อมเปลือก (กินได้)

“เลยคิดเป็นไอศกรีมทุเรียนที่หน้าตาเหมือนกับทุเรียนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเปลือก พลูหรือเม็ดที่อยู่ข้างใน ทุกอย่างมีดีเทลเหมือนทุเรียนจริงๆ แต่สามารถกินได้ทั้งหมด ตัวหนามทุเรียนจะเป็นไอศกรีมทุเรียนหมอนทอง ชาเขียวและชั้นอัลมอนด์อบกรอบให้สัมผัสเหมือนกับเคี้ยวหนามทุเรียน ด้านในไอศกรีมเนื้อทุเรียนมีถั่วพีแกน ที่สามารถกินไปด้วยกันได้และช่วยเติมรสชาติของตัวเนื้อให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น”

ไอศกรีมมังคุด
ไอศกรีมข้าวเหนียวมะม่วง

จาก ไอศกรีมทุเรียน ที่กลายเป็นเมนูเด่นของทางร้าน ก็ได้มีการต่อยอดเป็นไอศกรีมมังคุด ไอศกรีมข้าวเหนียวมะม่วง (ซอร์เบทมะม่วงน้ำดอกไม้และไอศกรีมกะทิมะพร้าวอ่อนราดซอสกะทิโรยถั่วทองกรุบกรอบ) ไอศกรีมข้าวโพดชีส และไอศกรีมรูปร่างอื่นๆ ตามมา

เห็นได้ว่าเธอมักหยิบสิ่งต่างๆ ที่พบเจอมาเป็นโจทย์ในการออกแบบไอศกรีมอยู่เสมอ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ก็ทำให้IceDEA ต้องเจอกับโจทย์ใหม่ที่ทำให้ต้องปรับรูปแบบ เน้นช่องทางการขายทางดีลิเวอรีเป็นหลัก

“ส่วนใหญ่แล้วเราจะขายที่ร้านที่หอศิลป์ กับมีตู้ไปลงที่ทาคาชิมายะ ไอคอนสยาม แล้วก็จะมีลูกค้าที่นำไอศกรีมของเราไปลงตามจุดต่างๆ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ตลาดอ.ต.ก. ตลาดน้ำสี่ภาค พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี ร้อยเอ็ด ส่วนดีลิเวอรีก็มีบ้างแต่ไม่ได้โปรโมตหนักมาก” 

เธอเล่าถึงอีกหนึ่งช่องทางการขายของIceDEA ที่โดยปกติจะเน้นขายส่งมากกว่าการดีลิเวอรี ก่อนจะเล่าเสริมถึงการปรับตัวของแบรนด์เพื่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน

“ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะลูกค้าเราเองส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว และอยู่ในจุดที่จำเป็นต้องปิด ทุกที่ที่ขายส่งอย่างตลาดน้ำสี่ภาคนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เขาโดนผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงแรกแล้ว คือเงียบมาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์จะหนักขึ้นเสียอีก ทำให้ในส่วนของช่องทางการขายที่มีอยู่ก็เท่ากับว่าไม่ได้เลย ต้องมาเน้นในส่วนที่เป็นดีลิเวอรีเพียงอย่างเดียว”

“จากเดิมที่เราไม่ได้เน้นเรื่องดีลิเวอรีเลย ตอนนี้ก็ทำในเรื่องของการตลาด โปรโมตให้ลูกค้าเห็นว่าเรามีตัวดีลิเวอรีอยู่ให้มากขึ้น เพราะของเดิมไม่ได้มีการทำการตลาดมาก แต่ใช้วิธีอาศัยการบอกต่อ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เขาก็จะโปรโมตให้เราไปด้วยในตัว ตอนนี้เราก็ต้องหันมาโปรโมตเองนิดหนึ่งว่าเรามีดีลิเวอรีตัวไหนอยู่บ้าง”

เดิมที IceDEA จะเน้นเป็นดีลิเวอรีไอศกรีมรูปทรงต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่คนนึกถึงและจำได้ แต่ช่วงนี้ได้มีการดึงไอศกรีมสกู๊ปรสชาติต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นจุดเริ่มต้นของIceDEA กลับมาโปรโมตใหม่ เพราะช่วงนี้ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ จากกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นนักท่องเที่ยวหายไป

โดยไอศกรีมสกู๊ปจะจำหน่ายเป็นชุดละ 12 ถ้วย ราคา 828 บาท และชุดละ 24 ถ้วย ราคา 1,658 บาท มีรสชาติให้เลือกหลากหลาย เช่น ขนมเบื้อง ข้าวต้มมัด ตะโก้แห้วมะพร้าวอ่อน โดยสามารถเข้าไปดูรสชาติทั้งหมดได้ทางเพจของร้าน 

ทั้งนี้ไอศกรีมรูปทรงต่างๆ อย่างไอศกรีมผลไม้ และไอศกรีมรูปน้องหมายอดฮิตก็ได้มีการนำมาจัดเซตเพื่อจำหน่ายแบบดีลิเวอรีด้วยเช่นกัน โดยคุณติ๊บแนะนำว่าควรกินภายใน 7 วันหลังจากสั่งซื้อสำหรับการเก็บในอุณหภูมิช่องแข็งทั่วไป เพื่อคงเท็กเจอร์ รสชาติและความสดใหม่ แต่หากเก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาลงไปก็สามารถเก็บได้ร่วมเดือน 

ในวิกฤติโควิด-19 ที่ดีกรีความตึงเครียดพุ่งสูงสู้ระดับความร้อนของอากาศ รสชาติหวานเย็นของไอศกรีม น่าจะช่วยเรียกความสดชื่น บวกกับรูปลักษณ์ของไอศกรีมIceDEA ที่ออกแบบมาอย่างตั้งใจ ก็น่าจะช่วยเรียกรอยยิ้มให้เราได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เห็นแล้วต้องเทใจให้ทั้งดวงแน่นอน 

Fact File

  • ร้าน IceDEA ชั้น 4 หอศิลป์กรุงเทพฯ เวลาทำการ 11.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
  • สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ Line: @icedea, www.facebook.com/icedea หรือโทร. 08-1907-1814
  • ภาพ : IceDEA

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ