สำรวจ ทางเดินริมน้ำเจ้าพระยา พาลัดเลาะชุมชนเก่าแก่ กุฎีจีน
- โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้สะพานพุทธไปจนถึงท่าเรือวัดกัลยาณมิตร เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ระยะทางกว่า 600 เมตร
- ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่นี้โดดเด่นด้วยการนำสถานที่สำคัญในย่านเก่าแก่กุฎีจีนมาตกแต่งเป็นลวดลาย สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ชวนไปเช็คอินชุมชน กุฎีจีน หรือ กะดีจีน กับ ทางเดินริมน้ำเจ้าพระยา ใหม่เอี่ยมที่นำไอโคนิคความเป็นพหุวัฒนธรรมของย่านเก่าแก่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้ มาเปลี่ยนเป็นงานอาร์ตแต่งแต้มตลอดทางเดิน
หลังจากโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ของชุมชน กุฎีจีน บริเวณทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้สะพานพุทธไปจนถึงท่าเรือวัดกัลยาณมิตร ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จ ตอนนี้ (สิงหาคม 2566) ทางเดินริมน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้เปิดพื้นที่ให้เข้าใช้ได้แล้ว (แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม)
ความน่าสนใจแรกของทางเดินริมน้ำแห่งใหม่คือ การออกแบบทางเดินให้มีความเป็น Universal Design มากขึ้น เอื้อแก่ทั้งคนเดิน จักรยาน รถเข็น รวมทั้งมีเส้นทางสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ชัดเจนขึ้น ไม่มีต้นไม้กีดขวาง พร้อมราวกันตกที่ดูแข็งแรงมากขึ้น ไฟส่องสว่างตลอดเส้นทาง กลางสะพานมีจุดนั่งชมวิวสะพานพุทธ พร้อมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้อ่านเพิ่มเติม และจากกลางทางเดินสามารถชมวิวได้ทั้งฝั่งสะพานพุทธและเจดีย์วัดอรุณฯ ที่เห็นชัดเจนมาก
และด้วยความที่ย่านกุฎีจีนมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือการผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมทั้งไทย จีน คริสต์ มุสลิม ผู้ออกแบบจึงมีการใส่ลวดลายที่เป็นไอโคนิคของแต่ละวัฒนธรรมความเชื่อลงไปตลอดทางเดิน สายถ่ายภาพต้องไม่พลาดมาเก็บเช็คลิสต์กันให้ครบ ทั้งโบสถ์ซางตาครูส ศูนย์กลางศรัทธาของชาวโปรตุเกสที่อพยพย้ายถิ่นจากกรุงเก่าอยุธยามาตั้งถิ่นฐานใหม่ยังฝั่งธนบุรี, เจดีย์ขาวทรงลังกาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่ยังคงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบอยุธยา, ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าของชาวจีนฮกเกียนที่เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในฝั่งธนบุรี, วัดกัลยาณมิตร ประดิษฐานซำปอกง และที่จะขาดไม่ได้คือ มัสยิดบางหลวง ซึ่งเป็นมัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่มีโครงสร้างคล้ายกับสถาปัตยกรรมทรงไทย แค่เห็นลายบนทางเดินก็อยากจะเดินซอกแซกเข้าชุมชนไปตามชมของจริงแล้ว
Fact File
อัพเดทสิงหาคม 2566 ทางเดินเรียบแม่น้ำเจ้าพระยาชุมชนกุฎีจีนสามารถเดินเชื่อมจากใต้สะพานพุทธไปยังศาลเจ้าเกียนอันกงได้อย่างสะดวกมาก เหลือเพียงช่วงที่เชื่อมต่อไปยังท่าเรือวัดกัลยาณมิตรที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ