แจก 3 เส้นทางเที่ยวไทยฉบับ เที่ยวคาร์บอนน้อย แต่รักษ์โลกมาก
- เกาะยาวน้อย หนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยวที่ยังจัดเป็นความลับของท้องทะเลอันดามัน เกาะเล็กๆ ของจังหวัดพังงาที่เปล่งประกายเอกลักษณ์การท่องเที่ยวที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติบริสุทธิ์กับวิถีชีวิตดั้งเดิม
- สุโขทัยเป็นหนึ่งเมืองที่เป็นมิตรกับการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ทั้งในอุทยานประวัติศาสตร์ และชุมชนเมืองเก่า
- สุรินทร์ จังหวัดเล็กๆ ฝั่งอีสานใต้ที่เปลี่ยนภาพจำด้านความแห้งแล้งของอีสานให้เป็นอีสานสีเขียว
ออกเดินทางท่องเที่ยวไทยฉบับ เที่ยวคาร์บอนน้อย แต่รักษ์โลกมาก ไปยัง 3 จุดหมาย 3 บรรยากาศ ที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ การชูความโดดเด่นของท้องถิ่น และความยั่งยืน มาเป็นหัวใจในการท่องเที่ยว บอกเลยว่าแต่ละเส้นทางสร้างคาร์บอนน้อย แต่เที่ยวได้สนุกมากจริงๆ
01 “เกาะยาวน้อย” ความลับของอันดามัน
เกาะยาวน้อย หนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยวที่ยังจัดเป็นความลับของท้องทะเลอันดามัน เกาะเล็กๆ ของจังหวัดพังงาที่เปล่งประกายเอกลักษณ์การท่องเที่ยวที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติบริสุทธิ์กับวิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นเสน่ห์มัดใจผู้มาเยือนได้ไม่ยาก ความสนุกของการมาเยือนเกาะยาวน้อย มีทั้งความงามของธรรมชาติ กิจกรรมรูปแบบโฮมสเตย์ที่ยังมีวิถีชุมชนประมงและชาวนากลางเกาะดั้งเดิมให้ได้เห็น นับเป็นประสบการณ์อันน่าจดจำที่จะได้เรียนรู้วิถีท้องถิ่นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไฮไลต์เที่ยวยาวน้อยได้แก่
โฮมสเตย์เกาะยาวน้อย : เกาะยาวน้อยนับเป็นโฮมสเตย์ระดับมาตรฐานแห่งแรกของภาคใต้ หากย้อนกลับไปราว 30 ปีก่อน ชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบจากการมีเรือภายนอกเข้ามาทำประมงแบบผิดกฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ชาวท้องถิ่นจึงรวมตัวกันเรียกร้องหน่วยงานรัฐให้ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหา เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยงานต่างๆ มาดูงานด้านสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวแนวเรียนรู้วิถีชุมชน ที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน เกษตรกรรมบนเกาะและอาหารถิ่นจากฝีมือแม่บ้านชาวยาวน้อย ซึ่งที่เกาะยาวน้อยมีโฮมสเตย์ให้เลือกหลายแห่งมาก
ชมการเลี้ยงปลาในกระชัง : การเลี้ยงปลาในกระชังริมทะเลนับเป็นการท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะรูปแบบเสมือนธนาคารปลาของชาวประมงท้องถิ่น ช่วยให้ชาวบ้านยังมีรายได้และอาหารเพื่อบริโภคในช่วงที่ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้อย่างในช่วงฤดูมรสุม หรือช่วงปิดอ่าวให้ปลาในธรรมชาติวางไข่ รวมทั้งเป็นการรักษาทรัพยากรน้ำให้สะอาดเหมาะสมกับการเลี้ยงปลา นักท่องเที่ยวจะได้ขึ้นไปบนกระชังกลางทะเลที่มีปลาหลากหลายชนิดราวกับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำกลางแจ้ง เช่น ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาปักเป้า ฉลามเสือ ปลาค้างคาว ปลาสิงโต กุ้งมังกร ฯลฯ เพื่อชมและลองให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิด
ทุ่งนาเกาะยาวน้อย : ชาวเกาะยาวน้อยปลูกข้าวทำนากันมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ จนถึงทุกวันนี้ยังมีเกษตรกรกว่า 200 ราย ปลูกข้าวไว้บริโภคเอง เหลือไว้จำหน่ายบ้างเล็กน้อย การทำนาบนเกาะจึงเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี โดยมีตัวช่วยอย่างการเลี้ยงควายที่คอยกำจัดหญ้าหรือวัชพืชในทุ่งนา พร้อมถ่ายมูลให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ ถ้าเดินทางไปในช่วงฤดูทำนา เช่น ฤดูฝนที่เริ่มปักดำต้นข้าว หรือปลายปีในช่วงเก็บเกี่ยว ก็อาจมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมทำนากับชาวนายาวน้อย พบควายนอนแช่สปาโคลนอย่างสบายใจ
ปั่นจักรยานรอบเกาะ : สำหรับสายปั่น (จักรยาน) เกาะยาวน้อยถือเป็นจุดหมายที่เหมาะแก่การนำยานพาหนะคู่ใจลงเรือมาพร้อมกัน เพราะถนนคอนกรีตสายหลักบนเกาะยาวน้อยเชื่อมต่อกันเป็นวงกลม มีทางแยกทางย่อยบ้าง แต่ก็ไม่ซับซ้อนชวนงง มีช่วงปั่นขึ้นเนินบ้างนิดหน่อยในบางจุด แต่ก็ไม่ยากสําหรับมือใหม่ และมีสัญญาณโทรศัพท์ครอบคลุมทุกเครือข่าย เปิด GPS ได้ไม่ต้องกลัวหลง ลองใช้เวลาออกกำลังด้วยการปั่นจักรยานเที่ยวเกาะประมาณ 1 ชั่วโมงก็ครบรอบ เพื่อสัมผัสทัศนียภาพทุ่งนา ถนนเลียบชายหาด พื้นที่การเกษตร ชุมชนบ้านเรือนที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม
แหล่งอนุรักษ์นกเงือก : นักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์เป็นที่รู้กันว่า “นกเงือก” ถือเป็นสัตว์ป่าซึ่งเปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ บนเกาะยาวมีทั้งนกเงือกตามธรรมชาติ รวมทั้งนกเงือกที่ชาวบ้านทำโพรงรังเทียมเอาไว้ เนื่องจากนกเงือกต้องอาศัยโพรงขนาดใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมักเป็นต้นไม้ใหญ่อายุมาก แต่ปัจจุบันต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นมีน้อยลง การอนุรักษ์นกเงือกบนเกาะยาวน้อยจึงต้องสร้างโพรงรังเทียมขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว (ชมรมอนุรักษ์นกเงือก โทร. 084-744-7284)
หนํานาทอน : ที่นี่เป็นหนึ่งในโฮมสเตย์น่ารักของเกาะ เจ้าของเป็นเกษตรกรผู้ทํานาข้าวอินทรีย์ ปลูกไว้เป็นแปลงเขียวขจีเคียงคู่กับบ้านพักเล็กๆ สำหรับผู้มาเยือน และยังรักษ์โลกด้วยพลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ แต่ใครไม่ได้เข้าพักก็สามารถแวะมาพักรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไอเดียการทำที่พัก-ร้านอาหารในเชิงอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมได้ (โทร. 090-217-1729)
ผ้าบาติก : กลุ่มแม่บ้านท่าเขา ถือเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากชุมชนเกาะยาว นอกจากช็อปปิงผ้าบาติกผลงานศิลปินท้องถิ่นแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเข้าร่วมเวิร์กช็อปทำผ้าบาติกผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาที่สร้างรายได้ของชุมชนบ้านท่าเขา ที่รวมตัวเป็นกลุ่มท่องเที่ยวอาชีพเกษตรขึ้นกลุ่มแรกของจังหวัดพังงา ส่วนขั้นตอนทำผ้าบาติกก็ไม่ยาก นักท่องเที่ยวติดต่อไว้ล่วงหน้า ก็แค่มาเขียนภาพ ลงเทียนกั้นตามเส้นที่ร่างไว้ แล้วจึงลงสี ก็ได้ผลงานชิ้นเดียวในโลกฝีมือตัวเองกลับไปเป็นที่ระลึก
Travel Tips
- ติดต่อขอข้อมูลและคำแนะนำโปรแกรมการท่องเที่ยวบนเกาะยาวน้อยได้ที่ ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย อ. เกาะยาว จ. พังงา โทร. 076-597-244, 086-942-7999
- ประชากรส่วนใหญ่บนเกาะยาวน้อยเป็นชาวมุสลิม จึงไม่ควรนำอาหารประเภทเนื้อหมูและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดตัวไป หากเลือกที่พักประเภทโฮมสเตย์
02 “สุโขทัย” เมืองนี้มีแต่ความคราฟท์
แม้สุโขทัยจะเป็นเมืองมรดกโลกที่โดดเด่นด้วยเมืองเก่า โบราณสถาน พื้นที่ UNESCO ทั้งในฐานะแหล่งมรดกโลก พื้นที่สร้างสรรค์ และเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่สุโขทัยก็ยังจัดว่าเป็นจุดหมายที่ต้องตั้งใจไป เพื่อที่จะค้นพบว่าสุโขทัยไม่ได้มีไฮไลต์อยู่แค่ตัวโบราณสถานหรือประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟเท่านั้น เช่นเดียวกับพิกัดเที่ยวสุโขทัยที่เราขอพาไปเปิดแผนที่นำสำรวจฉบับใหม่กัน
โฮมสเตย์บ้านแม่ทุเลา : โฮมสเตย์ในหมู่บ้านเล็กๆ เชิงดอยตีนกาที่จะทำให้นาฬิกาหมุนช้าลง แนะนำให้ปิดสวิตช์โทรศัพท์มือถือแล้วรีชาร์จพลังไปกับวิถีชุมชนที่ผู้สูงอายุมารวมตัวกัน ฟื้นวิถีดั้งเดิมที่เกือบจะถูกลืมให้กลับมาและสร้างมูลค่าใหม่ ไม่ว่าการสานกล่องข้าวเหนียวจากใบลาน งานด้นผ้า การทอผ้า ทำผ้านวม หรือการเดินทัวร์ป่าชุมชนเพื่อตามหาพืชท้องถิ่น ช่วงเวลาแห่งความสุขของการมาโฮมสเตย์ที่นี่นั้นไม่มีอะไรมาก แค่ล้อมวงกินอาหารท้องถิ่นที่นักท่องเที่ยวจะได้เดินไปเก็บวัตถุดิบสดใหม่ตามฤดูกาลรอบๆ บ้าน ฟังเรื่องเล่าของวัตถุดิบแต่ละชนิด ก่อนจะนำมาปรุงโดยมีแม่ๆ ผู้สูงอายุในชุมชนเป็นเชฟใหญ่ส่งต่อความรู้ด้านวัฒนธรรมการกินของชุมชนให้กับแขกที่มาเยือน (โทร. 091-839-1904)
พิมพ์พระเครื่องโบราณ : เรียนรู้และสนุกกับเวิร์กช็อปเกี่ยวกับพระพิมพ์โบราณที่ค้นพบในสุโขทัยที่ บ้านพิมพ์พระลักษมณศิลป์ ซึ่งจะพาย้อนประวัติศาสตร์พระพิมพ์สุโขทัยกว่า 1,200 แบบที่ขุดค้นพบในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย โดยภายในสตูดิโอจัดแสดงรูปภาพของพระพิมพ์แบบต่างๆ ตลอดจนคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างเมืองและการสร้างพระพิมพ์ จากนั้นผู้มาเยือนจะได้ลองกิจกรรม DIY พิมพ์พระที่เริ่มต้นจากดินสุโขทัย โดยแม่พิมพ์พระที่ใช้มี 2 แบบ ได้แก่ พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ และพระร่วงประทานพร กรุหม้อแกงทอง เรียกว่าได้ของที่ระลึกสุโขทัยฉบับไม่เหมือนใครกลับบ้านอย่างแน่นอน (โทร. 089-643-6219)
ปั่นจักรยานเที่ยวเมืองเก่า : ในบรรดาเมืองเก่าของไทย สุโขทัย ที่มีอายุตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 18-19 ถือว่าเป็นเมืองโบราณที่มีการวางผังเมืองได้ดีที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการวางผังเมืองเพื่อจัดการปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำหลาก ดังนั้นการมาเที่ยวเมืองเก่าสุโขทัยจึงมีเรื่องการจัดการน้ำให้เรียนรู้ไปพร้อมกับชมความงามของโบราณสถาน โดยรอบตัวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจะมีจักรยานเป็นอีกทางเลือกคาร์บอนต่ำให้ได้เช่าปั่นชมโบราณสถาน แต่ถ้าใครต้องการไกด์จักรยานมืออาชีพที่จะพาปั่นชมเมืองเก่าและซอกแซกชุมชนรอบเมืองเก่าและชุมชนบ้านกล้วยก็มีไกด์มืออาชีพ Sukhothai Bicycle Tours ที่ทั้งโปรจักรยานและโปรด้านประวัติศาสตร์พลัสด้วยชุมชนสุโขทัย (Sukhothai Bicycle Tours โทร. 08-6931-6242)
Taste from root : ชวนไปลิ้มรสให้รู้ถึงรากของวัตถุดิบและชุมชนกับ Taste from root คนสุโขทัยรุ่นใหม่ไฟแรงที่ตัดสินใจกลับบ้าน พร้อมกลับไปตามหารากของสุโขทัยจนค้นพบว่า น้ำตาลโตนดผูกพันกับคนสุโขทัยมากว่า 700 ปี ทั้งยังปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่ปัจจุบันกลับเหลือปราชญ์ทำตาลโตนดในสุโขทัยไม่ถึง 10 คน นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้ Taste from root เข้าไปยังสวนตาลเก็บข้อมูลการทำตาลแบบดั้งเดิม และสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนจนออกมาเป็นน้ำตาลเคี่ยวสำหรับทำอาหาร น้ำเชื่อมโตนดสำหรับผสมเครื่องดื่ม และน้ำตาลสดที่ยังคงหอมหวานด้วยวิถีการทำโตนดดั้งเดิม
โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น : โฮมสเตย์ในอำเภอศรีสัชนาลัยที่เป็นต้นแบบของความสำเร็จในการทำโฮมสเตย์ เพราะการเข้าพักที่บ้านนาต้นจั่นไม่ได้มีแค่เรื่องวิวนาข้าวสีเขียว กับเส้นทางปั่นจักรยานลัดเลาะชุมชน แต่ที่นี่ยังอัดแน่นด้วยเรื่องภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ในบ้านแต่ละหลังของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า ทำผ้าหมักโคลนธรรมชาติ ตุ๊กตาบาร์โหน การทำเมนูท้องถิ่นข้าวเปิ๊บ รวมทั้งเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาตินั่งรถอีแต๊กชุมชนเพื่อไปชมแสงอาทิตย์แรกบนยอดภู (โทร. 088-495-7738)
นาอินทรีย์สุโขทัย : ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ที่สุโขทัยยังมี โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวไฮไลต์ของสายกรีน ครบตั้งแต่การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำนาอินทรีย์ที่มีการพัฒนาข้าวพันธุ์พื้นเมืองโดยเฉพาะ “ข้าวหอมสุโขทัย” และนอกจากนาข้าวแปลงใหญ่ในทุ่งสุโขแล้ว ที่นี่ยังมีครบทั้งร้านอาหารครัวสุโขและตลาดกลางที่นำเสนอพืชผักอินทรีย์ตามฤดูกาล มาแล้วต้องได้ชิมน้ำใบข้าวเป็นเวลคัมดริงก์ของครัวสุโข ตามด้วยสังขยาใบข้าวกินคู่หมั่นโถวร้อนๆ หรือใบข้าวทอดก็เป็นเมนูเซอร์ไพรส์ที่อร่อยและได้เรียนรู้ว่าข้าวหนึ่งต้นต้องไม่ถูกทิ้งให้สูญเปล่า
นั่งรถคอกหมูเที่ยวตัวเมือง : ที่สุโขทัยมีรถพื้นเมืองเป็นรถสองแถวใช้ไม้มาต่อเป็นเอกลักษณ์เรียก “รถคอกหมู” ให้บริการระหว่างตัวเมืองเก่าและตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันเหลือผู้ประกอบการรถคอกหมูน้อยเต็มที ใครมีโอกาสมาเที่ยวสุโขทัย หากเจอรถคอกหมู แนะนำให้ลองนั่งทัวร์เมืองเก็บโมเมนต์ความประทับใจนี้ไว้ หรือถ้าอยากเก็บความประทับใจกลับบ้าน ยังมีรถคอกหมูฉบับโมเดลต่อจากเศษไม้โดย “สถานีรถคอกหมู” สามารถสั่งจองล่วงหน้าแล้วแวะรับกลับเป็นของที่ระลึกสุโขทัยได้เลย (FB: สถานีรถคอกหมู โมเดล)
“ป้าแอ๊ด” ร้านลับที่เชี่ยวชาญเรื่องปลา : สุโขทัยนั้นโดดเด่นวัตถุดิบปลาแม่น้ำ และร้านลับที่รู้เรื่องปลาสุโขทัยดีที่สุดร้านหนึ่งก็คือ “ร้านป้าแอ๊ด” ร้านเล็กๆ ที่ไม่มีเมนูและเล่าลือกันว่า “ปลาที่ดีที่สุดของวันจะต้องมาส่งที่ร้านป้าแอ๊ดก่อนร้านแรก” วิธีการสั่งอาหารคือการพูดคุยว่า “วันนี้มีปลาอะไร” และป้าแอ๊ดเจ้าของร้านก็จะค่อยๆ อธิบายพร้อมแนะนำว่าปลาชนิดนั้นๆ นำไปปรุงแบบไหนถึงจะอร่อยที่สุด โดยปลาจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ไม่มีสต๊อก และปลาแต่ละชนิดก็มีเท่าที่ชาวประมงพื้นถิ่นลูกแม่น้ำยมจะจับได้เท่านั้น (โทร.055-620-139)
โมทนา เซรามิก : สตูดิโอเซรามิกกลางสวนที่นำลวดลายเฉพาะของถิ่นสุโขทัย ทั้งผ้าทอ ทอง และสังคโลกสุโขทัยมาต่อยอดเป็นงานเซรามิกร่วมสมัย ทั้งยังต่อยอดสิ่งที่มีอยู่เดิมในสุโขทัยอย่าง “ถุงตาล” (ถุงที่ใช้ทำขนมตาล) นำมาใช้ในกระบวนการเตรียมดิน ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงสตูดิโอทำงาน แต่ยังครบทั้งเปิดสอนเวิร์กช็อปมือสมัครเล่นและผู้ที่คิดจะทำเป็นอาชีพ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่ถ่ายทอดเสน่ห์ของงานเซรามิก (โทร. 094-714-6145)
03 “สุรินทร์” ชีวิตเนิบช้าในถิ่นอีสานที่พิสูจน์แล้วว่าอีสานสีเขียว
สุรินทร์ เมืองที่อาจไม่ใช่ตัวเลือกเบอร์แรกๆ ของนักท่องเที่ยว แต่เราอยากบอกว่าสุรินทร์นี่แหละคือเพชรเม็ดงามของแดนอีสานใต้ เป็นเมืองที่เงียบสงบ ทว่ามีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมที่ผสมผสานเขมรโบราณจนกลายมาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะสุรินทร์ เที่ยวสุรินทร์มีความสโลว์ไลฟ์ให้ค่อยๆ เที่ยวอย่างเนิบช้า เรียนรู้วิถีช้าง ผ้าไหม เส้นทางปราสาทหิน ไปพร้อมกับเกษตรอินทรีย์ที่กำลังมาแรงในสุรินทร์
ทะเลสาบทุ่งกุลา : หากพูดถึง “ทุ่งกุลา” ภาพจำในอดีตคือทุ่งอันแห้งแล้งทุรกันดารชนิดที่ว่า “ชาวกุลาร้องไห้” โดยทุ่งกุลาร้องไห้ หมายถึงเมื่อชาวกุลาเดินทางผ่านมาเจอแต่ความแห้งแล้งและได้รับความยากลำบากในการทำมาหากินจนต้องร้องไห้ แต่ปัจจุบันทุ่งกุลาเปลี่ยนความแห้งแล้งให้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก และยังมี “ทะเลสาบทุ่งกุลา” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจและฮอตฮิตที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ โดยทะเลสาบทุ่งกุลาแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านโพนม่วง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ มีต้นกำเนิดมาจากโครงการอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ทางกรมชลประทานได้มาขุดเป็นแก้มลิงเพื่อใช้ในการเกษตรจำนวน 15 ไร่ และรอบบริเวณอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ทั้งสิ้น 75 ไร่ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทะเลน้ำจืดแห่งอีสานใต้” ไม่เหลือเค้าของ “ทุ่งกุลาร้องไห้” แบบเดิมอีกต่อไป
แซตอม ออร์แกนิกฟาร์ม : ที่นี่มีทั้งนาออร์แกนิก โฮมสเตย์ และโรงบ่มสาโทจากข้าวออร์แกนิกอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยจุดเริ่มมาจาก “สุแทน สุขจิตร” ลูกชาวนาจังหวัดสุรินทร์ ที่เลือกจะกลับบ้านพร้อมพลิกฟื้นผืนนาที่เต็มไปด้วยเคมีให้เป็นอินทรีย์พร้อมเลือกที่จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง เพราะเขาเชื่อว่าข้าวเหล่านี้รู้จักดิน น้ำ และสภาพฟ้าฝนของสุรินทร์ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข้าวผกาอำปึล ข้าวมะลินิลสุรินทร์ ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ จากนั้นเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาหมักบ่มเป็นสาโทที่รักษาภูมิปัญญาการทำสาโทโบราณและการพัฒนาสาโทให้ร่วมสมัยไม่ต่างจากไวน์ ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดใช้ข้าวอินทรีย์จากท้องถิ่นทั้งสิ้น
ตลาดนัดสีเขียวสุรินทร์ : คนสุรินทร์เขาจริงจังเรื่องผักปลอดสารเคมี ถึงขั้นที่มีการก่อตั้ง “ตลาดนัดสีเขียว” เป็นตลาดนัดขายผัก ผลไม้ วัตถุดิบท้องถิ่นทั้งอินทรีย์และออร์แกนิก มาตลาดนี้รับรองว่าได้ของปลอดสารเคมี 100 %กลับบ้านอย่างแน่นอน เพราะที่นี่เขามีใบรับรองมาตรฐานการตรวจแปลงที่ลงไปดูถึงแหล่งผลิตกันเลยทีเดียว ตลาดสีเขียวก่อตั้งมาตั้งแต่พ.ศ.2546 ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่โลเคชันใหม่ใช้ชื่อ ตลาดนัดสีเขียวสุรินทร์ (สวนใหม่) ปักหมุดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เปิดทุกวันพุธและวันเสาร์ ตั้งแต่ 5.00-12.00 น. และนอกจากผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ผักอินทรีย์ราคาถูกแล้ว ยังมีขนมพื้นเมืองอย่างขนมโช้ค ขนมโกร๊จ ขนมต้ม ให้ได้ชิมและลองทำกันด้วย
หมู่บ้านช้างหนึ่งเดียวในโลก : สโลว์ไลฟ์แบบสุดใจกับการเที่ยวหมู่บ้านช้างหนึ่งเดียวในโลกที่แทบทุกบ้านล้วนมีช้างเลี้ยงอยู่ใต้ถุน เป็นช้างที่ตกทอดเป็นมรดกของครอบครัวที่มีเรื่องภูมิปัญญา พิธีกรรม และประเพณีเกี่ยวกับช้างถ่ายทอดมาด้วย อันที่จริงนักท่องเที่ยวสามารถแวะหมู่บ้านช้างที่ “บ้านตากลาง” ท่องเที่ยวได้เอง เพราะแต่ละบ้านก็เปิดรั้วต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่สำหรับใครที่ต้องการความรู้เรื่องช้างบ้านของไทยแบบแน่นๆ แนะนำให้ติดต่อไปที่ โครงการคชอาณาจักร ซึ่งมีโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และช้างในการดูแลร่วม 200 เชือก สามารถเลือกได้หลายโปรแกรม เช่น นั่งรถอีแต๊กท้องถิ่นเที่ยวหมู่บ้านช้าง เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ช้าง เวิร์กช็อปทำกระดาษสาจากมูลช้าง นั่งช้างชมไพร ไปจนถึงอาบน้ำช้างบริเวณลำน้ำชี (โทร. 0-4455-8501)
ซแรย์ อทิตยา : “ซแรย์ อทิตยา” เป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า “นาของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ” สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและศูนย์เรียนรู้ในพระดำริภายใต้การดูแลของโครงการเกษตรอทิตยาทร เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้แนวคิดและนวัตกรรมการเกษตรแบบอินทรีย์ปลอดสารเคมี เน้นความรู้ครบทุกมิติตั้งแต่การผลิต การตลาด และเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปปรับใช้ให้เกิดความยั่งยืนได้จริงผ่านกิจกรรมฐานการเรียนรู้ เช่น เรื่องข้าว ดิน แมลง โรคพืช ปุ๋ยอินทรีย์ การแปรรูปข้าว เป็นต้น นอกจากความรู้แน่นๆ ด้านเกษตรอินทรีย์แล้ว ก็ยังแวะมาพักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของไร่นาและทุ่งดอกไม้ตามฤดูกาลได้อีกด้วย (โทร. 09-0265-6253)
ตามรอยเส้นทางปราสาทขอมโบราณ : สุรินทร์ดินแดนร่ำรวยปราสาท เพราะมีปราสาทขอมโบราณอยู่ถึง 39 แห่ง สันนิษฐานว่าสมัยขอมเรืองอำนาจ สุรินทร์คงเป็นดินแดนหนึ่งที่อยู่ในเส้นทางการไปมาของขอมโบราณ จึงได้สร้างปราสาทขึ้นตามเส้นทางสัญจร ปราสาทในจังหวัดสุรินทร์เป็นปราสาทขนาดเล็ก ที่โดดเด่นคือปราสาทศีขรภูมิ ที่อำเภอศีขรภูมิ ซึ่งมีความสมบูรณ์ สวยงาม ปราสาทภูมิโปนที่อำเภอสังขะ เป็นปราสาทหินที่เก่าแก่สุดในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มปราสาทตาเมือน ปราสาทริมชายแดนที่เป็นจุดร่วมของคนเดินทางระหว่างคนเขมรต่ำ-เขมรสูงในอดีต ใครเป็นนักล่าปราสาท แนะนำให้กางลายแทงเลือกเส้นทางปราสาทที่สนใจ โดยแต่ละปราสาทก็จะมีไกด์ท้องถิ่นจากแต่ละชุมชนนำชมอย่างสนุกมาก
ผ้าไหมยกทองโบราณท่าสว่าง : ผ้าไหมคือภูมิปัญญาพื้นบ้านคู่ถิ่นอีสาน แต่โบราณแทบทุกบ้านล้วนมีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุน โดยแต่ละบ้านแต่ละชุมชนก็จะมีลวดลายผ้าที่แตกต่างไปตามสิ่งแวดล้อม ความเชื่อ และวัฒนธรรม ผ้าไหมสุรินทร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกได้แก่ผ้าไหมบ้านท่าสว่าง โดดเด่นด้วยผ้าไหมยกทองที่สืบทอดมาจากราชสำนักแต่โบราณ สวยงามและมีความละเอียดจนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปก (APEC) โดยผ้าแต่ละผืนใช้คนทอราว 4-5 คน และใช้ตะกอมากถึง 1,460 ตะกอ ทั้งยังใช้ “ไหมน้อย” เป็นผ้าไหมเส้นเล็ก เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย ที่สำคัญยังใช้วิธีการย้อมไหมแบบโบราณด้วยสีจากธรรมชาติ สีแดงจากครั่ง สีน้ำเงินจากคราม สีเหลืองทองจากเปลือกทับทิม บางสีเกิดจากการนำแม่สีมาผสมกันอีกทีหนึ่ง สีที่ได้เมื่อนำไปย้อมจะไม่ตกและซีดช้ากว่าผ้าทั่วๆ ไป บางสีก็สดใสอยู่ได้เป็นร้อยปี ใครอยากชมทุกขั้นตอนการทอผ้าไหมยกทองโบราณตรงไปได้ที่ “กลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา” (โทร. 08-4458-6099)